Skip to main content
sharethis

“ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทุกฝ่ายต่างหันไปเน้นการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงและความปลอดภัย จนละเลยปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาที่กำลังคุกคามวัยรุ่นมุสลิม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น” เป็นคำพูดที่หลุดออกมาจากปากของ “นายอับดุลเราะห์มัน มะมิงจิ” ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี สอดคล้องกับข้อมูลของ “นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ” เจ้าหน้าที่ฝ่ายฮาลาลและอบรมครอบครัวสุขสันต์ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ที่ระบุกับ “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” ว่า สถิติการการหย่าร้างในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 เพิ่มสูงขึ้น จากความไม่เข้าใจการใช้ชีวิตครอบครัว อันสืบเนื่องมาจากการเลือกคู่เองของคู่บ่าวสาว ซึ่งส่วนใหญ่มีต้นตอมาจากการผิดประเวณี ที่ขัดกับหลักการอิสลาม นี่คือ ปัญหาใหญ่ที่สังคมมุสลิมกำลังประสบ จากถ้อยยืนยันของ “นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ” อันเป็นที่มาของโครงการอบรมครอบครัวสุขสันต์ ที่มี “นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ” เป็นผู้รับผิดชอบการอบรม โดยเปิดหลักสูตรสอนการเลือกคู่ชีวิต รวมไปถึงการแต่งงาน การใช้ชีวิตคู่ และการมีเพศสัมพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม “นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ” บอกว่า ในการอบรมจะมีการสอนเรื่อง การมีเพศสัมพันธ์ตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งต้องระมัดระวัง ถึงแม้ไม่มีการห้ามไม่ให้พูดถึง แต่จะพูดอย่างไร ไม่ให้เป็นการชักจูงให้เด็กกระทำในสิ่งต้องห้าม การเรียนการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียน ก็ต้องดูให้สอดคล้องด้วย “จากการสุ่มตรวจพฤติกรรมของวัยรุ่นในจังหวัดปัตตานี ตามสถานที่ที่มักเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 พบวัยรุ่นกว่า 200 คู่ ทำผิดประเวณี เมื่อเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีแจ้งให้จับกุม ทางเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคล นี่คือความขัดแย้งระหว่างข้อบัญญัติตามกฏหมายกับหลักการอิสลาม เนื่องจากโครงสร้างกฎหมายของประเทศไทย มีหลายเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับหลักการอิสลาม ทำให้คณะกรรมการอิสลามฯ แก้ปัญหาไม่ได้” นายอับดุลมานะ กล่าว เมื่อปี 2553 องค์กรอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า ประเทศไทยติดอันดับหนึ่ง วัยรุ่น 15–19 ปี ตั้งท้องมากที่สุดในเอเชีย และติดอันดับสองของโลก ปลายปี 2553 ข้อมูลข้างต้นก็ถูกตอกย้ำด้วยข่าวพบ 2,002 ศพทารก ที่วัดไผ่เงิน กรุงเทพมหานคร จากเหตุการณ์นี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีมาตรการเร่งด่วน โรงพยาบาลมีคลินิกวัยรุ่นให้คำปรึกษากับวัยรุ่นโดยตรง ทุกปัญหา ทุกเรื่องตลอดเวลา “นายอิสมาแอมามะ” นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ประจำจังหวัดปัตตานี มองมาตรการนี้ของกระทรวงสาธารณสุขว่า เป็นการแก้ปัญหาปลายทาง เพราะในบริบทของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถนำหลักการศาสนาอิสลามมาแก้ปัญหานี้ได้ ช่วงที่สังคมยังมีพื้นฐานทางศาสนาเข้มแข็ง สังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถจัดการเรื่องนี้ได้เอง แต่ตอนนี้สังคมตระหนักเรื่องศาสนาน้อยลง ขณะที่ครอบครัวก็อบอุ่นน้อยลง ถ้าฐานของครอบครัวเข้มแข็ง ผมเชื่อว่าสังคมจะดีขึ้น” เป็นความเห็นของ “นายอิสมาแอ มามะ” สาเหตุที่ตัวเลขแม่วัยรุ่นพุ่งขึ้นสูงนั้น “นายอิสมาแอ มามะ” มองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นิยมแต่งงานกันตั้งแต่เด็ก ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า พฤติกรรมวัยรุ่นปัจจุบันทำให้เกิดการท้องแบบไม่พึงประสงค์มากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุข ที่สรุปปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นและเยาวชน โดยแยกออกเป็น 8 ประเด็น หนึ่ง แนวโน้มวัยรุ่นจะมีเพศสัมพันธุ์ครั้งแรกเมื่ออายุน้อยลงเรื่อยๆ สอง กลุ่มคนโสดมีเพศสัมพันธุ์ก่อนแต่งงานในอัตราเพิ่มมากขึ้น สาม วัยรุ่นหญิงยอมรับแนวคิดการมีเพศสัมพันธุ์ก่อนแต่งงานมากขึ้น สี่ จำนวนวัยรุ่นและเยาวชนป่วยเป็นโรคกามโรค ห้า แม่วันรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี หก วัยรุ่นและเยาวชนจำนวนมากติดเชื้อ HIV เจ็ด วัยรุ่นมีการทำแท้งมากขึ้น แปด เด็กวัยรุ่นถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกกระทำรุนแรง เพื่อลดปัญหาเบื้องต้น “นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ” บอกว่า เมื่อหลายปีมาแล้ว ได้นำเรื่องนี้ไปหารือกับผู้ใหญ่หลายฝ่าย ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ฝ่ายปกครอง สถานศึกษา ผลจากการหารือคราวนั้น จึงมีมาตรการตรวจเข้มวัยรุ่นตามหอพัก โดยสารวัตรนักเรียนจะออกตรวจตรปัญหาการอยู่ก่อนแต่ง และปัญหายาเสพติด ทว่า มาตรการที่กำหนดขึ้น กลับนำมาใช้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่อง “ก่อนยังจับแต่งงาน และเรียกค่าเสียหายจากฝ่ายชายได้อยู่ เด็กสมัยนี้อ้างสิทธิส่วนบุคคลทำให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทำอะไรไม่ได้ ต้องช่วยกันผลักดันให้มีกฏหมายอิสลาม ที่มีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงการแก้ปัญหาสังคม จึงจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้” เป็นข้อเสนอแนะของ “นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ” ขณะที่ “ดร.นินาวาลย์ ปานากาเซ็ง” หัวหน้าโครงการวิจัยการรวมพลังแม่วัยเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพศึกษาว่า เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จะหาแนวทางแก้ไขได้อย่างไร และทำอย่างไรที่จะตัดวงจรของปัญหานี้ห้ได้ งานวิจัยที่เพิ่งเริ่มต้นไม่ถึงปีชิ้นนี้พบว่า เด็กในกลุ่มเสี่ยงท้องก่อนวัย มาจากครอบครัวที่ไม่อบอุ่น และไม่เข้าใจหลักการศาสนาอิสลาม “ดร.นินาวาลย์ ปานากาเซ็ง” มองว่า ปัญหาที่วัยรุ่นกลุ่มนี้ประสบอยู่ เป็นเรื่องที่อ่อนไหว สังคมต้องยอมรับว่าปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราต้องทำความเข้าใจ และค่อยๆ คิดว่า จะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้ มีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไม่เป็นทุกข์มากนัก เพราะตัวเด็กก็เป็นกังวล เราจะทำอย่างไรให้ตัวเด็กรู้ว่า สิ่งที่ทำไปไม่ถูกต้องตามหลักการของศาสนา “สามจังหวัดชายแดนใต้ ยังละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูและให้ความอบอุ่นแก่เด็กเล็ก ทำให้เด็กโตขึ้นมาในสภาพขาดความอบอุ่น ต้องแสวงหาความอบอุ่นด้วยตัวเอง ประกอบกับสื่อยุคปัจจุบัน ออกมาสื่อสารเรื่องเพศกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ปัญหาเรื่องการมีเพศสัมพันธุ์ก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น ซึ่งนำมาสู่การท้องในวัยเรียนมากขึ้น และแนวโน้มอายุของแม่วัยเรียนจะลดลงมาเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่สังคมมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องนำไปคิดต่อว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร” เป็นข้อเสนอแนะของหัวหน้าโครงการวิจัยการรวมพลังแม่วัยเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ “นายรอสาลี สานานะอะ” อดีตนักกิจกรรมและคณะกรรมการชมรมด้านสังคม มหาวิทยาลัยแห่งหนคึ่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่า ปัญหาวัยรุ่นมุสลิมกระทำผิดหลักการอิสลาม หรือ ZINA จากการมีเพศสัมพันธุ์ก่อนแต่งงาน ซึ่งในศาสนาอิสลามถือเป็นการกระทำผิดร้ายแรงต้องถูกลงโทษ สะท้อนให้เห็นว่า ข้อกฏหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันไม่รองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือผู้นำอิสลามก็ไม่มีสิทธิเอาผิดเด็กได้ นอกจากจับแต่งงาน หรือเรียกร้องฝ่ายชายให้จ่ายค่าเสียหายให้ฝ่ายหญิง พฤติกรรมผิดทำนองคลองธรรมทางเพศของนักศึกษา ในช่วงที่ “นายรอสาลี สานานะอะ” ทำกิจกรรม ถึงแม้จะอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง แต่คณะกรรมการชมรมฯ ก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เข้าไปตักเตือนว่า การอยู่ก่อนแต่งในหลักการอิสลาม ถือเป็นความผิดมหันต์ นอกจากวัยรุ่นเหล่านั้นไม่ฟัง บางครั้งยังทำร้ายผู้ที่เข้าไปตักเตือนด้วย เป็นอีกหนึ่งข้อมูลจากอดีตนักศึกษา “นายรอสาลี สานานะอะ” “ผมอยากให้มหาวิทยาลัยมีมาตรการสอดส่องดูแลนักศึกษาให้ใกล้ชิดมากกว่านี้ โดยเฉพาะกับวัยรุ่นมลายูมุสลิม ผมคิดว่าหอพักของนักศึกษาทุกหอพัก รวมทั้งหอพักนอกมหาวิทยาลัย ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย จะได้เข้าไปควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ สังคมที่นี่ยังให้ความเคารพผู้นำศาสนาและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผมต้องการให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจจัดการแก้ปัญหาเหล่านี้ ด้วยการเพิ่มเนื้อหาในกฏหมายอิสลาม ให้ครอบคลุมเรื่องนี้ โดยมอบอำนาจให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเข้ามาดูแลได้ ผมเชื่อว่าน่าจะช่วยได้” เป็นข้อเสนอแนะจากวัยรุ่นนาม “นายรอสาลี สานานะอะ” ผู้มีอดีตเป็นนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net