Skip to main content
sharethis

ประชุมกลุ่มย่อยแผนพัฒนาภาคใต้พังงา–ภูเก็ต–กระบี่ลื่น จี้รัฐเน้นพัฒนาศักยภาพประชากร รับนักท่องเที่ยว แนะเปิดสอนภาษาประเทศเพื่อนบ้าน รับเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ระบุควรหยุดท่าเรือปากบารา เลิกสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 กรกฎาคม 2524 ที่โรงแรมภูงา อำเภอเมือง จังหวัดพังงา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยรับฟังความคิดเห็นในโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ครั้งที่ 1 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากจังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ตบางตา นายสุทัศน์ วรรณเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว กล่าวต่อที่ประชุมว่า พื้นที่จังหวัดแถบอันดามัน มีบทบาทหลักในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ รัฐบาลจึงสนใจจะพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นนี้มากที่สุด สำหรับจุดแข็งของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่นี้ อยู่ตรงที่เป็นแหล่งหลอมรวมวัฒนธรรมไทย จีน มุสลิม มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สามารถส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ ส่วยจุดอ่อนของการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้อยู่ที่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเกาะภูเก็ต ในฝั่งอันดามัน หรือเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฝั่งอ่าวไทย นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย และความสะดวกสบาย เช่น ไม่มีท่าเรือท่องเที่ยวโดยเฉพาะ มีแต่การปรับเปลี่ยนท่าเรือประมง มาเป็นท่าเรือรองรับนักท่องเที่ยว “จากการศึกษาพบว่า ความต้องการของนักท่องเที่ยวมีสองแบบคือ ท่องเที่ยวแบบสันโดษ เน้นธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และท่องเที่ยวชมความเจริญ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะเน้นความสะดวกสบาย” นายสุทัศนื กล่าว นายสุทัศน์ กล่าวอีกว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่มีตำแหน่งทางการตลาดของชายหาดคือ ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย ในมุมมองของนักท่องเที่ยว ทั้งสองประเทศมีคุณสมบัติความใกล้เคียงกับประเทศไทย ถ้าปล่อยให้แหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยเสื่อมโทรม ย่อมเสี่ยงที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง นอกจากนี้ ยังพบว่าค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศไทยยังสูงกว่าประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย นักท่องเที่ยวจึงหันไปท่องเที่ยวสองประเทศดังกล่าว มากกว่าเลือกเที่ยวในประเทศไทย ตัวแทนจากภาคประชาสังคมสะท้อนว่า ที่ผ่านมารัฐไม่ได้จัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม พร้อมกับเสนอให้เพิ่มมหาวิทยาลัย และเพิ่มสถานบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ให้มากขึ้น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ประชาชนสามจังหวัดนี้ ต้องเดินทางไปรับการรักษาที่ดีจากพื้นที่อื่น ทั้งๆ ที่พื้นที่นี้สร้างรายได้ให้ประเทศมาก แต่ไม่มีสถานบริการโดยเฉพาะทางการแพทย์ที่ตรงกับความต้องการของคนที่นี่ ผู้เข้าร่วมประชุมยังสะท้อนให้เห็นว่า จากสถิติปริมาณประชากรของจังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนมากขึ้น แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่า เป็นประชากรแฝงที่อพยพเข้ามาทำงานและใช้ทรัพยากรในพื้นที่ โดยไม่ยอมย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ ส่วนนี้ได้กลายเป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแล ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับงบประมาณในการดูแลประชาชนน้อยกว่าจำนวนประชากรที่มีอยู่จริง เนื่องจากได้รับงบประมาณจากจำนวนประชากรที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้าน ทำให้รายได้กับรายจ่ายของท้องถิ่นไม่สัมพันธ์กัน “คนกระบี่ทำงานระดับไหน ในโรงแรมที่มีมีถึงหมื่นห้อง ความจริงก็คือ คนกระบี่ส่วนใหญ่เป็นเพียงเด็กทำความสะอาด เพราะระดับการศึกษาต่ำ คนยังไม่พร้อมรับแผนเปิดรั้วประชาคมโลก” เป็นเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมประชุม สำหรับปัญหาแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานราคาถูก ทางผู้เข้าร่วมประชุมระบุว่า สัมพันธ์กับคุณภาพกิจการที่มีอยู่ในพื้นที่ ส่วนเรื่องคุณภาพของสถานบริการต่างๆ ในพื้นที่ ถ้าสนับสนุนให้มีการยกระดับคุณภาพในขั้นสามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่คุณภาพได้ ผู้ประกอบการจะใส่ใจเรื่องคุณภาพการบริการมากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบการในพื้นที่ตระหนักเรื่องนี้น้อยลง ทำให้กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวราคาถูก ส่งผลให้คุณภาพการให้บริการลดลงไปด้วย อีกปัญหาหนึ่งคือ การเปิดกว้างรับนักท่องเที่ยวมากเกินไป ทำให้การดูแลรักษาทรัพยากรลำบาก ผู้เข้าประชุมยังเสนออีกว่า ปัจจุบันอาหารที่ใช้รองรับนักท่องเที่ยวด้านฝั่งอันดามัน ยังต้องนำเข้ามาจากที่อื่น ทำให้ตัวเลขการลงทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ควรสนับสนุนให้พื้นที่มีแหล่งอาหารรองรับการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสร้างรายได้ให้กับภาคการเกษตรอีกทางหนึ่งด้วย ร.ท.ดร.สุพรชัย ศิริโวหาร ประธานสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม กล่าวต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีโครงการโรงเรียนนำร่อง เปิดสอนภาษาของประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน นักเรียนสามารถเลือกเรียนภาษาใดก็ได้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับตลาดแรงงานที่เปิดกว้างในอนาคต รวมทั้งมีการเสนอให้จัดตั้งศูนย์การศึกษาอาเซียน ในระดับอาชีวะและสามัญ เน้นการสอนภาษายาวี และภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาพม่า เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวพม่า ถ้าสื่อสารกันไม่เข้าใจ นายจ้างกังวลว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นมาได้ ขณะนี้มีโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงา เปิดสอนวิชาภาษาพม่าแล้ว ร.ท.ดร.สุพรชัย กล่าวว่า การจัดการเรื่องการศึกษาตามที่ท้องถิ่นเสนอ สามารถทำได้เลย เพราะสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนรู้ตามที่ต้องการได้ เช่น เรื่องภาษาอาเซียน ปัญหาคืออัตราการจัดจ้างครู หรืองบประมาณอาจจะไม่เพียงพอ เว้นแต่จะให้โรงเรียนแต่ละโรงไปสังกัดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นให้การสนุนงบประมาณ “สำหรับมหาวิทยาลัยอันดามัน ที่มีผู้เสนอในเวทีนั้น ขณะนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกระบี่ เปิดสอนวิชาพานิชยนาวีแล้ว มหาวิทยาลัยอันดามันจะเป็นสถานศึกษาที่เน้นตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เน้นวิชาการที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ตามความต้องการของท้องถิ่น เช่น สาขาวิชาด้านพืช–ปาล์มน้ำมัน การเกษตร ภาควิชาวิศวกรรมการต่อเรือ และภาคการท่องเที่ยว” ร.ท.ดร.สุพรชัย กล่าว ผู้เข้าร่วมประชุมยังเสนอด้วยว่า ไม่ควรสร้างท่าเรือขนาดใหญ่แห่งใหม่ เพราะจะมีปัญหากับกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ควรพัฒนาท่าเรือกันตัง จังหวัดตรังที่มีอยู่แล้วขึ้นมา เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ต้องการท่าเรือกับผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับนักเรียนในสถาบันปอเนาะ ที่ถูกมองว่าไม่มีศักยภาพในการแข่งขันด้านแรงงาน ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอให้เร่งจัดการแก้ปัญหานี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชากรกลุ่มนี้ เป็นปัญหาสังคม หรือเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีงานทำ พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้ท้วงติงให้ปรับข้อมูลในเอกสารที่ระบุว่า ฝั่งอันดามันมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวทางทะเลอันดับหนึ่ง เพราะข้อเท็จจริงประชากรส่วนใหญ่ ยังคงมีรายได้จากภาคเกษตรเป็นหลัก จากการท่องเที่ยวเป็นรอง และการท่องเที่ยวที่เป็นอยู่ ยังคงเป็นการท่องเที่ยวแบบไม่ยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net