วาทกรรม “ประเทศไทยไม่พร้อมสำหรับ…” กับดักทางความคิดที่อันตราย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มีเรื่องเล่าว่าเมื่อสิงคโปร์ ไม่ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซีย ประชาชนในประเทศวิตกกันเป็นอย่างมาก ประเทศเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีแม้กระทั่งน้ำจืดจะอยู่ได้อย่างไร? หลังจากนั้นประชาชนเขาจึงเริ่มนับหนึ่งด้วยความ “ไม่พร้อม” ไปด้วยกัน ย้อนกลับมาประเทศไทยเคยมีคนบางส่วนบอกว่าไม่ควรเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาชน “ไม่พร้อมที่จะปกครองตัวเอง” อำนาจเลยถูกรวมอยู่ในศูนย์กลางและเมื่ออำนาจถูกกระจายไปสู่มือประชาชน กลุ่มคนที่เคยถือครองอำนาจก็บอกว่าประชาชนไม่พร้อมที่จะปกครองตัวเอง ยังไม่ได้รับการศึกษาเรื่องประชาธิปไตย น่าสงสัยว่าก่อนหน้านั้นที่ปกครองด้วยสมบูรณญาสิทธิราชย์นั้น ได้มีการปูพื้นฐานความรู้ให้กับไพร่ (ที่กลายมาเป็นราษฎร) ให้พร้อมกับการปกครองแบบใหม่รึเปล่า หรือเพียงอาศัยคำว่าไม่พร้อมเพื่อจะปกครองกันในระบอบเก่า หันไปดูรอบๆกรุงเทพฯในเวลานี้หลายๆจุดเพิ่งเริ่มสร้างรถไฟฟ้าระบบรางทั้งบนดินและใต้ดิน ซึ่งเป็นสิ่งที่นานาชาติแนะนำให้ไทยควรลงทุนกับโครงสร้างขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะตั้งแต่สมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่อุตสาหกรรมแซงหน้าภาคการเกษตรในการส่งออกแล้ว แต่ตอนนั้นก็ไม่กล้าลงทุนและรักษาวินัยการคลังด้วยเหตุผล “ไม่พร้อมที่จะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่” นั่งฟังส.ส.พรรคภูมิใจไทยคนหนึ่งอภิปรายว่าไม่ควรแจก แท็บเล็ต พีซี ให้กับเด็กกลัวเด็กจะเอาไปเล่นการพนัน เด็ก”ไม่พร้อมที่จะดูแลตัวเอง” ขอถามว่าก่อนที่จะมีแท็บเล็ต ในสมัยเด็กๆใครบ้างไม่เคยเล่นไพ่ เล่นปั่นแปะ เล่นทอยเส้น หรือ จับสลาก แทนที่จะคิดว่าเราจะให้ความรู้ควบคู่กับการแจกแท็บเล็ตได้อย่างไร? เปลี่ยนช่องไปก็เจอนักวิชาการพูดว่า เรา “ไม่พร้อมที่จะยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน” ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับการที่จะงดการเก็บ เพราะเวลาเราเก็บแล้วไปอุ้มตอนน้ำมันแพง แล้วเราใช้น้ำมันถูกกว่าความเป็นจริงเราก้มยังคงก้มหน้าตะบี้ตะบันใช้ แทนที่จะเอาเงินที่อุดหนุนไปส่งเสริมการวิจัยพลังงานทดแทนหรือมีความชัดเจนด้านนโยบายพลังงานว่าจะส่งเสิรมอะไรกันแน่เปลี่ยนไปเปลี่ยน เอทานอล ไบโอดีเซล ฯลฯ กลุ่มนายจ้างรวมตัวกันบอกว่า “ไม่พร้อมที่จะขึ้นค่าแรง 300 บาท” เพราะว่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตและจะทำให้นักลงทุนไทยตาย ซึ่งถ้าหากมองย้อนกลับไปไทยเริ่มแข่งขันในตลาดโลกด้วยการส่งออกปี 2518 ตามคำแนะนำของ โรเบิร์ต แมคนามาร่า จากธนาคารโลกโดยให้มุ่งเน้นการส่งออก พร้อมกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เราแข่งด้วยการกดค่าแรงกับเขา จนตอนนี้เขาไปสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มทางสินค้าจนตอนนี้เราไปแข่งกับ เวียดนาม ถามว่าเราจะพร้อมแข่งเรื่องประสิทธิภาพการผลิตเมื่อไหร่? แล้วจะกดค่าแรงไปถึงไหน? รัฐวิสาหกิจเช่น การรถไฟ และ ขสมก.ก็บอกว่าหน้าที่ของพวกเขาคือต้องแบกรับความขาดทุนเพื่อที่ประชาชนจะได้สบาย เพราะ”ประชาชนไม่พร้อมที่จะเสียเงินแพง” ดังนั้นต้องให้สหภาพดูแลผลประโยชน์ แต่สิ่งที่ไม่เคยบอก เช่น ที่ดินรถไฟทำกำไรไปมากมายเงินไปไหน? ทำไมระบบขนส่งมวลชนในประเทศอื่นเขาถึงบริหารได้กำไรได้ แล้วทำไมเราถึงบริหารขาดทุน? หรือ จริงๆเงินที่ไปชดเชยการขาดทุนก็มาจากภาษีประชาชนที่รัฐจ่ายเคยบอกกันไหม? กระทรวงวัฒนธรรม บอกว่าประเทศไทยนั้นยัง “ไม่พร้อมที่จะรับวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง” ดังนั้นจึงควรอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีงาม เราลืมไปหรือเปล่าว่าเรื่องลามกทะลึ่งหยาบโลน มีอยู่ในศิลปะเพลงพื้นบ้านของไทยมาช้านาน เราหลับตาข้างหนึ่งรึเปล่าที่ไม่รับรู้ว่า เรื่องกระเทย เรื่องตำรวจคอร์รัปชั่น เรื่องท้องก่อนวัยอันควร เรื่องโสเภณี เรื่องพระทำผิดศีล มีอยู่จริงในสังคมไทย? เราเลยพร้อมใจรับไม่ได้ที่มันถูกสะท้อนออกมาในศิลปะ กรอบศีลธรรมอันดีงามแท้จริงเราก้าวพ้นศิลปะแบบวัดๆวังๆ ซึ่งเป็นของประชาชนกลุ่มน้อยนิดในสังคมที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านหรือยัง? เราจึงได้แต่ดูหนังวนเวียนเรื่อง วีรกรรมบูรพกษัตริย์ และ คนๆโขนๆ เรายังคงเป็นเมืองกึ่งพุทธกึ่งผีกึ่งพราหมณ์ และเราก็ยังหลงเชื่อว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ เราตามอ่านทวิตเตอร์ของพระเซเลบฯ ไปปฏิบัติธรรมกับแม่ชีเซเลบฯ(ที่เปิดตัวเครื่องสำอางค์ในสำนักปฏิบัติธรรม) เพราะใครๆเขาก็ทำกันและทำแล้วรู้สึกดี แต่เราลืมไปว่าการนั่งสมาธิหรือการตามอ่านทวิตเตอร์พระแล้วคิดว่าเป็นการทำดี ซึ่งเรายังแยกกันไม่ออกว่าการทำดี กับการเจริญสมาธิเป็นคนละส่วนกัน โดย “ไม่พร้อมที่จะตั้งคำถามถึงความถูกต้องของหลักคำสอน”ที่ถูกบอกต่อๆนั้น มันก็ขัดกับหลักกาลามสูตร เป็นเมืองพุทธที่ยังกราบหมาสามขา วัวสองหัว โอ้!ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ประเทศไทย อาจยัง”ไม่พร้อมสำหรับเทคโนโลยี 3G” เมื่อโครงข่ายแพร่หลายข้อมูลถูกส่งผ่านได้อย่างรวดเร็ว รัฐไม่สามารถสกัดกั้นเนื้อหาที่ต้องการปิดกั้นได้หมด หรือแม้กระทั่งเรื่องการสัมปทาน ประเทศ “ยังไม่พร้อมกับการแข่งขันเสรีที่โปร่งใส” เลยยังต้องนิยมกับการสัมปทานผูกขาดแบบเสือนอนกิน ของ TOT และ CAT ต่อไป เพราะทั้งสองเจ้าอยากจะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ หรือ เป็นห่วงขุมทรัพย์มหาศาลกันรึ? ประชาชนบางส่วนก็ดูเหมือนจะ “ไม่พร้อมจะรับผิดชอบทางการเมือง” เหมือนว่าพอเลือกตั้งเสร็จหน้าที่ของเราก็จบแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ก็แล้วแต่บุญทำกรรมแต่ง ไม่พร้อมจะติดตามนโยบาย ตรวจสอบ และมีส่วนร่วมทางการเมือง เอ้า!!ก็ไทยนี่มันรักสงบนี่นา อยู่เฉยๆสบายกว่ากันเยอะ พอนักการเมืองทำอะไรไม่ดีไม่ถูกใจ เราก็ได้แต่บ่นกันว่า “นักการเมืองเลว” ความไม่พร้อมทำให้เราต้องวิ่งหา “ผู้ใหญ่ใจดี” และยกอำนาจในการตัดสินใจให้กับเขาเชื่อฟังโดยว่าง่าย ห้ามเถียง ห้ามสงสัยในความหวังดีของท่าน เราจะเติบโตกันอย่างไร หากไม่พร้อมที่จะเสี่ยงอะไรเลย ไม่พร้อมแม้จะตั้งคำถามกับสิ่งรอบๆตัว แล้วมีคนคิดแทนให้หมดทุกเรื่องได้หรือ? แทนที่เราจะเป็นเหมือนเด็กหัดขี่จักรยาน ที่แรกเริ่มก็ต้องมีการล้มลุกคลุกคลาน หัดแล้วหัดอีก ผู้ใหญ่ก็แทนที่จะให้กำลังใจและประคับประคอง แต่กับซ้ำเติมแล้วก็พร่ำบ่นว่า “เห็นไหมผมอาบน้ำร้อนมาก่อนคุณ” “ไม่มีใครเกิดมาดีพร้อม” คำนี้เห็นจะจริงแต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เรากล้าที่จะออกตัวหรือไม่? บางครั้งก็แอบตั้งคำถามว่า “เราจะเข้าเส้นชัยได้อย่างไร โดยที่ไม่ได้ออกตัว?” มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ขอไว้อาลัยแก่ประเทศที่ไม่เคยพร้อมอะไร แต่ทรนงตัวว่าเราจะเป็นผู้นำ คนไทยตั้งใจทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก(ถ้าเราพร้อม!!) หรือสิ่งเดียวที่เราไม่พร้อมก็คือ “เราไม่พร้อมที่จะรับความจริง” กันแน่!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท