Skip to main content
sharethis

(1 มิ.ย.54) เนชั่นทันข่าว รายงานว่า นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวถึงกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับการสักภาพ (Tattoo) พระพุทธรูป และรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนา บนร่างกายหรือในที่ไม่เหมาะสมที่จังหวัดภูเก็ตว่า เมื่อมาตรการทางกฎหมายอาญาไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ ตนจะประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้ตรวจสอบหรือวิเคราะห์ว่าการสักเช่นนี้อาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น เพราะเท่าที่ทราบนอกจากคนไทยแล้ว ชาวต่างชาติแถบสแกนดิเนเวียชอบสักพระพุทธรูปตามบริเวณต่างๆ ในร่างกายมาก ที่สำคัญ วธ. จะจัดทำคู่มือข้อควรระวังในการใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ที่มีอยู่เดิมแล้วนำมาพิมพ์ใหม่ ประมาณ 10,000 เล่มเพื่อแจกจ่ายไปตามสถานประกอบการ ร้านค้าที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ \เพราะที่ผ่านมามีการนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาเป็นตราสินค้าหรือประดับสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้า ถุงเท้า กางเกง เสื้อ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านค้า สถานบันเทิง สถานเริงรมย์ รวมทั้งมีการเผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และสื่ออินเทอร์เน็ต พร้อมกันนี้จะประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเชิญผู้ประกอบการมาชี้แจงและขอความร่วมมือในการใช้สัญลักษณ์ทางศาสนา โดยเริ่มที่จังหวัดภูเก็ตก่อน\" รมว.วธ. กล่าว รมว.วธ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาที่ไม่ควรนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ 1.พระพุทธรูปปางต่างๆ 2.พุทธพจน์ เถรภาษิต และเถรีภาษิต 3.พระสงฆ์ ภาพถ่าย ภาพวาด สิ่งประดิษฐ์คล้ายพระสงฆ์ บริขารของพระสงฆ์ เช่น ไตรจีวร และบาตร 4.การแต่งการเลียนแบบพระสงฆ์ หรืออ้างตัวเองว่าเป็นพระสงฆ์ในบทภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะสม 5.โบสถ์ วิหาร เจดีย์ทางพระพุทธศาสนา 6.ธรรมจักรและธงฉัพพรรณรังสี สถานที่ที่ไม่ควรนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาใช้ในเชิงพาณิชย์ 1.โรงงานและร้านจำหน่ายแอลกอฮอล์ 2.ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โรงละคร สถานบันเทิง 3.โรงฆ่าสัตว์และบ่อนการพนันทุกชนิด 4.ห้องน้ำและห้องสุขา ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ควรนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาใช้เชิงพาณิชย์ 1.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วัตถุมึนเมา ยาพิษและอาวุธ 2.เสื้อ กางเกง ชุดชั้นใน รองเท้า เครื่องสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ห้องสุขา 3.เก้าอี้และเตียงนอน รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรกนิกส์ที่ไม่ควรนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศสนามาใช้ในเชิงพาณิชย์ ด้าน น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้ดูแลเรื่องดังกล่าว ขณะนี้ทราบว่าได้มีหนังสือด่วนไปยังผู้ว่าราชการจ.ภูเก็ต ให้เร่งเชิญผู้ประกอบการร้านค้า มาประชุมภายในเดือนมิถุนายน 2554 นี้ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย และไม่กระทำการใดๆกับทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ \"ซึ่งปัญหาดังกล่าว นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่คนไทยต้องรู้เท่าทัน และกำหนดบรรทัดฐานร่วมกัน ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่า คนที่ทำถ้ามีความรู้ คงไม่ทำ กลุ่มผู้ประกอบการสักก็เหมือนกัน เป็นธุรกิจใหม่ บางคนก็ทำอาชีพอื่นมาก่อนภายหลังจึงมาทำอาชีพนี้ จึงไม่รู้กฎหมายมาก่อน\" น.ส.ลัดดา กล่าวในที่สุด ที่มา:เนชั่นทันข่าว"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net