เสวนา ฮ. ตก กับปัญหาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

เสวนาวิวาทะระหว่างหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับนักสิทธิมนุษยชนผู้เชี่ยวชาญด้านกะเหรี่ยงศึกษา กรณีการจับกุมชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน ซึ่งมีความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาแตกต่างมาก แต่ทั้งหมดถูกกลบไว้ด้วยเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกจำนวน 3 ลำ และมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 17 ราย เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2554 เวลา 10.00 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยบร่วมกับสถาบันอิศรามูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมจัดราชดำเนินเสวนา เรื่อง “ฮ. ตก กับปัญหาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอ้างผลักดันชนกลุ่มน้อยจากพม่า ห่วงปัญหายาเสพติด โดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เล่าถึงพื้นที่ป่าแก่งกระจานว่ามีพื้นที่กว้างมากกว่า 1.8 ล้านไร่ ต้องใช้เวลามากกว่า 15 วันจึงจะเดินได้ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ ดังนั้นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ในการสำรวจพื้นที่ป่า ซึ่งกรณีของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่ถูกจับกุมนั้น เป็นคนที่อพยพมาจากประเทศพม่า ทั้งนี้ เมื่อปี 2537 ทางการเคยอพยพชนกลุ่มน้อยจากป่าลึกมายังบ้านบางกลอย จัดสรรพื้นที่ให้ 7-15 ไร่ และจัดพื้นที่อยู่คนละ 3 งาน หลังจากนั้นไม่มีโครงการพระราชดำริและไม่มีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเข้าไปดูแล เมื่ออพยพแล้วบ้านที่มีอยู่ก็เป็นบ้านว่าง ชนกลุ่มน้อยจากพม่าก็เข้ามาอยู่แทน และจากที่ใช้เฮลิคิปเตอร์ของโครงการชั่งหัวมัน ก็พบซึ่งไม่ใช้การบุกรุกเพิ่มเติม แต่เป็นการใช้พื้นที่เดิมในการทำไร่ โดยอยู่อาศัยห่างๆ กัน 1-2 กิโล ซึ่งใช้เวลาเดิน 1-2 วันกว่าจะถึงบ้านแต่ละหลัง สำหรับโครงการอพยพชนกลุ่มน้อยออกจาพื้นที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดปี 2552-2553 รวมแล้ว 6 ครั้ง โดยเข้าไปเจรจากับชนกลุ่มน้อย 2 ครั้งแต่ไม่ได้ผล จึงเริ่มทำการจับกุมในเดือน พ.ค. และมิ.ย. ที่ผ่านมา โดย 2 ครั้งแรกที่เริ่มการเจรจานั้น ดำเนินการโดยอุทยานฯ จากนั้นครั้งที่ 3-5 เป็นการสนธิกำลังกับทหาร และครั้งที่ 6 เป็นภารกิจของทหาร เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบินตามแนวสันแดนไม่ได้ จึงต้องยกภารกิจให้กองทัพเป็นผู้ปฏิบัติการ กระทั่งเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกต่อเนื่องกัน 3 ลำดังที่เป็นข่าว ส่วนข่าวที่ออกมาว่า เจ้าหน้าที่อุทยานไปทำการเผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านนั้น หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานปฏิเสธว่า เป็นการเผาทำลายซากบ้านเรือนที่ไม่มีคนอยู่อาศัยแล้ว โดยนายชัยวัฒน์ย้ำว่าสิ่งที่เป็นห่วงคือ ปัญหายาเสพติด ที่พบว่ามีการปลูกกัญชาอยู่หลายแปลง พร้อมกล่าวว่า จากการลงพื้นที่หลายครั้งได้พบกองกำลังติดอาวุธแต่ไม่มีการปะทะกัน สำหรับจุด ฮ. ตก นั้นเป็นการตกที่ตะเข็บชายแดนจริง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนาระบุ อุทยานฯ ละเมิดมติ ครม. 2553 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนาชี้แจงความหมายของคำว่า กะเหรี่ยงกับกะหร่างว่า เป็นการใช้คำผิดมาตลอด ซึ่งคำว่า “กะหร่าง” มีนัยยะดูถูกเหยียดหยามกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนคำว่าเจ๊ก โดยนายสุรพงษ์กล่าวว่าที่มาที่ไปของคำว่ากระหร่าง คือ คนกระเหรี่ยงในประเทศไทยมีประมาณห้าแสนคนแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ สะอร์ หรือที่เรียกตัวเองว่าปากะญอ กลุ่มที่สอง คือกระเหรี่ยงโป ที่เรียกตัวเองโพล่ง หรือโผล่ว กระเหรี่ยงแถวๆ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เป็นกระเหรี่ยงโป ส่วนปากะญอ เป็นกลุ่มน้อย จึงถูกเรียกว่ากระหร่าง ในความหมายที่ว่า ไม่ใช่กระเหรี่ยงแท้ สำหรับ กระเหรี่ยง บริเวณแม่น้ำเพชรบุรีนี้ ทางมูลนิธิไปสำรวจมาตั้งแต่ปี 2526 พบว่ามีชาวบ้านกระเหรี่ยงอยู่มาก่อนแล้ว จนกระทั่งปี พ.ศ. 2530 มีการจัดทะเบียนชาวเขาเป็นความร่วมมือระหว่างกะทรวงมหาดไทย ศูนย์พัฒนาชาวเขา พบว่ากระเหรี่ยงบริเวณต้นน้ำเพชรมีมาสอดคล้องกับที่สำรวจมาก กระเหร่ยงในบริเวณป่าแก่งกระจานมีมาหลายร้อยปีแล้ว มีวิถีชีวิตดั้งเดิมมาก และอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่มีหลักฐานว่ากระเหรี่ยงเหล่านี้เข้าประเทศไทยมาตอนไหน นายสุรพงษ์ตั้งคำถามตอปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 3 ประเด็นคือ ข้อหาที่ 1 หากชาวกระเหรี่ยงกลุ่มนี้ชาวบ้านเข้าเมืองผิดกฎหมาย คำถามคือพวกเขาเข้าอย่างไร บ้านเก่าที่พม่ามาจากไหนอย่างไร เพราะจากการศึกษาเป็นกระเหรี่ยงที่อยู่ในพื้นที่มานานแล้ว ข้อหาที่ 2 ทำลายป่า มีหลักฐานอะไรบ้าง ข้ออหาที่ 3 กองกำลังของกะเหรี่ยงที่จับได้ มีอาวุธอะไรบ้าง เพราะจากหลักฐานของเจ้าหน้าที่พบว่ากะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวมีเพียงอุปกรณ์ทำการเกษตรเท่านั้น นายสุรพงษ์ ยังได้อ้างถึงมติครม. 3 สิงหาคม 2553 ที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม โดยให้เรียนรู้อัตลักษณ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ และมีมาตรการอื่นๆ ที่รัฐไทยรับรองสิทธิของชนกลุ่มน้อย (อ่านจากเอกสารประกอบ) อย่างไรก็ตาม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ โต้แย้งว่า กะเหรี่ยงกับกะหร่างนั้นต่างกัน และมีภาษาต่างกัน มีวัฒนธรรมต่างกัน รวมถึงนับถือศาสนาต่างกัน คือกะเหรี่ยงนับถือคริสต์ แต่กะหร่างนับถือพุทธปนพราหมณ์ พร้อมกล่าวด้วยว่า หลักฐานอาวุธของชนกลุ่มน้อยที่จับได้นั้นมีจำนวนมาก เพียงแต่ไม่ได้ถ่ายภาพไว้เท่านั้น “ที่จับแค่ปืนแก๊ป แต่ไม่เอาลูกปืนคาร์บินมาถ่าย ผมเข้าใจคำว่าสิทธิและคุณธรรมของคน ฐานปืนค. อยู่ในบ้านเขาตั้งสามสี่ตัว พานท้ายปินอาก้า ไม่รู้กี่สิบ อุปกรณ์เสริมแต่งเต็มไปหมด แต่เราจะทำอย่างนั้นทำไม ผมทำงานตรงนี้ เข้าใจคนกลุ่มนี้ไม่น้อยผมเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่าคนที่อยู่ในกรรมการสิทธิด้วยซ้ำ” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติโต้ แกนนำประชาคมกะเหรี่ยงสวนผึ้งระบุหน่วยงานรัฐขาดความเข้าใจ นำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง นายวุฒิ บุญเลิศ ประธานประชาคมอำเภอสวนผึ้ง ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงกล่าวอธิบายข้อขัดแย้งเรื่องความหมายของคำว่ากะเหรี่ยงและกะหร่างว่า คำว่ากะเหรี่ยง ไม่ได้แยก ว่าเป็นพุทธ คริสต์ กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ถูกจำแนกแยกแยะด้วยเสื้อผ่าและศาสนา แต่คำว่ากะหร่างถูกใช่ครั้วงแรกในสมัยรัชการที่ 6 เนื่องจากมีการเข้าไปศึกษาสำรวจกลุมชาติพันธุ์ และใช้คำว่ากะหร่างเพื่อแยกกะเหรี่ยงปากะญอออกจากกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศไทย และมีการใช้ต่อๆ กันมา“คำนี้ทำให้ผมวิตกกังวลว่าพี่น้องสื่อไม่เข้าใจความหมายนัยยะเหล่านี้ และถ้าความสับสนนี้ไปเกี่ยวข้อกับนโยบายและแผนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ก็จะทำให้เกิดความผิดพลาด” นายวุฒิกล่าวต่อไปว่าป่าโป่งลึกบางกลอย แม่น้ำเพชร เป็นพื้นที่คนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มานานแล้ว การสำรวจทำหลักฐานทะเบียน ปี พ.ศ.2512 ช่วงนั้นรัฐบาลมีความวิตกกังวลต่อประเด็นคอมมิวนิสต์ โดยมีการมอบเหรียญปีให้กับชาวกะเหรี่ยง เสมือนกับการให้สิทธิสถานะกับคนเหล่านั้น “ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากสิ่งที่เราสร้างวาทกรรม เช่น คำว่าชนกลุ่มนอย เราไม่รู้เลยว่าเผ่าอะไร ภาพหลอนของชนกลุ่มน้อยที่เรามีก็ทำให้มองเห็นเรื่องคนติดอาวุธ เมื่อมองเช่นนั้น ก็เป็นคนละพวกกับเรา เป็นคนละพวกกับรัฐ ความเป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งภาพอธิบายไม่ชัดเจน อาจจะมีความชอบธรรมในการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น กรณีรัฐบาลขัดแย้งทางความคิดกับคนกลุ่มหนึ่งก็เรียกคนเหล่านั้นว่าผู้ก่อการร้าย เป็นการให้อำนาจหรือลดทอนอำนาจของคน” “อีกส่วนคือประเด็นยาเสพติด และแหล่งพักพิง เกิดจากหัวหน้าอุทยานไม่เข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่เข้าเข้าใจวิธีคิดภูมิหลังความเชือ่ ไม่เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ และผมเชื่อว่านี่จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกันเพื่อนำไปสู่การแกปัญหาชาติบ้านเมือง” นายวุฒิกล่าว โดยสรุปว่า 1) หากยุทธการตะนาวศรี คือการจัดการกับคนกลุ่มน้อย ที่เรียกว่ากะหร่าง ก็ฟังคล้ายเป็นคนกลุ่มใหม่ เป็นเรื่องที่ไม่สะทกสะท้าน เพราะไม่ใช่กะเหรี่ยง 2) ข้อกล่าวหาที่ว่าชนกลุ่มน้อยเหล่านี้สะสมกำลัง มียาเสพติดและมีแหล่งพักพิงนั้น ถ้ามีอาวุธ หรือหลักฐานอุปกรณ์การผลิตยาเสพติด เจ้าหน้าที่ต้องนำสิ่งเหล่านั้นมาแสดง ถ้านำมาแสดงได้ ก็เป็นความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ แต่สิ่งเหล่านี้ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม นายวุฒิเสนอทางออกเฉพาะหน้าว่า ท่าทีของเจ้าหน้าที่หรือชุมชนที่จะอยู่ร่วมกันต่อไปก็คือ ควรหันไปมองแนวทางการจัดการป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งมีกะเหรี่ยงอาศัยอยู่หกหมู่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่พยายามศึกษาประวัติศาสตร์และดูว่า เจ้าหน้าที่อยู่ได้ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอยู่ได้ และคนก็อยู่ได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าจะเป็นบทสรุปหรือการถอดบทเรียนสำหรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่จะทำงานกับชุมชนต่อไป มติคณะรัฐมนตรี ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ 16. เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอดังนี้ เห็นชอบหลักการแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงไปปฏิบัติ ดังนี้ 1.1 มาตรการฟื้นฟูระยะสั้น ดำเนินการภายใน 6 – 12 เดือน ประเด็น ข้อเสนอแนะ หน่วยงานที่รับผิดชอบ 1. อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์และวัฒนธรรม 1.1 ส่งเสริมและสนับสนุนชาวกะเหรี่ยงในเรื่องอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ (Ethnic identity) และวัฒนธรรมกะเหรี่ยงว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาติที่มีความหลากหลาย วธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 1.2 ส่งเสริมสังคมให้มีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม โดยให้เรียนรู้อัตลักษณ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง วธ. พม. 2. การจัดการทรัพยากร 2.1 ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) 2.2 จัดตั้งคณะกรรมการ หรือกลไกการทำงานเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัย และการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรม (Demarcation Committee/Mechanism) เพื่อจัดการข้อพิพาทการใช้ประโยชน์หรือการถือครองพื้นที่ของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับหน่วยงานรัฐซึ่งมี องค์ประกอบนอกเหนือจากองค์ประกอบของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนผู้มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ และ ผู้ปฏิบัติงานทางด้านวิถีวัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชน ตลอดจนนักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา โดยกำหนดอำนาจหน้าที่มุ่งเน้นการส่งเสริมแนวทางการจัดการความขัดแย้งในเชิงสร้างสรรค์ (Constructive Dialogue) ทส. มท. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) 2.3 ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนบนพื้นที่สูง เช่น การรักษาความหลากหลายของการสร้างพันธุ์พืช การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างความสมดุลของนิเวศผ่านกระบวนการระบบไร่หมุนเวียน ทส. มท. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) 3. สิทธิในสัญชาติ 3.1 มีมติคณะรัฐมนตรีให้ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรสำรวจชุมชนบนพื้นที่สูงเดิม) ที่อพยพเข้าตั้งแต่ วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2528 สามารถขอเป็นคนต่างด้าวมีถิ่นอยู่ถาวรในประเทศไทย และได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ส่วนบุตรที่เกิดในประเทศไทยให้สามารถขอสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติ มาตรา 7 ทวิได้ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 40,000 คน มท. สำนักงานสภาความมั่นคง แห่งชาติ (สมช.) 3.2 เร่งรัดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาการขอเป็นคนต่างด้าวมีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยและได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวรวมทั้งบุตรที่เกิดในประเทศไทยขอสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติ มาตรา 7 ทวิ ที่ได้ยื่นเรื่องขอเป็นเวลานานแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 4. การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม 4.1 ส่งเสริมศูนย์วัฒนธรรมชุมชน โดยเชื่อมโยงและ สอดคล้องกับวิถีชีวิตกับฐานคิดดั้งเดิม ให้เป็นศูนย์วัฒนธรรมที่มีชีวิต วธ. โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ โดย ศูนย์บูรณาการไทยสายใยชุมชน เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 4.2 สนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมชุมชน และการทำกิจกรรมของกลุ่มเครือข่ายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง วธ. พม. 5. การศึกษา 5.1 ให้ชุมชนมีส่วนในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาที่ สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมทั้งสามารถจัดการศึกษาได้ด้วยตนเอง และส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยท้องถิ่น เช่น งบประมาณ ศธ. 5.2 พัฒนาศักยภาพผู้บริหารการศึกษา ครู คนในท้องถิ่น เช่น กรรมการโรงเรียนให้สามารถจัดการศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยการฝึกฝนอบรมและศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง และปรับระบบการบริหารของโรงเรียนให้เกิดความเหมาะสมกับชุมชน ศธ. 5.3 สนับสนุนทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาที่จำเป็นในการพัฒนาชุมชน เช่น ด้านสาธารณสุข มท. ศธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 1.2 มาตรการฟื้นฟูระยะยาว ดำเนินการภายใน 1 – 3 ปี ประเด็น ข้อเสนอแนะ หน่วยงานที่รับผิดชอบ 1. การจัดการทรัพยากร 1.1 เพิกถอนพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ อนุรักษ์ป่าสงวนซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีข้อเท็จจริงจากการพิสูจน์อย่างเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าได้อยู่อาศัย ดำเนินชีวิตและใช้ประโยชน์ในที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน หรือก่อนที่รัฐจะประกาศกฎหมาย หรือนโยบายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว ทส. 1.2 ส่งเสริมและยอมรับระบบไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถี วัฒนธรรมของกะเหรี่ยงที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและวิถีชีวิตพอเพียง รวมทั้งผลักดันให้ระบบไร่ หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทส. กษ. วธ. 1.3 ส่งเสริมเกษตรพอเพียงหรือเกษตรทางเลือกที่ไม่ใช่เกษตรเชิงเดี่ยวหรือเกษตรเชิงอุตสาหกรรม กษ. ทส. มท. 1.4 ส่งเสริมสนับสนุนและยอมรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และการจัดการของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เช่น การออกโฉนดชุมชน มท. ทส. 2. สิทธิสัญชาติ จัดสรรงบประมาณรายหัวตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ชาวกะเหรี่ยงที่ได้จัดทำประวัติและมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ (สปสช.) 3. การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม กำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโดยมีพื้นที่นำร่อง เช่น 3.1 บ้านห้วยหินลาดใน ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 3.2 ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 3.3 บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ 3.4 บ้านเลตองคุ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ทส. มท. พม. ศธ. วธ. 4. การศึกษา 4.1 ปรับระบบการสอบบุคลากรครู โดยการส่งเสริมให้ทุนแก่กลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มกะเหรี่ยงใหม่มากขึ้น เพื่อให้สามารถกลับไปทำงานยังชุมชนของตนเอง หากเป็นครูกลุ่มชาติพันธุ์อื่นจะต้องสามารถพูดภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ นั้น ๆ ได้ หรือพร้อมที่จะเรียนรู้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ศธ. 4.2 รัฐจะต้องผ่อนปรนเงื่อนไขกำหนดคุณวุฒิด้านการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการการสอนและถ่ายทอดวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ และภาษาของท้องถิ่นนั้น โดยเฉพาะครูที่สอนในระดับเด็กเล็กจนถึงชั้นประถมศึกษา ศธ. วธ. 4.3 ส่งเสริมนโยบาย “พหุภาษา” เพื่อให้เกิดการยอมรับและเข้าใจในภาษาพูดและภาษาเขียนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในความแตกต่างทาง ชาติพันธุ์ ศธ. วธ. 4.4 ปรับเปลี่ยนรูปแบบของโรงเรียนให้เกิดความเหมาะสมกับชุมชน เช่น ปรับเป็นโรงเรียนสาขาโดยไม่ยุบโรงเรียน ไม่ว่าชุมชนแห่งนั้นจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาท้องถิ่นผ่านการร่วมมือระหว่างโรงเรียน ชุมชน นักวิชาการ องค์กรอิสระ เพื่อพัฒนาหลักสูตรแบบบูรณาการทั้งทางด้านภาษาและวัฒนธรรม ศธ. สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่า ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมาถึงจังหวัดราชบุรีต่างได้รับความเดือดร้อนในปัญหาต่าง ๆ ที่สะสมมายาวนานเกี่ยวกับความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตแบบกะเหรี่ยงซึ่งครอบคลุมถึงการจัดการทรัพยากรแบบธรรมชาติด้วยการทำไร่หมุนเวียน การผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง การให้คุณค่ากับป่าวิธีคิดในเรื่องสิทธิ (ที่มิใช่เป็นกรรมสิทธิ์) และการที่รัฐไทยยังไม่เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมและภาษาของชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ (ซึ่งรวมกะเหรี่ยงด้วย) ที่มีอยู่ในประเทศในการจัดการระบบการศึกษาของท้องถิ่นต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาประเทศในแบบทุนนิยมที่เน้นการเกษตรสมัยใหม่ซึ่งลงทุนสูง และเน้นพืชพาณิชย์เชิงเดี่ยว กีดกันทางเลือกอื่น ๆ เช่น การทำไร่หมุนเวียน ที่ผ่านมากะเหรี่ยงบางส่วนจำต้องยอมรับวิถีชีวิตแบบใหม่และหลายส่วนยังเห็นว่า “อยู่อย่างกะเหรี่ยงมีคุณค่า ต่อชีวิตมากกว่า” กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงให้ยั่งยืนด้วยการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนและรากฐานทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงมีความเข้มแข็งทั้งในการดำรงชีวิตและการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมเกิดแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน ผู้แทนจาก ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ และผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นกรรมการและ เลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน จำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการฝ่ายการศึกษาและวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยมีนายชูพินิจ เกษมณี เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ และ นางขวัญชีวัน บัวแดง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อสรุปปัญหาด้านการศึกษาและวัฒนธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงในประเทศไทย จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเพื่อเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยมีนายสุรพงษ์ กองจันทึก เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ และ นางมาลี สิทธิเกรียงไกร เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อสรุปปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิของชุมชนกะเหรี่ยงในประเทศไทย จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ ได้ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง ปัญหา และจัดทำ แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและได้เสนอมาตรการต่าง ๆ ให้คณะกรรมการอำนวยการฯ เสนอกระทรวง วัฒนธรรมเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการอำนวยการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 ได้พิจารณา ร่างแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ ได้กำหนดแนวนโยบาย ในการสนับสนุนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงระยะสั้นและระยะยาวในประเด็นปัญหา 5 ประการ คือ อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม การจัดการทรัพยากรสิทธิในสัญชาติ การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมและการศึกษา ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มีมติให้ฝ่ายเลขานุการนำข้อเสนอแนะของที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ไปปรับปรุง และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ศูนย์มานุษยสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงได้รับมอบหมายให้นำร่างแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงไปปรับแก้ร่างตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ โดยได้ปรับแก้ไขและจัดทำเอกสารแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงแล้ว และเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อนำเสนอคณะคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท