Skip to main content
sharethis

5.5 หรือ 5.1 ก็ได้ ขอให้เกิน 5 หมายความว่าไม่ถึงกับยี้ แต่แย่! พูดอย่างให้ความเป็นธรรมหน่อย คะแนนสูงสุดจริงๆ ที่ผมเตรียมไว้คือ 7 เพราะเรารู้กันอยู่ว่าในระบบพรรคการเมือง โควตายังมีความสำคัญ แต่ถ้าจัดคนให้ตรงกับความสามารถบ้าง ผสมโควตาบ้าง ก็ยังพร้อมจะให้ 7 แต่พอเห็นรายชื่อที่ผิดฝาผิดตัวไปหมด ผมก็ได้แต่ส่ายหัว สงสารธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล กับกิตติรัตน์ ณ ระนอง ทั้งสองคนคงไม่เห็นชื่อ ครม.อีก 32 คนก่อนตกปากรับคำมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ นั่นคือชื่อบวกที่มีอยู่ไม่กี่คน ส่วนที่พอไปวัดไปวาได้ ก็เช่น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม พิชัย นริพทะพันธ์ รมว.พลังงาน โอเค เพราะทำงานให้พรรคมาตลอด อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที โอเค เพราะมีผลงานเมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้าน แต่ที่ผิดฝาผิดตัวก็เช่น ปลอดประสพ สุรัสวดี ซึ่งควรเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับไปเป็น รมว.วิทยาศาสตร์ โดยปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข มาจากไหนไม่ทราบ มาเสียบแทน (ว่ากันว่าเป็นโควตาของยุทธ ตู้เย็น) วิทยา บูรณศิริ อดีตประธานวิป ทำงานหนักให้พรรค ควรได้เป็นรัฐมนตรี แต่หาที่ให้ลงไม่ได้รึไง ถึงส่งไปกระทรวงสาธารณสุข (มืออย่างวิทยาเนี่ยนะ จะไปลองของกับพวกหมอพันธมิตรและสานุศิษย์หมอประเวศ เตรียมเก็บศพได้เลย) วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ก็เป็นอีกคนที่ทำงานให้พรรคมาตลอด สมควรได้เป็นรัฐมนตรี ตามที่ตกลงกันก่อนเลือกตั้งจะให้เป็น รมว.เกษตร ซึ่งยังนับว่าเหมาะสม แต่พอยกกระทรวงเกษตรฯ ให้พรรคชาติไทยไป หาที่ลงไม่ได้ พ่อเลี้ยงวรวัจน์ก็กลายเป็นครูวรวัจน์หน้าตาเฉย ทั้งที่บุคลิกไม่ให้เลย (บุคลิกเอาไว้ไล่จับนักเรียนตีกัน) ทั้งที่พรรคมีคนเหมาะสมอยู่แล้วคือ อ.ภาวิช ทองโรจน์ รายที่ผิดฝามากที่สุดเหมือนเอาฝาขนมถ้วยมาใส่ขนมครก คือสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้ยินชื่อแล้วแทบหงายหลัง จะเอาสุรพงษ์ไปรบกับใคร ถามว่าสุรพงษ์ควรได้เป็นรัฐมนตรีไหม จากบทบาทที่ผ่านมา ก็ควรได้เป็น แต่ไม่ใช่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างที่สุด ในแง่ของการสานต่อภาพลักษณ์รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่นานาประเทศกำลังอ้าแขนรับ เปิดแนวรบทางสากลกลับมาโอบล้อมฝ่ายอำมาตย์ ปิดโอกาสรัฐประหารในอนาคต รัฐมนตรีต่างประเทศควรเป็นนักการทูต หรือมีบุคลิกของนักการทูต เป็นที่ยอมรับของข้าราชการ และมีเกียรติประวัติเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ มองยังไงสุรพงษ์ก็ไม่มีลิ้นการทูต ไม่มีบุคลิกสุขุมนุ่มลึก (หรือนุ่มตื้นซักนิดก็ยังดี) และไม่ทะเลาะกับข้าราชการก็บุญโขแล้ว พูดอย่างให้ความเป็นธรรมหน่อย คือการตั้งรัฐบาลที่ต้องรอ กกต.เล่นว่าวอยู่ 1 เดือนเต็ม ทำให้สื่อไม่มีงานทำ พากันออกโผออกโพลล์แทงเต็งแทงโต๊ดกันดาษดื่น จริงมั่งเท็จมั่ง แต่มีชื่อคนนั้นคนนี้ให้ประชาชนคาดหวัง ว่า ครม.ยิ่งลักษณ์จะมีภาพลักษณ์ที่สวยหรู เช่นรัฐมนตรีต่างประเทศจะเป็นคนนอก เป็นทูตคนนั้นคนนี้ พอออกมาจริงๆ ก็ทำให้ประชาชนร้องยี้ มากกว่าเลือกตั้งปุ๊บตั้งรัฐบาลปั๊บ แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าจัดสรรให้เหมาะ มันก็ยังดูดีกว่านี้ คือยังไงๆ ประชาชนก็ไม่ได้หวังสูงเลิศลอย เราพอยอมรับกันได้หรอกน่า กับชื่ออย่างสุรวิทย์ คนสมบูรณ์, ภูมิ สาระผล, กิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์, บุญรื่น ศรีธเรศ, สุรพงษ์ อึ้งอำพรวิไล, ชูชาติ หาญสวัสด์, ฐานิสร์ เทียนทอง, พรศักดิ์ เจริญประเสริฐ, นาย ก. นาย ข. จอห์น โด ฯลฯ ที่มาเป็นรัฐมนตรีช่วย แต่ตำแหน่งหลัก อย่างน้อยก็จัดให้เหมาะสมบ้างสิครับ ไม่ใช่เอาเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ไปดูแลนโยบายหลัก ค่าแรง 300 บาท ทั้งที่พรรคมีตัวบุคคลเหมาะสมอยู่แล้วคือจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตปลัดกระทรวง แม้มีเสียงนินทาว่า จารุพงศ์ก็มีเส้น เป็นสายตรงพจมาน แต่ถ้าจัดคนให้เหมาะสมกับงาน ไม่ว่ามาจากระบบโควตาหรือเส้นสายใคร ก็ยังพอรับได้ เหมือนวิกรม คุ้มไพโรจน์ แม้ได้ชื่อว่าใกล้ชิดทักษิณ แต่อดีตทูตลอนดอนก็ยังเหมาะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมากกว่าจอมลุยอย่างสุรพงษ์ กระทรวงกลาโหม เป็นอีกกระทรวงที่สำคัญที่สุด เพราะต้องคุมทหารให้อยู่ รัฐมนตรีต้องมีบารมี พร้อมกับมีหัวคิดเรื่องปฏิรูปกองทัพ หรือถ้าไม่มีบารมี ก็ต้องมีจุดยืนที่เข้มแข็ง ในการต่อสู้กับ “อำมาตย์” แม้ไม่ถึงขั้นหักด้ามพร้าด้วยเข่า ถามว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา มีคุณสมบัติอะไรบ้าง ไม่มีเลย เคยเป็น รมช.กลาโหมมาแล้วก็เป็นประเภทความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ ซึ่งก็เหมือนชีวิตราชการของ พล.อ.ยุทธศักดิ์นั่นเอง ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นน้องชายเสธแอ๊ว พล.อ.ยุทธศักดิ์ก็เป็นเหมือนพลเอกธรรมดาที่มีอยู่ทั่วไปแทบทุกซอยในกรุงเทพฯ ที่ ตท.10 ติงว่าไม่มีความสามารถด้านความมั่นคง วิสัยทัศน์ไม่ดีพอ และไม่เคยช่วยเหลืองานพรรค เป็นความจริงทุกอย่าง สมัยเป็นฝ่ายค้าน พล.อ.ยุทธศักดิ์เข้าพรรคไม่กี่ครั้ง และเข้าทางประตูหลัง แต่พอมีชื่อเป็นแคนดิเดทรัฐมนตรี ก็โผล่มาเข้าประตูหน้าเพื่อให้นักข่าวสัมภาษณ์ เทียบกับชื่ออื่นๆ ที่มีโผมาก่อนหน้านี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์อยู่ที่โหล่ แม้แต่นายทหาร ตท.10 อย่าง พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี ยังเหมาะสมกว่า แต่แน่นอนว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับทักษิณ (เสธแอ๊วก็มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับทักษิณ) สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ก็เป็นญาติทักษิณ หลายคนใน ครม.เช่น พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก, พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ล้วนเป็นสายตรงทักษิณ อีกหลายคนเป็นคนในสายพจมาน หรือเจ๊แดง เช่น สันติ พร้อมพัฒน์ (ลดชั้นจากคมนาคมไปพัฒนาสังคม) ภาพรวมของ ครม.แม้จะบอกว่าส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงานให้พรรค เป็น ส.ส.ที่ไม่ทิ้งพรรค แต่ที่ซ้อนกันอยู่ในนั้นคือ เป็นคนที่ทักษิณไว้วางใจเป็นส่วนตัว กับเป็นตัวแทนระบบโควตา ซึ่งทั้งสองส่วนเข้ามากลบภาพแรก สิ่งที่ขาดหายไปคือคนทำงานให้พรรคที่ไม่ได้เป็นผู้ใกล้ชิดทักษิณ ไม่ได้บินไปหา “นายใหญ่” ถึงดูไบบ่อยๆ ซึ่งพรรคการเมืองก็ไม่ต่างจากบริษัทหรือราชการ คนที่ใกล้ชิดนายไม่ใช่คนทำงานเสมอไป มีหลายคนที่เขาทำงานจริงโดยไม่สอพลอเสนอหน้า เสื้อแดงผิดตรงไหน อีกส่วนสำคัญที่ขาดหายไปคือความเชื่อมโยงกับฐานมวลชนของตัวเอง นั่นคือคนเสื้อแดง ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้บอกว่าต้องตั้งณัฐวุฒิเป็นรัฐมนตรี แต่ถ้าแกนนำ นปช.คนไหนมีความสามารถมีความเหมาะสมทำไมจะตั้งให้ดำรงตำแหน่งไม่ได้ ถ้าหาคนที่เหมาะกว่าได้จะไม่ว่าเลย แต่กลับไปเอาสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ มาแทนณัฐวุฒิ หรืออย่างที่พวกหมอพยาบาลออกมาต่อต้านพ่อไอ้ปื๊ดไม่ให้เป็น รมว.สาธารณสุข ถามว่าใครในพรรคเพื่อไทยที่เหมาะจะเป็น รมว.สาธารณสุขที่สุด หมอเหวงไงครับ อย่างน้อยหมอเหวงกับพวกหมอชนบท และสานุศิษย์ทั้งหลายของหมอประเวศ ก็พูดภาษาเดียวกัน ร่วมมือกันได้เมื่อเป็นการทำงานเพื่อประชาชน และรู้ทันกัน ดักคอกันได้ ในทางการเมือง แต่แน่นอน หมอเหวงเพิ่งเป็น ส.ส.สมัยแรก จะข้ามรุ่นไปเป็นรัฐมนตรีก็กระไรอยู่ คนที่ใกล้ชิดผูกพันกับมวลชนเสื้อแดง ที่เหมาะจะเป็นรัฐมนตรีมากที่สุด คือ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เพราะเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง พร้อมกับทำงานให้พรรคอย่างเข้มแข็ง อันที่จริง พ.อ.อภิวันท์เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นประธานรัฐสภา เพราะการทำหน้าที่รองประธานตลอดสมัยที่ผ่านมา เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย พ.อ.อภิวันท์เป็นเสื้อแดง แต่นั่งบัลลังก์แล้วทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ไม่ไว้หน้าใคร แม้แต่ ส.ส.เพื่อไทยด้วยกันก็ยังโวย แต่แน่นอน พอเป็นแคนดิเดท ฝ่ายตรงข้ามอย่าง ปชป.หรือพวกสลิ่ม ก็ออกมาดิสเครดิต พ.อ.อภิวันท์ด้วยข้อหา “เสื้อแดง” “โรมานอฟ” เพื่อทำลายตัวบุคคลที่เหมาะสมที่สุด ถ้าวัดกันด้วยความเข้มแข็ง มั่นคง มีบุคลิกผู้นำ พ.อ.อภิวันท์เหนือกว่า “ขุนค้อน” ทุกเม็ด แต่ถ้าวัดกันด้วยระบบโควตา (และจำนวนเที่ยวบินไปดูไบ) “ขุนค้อน” ย่อมเหนือกว่า ผมเข้าใจว่า พ.อ.อภิวันท์ไม่อยากเป็นประธานสภาด้วยนั่นแหละ อยากเป็นรัฐมนตรีมากกว่า จึงถอนตัว แต่ท้ายที่สุด ไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีที่เหมาะสม พ.อ.อภิวันท์ก็ถอนตัวอีก อันที่จริง เสธเปียน่ะเป็น รมว.กลาโหมได้สบายๆ นะครับ เพราะเป็นนายร้อย จปร.เหรียญทอง ซึ่งมีแค่ 2 คนในประวัติศาสตร์ จปร.อีกคนคือ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมยิ่งลักษณ์-ทักษิณต้องแคร์กระแสไม่เอาเสื้อแดงเป็นรัฐมนตรี ซึ่งจุดมาจากพวกสลิ่ม และกระพือต่อโดยพวก ส.ส.เพื่อไทยเองที่กลัวแกนนำ นปช.แย่งโควตา ที่พูดอย่างนี้ผมไม่ได้ต่อสู้เพื่อณัฐวุฒิ และไม่ได้บอกว่าณัฐวุฒิคือตัวแทนของมวลชนเสื้อแดงทั้งประเทศ แต่อย่างน้อย ถ้ามีชื่อณัฐวุฒิใน ครม.ก็จะเป็นสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลยังแคร์มวลชนเสื้อแดง ผู้ถือโควตาใหญ่ที่สุดในพรรคเพื่อไทย พอโผชัดเจนตอนเย็น บังเอิญผมเปิดวิทยุเจอรายการพชรกับวิสุทธิ์ 96.5 วิสุทธิ์ถามว่า อย่าง พล.ต.ท.ชัจจ์ ไม่ใช่เสื้อแดงหรือ พชรบอกว่า “เสื้อดำมากกว่า” แล้วก็ฮากลิ้งทั้งคนพูดคนฟัง นั่นคือการเลือกแบบทักษิณ ซึ่งเมื่อมองภาพรวมทั้งหมด ผมชักจะเชื่อว่า ทักษิณไม่อยากกลับบ้าน เพราะรายชื่อ ครม.อย่างนี้ ทำให้กระแสตอบรับที่มีต่อนายกฯหญิง เปลี่ยนจากลำไม้ไผ่เป็นบ้องกัญชา ลดอายุรัฐบาลตัวเองลง สมมติวางแผนยุบสภาใน 2 ปี ก็อาจเหลือปีครึ่ง หรือเผลอๆ ฉิบหายก่อนหน้านั้น ชัยชนะถล่มทลายที่ได้มาด้วยพลังประชาธิปไตยของประชาชน ด้วยกระแสที่อยากเห็นประเทศกลับเข้าสู่ภาวะประชาธิปไตยปกติ กลายเป็น “เสียของ” ด้วยระบบโควตาที่ต้องแบ่งสันปันเก้าอี้ให้กลุ่มก๊วน และการปูนบำเหน็จให้เฉพาะคนไว้วางใจใกล้ชิด ผลที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลจะทำงานด้วยความยากลำบาก เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาลและกระบวนการยุติธรรม เพื่อลดอำนาจฝ่ายอำมาตย์ (มิพักต้องพูดถึงการนิรโทษกรรมที่ยิ่งไกลออกไปอีก ไม่ต้องกลับเมืองไทยแล้วมั้งชาตินี้) ตรงกันข้าม นี่คือการเปิดจุดอ่อนช่องโหว่ให้ฝ่ายอำมาตย์และสมุนสลิ่มเริ่มตีโต้ เตะสกัด ขัดขา ซึ่งถ้ารัฐบาลล้มเพราะกลไกตุลาการภิวัตน์หาเรื่องถอดถอน ยุบพรรค ก็ยังกลับมาได้ แต่ถ้าล้มเพราะความไร้ประสิทธิภาพหรือความฉ้อฉลของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเอง ก็อาจแพ้ทั้งกระดาน ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ก้าวพลาดไปหนึ่งก้าวแล้ว จากที่ตั้งท่าสวยหรู ก้าวต่อไปต้องดูว่าจะกล้าปฏิรูปประชาธิปไตยแค่ไหน เพียงไร เพราะนักการเมืองพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจนักหรอก อยู่ที่กระแสมวลชนเท่านั้นว่าจะผลักดันได้เพียงไร นี่เป็นภาระหนักของนักประชาธิปไตยและมวลชนเสื้อแดงที่ยกระดับคุณภาพแล้ว เพราะต้องสนับสนุนและต้องต่อสู้เรียกร้อง วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไปพร้อมๆ กัน แต่เราเชื่อมั่นในมวลชน ไม่ใช่เชื่อมั่นนักการเมือง พลังมวลชนจะไม่ถอยกลับ เหมือนอย่างกระแสต้าน ม.112 ที่เข้มแข็งและกว้างขวางขึ้นทุกวัน โดยไม่แยแสว่ายิ่งลักษณ์พูดอย่างไรหลังรับพระบรมราชโองการ ใบตองแห้ง 10 ส.ค.54

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net