Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพโดย LAURI HANNUS “ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้ต้องเข้าร่วมขบวนให้ได้ ที่จริงฉันไม่ค่อยอยากจะพูดแบบนี้ แต่รู้สึกว่าการจัดงานปีนี้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมาคอยอธิบายว่า ทำไมถึงต้องจัด แต่ละคนมีความมุ่งมั่นในการแสดงพลังกันมาก และรู้ว่ายังมีอะไรที่ต้องทำอยู่อีกเยอะ”Anne-Mari Seppola ผู้อำนวยการจัดงานจากองค์กร Seta สาขากรุงเฮลซิงกิและปริมณฑลกล่าว Seppola สังเกตว่าบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปมากหลังจากที่ขบวนพาเหรดไพรด์ปี 2010 ถูกโจมตี และผู้เดินขบวนถูกทำร้ายด้วยสเปรย์พริกไทย “พวกเราพยายามจะทำความเข้าใจว่า ความเกลียดชังต่อคนกลุ่มต่างๆ มีมากขึ้นหรือเปล่า หรือว่าแค่ถูกแสดงออกอย่างเปิดเผยมากขึ้น ลัทธิเหยียดผิวสีได้รับการยอมรับมากขึ้นหรือเปล่า” หลังจากที่ขบวนปีที่แล้วถูกโจมตี สังคมฟินแลนด์เกิดการถกเถียงเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศขึ้นครั้งใหญ่ ผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมากแสดงท่าทีโกรธเกรี้ยวและหาว่า ความผิดอยู่ที่การเรียกร้องสิทธิพิเศษสำหรับชนกลุ่มน้อย “สมมุติว่าเราอยากมีสิทธิเดินจูงมือกัน นั่นคือสิทธิพิเศษหรือ ฉันยังแปลกใจกับข้อกล่าวหาที่ว่า เราพยายามยัดเยียดความเป็นคนรักเพศเดียวกันให้กับสังคม ทั้งที่จริงๆ แล้วคนเราไม่สามารถบังคับให้ใครเปลี่ยนวิถีทางเพศได้ และไม่ควรพยายามเปลี่ยนด้วย” Seppola เน้นว่า ทุกคนมีสิทธิในความคิดเห็นของตนเอง แต่ไม่มีสิทธิที่จะไปยุยงให้เกิดความเกลียดชังหรือการทำร้ายกลุ่มอื่นๆ “ความคิดเห็นของเรานั้นจะเป็นอะไรก็ได้ แต่อย่าไปกีดกันชีวิตของคนอื่น อย่างตัวฉันเองก็ไม่เคยคิดที่จะไปโจมตีการเดินขบวนของ Päivi Räsänen (ผู้นำพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนที่มีนโยบายอนุรักษ์นิยม) ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับจุดมุ่งหมายการเดินขบวนของเขาแค่ไหนก็ตาม ตรงกันข้าม ดิฉันกลับพร้อมสู้ตายเพื่อปกป้องสิทธิของ Päivi Räsänen ในการแสดงความคิดเห็นของเขา” ผู้ร่วมจัดเป็นอย่างไร ขบวนก็เป็นอย่างนั้น “ในฟินแลนด์ เราก็ยังเจอความคิดที่ว่า วิถีชีวิตที่ถูกต้องมีแบบเดียว ยังมีเยาวชนจำนวนมากฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุเรื่องวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ส่วนในที่ทำงานคนก็ยังแอบกันอยู่ แถมยังคิดกันไปเองว่า การเลือกปฏิบัติไม่มีอีกแล้ว แต่คนรักเพศเดียวกันเยอะแยะกลับไม่กล้ากลับบ้านจากบาร์ตอนกลางคืนโดยจูงมือกัน (กับแฟนที่เป็นเพศเดียวกัน) เราก็อึ้งกันว่า นี่มันกำลังเกิดขึ้นในฟินแลนด์อยู่จริงๆ หรือ” Seppola กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโลกเป็นค่านิยมหลักขององค์กร HeSeta [สาขาเฮลซิงกิและปริมณฑลขององค์กร Seta] สิทธิมนุษยชนก็เป็นประเด็นหลักของเทศกาลไพรด์ด้วย แต่ทางองค์กรไม่ได้กำหนดว่าไพรด์ควรจะต้องมีรูปแบบเป็นอย่างไร เพราะเป็นกิจกรรมที่ทุกคนร่วมมือกันด้วยจิตอาสา หน้าตาของกิจกรรมจึงมาจากทุกคนที่เข้าร่วม มีเพียงเรื่องเดียวที่ไม่ต้องมีการอภิปรายกันเลย คือ การเดินขบวน เพราะการที่คนบางกลุ่มยอมรับไม่ได้เมื่อชนกลุ่มน้อยทางเพศออกมาเป็นตัวของตัวเองบนท้องถนนแค่หนึ่งชั่วโมงต่อปี ก็เป็นสาเหตุให้ยิ่งต้องเดินขบวน “วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อโลกใบนี้มีแต่ความเท่าเทียม เราอาจจะแค่เฉลิมฉลองกันก็ได้ เพราะการเฉลิมฉลองโดยแสดงออกความเป็นตัวตนก็เป็นการแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกัน”Seppola มองว่า ไม่มีเทศกาลใดที่จะหลากหลายเท่ากับไพรด์ เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมหลากหลายมากกว่า 80 กิจกรรม ถูกตีหัวด้วยไบเบิ้ล Seppola แสดงความแปลกใจต่อความสามารถของพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนในการครอบงำประเด็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่นกฎหมายแต่งงานหรือการทำแท้งในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา “เราถึงกับอึ้งไปว่า นี่มันกำลังเกิดขึ้นในฟินแลนด์จริงๆ หรือ สิทธิเท่าเทียมเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด ไม่ว่ารสนิยมของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร เช่น ต่อให้ฉันเองไม่อยากแต่งงาน แต่ฉันก็ยังอยากที่จะมีสิทธิในการแต่งงาน” Seppola คิดว่า มุมมองของคนบางกลุ่มที่ว่า กฎหมายแต่งงานที่ให้ความเสมอภาคต่อคนรักเพศเดียวกันจะเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันการแต่งงานนั้น ไม่มีเหตุผลให้เข้าใจได้เลย “จริงๆ แล้วน่าจะเป็นการสนับสนุนสถาบันการแต่งงานซะด้วยซ้ำ ถ้าคนจำนวนมากพร้อมที่จะผูกพันตนเองภายใต้สถาบันอนุรักษ์นิยมแบบนี้ แต่รู้สึกว่าการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์อะไรก็ตามต้องจบลงทุกครั้งเมื่อมีคนอ้างถึงคัมภีร์ไบเบิ้ล” สถานภาพของคนข้ามเพศ กฎหมายครอบครัวและการรับลูกบุญธรรมเป็นประเด็นความเสมอภาคที่สำคัญที่สุดจากมุมมองของ Seppola แต่เธอก็ยังอยากยกประเด็นของคนข้ามเพศมาพูดถึงด้วย “ชาวบ้านยังพอเข้าใจเกย์ได้ว่า คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตัวเอง แต่อะไรที่หลุดพ้นไปเลยจากกรอบการแบ่งเพศเป็นสองขั้วตรงข้ามนั้นยากเกินไปสำหรับเขาที่จะเข้าใจ คนเรามีความต้องการที่จะแบ่งมนุษย์เป็นหมวดหมู่อยู่มากจริงๆ” ในทางปฏิบัติ ฟินแลนด์เป็นประเทศตะวันตกประเทศเดียวที่มีการจดทะเบียนคนแปลงเพศ และตามกฎหมายคนที่จะผ่าตัดแปลงเพศยังต้องยอมทำหมันด้วย นอกจากนี้แล้ว สถานภาพของเด็กที่เป็นอินเตอร์เซ็กซ์ (มีลักษณะไม่เป็นเพศชายหรือหญิงอย่างชัดเจน) ยังควรได้รับการดูแล เพราะในปัจจุบันพ่อแม่หลายคนถูกยกให้ทำหน้าที่ตัดสินเพศของลูกแทนตัวเด็ก “เพศมีทั้งด้านฮอร์โมน สรีระ โครโมโซม และจิตใจ ซึ่งสองอันหลังนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ การผ่าตัดต่างๆ มักถูกให้เหตุผลว่าจะเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับตัวเด็ก แต่สาเหตุจริงๆ แล้ว คือมันเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับสังคมรอบข้าง แต่ไม่ใช่สำหรับเด็ก” ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกมากมาย และไพรด์ก็เป็นก้าวหนึ่งในเส้นทางสู่ความเสมอภาค “เราจะเดินด้วยความภาคภูมิใจ หวังว่าเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง” Seppola กล่าว .................................................... ที่มา: หนังสือพิมพ์ Kansan Uutiset ประเทศฟินแลนด์ ฉบับวันที่ 1 ก.ค. 2554 http://www.kansanuutiset.fi/uutiset/kotimaa/2585050/ihmisoikeustaistelijaa-ei-lannista-mikaan

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net