ผู้นำหญิงบนเส้นทางการเมือง สีสัน, อำนาจ และคราบน้ำตา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการเสนอชื่อผู้หญิงเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ชวนให้เปรียบเทียบกับการเมืองในหลายๆประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียใต้ที่มีหรือเคยมีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งบริหารสูงสุดของประเทศ เฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ มีผู้นำหญิงทั้งในอดีตและปัจจุบันในเวทีการเมืองยุคใหม่ที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่ 4 คน คือ นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี (อินโดนีเซีย) นางกลอเรีย อาร์โรโย่ (ฟิลิปปินส์) นางคอราซอน อาคีโน (ฟิลิปปินส์) และนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่า ถัดออกไปอีกนิด ประเทศในเอเซียใต้ มี นางสิริมาโว บันดารานัยเก (Sirimavo Bandaranaike) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศศรีลังกาอยู่ถึงสามสมัย และบุตรสาวของเธอ คือนางจันทริกา กุมาราตุหงา (Chandrika Kumaratunga) เดินตามรอยบนถนนการเมืองจนได้เป็นประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา, ที่ประเทศอินเดีย มี นางอินทิรา คานธี (Indira Gandhi) อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย และนางประติภา เทวีสิงห์ ปาฏีล (President Pratibha Patil) ประธานาธิบดีอินเดียคนปัจจุบัน, ที่ประเทศบังคลาเทศ มี อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงสองคน คือ นางคาลิดา เซีย (Khaleda Zia) และนางชีค ฮาซินา วาเจ็ด (Sheikh Hasina Wajed) และที่ปากีสถาน มี อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง คือ นางเบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto) น่าสนใจที่ปฐมบทแห่งการก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองของผู้นำหญิงเหล่านี้มีที่มาแทบไม่แตกต่างกัน แม้ว่าพวกเธอส่วนใหญ่มาจากครอบครัวของอดีตนักการเมืองคนสำคัญของประเทศ แต่แทบไม่มีใครสักคนที่เตรียมชีวิตมาสู่เส้นทางสายเดียวกันนี้ หากล้วนแล้วแต่เป็นอุบัติเหตุทางการเมือง และเคราะห์กรรมของชายอันเป็นที่รักที่นำพาพวกเธอเข้ามาต่อสู้โรมรันอยู่บนถนนการเมือง ผู้นำหญิงเหล่านี้ นำสีสัน ความเปลี่ยนแปลง และความหวังมาสู่การเมืองในประเทศของเธอ หลายคนก้าวลงจากเวทีการเมืองอย่างสง่างาม ขณะที่บางคนก้าวลงจากตำแหน่งไปพร้อมกับเสียงถอนหายใจเฮือกใหญ่ของประชาชน ต่อไปนี้คือเรื่องราว ภูมิหลังฉบับย่อของผู้นำหญิงบางคนบนถนนสายการเมืองที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองในภูมิภาคและประวัติศาสตร์การเมืองโลก นางสิริมาโว บันดารานัยเก : นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก “หญิงม่ายเจ้าน้ำตา” ภริยาม่ายของอดีตนายกรัฐมนตรีโซโลมอน บันดารานัยเก ( Solomon Bandaranaike) แห่งซีลอนที่ถูกลอบสังหารเมื่อปี พ.ศ.2502 เธอมาจากตระกูลขุนนางที่มั่งคั่งและเป็นเจ้าที่ดินจำนวนมากของประเทศซีลอน ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนคอนแวนต์ในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศ สิริมาโวเริ่มมีชีวิตเกี่ยวข้องบนถนนการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เมื่อแต่งงานกับนายโซโลมอน นักกฎหมายหนุ่มผู้ก่อตั้งพรรค Sri Lankan Freedom Party เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2499 ภายหลังที่สามีถูกลอบสังหาร นางสิริมาโว ภริยาม่ายวัย 44 ปี หลั่งน้ำตาประกาศตัวเข้าสู่เส้นทางการเมืองเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของสามีในการขับเคลื่อนนโยบายสังคมนิยม เธอขึ้นสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อจากสามี บ่อยครั้งที่เธอหลั่งน้ำตาหาเสียงจนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามตั้งฉายาให้เธอว่า “หญิงม่ายเจ้าน้ำตา” เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2503 ชื่อของนางสิริมาโวถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองโลกในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก แต่เพียงไม่ถึงปีหลังชนะการเลือกตั้งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ นางสิริมาโวประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการประท้วงของชนชาติกลุ่มน้อยชาวทมิฬที่ใช้อารยะขัดขืนต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ประกาศให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการแทนภาษาสิงหล ปี พ.ศ. 2507 นายกรัฐมนตรีสิริมาโวพ่ายแพ้ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และในการเลือกตั้งหลังจากนั้น แต่ในการเลือกตั้งสมัยต่อมา ปี พ.ศ. 2513 นางสิริมาโวสามารถกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งโดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรกับเธอและชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ปี พ.ศ. 2515 นายกรัฐมนตรีสิริมาโวประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศซีลอนเป็นสาธารณรัฐศรีลังกา อย่างไรก็ตาม แม้ว่านางสิริมาโวจะได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศ แต่ในประเทศนั้นความนิยมในตัวของเธอเริ่มลดลงเพราะปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่หยุดชะงักรวมทั้งข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ปี พ.ศ. 2523 เธอถูกรัฐสภาขับจากตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยฉ้อฉล และถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้รับตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาเจ็ดปี นางสิริมาโวกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2537 เมื่อบุตรสาวของเธอ คือ นางจันทริกา กุมาราตุหงา ชนะเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ประธานาธิบดีจันทริกาลงนามแต่งตั้งมารดาเป็นนายกรัฐมนตรีของศรีลังกาเป็นสมัยที่สาม นางสิริมาโวตัดสินใจละจากเวทีการเมืองในเดือนสิงหาคม 2543 เมื่ออายุได้ 84 ปี ปิดตำนานสี่ทศวรรษบนเส้นทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก นั่นคือสีสันของการเมืองศรีลังกาภายใต้ยุคของผู้นำหญิงจากตระกูลบันดารานัยเกที่สืบทอดครอบครองการเมืองของประเทศมาเกือบครึ่งศตวรรษ นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี : ประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย “ลูกไม้ที่หล่นไกลต้น” นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี วัย 54 ปี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศอินโดนีเซียในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุไปด้วยปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มศาสนา การทุจริตคอรัปชั่น และปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า นางเมกาวาตี ธิดาของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน วีรบุรุษในดวงใจของชาวอินโดนีเซีย เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2490 ในขณะที่บิดาอยู่ในอำนาจแล้ว เธอจึงถูกเลี้ยงดูในสังคมหรูหราเช่นเดียวกับบุตรธิดาของครอบครัวผู้นำประเทศทั่วๆไป แต่เธอไม่ได้สนใจการเมืองเลย เมกาวาตีรักธรรมชาติ ชอบการทำสวน เธอจึงเลือกเรียนคณะเกษตรศาสตร์ แต่ต้องออกกลางคันเมื่อบิดาถูกยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2510 เมกาวาตีกลับเข้าสู่มหาวิทยาลัยอีกครั้งหลังจากบิดาถึงแก่อสัญกรรมในอีกสองปีต่อมา ครั้งนี้เธอเลือกเรียนสาขาจิตวิทยา แต่ก็ลาออกกลางคันอีก ด้านชีวิตครอบครัว สามีคนแรกของเธอประสบอุบัติเหตุเครื่อบินตกเสียชีวิต เธอแต่งงานครั้งที่สองกับนักการทูตชาวอียิปต์ แต่การแต่งงานครั้งนี้ถูกประกาศให้เป็นโมฆะ เมกาวาตีแต่งงานครั้งที่สามในปี พ.ศ.2516 มีบุตรธิดารวม 3 คน นางเมกาวาตีก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองในปี พ.ศ.2530 ด้วยแรงผลักดันจากกลุ่มการเมืองต่างๆที่ต้องการให้เธอเข้ามาเป็นสัญญลักษณ์ในการต่อต้านประธานาธิบดีซูฮาร์โต ในฐานะของบุตรสาวของวีรบุรุษแห่งชาติ เมกาวาตีกลายเป็นศูนย์รวมความหวังของชาวอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีซูฮาร์โตพยายามที่จะกำจัดเธอให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค Indonesian Democratic Party of Struggle (PDIP) แต่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของบิดาคือกำแพงอันแข็งแกร่งที่คุ้มกันเธอไว้ และเมื่อพรรค PDIP ของเธอถูกผู้สนับสนุนประธานาธิบดีซูฮาร์โตลอบโจมตีจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ นางเมกาวาตียิ่งได้รับความเห็นใจและการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากชาวอินโดนีเซีย พรรคของนางเมกาวาตีชนะการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2542 แต่เธอกลับต้องเผชิญกับขวากหนามบนเส้นทางการเมืองเรื่องเพศสภาพ เมื่อสมาชิกรัฐสภาลงคะแนนโหวตให้ อับดุลรามาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid) ผู้นำศาสนาและเป็นหัวหน้าพรรค National Awakening Party (PKB) ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับรอง เป็นประธานาธิบดี โดยผู้ชนะเลือกตั้งอย่างนางเมกาวาตีต้องไปรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีแทน จนกระทั่งนายวาฮิดถูกปลดจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ การไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน และข้อกล่าวหาคอรัปชั่น นางเมกาวาตีในฐานะรองประธานาธิบดีจึงได้ขึ้นแทนที่ตำแน่งประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม บทบาททางการเมืองของนางเมกาวาตีในตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น นอกจากเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองแล้ว บทบาทด้านอื่นๆของเธอทั้งเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการทุจริตคอรัปชั่น และการจัดการกับความขัดแย้งทางศาสนา ไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับประชาชนตามที่คาดหวังไว้ จากก้าวแรกบนเส้นทางการเมืองที่ประชาชนอ้าแขนโอบอุ้มพร้อมกับความคาดหวัง นางเมกาวาตีก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีไปพร้อมกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเธอเป็น “ลูกไม้ที่หล่นไกลต้น”ของประธานาธิบดีซูการ์โน วีรบุรุษแห่งชาติของอินโดนีเซีย ปี 2547 นางเมกาวาตีลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกเป็นวาระที่สอง แต่พ่ายแพ้ให้กับนายซูซิโล บัมบัง ยุทธโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอินโดนีเซีย นางคอราซอน อาคีโน : ประธานาธิบดีหญิงคนแรกแห่งประเทศฟิลิปินส์ “แม่บ้านธรรมดา” นางมาเรีย คอราซอน อาคีโน วัย 53 ปี สาบานตนเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 11 แห่งประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ผู้หญิงที่เรียกตัวเองว่า \แม่บ้านธรรมดา\" ตัดสินใจเดินสู่เส้นทางการเมืองด้วยเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่สนับสนุนสามีของเธอ คือ วุฒิสมาชิกเบนิโญ อาคีโน (Benigno Aquino

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท