Skip to main content
sharethis

วิศวกรระบบอินเทอร์เน็ตเตือน กฎหมายป้องกันละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ อาจทำระบบชื่อโดเมนอินเทอร์เน็ต (ดีเอ็นเอส) เสียหายได้ อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้บริโภค ทำประสิทธิภาพเน็ตลดลง และเกิดความเสียหายกับผู้ไม่เกี่ยวข้อง เรียกร้องให้สภาทบทวน ก่อนทำอินเทอร์เน็ตปั่นป่วน ร่างพ.ร.บ.ป้องกันความเสี่ยงออนไลน์ต่อความสร้างสรรค์เชิงเศรษฐกิจและการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (Preventing Real Online Threats to Economic Creativity and Theft of Intellectual Property Act of 2011) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ร่างพ.ร.บ.ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (Protect IP Act) ของสหรัฐอเมริกา จะอนุญาตให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ขอหมายศาลเพื่อบังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและเสิร์ชเอนจิน หยุดส่งการจราจรหรือลิงก์ไปหาเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวคัดค้านกฎหมายดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ได้ระบุว่า เว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นหรือผู้บริโภคที่ต้องการเข้าถึงเว็บไซต์นั้น ก็สามารถเลี่ยงการบล็อคได้อยู่ดี โดยเปลี่ยนไปใช้บริการดีเอ็นเอสแห่งอื่น ที่ไม่ใช่ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดนี้สามารถทำได้ภายในเวลาเพียง 30 วินาที โดยไม่ต้องใช้ซอฟต์แวร์พิเศษใด ๆ ระบบชื่อโดเมน (ดีเอ็นเอส) หรือ Domain Name System (DNS) เป็นระบบที่ใช้เพื่อแปลงชื่อโดเมนอินเทอร์เน็ต (เช่น abc.com) ไปเป็นหมายเลขที่อยู่อินเทอร์เน็ต (82.54.101.2) ระบบดีเอ็นเอสนี้มีความสำคัญมากสำหรับระบบอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน เนื่องจากสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว มันง่ายกว่าที่จะจำชื่อโดเมนที่มีความหมายหรือออกเสียงได้ เมื่อเทียบกับจำชุดตัวเลขที่ไม่มีความหมาย 4 ชุด ในแต่ละปี มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ประมาณ 53,000 ล้านครั้ง กฎหมายที่ปิดกั้นเว็บไซต์ที่ระดับดีเอ็นเอสนี้ จะกระตุ้นให้ผู้ใช้เน็ตในสหรัฐหนีไปใช้บริการดีเอ็นเอสที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งบริการดีเอ็นเอสเหล่านั้นจำนวนหนึ่งอาจไม่ปลอดภัย ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ เมื่อผู้ใช้เปลี่ยนบริการดีเอ็นเอส ไม่เพียงแต่การเข้าชมเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น ที่จะวิ่งไปหาดีเอ็นเอสใหม่ที่ตั้งอยู่นอกประเทศ แต่การเข้าชมเว็บไซต์ทั้งหมด รวมถึงเว็บไซต์ธนาคารก็จะวิ่งไปดีเอ็นเอสใหม่ดังกล่าวด้วย ซึ่งเท่ากับว่าสหรัฐกำลังผลักผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของตนให้อยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากบริการดีเอ็นเอสอาจดักฟังข้อมูลการจราจรและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ และนำมันไปใช้ทำอะไรก็ได้ นอกจากนี้ ข้อกำหนดตามกฎหมายที่ระบุให้มีการโอนการจราจรเพื่อปฏิเสธการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ยังสร้างปัญหาให้กับเทคโนโลยี DNSSEC ซึ่งออกแบบมาให้บริการดีเอ็นเอสมีความปลอดภัยมากขึ้น นั่นหมายความว่าความปลอดภัยโดยรวมของอินเทอร์เน็ตจะลดลง หากกฎหมายดังกล่าวถูกบังคับใช้ ในบทความวิจัยเกี่ยวกับปัญหาทางเทคนิคที่กฎหมายดังกล่าวจะสร้างขึ้น ยังระบุปัญหาทางเทคนิคอื่น ๆ อีก เช่น ประสิทธิภาพของระบบที่จะลดลง และความเสียหายของผู้ไม่เกี่ยวข้อง (collateral damage) ที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ระดับดีเอ็นเอส (เว็บไซต์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องถูกปิดกั้นไปด้วย) บทความดังกล่าวมาจากการวิจัยโดยกลุ่มวิศวกรอินเทอร์เน็ต ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจียและผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมความปลอดภัยคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การแถลงข่าวของกลุ่มวิศวกรผู้เชี่ยวชาญระบบอินเทอร์เน็ตดังกล่าว จัดโดยศูนย์เพื่อประชาธิปไตยและเทคโนโลยี (Center for Democracy and Technology) ร่วมกับกลุ่มอื่นๆ โดยจัดขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่หอการค้าสหรัฐได้พยายามวิ่งเต้นล็อบบี้เพื่อสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยกลุ่มวิศวกรพยายามเตือนให้ผู้ตัดสินใจนโยบายทบทวนกฎหมายดังกล่าวอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมการค้า รัฐบาล บริษัท และศูนย์ความคิดจำนวนมาก ส่วนกลุ่มที่คัดค้านประกอบด้วยประชาชน กลุ่มสิทธิผู้บริโภค เช่น Electronic Frontier Foundation บริษัทอินเทอร์เน็ตเช่น ยาฮู! กูเกิล อีเบย์ อเมริกันเอ็กซ์เพรส และกลุ่มสิทธิมนุษยชน เช่น Reporters Without Borders แและ Human Rights Watch ประเด็นคัดค้านหลักคือกฎหมายดังกล่าวจะคุกคามความเสรีเปิดกว้างของอินเทอร์เน็ต และประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมายนั้น “ได้ไม่คุ้มเสีย” หรือถ้าเป็นสำนวนไทยก็คงต้องบอกว่า “ชี่ช้างจับตั๊กแตน” หรือ “เผานาฆ่าหนูตัวเดียว” กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้เกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายอินเทอร์เน็ตและทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยครับ เรียบเรียงส่วนหนึ่งจากข่าว IDG – Engineers: PROTECT IP Act Would Break DNS, 14 ก.ค. 2554. และข้อมูลจากวิกิพีเดีย หมายเหตุ: “My Computer Law” เป็นโครงการเพื่อการเสนอร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์จากภาคประชาชน โดยประกอบไปด้วยกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและกฎหมายคอมพิวเตอร์, การรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับประชาชน, การเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา, และการผลักดันร่างดังกล่าวในสภา เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://mycomputerlaw.in.th/2011/07/protect-ip-act-break-dns/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net