Skip to main content
sharethis

ชายตาบอดชาวสหรัฐถูกฟ้องดาวน์โหลดหนังโป๊ละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ แจงตาบอดดูหนังไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามถึงการใช้หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หมายเลขไอพี อาจผิดพลาดได้ อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมถูกบิดเบือน การฟ้องร้องผู้ใช้บิตทอร์เรนต์จำนวนมหาศาลในสหรัฐยังคงดำเนินต่อไป ตั้งแต่ปีที่ผ่านมามีผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์เกือบสองแสนราย และเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามันสร้างผลกระทบต่อผู้บริสุทธิ์ ประมาณการว่ามีประชาชนเป็นหลักพันคนที่ถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ ว่าแบ่งปันสินค้าลิขสิทธิ์ออนไลน์ อย่างไรก็ตามประชาชนเหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมจ่ายเงินให้แก่ผู้ฟ้องเพื่อให้ยอมความและหยุดการดำเนินคดี ข้อมูลจากมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Frontier Foundation) หรืออีเอฟเอฟ (EFF) องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิดิจิทัลของสหรัฐฯ ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2553 ที่ผ่านมามีผู้ฟ้องข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์รวมกัน 194,345 ราย จากคดีความ 296 คดี และคดีทั้งหมดฟ้องโดยทนายของบริษัทภาพยนตร์เพียงไม่กี่บริษัท คดีที่น่าสนใจมากอันหนึ่ง เกิดขึ้นกับชายชาวสหรัฐซึ่งไม่สามารถดูหนังที่เขาถูกกล่าวหาว่าเขาดาวน์โหลดได้ เนื่องจากสายตาของเขาแย่กว่าคนปกติทั่วไปราว 100 เท่า ในทางกฎหมาย ถือว่าเขาตาบอด ส่วนในทางกายภาพแล้ว เขาไม่สามารถดูหนังอะไรได้เลย ไม่ว่าจะโป๊หรือไม่ก็ตาม แม้ว่ามีความเป็นไปได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมากจะทำผิดจริง แต่มันก็สร้างผลกระทบต่อผู้ไม่ได้ทำผิดอะไรเลยด้วยเช่นกัน ประการแรกคือ มันยังไม่ชัดเจนว่า เทคนิควิธีที่ผู้ถือครองลิขสิทธิ์ใช้ในการรวบรวมพยานหลักฐานนั้นเที่ยงตรงแม่นยำเพียงใด และแม้ว่าหมายเลขไอพี (IP address เป็นที่อยู่ที่ใช้ระบุเครื่องคอมพิวเตอร์บนอินเทอร์เน็ต) นั้นจะถูกต้อง แต่นั่นไม่ได้หมายความโดยอัตโนมัติว่า ผู้ถือบัญชีที่ตรงกับหมายเลขไอพีนั้น จะต้องเป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ตัวจริง ชายที่ถูกเรียกว่า “จอห์น โด 2,057″* ในคดี “อิมพีเรียลเอ็นเทอไพรซ์ v. โด” (Imperial Enterprises v. Does) อ้างว่าเขาเป็นหนึ่งในคนจำนวนมากที่ถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาได้รับจดหมายจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แจ้งว่าบริษัทอิมเพียลเอ็นเทอไพรซ์ได้แจ้งความดำเนินคดีกับตัวเขา โดยกล่าวหาว่าเขาดาวน์โหลดและแชร์หนังโป๊เรื่องหนึ่งที่อิมพีเรียลเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ “ด้วยความสัตย์จริง นี่มันออกจะตลกไปหน่อย ผมไม่มีความสามารถในการดูหนัง ลูกๆ ของผมดูหนัง แต่พวกเขาอายุสี่และหกขวบ ดังนั้นพวกเขาก็ไม่ได้ดูหนังโป๊เช่นกัน อืม หวังว่าพวกเขาจะไม่ดูนะ” โด 2,057 บอกกับวิลเลจวอยซ์มีเดีย สื่อท้องถิ่นในสหรัฐ โด 2,057 ขอให้ไม่เปิดเผยชื่อจริงของเขาในรายงานข่าว เนื่องจากกลัวว่านายจ้างจะทราบเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น และอาจทำให้กระทบกับสถานะการทำงานของเขา โดเชื่อว่าเพื่อนบ้านของเขาคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ดาวน์โหลดหนังดังกล่าว โดยใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายของบ้านเขาซึ่งไม่ได้ตั้งรหัสผ่านป้องกันเอาไว้ ในช่วงหลายเดือนหลังจากติดตั้งอินเทอร์เน็ตไร้สาย เขาพบว่าอินเทอร์เน็ตที่บ้านนั้นช้ามาก และได้ติดต่อหลายครั้งไปยังคอมคาสต์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของเขา เพื่อรายงานเรื่องดังกล่าว “ผมไม่มีเวลาติดตั้งเครือข่ายไร้สายในอพาร์ตเมนต์ของผม” “ก่อนหน้านี้ผมทำงานวันละ 18 ชั่วโมง ผมเลยบอกให้ภรรยาผมไปที่ห้างเบสต์บายและเลือกเราเตอร์มาอันนึง เธอติดตั้งมัน กด next, next, finish และมันก็เสร็จ แค่นั้น เราพักในอาคารที่ค่อนข้างแพง ไม่มีคนแปลกหน้า เราเลยคิดว่ามันไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องเป็นห่วง” อิมพีเรียลเอ็นเทอไพรซ์เรียกเงินเพื่อถอนฟ้องในคดีนี้เป็นจำนวนเงินราวสองถึงสามพันเหรียญสหรัฐ โดยในคดีนี้คดีเดียวบริษัทได้ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 3,545 คนพร้อมกัน แม้ว่าจะยังไม่แน่นอนว่าศาลจะตัดสินว่าเขาต้องรับผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ แต่โดเองก็เหมือนกับผู้ถูกกล่าวหาอีกจำนวนมากที่คิดว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะจบเรื่องก็คือ การยอมจ่ายเพื่อยุติคดี เนื่องจากการจ้างทนายจะเสียค่าใช้จ่ายเกือบเท่ากับค่าถอนฟ้อง อีกทั้งถ้าเขาเลือกที่จะสู้คดีในชั้นศาล เขาจะต้องเดินทางไปสู้คดีที่กรุงวอชิงตันดีซี ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของสหรัฐ ในขณะที่ตัวเขาอาศัยอยู่อีกฟากของประเทศ คือแถบชานเมืองซีแอตเทิลในรัฐวอชิงตัน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐ ห่างออกไปราว 4,350 กิโลเมตร “ที่มันเศร้าสำหรับเรื่องนี้ก็คือ มันจะเสียเงินมากกว่าถ้าคุณตัดสินใจให้เรื่องเข้าสู่ศาล” โดกล่าว “ในที่สุดแล้ว ผมอาจจะยอมจ่าย เพื่อให้เรื่องมันจบๆ ไป” เว็บไซต์ทอร์เรนต์ฟรีกซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รายงานข่าวสถานการณ์กฎหมายลิขสิทธิ์ กล่าวว่า ผู้ถือครองลิขสิทธิ์และทนายความรู้เป็นอย่างดีถึงสถานการณ์ยากลำบากที่ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้จะประสบ และรู้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะยอมจ่ายเพื่อให้จบเรื่อง ทอร์เรนต์ฟรีกตั้งคำถามว่า “เราจะยังสามารถเรียกกระบวนการทั้งหมดนี้ว่าความยุติธรรมได้อีกหรือ?” รายงานในซีแอตเทิลวีกลีย์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของซีแอตเทิลระบุว่า รายการหมายเลขไอพีและกฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีบทลงโทษรุนแรงเกินไปถูกใช้เพื่อขู่เอาเงินจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และจำนวนคดีความลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ระหว่างปี 2546 ถึง 2551 สมาคมอุตสาหกรรมบันทึกเสียงแห่งอเมริกา (Recording Industry Association of America) หรืออาร์ไอเอเอ (RIAA) ฟ้องร้องบุคคลทั้งหมด 35,000 คน เทียบกับจำนวน 94,000 คนในเจ็ดเดือนแรกของปี 2554 นี้ ยังไม่มีคดีไหนเลยที่ถูกตัดสินโดยศาล กฎหมายลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาในสหรัฐและในอีกหลายประเทศทั่วโลก ถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่าถูกใช้ไปในทางที่เป็นประโยชน์กับบริษัทขนาดใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงการละเมิดสิทธิของประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังถูกตั้งคำถามในเชิงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า ในที่สุดแล้ว มันส่งผลดีหรือผลร้ายมากกว่ากันต่ออุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ ลอว์เรนซ์ เลสสิก นักวิชาการกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นหนึ่งในนักวิชาการหลายคนที่วิพากษ์วิจารณ์ความบิดเบี้ยวของระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนัก โดยระบุว่ามันเป็นอันตรายต่ออนาคตของสิทธิเสรีภาพในการสร้างสรรค์และแสดงออกของคนทุกคน “การฟ้องร้องคดีความเหล่านี้ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้มีการไต่สวน” โรเบิร์ต แคชแมน กล่าว แคชแมนเป็นทนายความจากฮูสตันซึ่งทำคดีให้กับจำเลยผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ “มันถูกออกแบบมาเพื่อขู่เอาทรัพย์จำนวนหลายพันเหรียญจากคนแต่ละคนที่ถูกกล่าวหาว่าดาวน์โหลด มันไม่ผิดกฎหมาย มันแค่ไม่ถูกต้อง มันเป็นการใช้กระบวนการกฎหมายไปในทางที่ผิด” หมายเหตุ: เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้เสียหาย หลายประเทศมีกฎหมายระบุว่าจะต้องปกปิดชื่อจริงของพวกเขาเหล่านั้นเอกสารคดี และให้ใช้ชื่อปลอมแทน โดยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดานิยมใช้ชื่อ “จอห์น โด” (John Doe) สำหรับผู้ชาย และ “เจน โด” (Jane Doe) สำหรับผู้หญิง (คล้ายๆ “สมชาย” และ “สมหญิง” ในภาษาไทย) และเนื่องจากคดี Imperial Enterprises v. Does นี้ เป็นการฟ้องผู้ถูกกล่าวหาสามพันกว่าคนพร้อมกัน จึงใช้หมายเลขต่อท้าย Doe เป็น “Doe 2,057″ เพื่อแยกแยะผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนออกจากกัน เรียบเรียงจาก Porn, Piracy & BitTorrent, Seattle Weekly, 10 ส.ค. 2554 และ Anti-Piracy Lawyers Accuse Blind Man of Downloading Porn, TorrentFreak, 9 ส.ค. 2554. ผ่าน Slashdot ภาพประกอบโดย Zia deda สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน “My Computer Law” เป็นโครงการเพื่อการเสนอร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์จากภาคประชาชน โดยประกอบไปด้วยกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและกฎหมายคอมพิวเตอร์, การรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับประชาชน, การเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา, และการผลักดันร่างดังกล่าวในสภา เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://mycomputerlaw.in.th/2011/08/blind-accused-for-downloading-porn/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net