Skip to main content
sharethis

สิน สันป่ายาง คืออดีตเจ้าหน้าที่ทำงานโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน รับผิดชอบในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ปัจจุบันกำลังศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการของรัฐ ชื่อบทสัมภาษณ์เดิม: สัมภาษณ์สิน สันป่ายาง: วิพากษ์นักวิชาการรับจ้าง นักสร้างเขื่อน กรณีเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบนที่เชียงดาว “ที่รัฐมักบอกว่าการพัฒนาการสร้างเขื่อนทั้งหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนรวมนั้นไม่จริง เป็นแค่การตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยที่ภาระทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมเป็นของมหาชนทั้งประเทศ” สิน สันป่ายาง เคยเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน รับผิดชอบในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ปัจจุบันศึกษาต่อในระดับปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกำลังศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการของรัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี โครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน ที่บริเวณบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ จังหวัดเชียงใหม่ ที่กำลังเป็นข่าวชาวบ้านกำลังลุกขึ้นต่อต้านอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ได้อย่างน่าสนใจ 0 0 0 ในฐานะที่เคยทำงานโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบนและกำลังทำงานวิจัยเรื่องนี้อยู่ มีความเห็นอย่างไรที่จู่ๆ ก็มีข่าวกรมชลฯ จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ? ถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้ว คือ เป็นหน้าที่ของกรมประทานที่ต้องทำการจัดหาน้ำเพื่อรองรับความต้องการบริโภคในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ และโดยปกติที่เราเห็นๆ ก็คือ น้ำหนักของการจัดหามักจะเทไปที่สองภาคหลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ทำการผลิตและบริการเพื่อสนองความต้องการบริโภคของภาคเมืองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาคการเกษตรนั้น ถ้าเป็นการเพาะปลูกตามฤดูกาลแล้วคงไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อระบบการเกษตรเป็นไปเพื่อตอบสนองการผลิตแบบอุตสาหกรรมการเกษตรมากขึ้น เช่น ระบบเกษตรพันธสัญญา การทำนาปรัง การเพาะปลูกนอกฤดูกาล ฯลฯ ก็ทำให้ความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ในเป็นความจริง พื้นที่ที่ต้องการใช้น้ำมาก ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ราบรอบๆ เมืองใหญ่ ซึ่งไม่สามารถหรือไม่มีพื้นที่เพียงพอจะสร้างแหล่งน้ำได้อีกต่อไป ดังนั้น การสร้างแหล่งน้ำรองรับการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นจึงต้องหาพื้นที่รองรับใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำที่มีคนอาศัยอยู่อย่างเบาบาง นั่นเป็นเหตุผลกรมชลประทานจึงเลือกที่จะสร้างที่บ้านโป่งอาง พื้นที่ต้นน้ำปิงที่เชียงดาว ? ใช่ และที่สำคัญ เพราะเขาอาจเห็นว่าคนในชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไทยใหญ่ ปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสียงไม่ดังในสังคมอยู่แล้ว ซึ่งกรณีของบ้านโป่งอาง เห็นได้ชัดเจนว่า นอกจากสภาพพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เป็นพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา โครงสร้างทางธรณีวิทยาและดินแข็งแกร่ง ห่างไกลจากชุมชนใหญ่ๆ และเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่จัดว่าเป็นของคนชายขอบที่ไม่ดัง จึงมีความเหมาะสมหรือศักยภาพในการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำค่อนข้างสูง...ผมเข้าใจว่านี่คือมุมมองของเทคโนแครตของกรมชลประทาน หากในความเป็นจริง ชุมชนชาวบ้านจะเป็นอย่างไร ถ้ารัฐยังคงดึงดันจะสร้างต่อไป ? ในความเป็นจริงคืออะไรนั้น คนในพื้นที่น่าจะรู้และเข้าใจดีกว่าผม เพราะการสร้างเขื่อนใหญ่ขนาดนั้น ไม่ว่าจะมีการอพยพคนออกจากชุมชนหรือไม่ รับรองได้ว่าส่งผลกระทบต่อคนในหมู่บ้านและชุมชนรอบข้างอย่างแน่นอน เอาแค่ง่ายๆ เฉพาะบริเวณหัวเขื่อน จะต้องมีการปรับแต่งพื้นที่มากมายขนาดไหน จะต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ทำงานทั้งวันทั้งคืนเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันนานๆ ต้องมีการขนดินขนหินเข้าออกหมู่บ้านด้วยรถบรรทุกหนักวันละเป็นร้อยเป็นพันเที่ยว ถนนทั้งเส้นจะเสียหายไปเท่าไร อากาศจะคละคลุ้งไปด้วยฝุ่นขนาดไหน เสียงเครื่องจักรและความสั่นสะเทือนจะมากน้อยเพียงใด อย่างนี้ชาวบ้านจะทนไหวหรือเปล่าครับ ทำไมในตัวโครงการ เจ้าหน้าที่รัฐถึงชอบใช้คำว่า อ่างเก็บน้ำ ทั้งที่ขนาดปริมาณนั้นเทียบเท่าเขื่อนขนาดใหญ่? ที่จริงก็คงไม่แปลกหรอกเพราะกรมชลเขามีโครงการแบบนี้ทุกพื้นที่ อย่างที่บอกว่ามันเป็นภาระหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ผิด แต่มันแปลกที่ว่าโครงการใหญ่ๆ ในช่วงหลังมักจะหลีกหนีไม่ใช้คำว่าเขื่อน ไปใช้คำว่าฝายทดน้ำบ้าง อ่างเก็บน้ำบ้าง แต่อันที่จริงโดยพื้นฐานทั้งโครงสร้างและแนวคิดในการสร้างไม่ได้แตกต่างจากเขื่อนขนาดใหญ่ เป็นวาทกรรมที่ภาครัฐหรือกลุ่มที่สนับสนุนพยายามยกมาใช้เพื่อลดกระแสการต่อต้าน แต่ชาวบ้านจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านมักจะมองว่าไม่แตกต่างกัน ที่ผ่านมา คุณคิดว่ารัฐมองเขื่อนเป็นอย่างไร? ตามประสบการณ์แล้ว เห็นว่า รัฐมองเขื่อนในฐานะที่เป็นตัวชี้วัดระดับการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่มักไม่มองถึงผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งถ้าให้วิพากษ์แนวคิดการสร้างเขื่อนหรือโครงการใหญ่ๆ แล้ว นักสร้างเขื่อนหรือเทคโนแครตเหล่านั้น มักจะมองพื้นที่แบบที่ไม่เห็นตัวคนอยู่ในนั้น หรือเห็นคนในพื้นที่นั้นอยู่ในฐานะที่จะทำอย่างไรก็ได้ จะให้อพยพหรือจ่ายค่าชดเชยอย่างไรก็ได้ แต่มักไม่มองถึงมิติความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่คนในชุมชนเดียว แต่อาจหมายถึงหลายๆ ชุมชนรอบข้าง ที่ติดต่อสัมพันธ์กันมาอย่างเนิ่นนานหลายสิบหลายร้อยปี พื้นที่ชุมชนจึงไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่กายภาพ พื้นที่ตั้งถิ่นฐาน ทำการเกษตร แต่มันคือพื้นที่ของระบบความสัมพันธ์อยู่บนนั้นด้วย ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอันนี้แหละที่นักสร้างเขื่อนไม่เห็น ไม่เข้าใจ หรือไม่อยากเห็นและไม่อยากเข้าใจ เพราะเทคโนแครตชั้นสูงทั้งหลายไม่ได้เติบโตมาจากชาวนาชาวไร่ ชาวบ้านคนยากคนจนที่อาศัยอยู่ตามป่าตามดอย จึงไม่เข้าใจชาวบ้านว่าเพราะผลประโยชน์ที่ได้จากการสร้างเขื่อนนั้นไม่สามารถตอบสนองชาวบ้านเหล่านั้น ในขณะชาวบ้านมองว่าพื้นที่ชุมชน ผืนดินผืนป่าและแม่น้ำนั้นคือชีวิตของพวกเขา ? ใช่แล้วครับ ในขณะชาวบ้านเขาคิดคนละแบบกับเทคโนแครต เขาไม่ได้มองว่าพื้นที่นี้จะให้ประโยชน์มากหรือน้อยแค่ไหนแบบนักเศรษฐศาสตร์ แต่เขามองว่ามันเป็นพื้นที่แห่งชีวิตของเขา พื้นที่ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของผู้คนที่นั่น ก็ไม่อยากให้ใครเข้ามาทำอะไร โดยที่เขาไม่เห็นด้วยและไม่อยากให้ทำ ต่อให้มันเป็นที่รกร้างว่างเปล่าหรือเป็นป่าเสื่อมโทรมแค่ไหนก็ตาม ท่านเหล่านั้นจะรู้ไหมว่าไอ้ทุ่งร้างนั้นเป็นที่เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน ป่าดงแห้งๆ เป็นแหล่งอาหารประจำชุมชนที่เลี้ยงผู้คนได้นับร้อยพันคน นี่ยังไม่พูดถึงคุณค่าเชิงนิเวศที่มีต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้นเลย อย่างไรก็ตามก็มีเทคโนแครตจำนวนหนึ่งที่เป็นลูกชาวบ้านที่สามารถพัฒนาตนเองจนกลายเป็นหัวกะทิในหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาได้ด้วย พวกนี้น่ากลัวยิ่งกว่าพวกแรก เพราะมักจะคิดว่าตัวเองเป็นลูกชาวบ้านคนยากคนจนมาก่อน ชาวบ้านทั้งหลายจึงน่าจะคิดน่าจะทำได้เหมือนกับตนเอง ซึ่งถ้ามีนักพัฒนาคิดกันแบบนี้มากๆ ก็น่าเป็นห่วงครับอนาคตของชุมชนชนบททั้งหลายว่าจะอยู่กันต่อไปอย่างไร จะต้องเผชิญกับอำนาจรัฐและอำนาจทุนรุนแรงขึ้นแค่ไหนในกระแสการพัฒนาเพื่อก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ในช่วงอายุของเรานี้ คุณมองว่าการสร้างเขื่อน มันจะส่งผลต่อพื้นที่ ชุมชนอย่างไรบ้าง ? ผลกระทบอย่างแรก ก็คือ ด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ไม่ต้องบอกก็คงนึกภาพออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างอย่างที่เกิดขึ้นกับเขื่อนหลายๆ แห่ง คือ การสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน พื้นที่ป่าไม้ หรือแหล่งโบราณคดีที่มีคุณค่า ซึ่งก็ไม่ต้องอธิบายต่อว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมันมีค่ามากเกินที่จะประเมินได้ ซึ่งถ้าจะให้อธิบายจริงๆ คงต้องคุญอธิบายกันยาวเลยหละ แต่อยากให้มองให้กว้างไปถึงชุมชนรอบข้างหรือทั้งระบบลุ่มน้ำก็ได้ เพราะเรารู้ว่าน้ำจากขุนน้ำปิงนี้ไหลไปไกลกว่า 700 กิโลเมตรจนถึงปากน้ำโพเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วไหลต่อไปอีกเกือบ 400 กิโลเมตรสู่ปากน้ำของอ่าวไทย รวมความยาวแล้วเกือบ 1,100 กิโลเมตร พื้นที่รับน้ำจะใหญ่ขนาดไหน ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนมากมายเพียงใด ระบบใหญ่ๆ แบบลุ่มน้ำนี่แหละที่คนมักไม่เข้าใจ ต่อให้เป็นนักวิชาการ ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ทางวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ทั้งหลายส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ! เพราะคนที่เรียนจบทางด้านทรัพยากรน้ำหรือการจัดการลุ่มน้ำจริงๆ ส่วนใหญ่ก็ทำโมเดลแบบจำลองลุ่มน้ำในพื้นที่เล็กๆ ระดับลุ่มน้ำย่อย และมักจะมองเฉพาะน้ำกับอิทธิพลของมัน แต่มักไม่ได้ศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีรายละเอียดของปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่การเกษตร การขยายตัวของเมือง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ซึ่งผมคิดว่า นี่เป็นข้อบกพร่องอย่างใหญ่หลวงของคนที่อ้างว่ามีความรู้ ความสามารถที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศ คุณกำลังจะบอกว่า การที่คนบางกลุ่มมองระบบลุ่มน้ำผิดแปลกไป ทำให้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงใช่ไหม ? แน่นอนว่า ผลลัพธ์มันจะออกมาแตกต่างกับโมเดลที่ท่านทำการศึกษาไว้แบบที่ไม่สามารถยอมรับได้ ทำไมต้องอธิบายเรื่องนี้ เพราะกำลังจะบอกว่าพื้นที่ภาคกลางที่เกิดขึ้นและอยู่มานานเพียงไม่กี่พันปีนั้นเพราะลำน้ำทั้งสี่สายในภาคเหนือ และอาจรวมถึงระบบแม่น้ำที่ไหลลงปากอ่าวไทยทั้งหมดด้วย (แม่กลอง ท่าจีน ป่าสัก บางปะกง) แม่น้ำเหล่านี้ช่วยรองรับเลี้ยงดูชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำมาหลายร้อยหลายพันปีอย่างไม่มีปัญหา แต่แปลกไหมตั้งแต่สี่สิบปี ห้าสิบปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันเรามักได้ยินปัญหาเกิดขึ้นกับพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำมากมาย เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง แม่น้ำลำคลองตื้นเขิน ตลิ่งพัง แผ่นดินทรุด การสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง ฯลฯ ซึ่งเรามักจะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกันเป็นส่วนมาก ลองยกตัวอย่าง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแนวคิดเช่นนี้ ? ยกตัวอย่างเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ถ้าสันนิษฐานกันว่าเกิดจากคลื่นลมรุนแรง ก็แก้ด้วยการสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งมันผิด! คุณไปดูหลักฐานโทนโท่ แถวมาบตาพุดได้เลย เพราะปัญหามันเกิดจากหลายสาเหตุกว่านั้น ทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้ง การทำลายพื้นที่ชายหาดเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ต การสร้างถนนเลียบชายฝั่ง การสร้างท่าเรือที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชายฝั่ง ฯลฯ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำต่างๆ ที่ไหลลงทะเล เพราะมันเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยให้ทั้งระบบลุ่มน้ำและปากแม่น้ำคงอยู่ได้ ทีนี้ย้อนกลับไปดูที่บอกไว้ว่ามีแม่น้ำข้างบนอะไรบ้างที่ไม่มีเขื่อน? ไม่มีเลยใช่ไหมครับ...ยกเว้นแม่น้ำยมที่เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะแม่น้ำสำคัญแต่ละแห่งมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งนั้นเลย โดยเฉพาะในน้ำแม่ปิงตอนนี้ก็ปาไปสี่แห่งแล้ว (แม่แตง, แม่งัด, แม่กวง,ยันฮี) แต่ละแห่งสร้างมากี่สิบปี กักตะกอนไว้หน้าเขื่อนกี่พันล้านตัน ตะกอนนี่ก็ตัวดีที่ช่วยซัพพอร์ตลุ่มน้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน เราเคยได้ยินไหมว่าคนโบราณเขาใส่ปุ๋ยในนาข้าว เคยได้ยินไหมว่าน้ำหลากท่วมนาเสียหาย เดี๋ยวนี้ละครับชาวนาในอยุธยาต้องซื้อปุ๋ยปีหนึ่งๆ ไปกี่สิบกี่ร้อยล้านบาท แล้วรู้ไหมว่าชายฝั่ง(นับเฉพาะอ่าวไทย)สามสิบปีที่ผ่านมาสูญเสียพื้นที่ไปกี่ล้านไร่ ปีหนึ่งๆ สูญเสียพื้นที่ไปเท่าไหร่ คนกรุงเทพไม่ต้องไปดูไกลเลยครับ บางขุนเทียนนี่เองพื้นที่หายไปเยอะเท่าไหร่แล้ว อยากจะบอกคนเมืองกรุงว่าเรียกร้องเอาน้ำเอาไฟ เอาแต่ความสุขสบายเฉพาะตัว แต่ไม่รู้ว่าความสบายเหล่านั้นนะกำลังทำลายเมืองกรุงเทพอยู่นะครับ วกมาที่เขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบนที่กำลังร้อนขณะนี้ คุณคิดว่าชุมชนจำเป็นจะต้องมีบทบาทเรียกร้องต่อสู้อย่างไรดี ถึงแม้ผมอาจจะมองภาพคนในเมืองใหญ่ไม่ค่อยดี แต่จำเป็นที่ชาวบ้านจะต้องสร้างแนวร่วมสู่คนที่อาศัยในชุมชนให้มาก เพราะต้องยอมรับคนบ้านนอกอย่างเราเสียงไม่ดังเท่ากับคนในเมือง ดังนั้น เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้คนเหล่านั้นเข้ามาเรียนรู้ให้มากที่สุด สร้างทุกพื้นที่ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มชุมชนเมือง เครือข่ายการท่องเที่ยว เครือข่ายการศึกษาการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ฯลฯ โดยเฉพาะพื้นที่ใหม่อย่างเครือข่ายออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ค เพราะเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่เข้าไปใช้ประโยชน์มากถึงมากที่สุด มากกว่าพื้นที่ใดๆ เพราะเป็นพื้นที่ที่เขาแสดงตัวตนได้ชัดเจนที่สุด ลองดึงคนเหล่านี้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านก็น่าจะเป็นพลังที่สำคัญในการต่อสู้ได้ อย่างไรก็ตามในพื้นที่ออนไลน์ยังมีอีกมากมายที่เราสามารถสร้างแนวร่วมได้ ทั้งในเว็บบอร์ดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างห้อง Blue Planet ในพันธุ์ทิพย์ ช่องข่าวทางอินเตอร์เน็ทต่างๆ ที่เป็นสื่อทางเลือกก็มีมาก แต่ก็ต้องดูด้วยว่าเข้ากับประเด็นของเราไหม พื้นที่ต่อมาน่าจะเป็นสื่อกลางเก่ากลางใหม่อย่าง วิทยุชุมชน อันนี้ชาวบ้านน่าจะคุ้นเคยที่สุดและใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด คงไม่ต้องไปแนะนำว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างแนวร่วมได้เพราะอาจเป็นการสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ พื้นที่อันหนึ่งที่ละเลยไปไม่ได้ก็คือ หนังสือพิมพ์ ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด พื้นที่อันสุดท้ายที่คิดได้ในตอนนี้ก็คือสื่อเก่าเก๋ากึ๊กแบบโทรทัศน์ แม้ว่ากลุ่มทางสังคมต่างๆ อาจมองว่าสื่อโทรทัศน์บางช่องนั้นเป็นเครื่องมือของพวกอนุรักษ์นิยม จารีตนิยม หรือของขุนนางเอ็นจีโอ แต่ก็เป็นช่องที่เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมากที่สุดในสื่อกระแสหลัก เพราะคนทำข่าวส่วนหนึ่งเคยเป็นกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานกับชาวบ้านมาอย่างยาวนาน น่าจะมีวิธีการให้เราสามารถจุดให้เป็นประเด็นที่น่าสนใจแก่คนในสังคมได้ มีหลายรายการที่เราควรนำเสนอ โดยเฉพาะรายการเวทีสาธารณะควรจะนำเรื่องของเราไปนำเสนอสักตอนสองตอน แต่ที่ง่ายที่สุดและเร็วที่สุดคือนักข่าวพลเมือง คุณคิดว่า ที่ผ่านมา มีหลายพื้นที่ชุมชน ที่เคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านไม่ให้มีการสร้างเขื่อน จนประสบผลสำเร็จระดับหนึ่งได้นั้น มีปัจจัยเรื่องใดบ้างที่เป็นแรงหนุนเสริม ? จากการที่เคยเข้าไปศึกษาชาวบ้านที่เคยต่อสู้ว่าทำไมจึงยอมให้เกิดโครงการได้ พบว่าที่ชาวบ้านเคยต่อสู้ยืนหยัดอยู่ได้นั้นเป็นเพราะเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ภายนอก ทั้งกับเครือข่ายประชาสังคม นักวิชาการ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเหมือนกันและเอ็นจีโอ แต่การต่อสู้ครั้งหลังแทบไม่มีส่วนนี้เข้ามาเกี่ยวข้องช่วยเหลือ ยิ่งโดนอำนาจในท้องถิ่น ทั้งส.ส.และเทศบาลที่มีแนวสนับสนุนโครงการนั้นเข้าไปแล้วก็แทบจะหมดหวัง ยังผสมกับการนำคนที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามาร่วมทำประชาพิจารณ์โดยอ้างว่าส่งผลกระทบต่อคนทั้งตำบล ซึ่งน่าจะเป็นข้ออ้างของคนที่ผลักดันโครงการมากกว่าเพราะคนที่เข้าร่วมเป็นฝ่ายสนับสนุนโครงการ ผลก็คือแพ้หลุดลุ่ย แต่ที่สำคัญก็คือคนในชุมชนเองก็ไม่เข้มแข็งพอ ก็ลองตั้งใจแน่วแน่ว่าไม่เอาก็คือไม่เอาแล้วใครจะขัดได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ของตัวเองแท้ๆ ถ้าเสียงยังไม่เห็นพ้องต้องกันก็อย่าไปหวังเลยว่าจะไปสู้กับใครได้ ทางออกของชุมชนโป่งอาง จะต้องทำยังไงต่อไปนับจากนี้ ? ชาวบ้านคงต้องเร่งสร้างพื้นที่และแนวร่วม ก็คงเป็นอย่างที่บอกไป และก็ต้องเน้นย้ำว่าถ้าเราไม่เอาเสียอย่าง ใครเขาจะกล้าฝืนมติได้ แต่ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คนในชุมชนเองจะต้องศึกษาเรียนรู้กันภายในชุมชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นที่จะต้องศึกษาให้ถึงแก่นถึงราก ถึงโคตรเหง้าเหล่าตระกูลเลยยิ่งดี แล้วต้องศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญที่จะบ่งบอกตัวตนของชุมชนว่าเราเป็นใคร มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำอะไรลงไปบ้าง แล้วนำไปขยายให้คนอื่นได้รับรู้ พยายามสะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนที่สัมพันธ์กับพื้นที่ให้มากเพราะจะเป็นตัวบ่งบอกว่าพื้นที่ชุมชนของเราสำคัญต่อชีวิตผู้คนมากเพียงใด ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดขึ้นเท่าไหร่ก็จะทำให้คนอื่นเข้าใจเรามากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อย่าหลีกเลี่ยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะมันเป็นเครื่องมือช่วยที่ดีในด้านหนึ่ง เช่น ระบบภูมิสารสนเทศ(จีไอเอส) การทำแผนที่การใช้ที่ดิน แผนที่กรรมสิทธิ์ แบบจำลองสภาพพื้นที่ การทำแผนที่ลุ่มน้ำ ฯลฯ แต่อย่ายึดเป็นสรณะ เพราะฝ่ายรัฐนั้นมีกลไกหน่วยงาน ความรู้หรือเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านนี้มากกว่าชาวบ้านแบบเทียบกันไม่ติด ชาวบ้านจึงต้องเรียนรู้เองหรือขอความช่วยเหลือไปยังสถานศึกษา หรือหน่วยงานที่มีแนวคิดในการสนับสนุนชาวบ้าน อย่างในเชียงใหม่นี้ก็คงเป็น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) หรืออาจจะเป็นมหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งระยะหลังนี้มีงานวิจัยทางด้านสิทธิของคนตัวเล็กตัวน้อยเทียบเท่าหรืออาจจะเด่นกว่า มช.ด้วยซ้ำ อีกประเด็นก็คือ อย่าหลงกลสิ่งที่รัฐหรือผู้มีอำนาจหยิบยื่นให้ เพราะไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ มีได้ก็ต้องมีเสีย รัฐจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ชุมชนตกเป็นเบี้ยล่าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง วิธีการนับวันก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นจนเราไม่แทบไม่รู้ว่าตกเป็นเบี้ยล่างของอำนาจแล้ว อันนี้บอกหรือสอนใครไม่ได้ต้องเจอกับตัวเองแล้วแก้ไขเอง ไม่มีประสบการณ์พอที่จะแนะนำได้ จะฝากบอกคนในสังคมไทยส่วนรวม ว่าควรเข้าใจและเข้ามาหนุนแก้ปัญหารัฐสร้างเขื่อนซ้ำซากนี้ยังไงบ้าง ? ต้องเข้าใจว่าคนในสังคมปัจจุบันขับเคลื่อนไปด้วยระบบทุนนิยมแบบไทยๆ ที่มีมิติซับซ้อนทั้งความเป็นเจ้าขุนมูลนาย คนใหญ่คนโต ผู้ดี คนมีการศึกษา และคนร่ำคนรวย ที่คนเรามักจะยึดถือและยกย่อง คนไทยมักไม่เห็นคนในฐานะที่เท่าเทียมกันแต่มักมองเปรียบเทียบว่าเราดีกว่าหรือแย่กว่าเขาอย่างไร ซึ่งมันเป็นปัญหาเพราะทำให้เราไม่เคารพสิทธิของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่ด้อยกว่า ดังนั้น สังคมจึงควรเข้าใจว่า การที่จะได้มาซึ่งทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในวิถีแบบคนในเมืองนั้นต้องแลกกับอะไรไปบ้าง ทั้งพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ทำการเกษตร ที่อยู่อาศัยของคนเล็กคนน้อยที่เรามักมองไม่เห็นหรือไม่อยากเห็น เราเห็นแค่สิ่งที่เราอยากเห็น และสิ่งนั้นต้องไม่ส่งผลลบต่อตัวเรา ซึ่งเป็นวิธีคิดที่อันตรายของปัจเจกบุคคลสมัยใหม่ เนื่องจากทำให้เรามองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจความทุกข์ของคนยากคนจน ชนชั้นแรงงาน เกษตรกรและชาวนาอันเป็นกลไกสำคัญที่คอยขับเคลื่อนสังคมในทุกวันนี้ ชนชั้นกลางทั้งหลายต้องเรียนรู้และเข้าใจคนชนบทให้มาก ไม่รู้สิ ผมคิดว่าคนชนบทรู้จักคนในเมืองมากกว่าคนในเมืองรู้จักคนชนบทนะ แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องพยายามหาทางช่วยเหลือพวกเขาด้วยไม่ว่าทางใดก็ตาม เพราะอำนาจรัฐมักจะตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงในเมืองมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เราต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจว่า ที่รัฐมักจะบอกว่าการพัฒนาการสร้างเขื่อนทั้งหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนรวมนั้นไม่จริง เป็นแค่การตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยที่ภาระทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมเป็นของมหาชนทั้งประเทศ อีกประเด็นที่สังเกตเห็น คือ โครงการขนาดใหญ่แบบนี้มักหนีไม่พ้นธุรกิจศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ เพราะการทำโครงการแบบนี้จำแบบต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ การศึกษาผลกระทบในหลายๆ ด้าน ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล คำถามก็คือใครเป็นผู้จัดทำรายงานการศึกษาแบบนี้ ก็คงต้องตอบว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาหน้าเดิมๆ ที่หากินกับโครงการแบบนี้ รวมทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐชื่อดังหลายแห่ง (แม้กระทั่ง มช.เอง) ปีหนึ่งๆ รัฐต้องใช้งบประมาณด้านนี้ค่อนข้างมาก เวลามีโครงการหน่วยงานเหล่านี้มักจะได้รับผลประโยชน์ไปก่อนแล้วไม่ว่าโครงการนั้นจะผ่านความเห็นชอบของประชาชนหรือไม่ก็ตาม เราต้องติดตามตรวจสอบกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะพวกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ใช้ตำแหน่งทางวิชาการเพื่อเข้าไปมีบทบาทหรือแม้กระทั่งหาประโยชน์จากโครงการเหล่านั้น ซึ่งอันนี้มันเชื่อมโยงถึงระบบการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษาเลยทีเดียว เพราะเราจะพบว่าการทำอีไอเอ มักจะมีอาจารย์เข้าไปรับทำโครงการแล้วแยกย่อยแต่ละประเด็นเพื่อให้นักศึกษาไปใช้ทำเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์เพื่อทำตัวจบ ซึ่งถือได้ว่าสมประโยชน์กันหลายฝ่าย แต่ชาวบ้านล่ะครับ คนกลุ่มนี้เคยต้องแบกภาระรับผิดชอบกับชาวบ้านด้วยหรือเปล่า? ไม่เคยมีเลยแม้สักครั้งเดียว อันนี้ผมเห็นว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณของความเป็นอาจารย์หรือการศึกษาอย่างร้ายแรง ร้ายยิ่งกว่านักทำอีไอเอในบริษัทที่ปรึกษาด้วยซ้ำเพราะอย่างน้อยคนกลุ่มนั้นก็ไม่ได้ใช้ตำแหน่งทางวิชาการมาหากินกับโครงการ ซึ่งถ้าเกิดผลกระทบมันจะรุนแรงแบบที่เขาเหล่านั้นคาดไม่ถึง บทเรียนล่าสุดเท่าที่เห็นก็คือในกรณีของเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่เวียงแหงที่อาจารย์จาก มช. ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้อีกเลยหลังจากเข้าไปทำอีไอเอ ก็เพราะฐานคิดของชาวบ้านกับวิธีคิดของนักทำอีไอเอแตกต่างกันจนไม่สามารถลงรอยกันได้อย่างที่บอกไปในตอนต้นๆ สุดท้ายก็คงเป็นเรื่องแนวคิดในการพัฒนาแบบรวมศูนย์ที่ควรจะยกเลิกไปได้แล้ว เพราะเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นกว่าหกสิบปีที่แล้ว แนวทางการพัฒนาในปัจจุบันควรจะเป็นแนวทางการพัฒนาทางเลือกที่มีการกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นหรือภูมิภาคนั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ซึ่งก็คือให้ประชาชนจัดการตนเอง รัฐควรถอยออกไปเป็นเพียงผู้สนับสนุนร่วมกับกลุ่มทุนเอกชน เริ่มตั้งแต่การวางแผนเลยยิ่งดี เพราะการกระจายอะไรออกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อยมากเท่าไหร่หากเกิดผลเสียก็จะมีเฉพาะวงแคบๆ เท่านั้น แต่ถ้าเกิดผลดีเมื่อรวมกันแล้วจะเพิ่มแบบทบเท่าทวีคูณกว่าโครงการขนาดใหญ่ที่รวมศูนย์อำนาจเสียอีก คุณลองนึกภาพบานหน้าต่างมีกระจกแผ่นใหญ่แผ่นเดียวถ้าโดนปาก้อนหินจนแตกขึ้นมันจะพังไปทั้งแผ่น แต่ถ้าหน้าต่างนั้นแยกเป็นช่องกระจกเล็กๆ หลายสิบหลายร้อยช่องแม้โดนก้อนหินใหญ่ๆ มันก็จะแตกเพียงช่องสองช่อง ดังนั้น แนวคิดการกระจายอำนาจให้ประชาชนจัดการตนเองจึงน่าจะเป็นทางรอดที่ดีที่สุดในเวลานี้.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net