สำนักงานทรัพย์สินฯ แจง "ในหลวง" ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

สำนักงานทรัพย์สินฯ ชี้แจงย้ำอีกครั้ง พระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นคือทรัพย์สินส่วนพระองค์ ส่วนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินของรัฐและของแผ่นดิน ซึ่งมีรัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบ โดยสำนักงานฯ เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน

17 มิ.ย. 54 - มติชนออนไลน์รายงานว่าตามที่นิตยสารฟอร์บสเคยลงข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เพราะเป็นเจ้าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รายงานประจำปีล่าสุดของสำนักงานฯ ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว

โดยในรายงานประจำปี พ.ศ. 2553 ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในบทส่งท้ายระบุว่า ตามที่นิตยสารฟอร์บสได้เคยลงข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เพราะสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดินมีมูลค่ามากมายมหาศาล ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ชี้แจงไปยังนิตยสารนี้แล้วว่าข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง เพราะในประเทศไทยมีกฎหมายแบ่งแยกทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน

ถึงแม้ว่าจะชี้แจงไปแล้วว่าพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นคือทรัพย์สินส่วนพระองค์ ส่วนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินของรัฐและของแผ่นดิน ซึ่งมีรัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบ โดยสำนักงานฯ เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน และมีนโยบายที่ได้รับมอบหมายมาจากคณะกรรมการ ซึ่งเป็นเรื่องการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมาโดยตลอด แต่ยังมีผู้เข้าใจผิดเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย

รายงานดังกล่าว ยังระบุว่าที่ดินที่ได้มอบให้สำนักงานทรัพย์สินฯดูแลตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานปี 2479 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักงานปฏิรูปที่ดิน(สปก.) นำที่ดินประมาณครึ่งหนึ่ง(ประมาณ 44,000 กว่าไร่) ไปจัดสรรให้ประชาชนได้มีที่ทำกิน และได้ทรงตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบนที่ดินเหล่านี้ ส่วนที่ดินที่เหลือที่ยังอยู่ในความดูแลของสำนักงานฯ ก็ไม่ได้ถูกใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดอย่างเช่นเอกชนทั่วๆไป แต่มีการบริหารจัดการโดยมีนโยบายการพัฒนาระยะยาวเพื่อประโยชน์สังคมเป็นเป้าหมายหลัก

โดยที่ที่ดินร้อยละ 93 ให้เช่ากับหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม และประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางในอัตราค่าเช่าที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก มีเพียงร้อยละ 7 ที่ให้เอกชนเช่าออกไปพัฒนาในทางธุรกิจโดยได้ค่าเช่าในอัตราใกล้เคียงกับอัตราตลาด

รายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุถึงทรัพย์สินที่เป็นเงินลงทุน ว่าปัจจุบันมีการลงทุนหลักในสองกิจการ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) ซึ่งมีนโยบายที่เข้มงวดในการบริหารกิจการโดยมีหลักธรรมาภิบาลและรับผิดชอบต่อสังคม

โดยปี 2553 สำนักงานได้เพิ่มบทบาทการดำเนินการและสนับสนุนกิจการด้านสังคมที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งบนพื้นที่ของสำนักงานและโดยทั่วไป โดยผลสำเร็จของงานหลายๆประการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ซึ่งสามารถจำแนกเป็นหมวดหมู่ดังต่อไปนี้

1.การพัฒนาศักยภาพและมอบโอกาสให้เยาวชนที่จะเป็นคนเก่งคนดี เป็นคนมีความสุขในสังคม

2.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อาศัยบนพื้นที่ของสำนักงานฯ

3.การบรรเทาปัญหาสังคมอันเกิดจากความด้อยโอกาส การเข้าไม่ถึงบริการหรือสวัสดิการของรัฐ

4.การรักษาและอนุรักษ์คุณค่าทางศิลปะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมและทางศาสนา

5.การสนับสนุนการวิจัยเชิงกลยุทธ์เพื่อการพัฒนา และเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประเทศ

รายงานประจำปีล่าสุดของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ยังระบุว่าปี 2553 สำนักงานฯพอใจกับผลงานที่กิจการและโครงการต่างๆก้าวหน้าตามพันธกิจและนโยบายอย่างดี และปลายปี 2553 ได้ริเริ่มกระตุ้นรณรงค์ให้ผู้บริหารมุ่งสร้างความสำนึกและพัฒนาความใส่ใจใฝ่รู้ของบุคลากร นำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อคุณภาพการบริหารจัดการทุกๆด้านให้อยู่ในระดับมาตรฐานโลกภายในปี 2554 .

(จากสำนักข่าวอิศรา /รายงานประจำปี 2553  สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)

คลิกอ่าน อ่านรายงานประจำปี 2553  สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่นี่!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท