Skip to main content
sharethis
ชาวบ้านเก้าบาตรร่วมปลูกป่ากินได้ ฟื้นป่าหัวไร่ปลายนา “ป่าดอนตาปู่” ชี้หลังรัฐให้นายทุนเช่าปลูกยูคาฯ นานกว่า 30 ปี ทำระบบนิเวศน์เสียหาย ชูสิทธิ์ชุมชนจัดการทรัพยากรยั่งยืน พร้อมจี้รัฐ “คืนผืนดินให้เจ้าของเดิม”
 
 
 
ชาว บ้านเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กว่า 50 คน ร่วมใจกันปลูกต้นไม้ท่ามกลางสายฝน บริเวณสองข้างทาง ถนนเข้าหมู่บ้านเก้าบาตร และบริเวณดอนตาปู่ ศาลพระลักษณ์พระราม ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่ประจำหมู่บ้านเก้าบาตรที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เพื่อยืนยันแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนของชุมชน ในรูปแบบของการรื้อฟื้นพื้นที่ป่าหัวไร่ปลายนา ป่าดอนตาปู่ ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านที่นี่ ในการสร้างป่าเพื่อเป็นร่มเงา คืนความสมบูรณ์ให้ผืนดิน เพื่อใช้สอยในครอบครัว รวมทั้ง เป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนของคนในชุมชนด้วย 
 
ต้นไม้ ที่นำมาปลูกมีหลากหลาย เช่น ต้นยางนา ต้นพยุง ต้นแต้ มีไม้กินได้อย่างมะม่วง น้อยหน่า ขนุน แค ขี้เหล็ก สะเดา กระท้อน มะพร้าว มะขาม ซึ่งพันธุ์ไม้ต่างๆ เหล่านี้ ชาวบ้านเก็บเมล็ดมาเพาะกันเอง ไม่ได้ซื้อ โดยตั้งใจจะปลูกป่าเป็นป่าหัวไร่ปลายนา เพิ่มพื้นที่สีเขียว ชาวบ้านสามารถเก็บกินหมากผลได้ “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้” รวมทั้ง ยังเป็นการฟื้นฟูสภาพดินให้กลับสมบูรณ์ดังเดิม หลังจากที่รัฐให้นายทุนมาเช่าพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสนานกว่า 30 ปี จนสภาพดินเสื่อมโทรม มีสารเคมีตกค้างในดิน และสูญเสียระบบนิเวศน์
 
ทั้ง นี้ ชาวบ้านเก้าบาตรยังยืนยันว่าจะปักหลักอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พวกเขาทำกินและอยู่มาก่อน พร้อมทั้ง เรียกร้องให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนที่ดินนี้ให้กับชาวบ้านดังเดิม
 
นาย ใจ เจริญรัมย์ ชาวบ้านเก้าบาตร กล่าวว่า กลุ่มบ้านเก้าบาตรปลูกต้นไม้กันทุกปี ตั้งแต่เข้ามาอยู่ที่นี่ วันนี้เป็นการปลูกเสริมอีก เพราะที่นี่คือที่ดินเดิมของตนเอง ซึ่งตนและครอบครัวได้เข้ามาทำกินบริเวณนี้ตั้งแต่อายุได้ 21 ปี ปัจจุบันตนอายุ 60 ปีแล้ว เมื่อก่อนมีที่ดินทำกินประมาณ 200 ไร่ ช่วงที่มาทำกินทหาร หรือว่าหน่วยงานรัฐไม่เคยห้าม อีกทั้งยังส่งเสริม สนับสนุนให้ทำกินไปเลยด้วยซ้ำ นายใจกล่าว 
 
ด้านนาย ลุน สร้อยสด ชาวบ้านเก้าบาตร กล่าวว่า เขาและชาวบ้านเก้าบาตรจะไม่ยอมออกจากที่ดินของตนเอง และยังคงยืนยันในแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ซึ่งหากรัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาชาวบ้านจริง ก็น่าจะดำเนินการเรื่องโฉนดชุมชนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว 
 
นาย ลุน กล่าวย้ำว่า การปลูกต้นไม้วันนี้ ยังเป็นการยืนยันด้วยว่าชาวบ้านสามารถปลูกป่าได้ ดูแลรักษาป่าได้ และคนก็อยู่ได้ โดยรัฐไม่ต้องสูญเสียงบประมาณใดๆ รวมทั้ง ยังเป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนของชุมชนด้วย 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net