Skip to main content
sharethis

เข้าช่วงโค้งสุดท้ายสู่ทางตรง 20 เมตร ก่อนวันที่ 3 กรกฏาคม พรรคการเมืองที่มีลุ้นที่นั่งต่างก็ดีเดย์วันปราศรัยใหญ่ในวันศุกร์ที่ 1 กรกฏาคม 2554 ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงพรรครักประเทศไทย พรรคน้องใหม่มาแรงของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการเลือกสถานที่นั้นมีความสัมพันธ์กับลักษณะของพรรค เริ่มจากพรรครักประเทศไทย ที่มาแรงชูจุดขายเด่นชัดคือการประกาศตน “ขอเป็นฝ่ายค้าน ต้านคอร์รัปชั่น”ที่เป็นที่ถูกอกถูกใจคนคิดแนวขวาง คาดว่าในสนามกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ชูวิทย์จะกวาดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ให้เป็น ส.ส.อย่างสมความคาดหวัง บางโพลระบุว่าอาจจะถึง 3ที่นั่งเลยทีเดียว ด้วยความที่จุดขายอยู่ที่ตัวหัวหน้าพรรค ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ตามประสาคนขี่กระแส เล่นมาทุกบทบาท ทำประจานทุนผูกขาดกลางตลาดสด แม้กระทั่งการทำแพลงกิ้ง แต่ถ้าหันไปถามว่ามีใครรู้จักปาร์ตี้ลิสต์อันดับอื่นๆ หรือเคยเห็นรูปหาเสียงของสมาชิกคนอื่นๆหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่!! เขาจึงเลือกจะปราศรัยที่สวนชูวิทย์ ปากซอยสุขุมวิท 12 ที่เสมือนรังตายของเขา เป็นพื้นที่ส่วนตัว และแสดงความแตกต่างไม่เหมือนใครในแบบของเขา พื้นที่ที่เป็นสวนแห่งนี้เคยเป็นที่โด่งดังเมื่อปี 2546 เมื่อเขาออกมาแฉเรื่องตำรวจเรียกรับ “ส่วยน้ำกาม” ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก หลังจากที่ตำรวจพยายามจะดำเนินคดีกับเรื่องของการกล่าวหาว่ามีส่วนอยู่เบื้องหลังในการไล่รื้อบาร์เบียร์ โดยหลังจากนั้นเขาได้ประกาศอุทิศสวนนี้ให้เป็นสวนสาธารณะ เป็นพื้นที่สีเขียวบนถนนที่ราคาที่ดินแพงมากกว่าทอง ให้กับคนมาออกกำลังกาย สวนชูวิทย์ ริมถนนสุขุมวิท หากภาษานักพากย์ฟุตบอลอาจพูดได้ว่า ชูวิทย์เปิดบ้านต้อนรับการมาเยือนของมิตรรักแฟนคลับของเขาอย่างอบอุ่นพร้อมชูประเด็นปราศรัยว่า “ความจริงต้องฟังจากผม” เพื่อประกาศจุดยืนของเขาในการที่เป็นคนมีข้อมูลเชิงลึกและพร้อมจะเข้าไปตรวจสอบทุกฝ่ายในฐานะผู้อาสาเป็นฝ่ายค้าน ในวันศุกร์ที่ 1 กรกฏาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 18.00น. เป็นต้นไป ข้ามมาถึงพรรคเก่าแก่ที่ยังคงครองตำแหน่งรัฐบาลรักษาการอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่เริ่มเปลี่ยนแนวทางการหาเสียงจากการขายนโยบายซึ่งดูเหมือนจะเป็นรองพรรคเพื่อไทยอยู่หลายช่วงตัว หันมาเล่นเกมถนัดคือการสร้างวาทกรรมและดึงอุดมการณ์พิทักษ์พลังจารีต และอารมณ์ร่วมของชาวเมืองกรุงที่ยังขยาดกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 เราจึงได้ยินวนเวียนกับวาทกรรมซ้ำเดิม “ชายชุดดำ” “เผาบ้านเผาเมือง” หรือ “กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” รวมไปถึงวาทกรรมใหม่ “ถอนพิษทักษิณ” ที่แสดงถึงความอ่อนแอทางด้านการชูนโยบายเป็นจุดขาย ทำให้ต้องหันมาชูเรื่องการเมืองเชิงอารมณ์ (emotional politic) น่าสนใจตั้งแต่การเลือกพื้นที่ปราศรัยในวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ในพื้นที่ราชประสงค์ เพื่อชี้แจง “ชุดความจริง” อีกชุดหนึ่งที่เขายึดถือ ในดินแดนที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตยแห่งใหม่ สมรภูมิเลือดใจกลางเมืองและแหล่งช็อปปิ้ง แต่ดูเหมือนกระแสจะจุดไม่ติดเท่าที่ควร ยังคงมีเพียงมิตรรักแฟนเพลงลูกแม่พระธรณีที่ตากฝนปราศรัย มีการประเมินจากสื่อมวลชนต่างประเทศว่าอยู่ในหลักไม่ถึงหมื่นคน โอกาสสุดท้าย 1 กรกฏาคมนี้พรรคประชาธิปัตย์ ตอกย้ำภาพพรรคการเมืองพลังจารีตนิยมและอนุรักษ์นิยมที่ชัดเจนมากขึ้น โดยการเลือกลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นเวทีปราศรัยเพื่อยึดพื้นที่มั่นสุดท้าย กรุงเทพมหานครที่มีคะแนนคนชั้นกลางชาวกรุงเป็นเดิมพัน ถ้าหากพวกเขาสูญเสียพื้นที่ กทม.ให้กับพรรคเพื่อไทยหมายถึงแทบจะปิดโอกาสในการเป็นรัฐบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า พื้นที่แห่งนี้น่าสนใจเมื่อหากเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ แต่เดิมนั้นลานพระบรมรูปทรงม้านั้น ประชาชนได้มีส่วนร่วมเรี่ยไรเงินในการจัดสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในแบบตะวันตกที่นิยมสร้างรูปเหมือนของบุคคล เป็นฝีมือการปั้นของ จอร์จ เซาโล และเงินที่เหลือจากการปั้นถูกนำไปใช้สร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยรัชกาลที่6 ข้อสังเกตประการหนึ่งของการใช้ลานพระรูปทรงม้าของพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้คือมาจัดขึ้นหลังจากที่พันธมิตรประกาศยุติการชุมนุมวันเดียวกันซึ่งอาจมีนัยยะบางประการภายหลังจากเหตุการถอนตัวจากภาคีสมาชิกมรดกโลกที่นายสุวิทย์ดำเนินการเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยรัชกาลที่ 5 ถูกยกย่องให้เป็น “สมเด็จพระปิยมหาราช” หรือ “พระพุทธเจ้าหลวง”ในกาลต่อมา และในปัจุบัน ประชาชนบางคนยังนิยมจัดเป็นโต๊ะบูชา ส่วนใหญ่ประกอบด้วย บายศรี หมากพลู บุหรี่ เหล้า/ไวน์ สตางค์ น้ำมนต์ เชิงเทียน กระถางธูป ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการจัดอย่างบูชา “เทพ” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเปรียบพระองค์เสมือนดั่งเทพยดาที่ปกปักษ์รักษา ประเทศชาติ และราษฎรให้อยู่รอดปลอดภัย และเจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด ตามความเชื่อที่ประชาชนมักจะเรียกขานท่านว่า “เสด็จพ่อ ร.5” แต่ต่อมาความหมายถูกเปลี่ยนไป เมื่อปี 2475 ย่ำรุ่งวันที่ 24มิถุนายน กลุ่มคณะราษฎรได้ใช้เป็นสถานที่อ่านคำประกาศคณะราษฎรเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ยังคงมีหมุดประชาธิปไตยเป็นที่รำลึก แต่ก็ถูกละเลยไปทางประวัติศาสตร์ในยุคปัจจุบัน สังเกตจากการเลือนหายทางความทรงจำว่าในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันชาติไทย ซึ่งเริ่มลดความสำคัญลงจากการกลับมามีอำนาจของพลังจารีตหลังจากการรัฐประหารของจอมพล ผิน ชุนหะวัณ พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์และนายปรีดี พนมยงค์ และปิดฉากคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์เพียง 1 ปี ซึ่งเป็นพรรคที่มีจุดยืนในการคานอำนาจของฝ่าย นายปรีดี พนมยงค์ และมีแนวโน้มไปทางอนุรักษนิยมตลอดเวลาของพรรค ภาพตัวแทนสัญลักษณ์ของพลังจารีตได้กลับมาอีกครั้งเมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2549 จนนำไปสู่การรัฐประหาร ในแง่เชิงความสัมพันธ์กับกลุ่มพันธมิตร นายสนธิ ลิ้มทองกุล เคยพูดพาดพิงว่าประชาธิปัตย์ก็เป็นผู้ร่วม “กฐินสามัคคี” ในการขับไล่ทักษิณช่วงก่อนรัฐประหาร และในเชิงสัญลักษณ์พื้นที่นี้เปี่ยมด้วยความหมายสำหรับกลุ่มอนุรักษนิยมและพลังจารีตเป็นอย่างมาก โดยประชาธิปัตย์จะปราศรัยในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยใต้ฟ้าเดียวกัน” และหวังว่าพื้นที่นี้จะมีส่วนช่วยสกัดกั้นกระแสความร้อนแรงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเสมือนโคลนนิงพี่ชาย โดยจะตอกย้ำประเด็น “ไม่นิรโทษกรรม” และ “ไม่ทำเพื่อคนๆเดียว” ส่วนไฮไลท์ในครั้งนี้คือการนำเทคโนโลยีเชื่อมโยงการปราศรัยพร้อมกัน 10 เวทีตามหัวเมืองใหญ่มาช่วย ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และจ.สุโขทัย ภาคอีสานจัดที่จ.อุดรธานี และจ.อุบลราชธานี ภาคกลางจัดที่จ.เพชรบุรี และจ.ระยอง ภาคใต้จัดที่จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช ใน 3 จว.ชายแดนภาคใต้ จะจัดที่สุไหงโกลก จ.นราธิวาส โดยจะเริ่มในเวลา 17.00 น. SIU ตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือประชาธิปัตย์เลือกปราศรัยในพื้นที่เปิด ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาและการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากเมื่อเป็นพื้นที่เปิด จำนวนประชาชนคนดูหนาแน่นกว่าความเป็นจริง เพราะไม่สามารถนับยอดผู้เข้าร่วมฟังปราศรัยได้ชัดเจน และเมื่อเวลาถ่ายภาพจากมุมสูงของสื่อมวลชนจะดูมีจำนวนมากยิ่งขึ้น และพรรคสุดท้ายพรรคเพื่อไทย ซึ่งกระแสนำอยู่ในทุกโพลสำรวจความคิดเห็น ยุทธศาสตร์ในช่วงนี้จึงอยู่ในการรักษากระแสจนนำไปถึงวันลงคะแนนในวันที่ 3 กรกฏาคม หลังจากการนำเสนอนโยบายตลอด 2 เดือนที่ผ่านมามีความชัดเจน และเริ่ม “ติดตลาด” โดยได้รับกระแสตอบรับจากการเดินสายไปปราศรัยทั่วประเทศ และมีการวางคิวปราศรัยที่น่าสนใจคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะปราศรัย ก่อนนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงเสมอ เนื่องจากการปราศรัยของนายณัฐวุฒิมีการดึงอารมณ์ผู้เข้าร่วมฟังเป็นอย่างมาก และมีการรับส่งกันที่ค่อนข้างชัดเจน คือ เรียงลำดับโดยการนำ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท้องที่นั้นเริ่มปราศรัยก่อน และเมื่อปราศรัยถึงเรื่องเศรษฐกิจก็มักจะจัดขุนพลเศรษฐกิจที่เป็นจุดขายของพรรคปราศรัย และตามด้วยผู้ใหญ่ของพรรคในโซนพื้นที่ความดูแลไม่ว่าจะเป็น พ.อ.อภิวันท์ เลิศวิริยะชัย หรือ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ตามเกมที่ที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์ได้วางไว้ ก่อนจะตามด้วยหัวหน้าพรรค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยการชูภาพนายกรัฐมนตรีหญิง ก่อนที่จะปิดท้ายด้วย นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ซึ่งถือว่าเป็นแม่เหล็กของงาน สนามราชมังคลากีฬาสถาน ครั้งนี้พรรคเพื่อไทย เลือกพื้นที่ “สนามราชมังคลากีฬาสถาน” ย่านหัวหมาก ในการปราศรัยใหญ่หัวข้อ “วิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2020” ซึ่งเป็นการเน้นย้ำจุดขายด้านนโยบายและวิสัยทัศน์ของพรรค ที่การันตีโดย “นายห้างดูไบห่อ” ว่าทักษิณและทีมงานเศรษฐกิจพร้อมที่จะให้การสนับสนุนพรรคในเรื่องของการวางนโยบาย และเป็นพรรคเดียวที่ชูวิสัยทัศน์มองไปถึงอนาคตในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่นานาชาติวางยุทธศาสตร์ในการวางแผนพัฒนาระยะยาวซึ่งแปลว่าถ้าหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลครบวาระสองสมัยจะสามารถวางยุทธศาสตร์การพัฒนาไปถึงปี2020 ได้อย่างแน่นอน แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์อย่างทีเล่นทีจริงว่า “รัฐบาลพรรคเพื่อไทยอาจจะอยู่ไม่ถึงสมัยนั้น” สนามดังกล่าวสามารถจุคนได้ถึง 80,000คน โดยสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในปี พ.ศ. 2531และ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2541 โดยได้เปิดใช้ในการแข่งกันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพเป็นครั้งแรก ในเชิงสัญลักษณ์สนามกีฬาแห่งนี้มีความทันสมัยและความพร้อมในระดับสากล ด้วยสถาปัตยกรรมในรูปแบบสมัยใหม่และเคยรองรับอีเวนท์ใหญ่ๆ ระดับชาติอย่างนับไม่ถ้วน โดยมีภาพลักษณ์ความใหม่มากกว่าสนามกีฬาแห่งชาติ หรือ สนามศุภชลาศรัยที่มีภาพของความเก่าแก่ ซึ่งสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยที่เน้นภาพความเป็นสากล และพรรคที่มีการบริหารแบบใหม่ โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00น. และในเชิงยุทธศาสตร์และจิตวิทยามีความสำคัญคือ ในเมื่อเป็นสถานที่ปิดพรรคเพื่อไทยสามารถประเมินจำนวนผู้สนับสนุนได้ง่ายกว่า หากสนามเต็มความจุย่อมแปลว่ามีผู้ฟังปราศรัยจำนวนหลักหมื่นคน และถ้าล้นออกมายังบริเวณโดยรอบของการกีฬาแห่งประเทศไทยนั้นย่อมแปลว่ามีผู้รับชมอาจถึงหลักแสนคนทีเดียว ที่สำคัญไปกว่านั้นยังเป็นการเช็คกระแสสนับสนุนจากฐานคะแนนเสียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกด้วย เพราะผู้ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่คาดว่าจะเดินทางจากจังหวัดที่ไม่ไกลนักเนื่องจากใกล้ถึงวันเลือกตั้ง ผู้สนับสนุนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลอาจไม่สะดวกในการเข้าร่วม และพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลคือจุดอ่อนของพรรคที่มีทักษิณสนับสนุนในครั้งก่อน แต่โพลล์ในครั้งนี้กลับแซงนำประชาธิปัตย์ เป็นการสำรวจตาม “ต้นตำรับการทำโพลล์ประชาชน” ว่าที่เห็นกระแสดีๆ มีแต่กระแสไม่มีเสียงหรือไม่? ส่วนพรรคอื่นๆ ที่จัดเวทีปราศรัยใหญ่ในวันที่ 1 กรกฏาคม เช่น พรรคพลังชล เลือกที่ปราศรัยหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี แหล่งที่มั่นที่สุดของพรรค พรรคชาติไทยพัฒนา เลือกปราศรัยที่นครปฐมแทนที่จะเป็นจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ยังสามารถอนุมานได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของตัวแทนพรรคคนภาคกลาง หรือพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินที่เลือกปราศรัยใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ซึ่งสะท้อนภาพความเป็นพรรคท้องถิ่นนิยม และที่น่าสังเกตที่สุดก็คือพรรคภูมิใจไทยที่เลือกปราศรัยใหญ่ที่สนามกีฬากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ แทนที่จะเป็นจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ หรือศรีสะเกษ แต่ผลจะออกมาเป็นอย่างไร นอกจากการแย่งชิงพื้นที่และสัญลักษณ์แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการแย่งชิงคะแนนจากประชาชนเพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทยว่าจะไปทางใด เดินหน้า หรือ ถอยหลัง?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net