Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

(1) “ไม่ใช่คนทุกคนบนแผ่นดินไทย จะเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้าได้” “อู” หนุ่มแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า ทำงานอยู่ในไร่สตรอเบอรี่บ้านแม่ยางห้า ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านที่มีการทำไร่สตรอเบอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีการจ้างแรงงานอพยพข้ามชาติเข้ามาทำงานในไร่ เฉพาะบ้านแม่ยางห้าไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคนเดินหน้าเศร้าเข้ามาหาตอนที่ฉันขึ้นไปที่หมู่บ้านเมื่อกลางพฤษภาคม 2554 เขาพูดด้วยน้ำเสียงกะท่อนกะแท่นพยายามที่จะสื่อสารภาษาไทยให้ได้มากที่สุดว่า “ช่วงนี้ผมเป็นอะไรก็ไม่รู้ เวียนหัว คลื่นไส้ ท้องเสียบ่อยครั้ง ตามตัวเป็นผื่นแดง บางครั้งก็หายใจไม่ค่อยออก บางทีก็ตาแดง อาการแบบนี้จะเป็นทุกครั้งหลังจากที่พ่นยาฆ่าแมลงเสร็จแล้ว กว่าอาการจะหายใช้เวลาถึง 3-4 วัน แต่ตอนนี้วันไหนที่ไม่พ่นยา ผมก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน อยากให้พี่ช่วยเป็นเพื่อน พาไปสถานีอนามัยหน่อยครับ ผมไม่ได้ต่อบัตรแรงงานมาหลายปีแล้ว เพราะปีๆหนึ่งทำสตรอเบอรี่แค่ 7 เดือนเท่านั้น ต่อบัตรไปก็ไม่คุ้ม ค่าใช้จ่ายในการต่อบัตรแพงมาก ผมไม่กล้าไปคนเดียว เพื่อนๆที่นี่ก็กลัวเหมือนกัน ไม่รู้ค่ายาจะแพงไหม เพราะผมไม่มีบัตรต่างด้าว อยากให้พี่ช่วยคุยกับหมอให้ผมหน่อยครับ” กรณีของ “อู” ทำให้ฉันอดคิดถึง “ไม้” หนุ่มวัยรุ่นชาวมอแกนจากเกาะพยาม เกาะแห่งหนึ่งกลางทะเลอันดามัน อ.เมือง จ.ระนอง ขึ้นมาทันที กลางเดือนเมษายน 2554 ขณะที่ฉันกำลังจะเดินข้ามน้ำทะเลที่ไม่ลึกมากนักไปยังหมู่บ้านซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของอ่าวเขาควาย ได้มีโอกาสเจอกับ “ไม้” เขาเล่าให้ฟังว่า “แม้ว่าชาวมอแกนจะไม่มีบัตรประจำตัวอะไรเลย แต่หมอที่สถานีอนามัยเกาะพยามก็ให้การรักษาพวกเราอย่างดี ไม่สนว่าจะมีบัตรหรือไม่มีบัตร แต่นั่นล่ะครับ ไม่ค่อยมีใครอยากไปหาหมอถ้าไม่เจ็บป่วยหนักจริงๆ ถ้าวันไหนน้ำทะเลลด เราต้องเดินข้ามมาที่ฝั่งนี้ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าชั่วโมง แม้จะเป็นระยะใกล้ๆก็ตาม แต่ถ้าน้ำขึ้น น้ำก็ต้องขึ้นจนพอที่เรือจะแล่นเข้ามาเทียบที่ท่าหมู่บ้านได้ ถึงจะไปได้ แต่นั่นล่ะมาถึงที่ฝั่งก็ต้องเดินไปที่สถานีอนามัยอีก ซึ่งอยู่ห่างไปถึง 2-3 กิโลเมตร บนเกาะใช้ได้แต่มอเตอร์ไซด์เท่านั้น ส่วนพวกผมต้องเดินกันอย่างเดียว สู้รักษากันที่หมู่บ้านง่ายกว่า อีกเรื่องที่ไม่มีใครอยากไปหาหมอ คือ ต้องเสียค่ายาแพง เพราะหมอบอกว่าเราไม่มีบัตรประชาชนและบัตรประกันสุขภาพ ทำให้ต้องเรียกเก็บเงิน ทั้งๆที่หมอก็สงสารและรู้ดีว่าพวกเราไม่มีเงินจ่าย บางครั้งมีชาวบ้านบางคนต้องถูกส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลระนอง อยู่บนฝั่งทางโน้น พวกเราก็ไม่รู้จะเดินทางไปเยี่ยมอย่างไร จะถูกตำรวจจับไหม เพราะไม่มีบัตรอะไรเลย ไหนจะค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่ารักษาอีก วุ่นวายมาก จะเอาเงินมาจากไหน ชาวบ้านบางคนบอกว่าปล่อยให้ตายไป ง่ายกว่า” นี้ไม่นับกรณีของ “ดาว” สาวกะเหรี่ยง แรงงานอพยพข้ามชาติถูกกฎหมาย ต่อบัตรแรงงานทุกปีตามนโยบายรัฐบาลไทย ทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ที่ร้านขายเนื้อหมูแห่งหนึ่ง ย่านสะพานควาย กรุงเทพฯ “ครั้งหนึ่งหลายปีมาแล้ว ตอนดาวยังไม่รู้จักครู [2] ดาวเคยหั่นหมูจนมีดบาดนิ้ว ตอนนั้นง่วงมาก ตาหลับแล้วแต่ยังต้องแล่เนื้อหมูอยู่เลย ครั้งหนึ่งหั่นโดนนิ้วตัวเอง แต่เจ๊ก็ไม่สนใจ ต้องไปโรงพยาบาลเองกับเพื่อน แต่ดาวพูดไม่ชัด พอถึงโรงพยาบาลดาวพูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่รู้จะบอกอย่างไร เวลาพยาบาลถาม ดาวไม่เข้าใจ ตอบไม่ได้ พยาบาลก็ไม่สนใจ ปล่อยดาวไว้ ไม่มาทำแผลให้ เพราะคุยกันไม่ได้ มีคนไทยคนหนึ่งสงสาร เดินไปบอกพยาบาลว่าดาวคงเป็นต่างด้าว พูดภาษาไทยไม่ได้ แม้โรงพยาบาลที่นี่จะมีภาษาพม่า แต่ดาวอ่านภาษาพม่าไม่ออก ดาวเป็นกะเหรี่ยง อยู่ที่พม่าก็ไม่เคยเข้าโรงเรียน ดาวไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน ครูเคยบอกว่าดาวมีบัตร ดาวไปโรงพยาบาลได้ ตำรวจไม่จับ แต่ทำไมหมอไม่รักษา เพราะดาวพูดภาษาไทยไม่ได้ใช่ไหมคะ ครูต้องช่วยให้ดาวพูดภาษาไทยให้ได้” เช่นเดียวกับ “นาง” สาววัย 40 กว่า ชาวปลาง ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่บรรพบุรุษอพยพมาจากสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน และมาอาศัยก่อตั้งรกรากเป็นหมู่บ้านที่ อ.แม่สรวย อ.แม่สาย จ.เชียงราย นานหลายสิบปี จนในที่สุดคนในหมู่บ้านมีบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลขขึ้นต้นด้วยเลข “6” หมายถึง เป็นกลุ่มซึ่งได้รับการสำรวจทำทะเบียนประวัติและได้รับบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (สมัยก่อนคือกลุ่มที่เรียกว่า “บัตรสี”) คนกลุ่มนี้หลายร้อยคนอพยพโยกย้ายมารับจ้างเป็นแรงงานในสวนกล้วยไม้ ต.บางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม บางคนอยู่ที่นี่มานานไม่ต่ำกว่าสิบปีแล้ว นางเล่าให้ฟังว่า “การทำงานในสวนกล้วยไม้ ปัญหาหลักๆ คือ ปัญหาจากผลกระทบจากการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง แต่พวกเราก็ไม่มีทางเลือกมากนัก จะให้ไปทำอาชีพอื่นก็ไม่รู้จะทำอะไร อยู่ที่นี่รายได้ก็พอเลี้ยงตัวเอง และส่งกลับบ้านที่แม่สรวยได้บ้าง นายจ้างก็เข้าใจ ดูแลกันอย่างดี ไม่มีปัญหาเรื่องค่าจ้าง แต่เรื่องใหญ่สุดคือ เวลาไปโรงพยาบาล เราต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง ไม่เหมือนพวกแรงงานต่างด้าว ที่โชคดีไปโรงพยาบาลก็เสียแค่ 30 บาท อย่างเราอยู่ประเทศไทยมานานแล้ว พูดภาษาไทยชัดแจ๋ว มีบัตรประชาชน แต่ทำไมเรายังต้องเสียเงินอยู่อีก ทำให้หลายคนเวลาเจ็บป่วยจึงเลือกไปสถานีอนามัยแทน เพราะค่ายาถูกกว่า หรือไม่อย่างนั้นก็ไปคลินิกแทนเลย เพราะอย่างไรก็เสียเงินอยู่แล้ว” ฉันถามนางต่อว่า “เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลไทยมีนโยบายให้คนกลุ่มบัตรเลข 6 เลขเดียวกับที่นางถือบัตรอยู่ ไปขึ้นทะเบียนที่โรงพยาบาลที่นางมีทะเบียนบ้านอยู่ เพื่อให้มีสิทธิรักษาพยาบาลเหมือนคนไทยได้ นางไม่ได้กลับบ้านแม่สรวยไปทำเหรอ” นางทำหน้างุนงง และบอกว่า “ไม่เข้าใจ คืออะไร ? ไม่เห็นมีใครมาบอกเรื่องนี้เลย คนในหมู่บ้านที่เป็นคนปลางก็ไม่มีใครทราบเรื่องนี้เหมือนกัน” 4 เรื่องเล่าที่กล่าวมา คือ ปัญหาหลักของการเข้าไม่ถึงบริการของรัฐด้านสุขภาพของคนทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย โดยเฉพาะคนกลุ่มที่เรียกว่า “แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล” ซึ่งเป็นคนที่ตกอยู่ในสถานะไร้รัฐ หรือไร้สัญชาติ หรือไม่มีสถานะที่ได้รับการรับรองอย่างถูกกฎเกณฑ์ทางกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย แน่นอนแม้ว่าวันนี้ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นนโยบายที่สำคัญที่ทำให้คนไทยที่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นคนไทยเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ [3] ผนวกกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มีนาคม 2553 ที่ครม.อนุมติงบประมาณจำนวน 918,137,900 บาท (ปี 2554) ดูแลประชากรกลุ่มนี้ในแผ่นดินไทยเพิ่มขึ้นอีก 3 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 457,409 คน คือ (1) กลุ่มที่ ครม.มีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวร (เลขประจำตัวบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 3,4,5,8) (2) กลุ่มที่ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 6,7) และ (3) กลุ่มที่ถือบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0) ซึ่งเป็นนักเรียนในสถาบันการศึกษา,คนไร้รากเหง้า และบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ [4] รวมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงาน โดยกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้นจะถูกกำหนดให้ต้องซื้อหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 อย่างไรก็ตามพบว่ามีประชากรบางกลุ่มบนแผ่นดินไทย ได้ตกหล่นไปจากระบบหลักประกันสุขภาพ อย่างน้อยได้แก่ (1) บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (กลุ่มบัตรเลข 0 กลุ่มที่ 1 ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548) เป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยในประเทศไทยมานาน กลับประเทศต้นทางไม่ได้ รวม 148,389 คน (2) ผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแถบชายแดนไทย-พม่าทั้ง 9 แห่ง รวม 138,076 คน (3) ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศต้นทาง เช่น บุตร หลาน ญาติพี่น้อง หรือบุพการี ที่ไม่ได้ทำงาน ในที่นี้ทราบเฉพาะบุตรของแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนเมื่อปี พ.ศ.2552 จำนวน 5,317 คน (4) แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน รวมถึงผู้ลี้ภัยนอกค่ายที่ไม่มีค่ายพักพิง เช่น ผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ ชาวปะโอ หรือชาวโรฮิงญา เป็นต้น ซึ่งไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง (5) คนไทยจริงๆที่ไม่มีการบันทึกตัวตนในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรของรัฐไทย หรือเรียกว่า \คนไทยไร้ตัวตน\" เป็นคนไทยที่เกิดในแผ่นดินไทยแต่ตกหล่นจากการจดทะเบียนการเกิด รวมทั้งไม่ได้เข้าสู่การสำรวจตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิฯ จึงไม่มีบัตรประจำตัวใดๆ ในที่นี้ไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง ในความเป็นจริงแล้วโรงพยาบาลทุกแห่งต้องให้บริการกลุ่มคนเหล่านี้ตามหลักมนุษยธรรม ไม่มีโรงพยาบาลใดที่สามารถปฏิเสธการรักษาคนเหล่านี้ได้ จึงจำเป็นต้องเจียดงบประมาณที่ได้รับสำหรับการรักษาคนไทยมารักษากลุ่มคนเหล่านี้ ส่งผลให้หน่วยบริการเหล่านี้มีภาระหนี้สินจำนวนมาก จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2551 พบว่า มีโรงพยาบาล 172 แห่ง จาก 15 จังหวัด ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท แบ่งเป็นผู้ป่วยใน 75

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net