Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อย้อนกลับไปอ่าน “ประกาศคณะราษฎร” ที่ประกาศเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก่อนจะมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอีกครั้ง ไม่ว่าใคร-แต่ไม่ใช่ใครก็ได้-ก็อาจรู้สึกได้ถึง “ความจริง” ที่ฉายโชนออกมาจากแทบทุกประโยคของประกาศดังกล่าว และหากใช้มาตรฐานอเนกนิกรสโมสรศิโรราบในยุคปัจจุบันเข้าไปทดสอบ เราก็จะพบว่า “ความจริง” เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้โดยสิ้นเชิงกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, รัฐธรรมนูญมาตรา 8 และวัฒนธรรม/อุดมการณ์กษัตริย์นิยม

หากเป็นความจริงเสียแล้ว จะถือเป็นการดูหมิ่นหรือไม่ดูหมิ่นก็ไม่สามารถล้มล้างความจริงนั้นได้ แต่ในความเป็นจริง เมื่อมีมาตรา 112 (และรัฐธรรมนูญมาตรา 8) ความจริงย่อมไม่อาจปรากฏ หากต้องการให้ความจริงปรากฏ ก็ต้องไม่มีมาตรา 112 (และรัฐธรรมนูญมาตรา 8)

ต่อให้ปฏิรูปแก้ไขมาตรานี้แล้ว การดำรงอยู่ของมาตรา 112 (และมาตรา 8) ซึ่งหมายถึงตัวบทกฎหมายและวัฒนธรรมการตีความ-บังคับใช้ ก็ยังคงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพและการปิดกั้นความจริงที่ไม่ยอมให้เปิดเผยได้อยู่นั่นเอง หรือหากจะกล่าวให้ถึงที่สุด ตราบใดที่ความจริงบางอย่างและอีกหลายต่อหลายอย่างต้องไม่ถูกขุดคุ้ยและอภิปรายต่อสาธารณะ มาตรา 112 คือเพชรฆาตด่านแรกในการปกปิดความจริง (หรือในด้านกลับ คือการรักษาความลับและความลวง) ต่างๆ ไว้ตลอดไป

ความจริง (รวมทั้งข้อเท็จจริงและการวิพากษณ์วิจารณ์) หลายต่อหลายเรื่องมิใช่ความลับส่วนตัวของใคร แต่โดยจริยธรรมพื้นฐานของสังคมอารยะ มันคือความจริงที่สาธารณะชนต้องมีสิทธิรับรู้ เป็นความจริงที่เกี่ยวพันกับความเป็นไปของบ้านเมือง เป็นความจริงที่ให้คุณให้โทษกับสังคม และเป็นความจริงที่จำเป็นต้องปรากฏเพื่อขับไล่ความหลอกลวงและไถ่โทษผลอันเกิดจากการปกปิดความจริง

กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพ แต่ลำพังกฎหมายย่อมมีอิทธิฤทธิ์จำกัด ต่อให้ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร ก็มีจารีตประเพณีที่สามารถถูกอ้างใช้ได้ตลอดเวลา หากกฎหมายต้องเปลี่ยน สิ่งที่ถูกฝังอยู่ในหัวคนไทยก็ต้องเปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน การจะเปลี่ยนหรือไม่-ไม่ใช่ประเด็น เพราะประเด็นคือมันต้องเปลี่ยน สิ่งที่ชวนขบคิดกลับเป็นคำถามไก่กับไข่ อะไรต้องเปลี่ยนก่อน จึงจะเปลี่ยนอีกอย่างได้

ในสภาวการณ์เช่นที่เป็นอยู่นี้ แม้นว่าการสร้างความตื่นรู้และตื่นตัวในระดับกว้างจะมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ความคาดหวังที่เป็นไปได้จริง-หรือจริงๆ คือความไม่เป็นดังหวัง-ในการรณรงค์เรื่องมาตรา 112 คือการบรรเทาความบ้าคลั่งหรือลดจำนวนคดีเท่านั้น หรืออย่างมากที่สุดก็ขยับเพดานขึ้นอีกเล็กน้อย แต่มิใช่การได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ ในการแสดงความคิดเห็น และในการนำเสนอ/โต้แย้งความจริงอย่างแท้จริง นั่นยังเป็นสิ่งเกินหวัง

ทว่าการเป็นสิ่งที่แทบจะสิ้นหวังกลับทำให้ชวนนึกหวังว่า บางทีโอกาสเดียวที่ความจริงอย่างถึงที่สุด (หรือมุมมองที่ถูกกดทับต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) จะถูกประกาศออกมาได้ คือโอกาสแบบประกาศของคณะราษฎร

“ราษฎรทั้งหลาย

เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายอยู่ตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้าง ซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชชา...

...รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่า ไพร่ บ้าง ข้า บ้าง) เป็นสัตว์เดรฉานไม่นึกว่าเป็นมนุษย์...ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ใช้ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่า หลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไปหาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวคำหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กินว่า ราษฎรยังมีเสียงการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ คำพูดของพวกรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง...”

น่าสนใจอย่างยิ่งว่า คณะราษฎรตระหนักอย่างแม่นมั่นในหลักการว่า การให้ “ดำรงค์ตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร” นั้นอันที่จริงแล้วยังไม่ใช่ประชาธิปไตย ดังปรากฏในเนื้อความว่า “ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปตัย”

เพราะการปกครองอย่างประชาธิปไตย โดยแท้จริง นั้น “ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา”

“ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร” จะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ แต่มรดกของคณะราษฎรได้อยู่ในกระบวนการลบเลือน กลบเกลื่อน และกำจัดเรื่อยมา ในขณะที่มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับอยู่ยงคงกะพันในจิตวิญญาณและวัฒนธรรมการเมืองไทย ในความรู้สึกนึกคิดและภูมิปัญญาไทยร่วมสมัย คณะราษฎรไม่ใช่ผู้หาญกล้านำความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และประกาศความจริงอันยิ่งใหญ่กลุ่มแรกของสยาม แต่เป็นกลุ่มบุคคลที่เอาเยี่ยงอย่างวัฒนธรรมตะวันตกจนเลยเถิด ชิงสุกก่อนห่าม และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้

มาบัดนี้คณะข้ารองพระบาทในประเทศสุกๆ ดิบๆ ที่เต็มไปด้วยพยาธิหลากชนิด เป็นพสกนิกรกลุ่มมหึมากลุ่มเดียวที่สามารถประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกได้อยู่ทุกเวลานาทีว่า ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของกษัตริย์ ไม่ใช่ของราษฎรตามที่เขาหลอกลวง

***

บนดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่โคจรตามแรงโน้มถ่วงในระบบสุริยะซึ่งอยู่ภายในดาราจักรทางช้างเผือก ท่ามกลางความเวิ้งว้างของจักรวาลที่ประกอบไปด้วยดวงดาวนับล้านกับมวลสารระหว่างดาวที่นับไม่ได้ ทว่าไม่ปรากฏมีเขาพระสุเมรุสถิตย์อยู่ ณ แห่งหนตำบลใด ไม่มีมนุษย์คนใดในโลกนี้ที่พึงรอดพ้นจากการวิจารณ์ โดยเฉพาะหากการวิจารณ์นั้นมีข้อเท็จจริงหรือหลักการรองรับอย่างหนักแน่น

ในสังคมที่คนคนหนึ่งถูกลงทัณฑ์สถานหนักเพียงเพราะคำพูดหรือการกระทำในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ หรือกระทั่งไม่ได้ทำอะไรผิด ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กำลังถูกหมิ่น และความป่าเถื่อนกำลังถูกอาเศียรวาทสดุดี

ตราบใดที่สังคมไทยยังไม่สามารถพัฒนาจิตสำนึกทางวัฒนธรรมไปสู่ความเป็น “มนุษยนิยม” ที่เคารพคุณค่าพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซากวัฒนธรรม “อำนาจ (ศักดิ์สิทธิ์) นิยม” แบบด้อยพัฒนาที่ถูกปลุกเสกจนแผ่อิทธิฤทธิ์แห่งมนต์ดำร่วมสมัยได้วิปลาสยิ่งกว่าในอดีตกาล จะนำไปสู่ความอุบาทว์และเสื่อมทรามอย่างไม่รู้จบ

แม้ในภาวะร่มเย็นสงบสุขสามัคคีสมานฉันท์ ความจริงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ไม่เคยได้รับการเคารพ ความสำเร็จสูงสุดของระบอบโฆษณาชวนเชื่อ คือการทำให้ทุกคนอิ่มเอิบใจว่า บนผืนแผ่นดินไทย ความจริงไม่สำคัญ และอย่าว่าแต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น แม้แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเองก็หามีความสำคัญไม่

สิ่งที่สำคัญกว่าความจริงคือความเชื่อ และสิ่งที่สำคัญกว่าศักด์ศรีความเป็นมนุษย์คือความเป็นข้ารองพระบาท

สังคมไทยไม่มีวันจะถกเถียง ไต่สวน และเปิดเผยข้อเท็จจริง/ความจริงจนถึงที่สุดทั้งเพื่อจรรโลงเสรีภาพ เพื่อธำรงความยุติธรรม และเพื่อยกระดับสติปัญญาของสังคมเองได้ เพราะความรู้ ความเชื่อ ความศรัทธาในสังคมไทยทั้งมวลล้วนตั้งอยู่บนความเท็จ การโกหกหลอกลวง และการปิดบังอำพราง โดยมีจารีตและกฎหมายเป็นเครื่องมือแห่งการทารุณกรรม

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่เพียงเป็นกฎหมายของรัฐเจ้าขุนมูลนายเผด็จการภายใต้หน้ากากประชาธิปไตยที่วางอยู่บนอุดมการณ์ที่ย่ำยีบีฑาหลักการสมัยใหม่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง แต่ยังมีความคล้ายคลึงกับอุดมการณ์ทางศาสนาแบบ ‘Fundamentalism’ (‘มูลฐานนิยม’ หรือ ‘หวนคืนสู่จารีตดั้งเดิม’ ซึ่งในที่นี้จะใช้ในเชิงเปรียบเปรยเป็นหลัก) ที่เป็นปฏิกิริยาต่อต้านความเป็นสมัยใหม่และการวิพากษ์วิจารณ์ที่คุกคามวิถีความเชื่อ การดำรงอยู่และการปฏิบัติของเหล่าสาวก

Fundamentalism อ้างความเคร่งครัดสูงสุดต่อ “จารีตดั้งเดิม” ทว่าในความจริงแล้วอาจเป็น “ประเพณีประดิษฐ์” และในขณะเดียวกันก็สร้าง “จารีตใหม่” ขึ้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของขบวนการ หากจารีตดั้งเดิมในสมัยโบราณเป็นจารีตที่กดขี่ การกดขี่นั้นก็ต้องดำเนินต่อไปในยุคปัจจุบันโดยมิอาจเปลี่ยนแปลงได้ ท่าทีแบบ Fundamentalism มักไม่มีความอดทนอดกลั้นใดๆ ทั้งสิ้นให้กับการวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม โต้แย้งด้วยเหตุผล เสียดสีหรือยั่วล้อ “ศาสนา” และ “ศาสดา” ของพวกตน

วิถีแบบ (Thai-Ultra-royalist) Fundamentalism เห็นคุณค่าและหลักการเสรีภาพ-ความเสมอภาค-ประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนแบบตะวันตกเป็นภัยคุกคามที่ต้องต้านทานมิให้รุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตของตน ความเป็นตะวันตกที่มีนัยยะโดยตรงต่อการ ‘ถอดถอนหรือลดทอนความศักดิ์สิทธิ์และสภาวะเทพ’ เป็นสิ่งที่สั่นคลอนอัตลักษณ์ของ (Thai-Ultra-royalist) Fundamentalists ที่เทิดทูนและทระนงในความพิเศษไม่เหมือนใครในโลก (unique) อย่างถึงราก

ด้วยอุดมการณ์เยี่ยงนี้ ท่าทีแบบเดียวที่อนุญาตให้มีได้ คือการเคารพสักการะเทิดทูนบูชาโดยศิโรราบ ตัวบทคัมภีร์และองค์พระศาสดาคืออภิมหาสัจธรรมที่ทรงพลานุภาพสูงสุดอันล่วงละเมิดมิได้ เมื่อรู้สึกว่าศาสนาหรือศาสดาของพวกตนถูกแตะต้องโดยพวกใจบาปหยาบช้า ความคลั่งแค้นของพวก (Thai-Ultra-royalist) Fundamentalists หัวรุนแรงมักมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงและการก่อการร้ายทั้งทางรูปธรรมและทางสัญลักษณ์ อาทิ การฟ้องข้อหาหมิ่นฯ, การขับไล่ออกนอกประเทศ, การล่าแม่มด-เสียบประจานทางอินเตอร์เน็ท, การแสดงความอาฆาตมาดร้ายทางเฟซบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ ฯลฯ หากเปรียบเทียบกับการออกประกาศที่อนุญาตให้ฆ่าคนที่เปลี่ยนศาสนาหรือวิพากษ์วิจารณ์ศาสนานั้นได้อย่างชอบธรรมและถือเป็นวีรกรรม กฎหมายหมิ่นฯ และผู้สนับสนุนกฎหมายหมิ่นฯ ก็มีสปิริตเบื้องหลังคล้ายคลึงกัน

ลัทธิศาสนาย่อมต้องมีสาวก (“เรารักในหลวง”) นักรบศักดิ์สิทธิ์ (“ศีรษะนี้มอบแด่พระเจ้าแผ่นดิน!”), บทบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ (รัฐธรรมนูญมาตรา 8, กฎหมายอาญามาตรา 112), พงศาวดาร (พระราชกรณียกิจ พระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ) และหน่วยงานเผยแพร่คำสอน-เฝ้าระวังความจงรักภักดี-ลงทัณฑ์พวกนอกรีต (กระทรวงทบวงกรม กองทัพ ศาล สื่อฯลฯ)

อะไรคือสิ่งที่ถือเป็น “มูลฐาน” ของ Thai Ultra-royalist Fundamentalists?

ตอบ: ความเชื่อในองค์ความรู้ว่าด้วยเทพกรฌัมและกฤษฎาภินิหารฉบับราชการว่า จริงแท้แน่นอนทุกถ้อยกระทงความอย่างมิอาจปฏิเสธและหักล้างด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงใดๆ ได้ “ความจริง” ในความเชื่อตามตำนานศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นความจริงที่อยู่เหนือการพิสูจน์และตรวจสอบ หากสำหรับชาวคริสต์แบบ Fundamentalist Christian ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolution) ไม่สามารถล้มล้างทฤษฎีพระเจ้าสร้างโลก (Creation) ได้ฉันใด สำหรับชาวไทยแบบ Fundamentalist Ultra-royalist ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์การเมืองและทฤษฎีทางสังคมวัฒนธรรมใดๆ ก็ไม่อาจล้มล้างความเชื่อในตำนานศักดิ์สิทธิ์ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ได้ฉันนั้น

จุดอ้างอิงของ religious fundamentalism อาจมีชื่อตามคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละศาสนา ส่วนจุดอ้างอิงของไทยคือ Propaganda ซึ่งเปี่ยมล้นด้วยความศักดิ์สิทธิ์ดุจกัน

ลักษณะสำคัญของ Thai-Ultra-royalist Fundamentalists คือ การไม่ยอมรับฟังหรือปรับเปลี่ยนความคิดต่อให้มีหลักฐานข้อเท็จจริงมาหักล้างความเชื่อนั้นก็ตาม การปิดรับความจริงกับการรับความจริงไม่ได้เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ในกรณีสุดโต่ง พวกเขาจะเชื่อในสิ่งที่ขัดแย้งกับเหตุผล ข้อเท็จจริง และแม้แต่สามัญสำนึก

แม้ว่าในเวลาปกติเหล่า Thai-Ultra-royalist Fundamentalists หัวรุนแรงมีความโน้มเอียงจะถือตนเป็นชาวพุทธที่คิดดี-ทำดี แต่ยามใดที่รู้สึกถูกท้าทายหรือยั่วแหย่แม้เพียงแผ่วเบาในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ พวกเขาจะละทิ้งหลักธรรมของพระพุทธองค์จนหมดสิ้น และหันไปใช้ความรุนแรงเป็นคบไฟนำทางแทน

บทลงโทษที่โหดเหี้ยมเป็นตัวบ่งชี้การมุ่งขจัดผู้ไม่สวามิภักดิ์ในทางมโนธรรมสำนึกด้วยวิธีคิดเบื้องหลังชนิดเดียวกับอัตราโทษผู้ล่วงละเมิดอำนาจสูงสุดในยุคโบราณ อาทิเช่น เอาหินปาให้ตาย จับถ่วงน้ำ เฆี่ยน โบย ตอกเล็บ เอามะพร้าวห้าวยัดปาก

การที่อัตราโทษและจำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสมัย “ประชาธิปไตย” ในปัจจุบัน สูงกว่า ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น อาจเทียบเคียงได้กับกระบวนการถูกทำให้มีลักษณะของความเป็น Fundamentalism ซึ่งเป็น “ปฏิกิริยาโต้ตอบ” ความเป็นสมัยใหม่และการวิพากษ์วิจารณ์ที่คุกคามอุดมการณ์ความเชื่อของตน

การไม่สามารถเพิ่มอัตราโทษในตัวบทกฎหมายให้สาหัสกว่านี้ (จำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี) ตามความปรารถนาเร้นลึกของฝ่ายจารีตนิยมอำนาจนิยมและมวลชนผู้สนับสนุนนั้น มาจากการติดขัดในมาตรฐานทางอารยธรรมและจริยธรรมของโลกสากลในปัจจุบันที่ทำให้เกิดความหวั่นเกรงและกระดากอายกันอยู่บ้าง ทว่าความมุ่งมาดอันไม่สมหวังนี้ก็ถูกชดเชยด้วยกระบวนการดำเนินคดีแบบไร้ขื่อแป ไร้มนุษยธรรมและไร้ยางอาย เช่น ตั้งข้อหากับการกระทำที่ไม่เข้าข่ายผิดมาตรา 112 , ตีความและบังคับใช้มาตรา 112 ตามอำเภอใจไร้ขอบเขต, เอื้อประโยชน์และให้ท้ายการใส่ร้ายป้ายสี, ออกหมายจับทันทีโดยไม่ออกหมายเรียก, จู่โจมจับกุมแบบไม่ให้รู้ตัว, จับขังโดยยังไม่มีการตั้งข้อหา, จับผิดตัวแต่ไม่ปล่อย, ขังลืม-ขังเลว, ไม่ให้สิทธิประกันตัว, ไม่ให้การรักษาพยาบาล, สืบพยานพิสูจน์หลักฐานแบบมาเฟีย, พิจารณาคดีแบบปิดลับ เป็นต้น

จริงๆ แล้วสิ่งที่ควรจะต้องถูกลงทัณฑ์สถานหนักก็คือกระบวนการยุติธรรมอันเหลวแหลกของไทยเอง แต่การอ้างการปกป้องสถาบันฯ และกุคำอธิบายใส่ร้ายผู้ตกเป็นจำเลยเสียเองก็ย่อมเป็นโครงค้ำจุนสิทธิธรรมในการใช้อำนาจโดยมิชอบเหล่านั้นให้ลอยนวลต่อไป

อุดมการณ์แห่งรัฐที่ต่างกันทำให้การกระทำเดียวกันได้รับการพิจารณาและจัดการต่างกัน ด้วยการยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์หรือแม้แต่กษัตริย์-ราชินี “ไม่ถือเป็นความผิด” ในประเทศที่เจริญแล้ว แต่ในประเทศด้อยพัฒนาที่อุดมการณ์ศักดินาอยู่เหนือทุกสิ่ง ศาลจะตัดสินจำคุกหลายปี การล้อเลียน-เสียดสีบุคคลลำดับสูงในสถาบันกษัตริย์ที่สร้างความเสื่อมเสียเกินขอบเขต ศาลในประเทศพัฒนาแล้วอาจลงโทษสถานเบาให้ปรับเงินจำนวนเล็กๆ น้อยๆ แต่ในประเทศที่ไม่ยอมพัฒนา ศาลยังคงตัดสินให้จำคุกหลายปี โดยเปิดช่องให้กับการแสดงพระราชอำนาจและพระราชบารมีในการพระราชทานอภัยโทษ

***

คงไม่ถึงขั้นสัจธรรมที่แย้งไม่ได้ อีกทั้งไม่ใช่การปฏิเสธเรื่องทางจิตวิญญาณ แต่ความจริงเบื้องหลังศาสนาคือสังคมวิทยามานุษยวิทยา และใครจะปฏิเสธอย่างมีเหตุผลได้ว่า วิทยาศาสตร์อธิบายจักรวาลได้ดีกว่าศาสนา หากพระเจ้าไม่ได้สร้างโลก พระราชาย่อมไม่ได้ถูกพระเจ้าส่งมาปกครองหมู่มวลมนุษย์ ต้นกำเนิดความศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงคือสิ่งที่มนุษยชาติสร้างขึ้นเพื่อครอบงำและควบคุมตัวเอง คติเกี่ยวกับกษัตริย์ในทุกวัฒนธรรมเป็นนิทานปรัมปราของชนชั้นปกครอง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าชนชั้นปกครองย่อมเป็นผู้สร้างและอ้างความศักดิ์สิทธิ์ทั้งเพื่อกำราบและล่อลวงชนชั้นใต้ปกครอง ในสังคมโบราณ แทบทุกเรื่องราวล้วนมีมิติทางศาสนาและไม่ได้แบ่งแยกปริมณฑลเป็นเอกเทศแบบสังคมสมัยใหม่ ถึงกระนั้นในประเทศที่ตกอยู่ใต้มนต์ดำคำสาป ศาสตร์สมัยใหม่ทั้งหลายต่างพ่ายแพ้ไสยศาสตร์และการโฆษณาชวนเชื่อ

นี่คือราคาที่ต้องจ่ายด้วยความสูญเสียอันไม่อาจประเมินค่าได้ของสังคมที่ยังไม่มีการแตกหักอย่างเด็ดขาดจากอุดมการณ์ของระบอบเก่า มิหนำซ้ำอุดมการณ์ของระบอบใหม่ยังถูกป้ายสีใส่ไคร้และบิดเบือนแก่นสารที่แท้จริง ในสภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่เกิดการปะทะทางอุดมการณ์ระดับทั้งแผ่นดินเป็นครั้งแรก อำนาจเก่าที่ไม่ยอมเสียอะไรเลยในที่สุดแล้วจะเสียมากกว่าที่คิด

ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีปรีดาและน่าอิจฉาหรอกหรือที่จักรพรรดิ์ฮิโรฮิโตจำเป็นต้องออกมาบอกความจริงกับประชาชนชาวญี่ปุ่นว่า เขาไม่ได้สืบสายมาจากเทพแห่งดวงอาทิตย์ จักรพรรดิ์ไม่ใช่เทพเจ้า ในศตวรรษนี้ไม่มีกษัตริย์ ราชินี และพระราชวงศ์คนใดในราชสำนักยุโรปกล้าคิดหรือหลงเชื่อว่าตัวเองรับโองการสวรรค์มาจากพระผู้เป็นเจ้า เหล่าคิง ควีน ปริ๊นซ์ ปริ๊นเซส ดยุค และดัชเชสล้วนตระหนักดีว่า ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมชนิดหนึ่ง พวกเขาเป็นเพียงชนชั้นอภิสิทธิ์ชนจากอดีตที่ประชาชนในปัจจุบันอนุญาตให้ดำรงอยู่ได้ในกฎเกณฑ์และขอบเขตอันเหมาะสม

จะมีหรือไม่มีสถาบันกษัตริย์ แต่ละประเทศในยุโรปตะวันตก รวมทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ต่างออกแบบระบอบการปกครองที่เอาประชาธิปไตยและหลักสิทธิเสรีภาพเป็นตัวตั้ง เอาอย่างอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยและหลักสิทธิเสรีภาพเป็นตัวรอง เพราะประชาธิปไตยแม้จะไม่สมบูรณ์แบบ มีข้อบกพร่องมาก มีความไม่น่าไว้วางใจไม่น้อย แต่ก็เป็นอุดมการณ์ที่เปิดกว้างมากกว่ากดขี่ ส่งเสริมความเป็นมนุษย์มากกว่าเหยียบย่ำความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ประชาธิปไตย หลักแห่งเสรีภาพ และความเสมอภาคย่อมเป็นที่ชิงชังรังเกียจและถูกสร้างให้เป็นสิ่งชั่วร้ายในสังคมที่มรดกทางวัฒนธรรมศักดินาและเผด็จการหยั่งรากลึก

หากสถาบันกษัตริย์ “ไม่เป็นประเด็น” ในประเทศที่ศิวิไลซ์แล้ว ก็เพราะประเทศเหล่านั้นมีสถาบันกษัตริย์ภายใต้วัฒนธรรมประชาธิปไตย ส่วนที่ “เป็นประเด็น” ในประเทศที่ยังไม่ศิวิไลซ์ ก็เพราะประเทศไทยมีสถาบันกษัตริย์ภายใต้วัฒนธรรมศักดินา-สมบูรณาญาสิทธิราชย์

***

เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า กฎหมายหมิ่นฯ รวมทั้งอุดมการณ์ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และกฎหมายอื่นๆ ที่แวดล้อมนั้น ไม่ได้อิงกับหลักเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ต้น ความคิดเบื้องหลังบทลงโทษและวัฒนธรรมการบังคับใช้มาตรา 112 จึงไม่ได้อยู่ในครรลองของหลักการตรากฎหมายสมัยใหม่ที่วางอยู่บนดุลยพินิจอัน “มีอารยะ” แต่อบอวลไปด้วยกลิ่นไอของกฎหมายโบราณภายใต้อุดมการณ์วัฒนธรรมโบราณที่ “ไม่อารยะ”

โดยยังไม่ต้องอภิปรายในแง่หลักการอุดมการณ์อะไรเลยด้วยซ้ำ ในนามของการปกป้องสถาบันฯ กฎหมายหมิ่นฯ กำลังถูกใช้อย่างสะเปะสะปะ โฉดเขลา และวิปริตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการสนับสนุนจากพวกล้าหลังคลั่งเจ้าที่ต่อให้เห็นความหน้ามืดตามัวและความไม่เป็นธรรมของการใช้มาตรา 112 ในกรณีนับไม่ถ้วน ก็ยินดีเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือมิฉะนั้นก็ยินยอมสนับสนุนความฉ้อฉลของเครือข่ายอำนาจดังกล่าวอย่างออกหน้าออกตา แต่เอาเข้าจริงแล้ว แม้แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมที่พอมีสติเองก็รู้ซึ้งอยู่แก่ใจดีว่าไม่อาจควานหาข้ออ้างใดมาปกป้องหรือแก้ต่างความอัปยศของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “112: ปรากฏการณ์ผีบ้าอาละวาดเขย่าโลกันต์” ได้

กฎหมายอย่าง 112 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อผดุงความอยุติธรรมให้คงสถานะเป็น “ธรรมชาติ” ปัญหาขั้นมูลฐานของตัวมาตรา 112 คือลักษณะการกระทำที่ถือเป็นความผิด (ซึ่งไม่ควรผิด หรือควรมีเหตุยกเว้นความผิด) ขอบเขตการครอบคลุม (ซึ่งไม่ควรครอบคลุม) อัตราโทษ (ซึ่งไม่ควรมีโทษขั้นต่ำ และโทษขั้นสูงก็ต้องต่ำ) และที่สำคัญที่สุดคือ อุดมการณ์ที่ให้กำเนิดและจรรโลงตัวบทกฎหมายนี้ (ซึ่งไม่ควรมี)

ความดักดานบ้าคลั่งของเมืองไทยนั้นตกอยู่ในอาการโคม่าในระดับที่ฝ่ายรอยัลลิสต์อนุรักษนิยมยังต้องกระเถิบห่างแม้จะเคยแอบให้ท้ายเพื่อใช้ประโยชน์มาก่อน แม้ว่าการจะฝ่าด่านพลังกษัตริย์นิยมสุดขั้วก็นับว่ายากเข็ญปางตายแล้ว แต่ความซับซ้อนยอกย้อนสถิตย์อยู่ในทุกเรื่องราว การปฏิรูปหรือแก้ไขเพียงผิวเผิน เช่น การลดอัตราโทษลงเล็กๆ น้อยๆ (ดังที่ฝ่ายรอยัลลิสต์บางคนเสนอเอง) อาจกลายเป็นการให้ความชอบธรรมกับกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชน-หมิ่นมนุษยชาติฉบับนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป ด้วยข้ออ้างจากฝ่ายรอยัลลิสต์ (ที่ฉลาดพอที่จะไม่ไปเกลือกกลั้วกับพวก Ultra-royalist ในขณะนี้) ว่าได้ทำการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นแล้ว

หากไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกมาตรา 112, ปล่อยตัวจำเลยคดีหมิ่นฯ ทั้งหมด, ถอนหมายจับคดีหมิ่นฯ ทั้งหมด (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ), เอาผิดกับ “ผังล้มเจ้า”, ประณามและเรียกร้องความรับผิดชอบจากสื่อมวลชนที่สื่ออะไรอื่นไม่เป็นนอกจากใส่ร้ายป้ายสีและบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างหน้าด้าน ฯลฯ--เป็นอย่างน้อยที่สุดแล้ว ถ้อยคำอันสละสลวย อุดมคติอันสูงส่ง และโครงการอันสวยหรูทั้งหลายทั้งมวล ทั้งที่สำเหนียกและแสร้งเป็นไม่เดียงสากับเพดานอันต่ำเตี้ยและโทษทัณฑ์อันป่าเถื่อนของการพูด-เขียน-ถกเถียง-เปิดโปงความจริงในเมืองไทย ตั้งแต่ “วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์” “สังคมอุดมปัญญา” “ไทยเข้มแข็ง” “ปฏิรูปประเทศไทย” “เปลี่ยนประเทศไทย” ฯลฯ ก็มิใช่อะไรอื่น หากแต่ล้วนเป็นเรื่องโกหกพกลมและดัดจริตจอมปลอม

สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส และผู้มีอำนาจบารมีในบ้านเมืองนี้ซึ่งอาจเป็นประเภทของบุคคลที่จำเป็นในสังคมชนเผ่า แต่ไม่จำเป็นและอาจถึงกระทั่งเป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญก้าวหน้าในสังคมที่พยายามมุ่งไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ (ไม่ใช่เพราะ “สมัยใหม่” เป็นโลกพระศรีอาริย์ แต่เพราะ “สมัยเก่า” เลวเกินไป โง่เกินไป และน่าสะอิดสะเอียนเกินไป) สิ่งที่เราต้องการจากพวกเขาไม่ใช่คำเทศนาสั่งสอนโฆษณาชวนเชื่อ แต่คือความรู้จักละอายแก่ใจ

มิใช่แค่เพียง “ปัญหาการบังคับใช้” ดังเช่นที่มักถูกกล่าวอ้างเพื่อทำให้กฎหมายนี้ถูกปรับเปลี่ยนน้อยที่สุด แต่มาตรา 112 โดยตัวมันเองคือ “หัวใจของปัญหา” ทั้งปัญหาในแง่เนื้อหาและปัญหาที่ตัวบทมาตรานี้ถูกทำให้แตะต้องไม่ได้และกลายเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” เสียเอง การยกเลิกทั้งมาตรา-อันเป็นเพียงก้าวแรกของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และวัฒนธรรมอุดมการณ์กษัตริย์นิยม-จึงเป็นเรื่องสมควรแก่เหตุ เนื่องจากเหตุอันเร่งด่วนคือการหยุดมิให้มีการใช้มาตรา 112 เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอีกต่อไป

ทั้งนี้แน่นอนที่สุดว่า การยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 จะดำเนินไปได้อย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างแท้จริง ก็ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ไปด้วยพร้อมกัน

และนั่นเป็นแค่เพียงรุ่งอรุณแห่งอารยธรรมเท่านั้น

 

อ้างอิง

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112: ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

รัฐธรรมนูญมาตรา 8: องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

ข้อความใน “ประกาศคณะราษฎร” สะกดตามต้นฉบับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net