ร้ายสไตล์บายรุ้งรวี : เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีวัฒนธรรม

ในขณะที่หลายๆ คนนั่งจับตาดูว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเริ่มทำงานด้วยนโยบายใดก่อน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่กี่วันมานี้ เรื่องการลดค่าน้ำมันก็กลายเป็นหัวข้อเดือดในการถกเถียงกันในสังคม รวมถึงเรื่องความสามารถในการตอบคำถามของนายกฯ เองด้วย โธ่...ถัง

ดิฉันไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองเท่าไหร่ เลยไม่ได้จับตาดูว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเริ่มต้นทำงานการเมืองด้วยนโยบายอะไร แต่ที่จับตาดูอย่างตื่นเต้นคือ ‘กระทรวงวัฒนธรรม’ ว่าจะเริ่มทำอะไรเป็นอย่างแรก และแล้วความตื่นเต้นก็สิ้นสุดลงเมื่อกระทรวงวัฒนธรรมเริ่มผลงานชิ้นแรก (?) ด้วยการออกบทความ ‘เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีวัฒนธรรม’ ที่แม้บทความจะด้อยคุณภาพอย่างไร แต่ก็มีความดีอยู่ประการหนึ่งคือ ทำให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะตอนนี้มันถูกแชร์ต่อในหน้าเฟซบุ๊ก และมีคนอ่านและคอมเมนต์จำนวนไม่น้อย คาดว่าปีหน้าผลสำรวจเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทยต้องเขยิบขึ้นจาก 5 บรรทัดเป็นแน่

เราต้องคิดบวกไว้ค่ะ...อ้อ! ความดีอีกประการหนึ่งคือ บทความนี้สามารถเครียดได้ชะงัดนัก! ใครต้องการคลายเครียด ขอให้ลองเข้าไปอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=3030 และคุณสามารถแชร์บทความนี้ให้เพื่อนๆ คุณอ่านในเฟซบุ๊กได้ด้วย จะเป็นการทำบุญที่ดีมาก โดยเฉพาะถ้าเพื่อนคุณเครียดมาก แล้วเขาได้อ่านบทความนี้ คุณจะได้บุญเป็นสองเท่า ดิฉันคอนเฟิร์ม!

หลังจากอ่านบทความนี้จบ นอกจากความสนุกสนานเบิกบานใจที่ได้หัวเราะ ปล่อยก๊ากตลอดการอ่านแล้ว (จะสนุกมากขึ้นถ้าคุณอ่านพร้อมๆ กันกับเพื่อนหลายๆ คน) ดิฉันยังค้นพบว่าตัวเองไม่ใช่คนเดียวที่เขียนงานไม่รู้เรื่อง ยังมีคนที่อาการหนักกว่าดิฉันอีก (หรือเนี่ย?) การพูดเช่นนี้อาจเป็นการ ‘ดูถูก’ ผู้อื่นจนเกินไป แต่ขออภัยเถอะ กระทรวงวัฒนธรรมขา...จะทำอะไรก็ขอให้มีคุณภาพนิดหนึ่ง อย่างน้อยก็เห็นแก่ภาษีที่ดิฉันเสียไปเพื่อให้มีกระทรวงของคุณได้ออกมาทำอะไรขำๆ เช่นนี้

ในบทความนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่ลงท้ายบทความว่ามาจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยเหตุที่ดิฉันกล่าวบทความนี้ว่าด้อยคุณภาพนั้น ก็เพราะการเขียน เรียบเรียงความคิดของบทความนี้ มันช่างหัวมังกุฏท้ายมังกรเสียจริง เพราเพียงเริ่มต้นบทความมาก็งงเสียเล้ว บทความกล่าวว่า

“มีลูกหนึ่งคนจนไปเจ็ดปีคงเป็นเพราะเด็กในวัยเจ็ดปีเริ่มช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านได้แล้ว”

หือ ? อะไรนะ อ่านไม่ผิดใช่ไหม หมายความว่าอย่างไรนะ ? ดิฉันงง ดิฉันคิดว่าความหมายของประโยคนี้คงต้องการบอกว่ามีลูกหนึ่งคนนั้น ในช่วงเจ็ดปีแรกพ่อแม่คงจน เพราะลูกนั้นไม่สามารถทำงานแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ ซึ่งสำนวนมีลูกหนึ่งคนจนไปเจ็ดปีนั้นคงมาจากสมัยที่ลูกนั้นถือเป็นแรงงานหนึ่งของครอบครัว วัยเจ็ดปี คงเป็นวัยที่ที่พอจะเป็น ‘แรงงาน’ ในการทำการเกษตร หรืออื่นๆ ได้แล้ว แล้วบทความก็กล่าวต่อไปว่าสมัยนี้มีลูกหนึ่งคนจนมากกว่าเจ็ดปีแน่ๆ เพราะการต้องส่งเสียให้ร่ำเรียน และที่สังคมไทยต้องการให้ลูกร่ำเรียนนั้นก็คงเพราะอยากให้ลูกฉลาด แต่อาจเป็นการฉลาดทางสติปัญญา ไม่มีความฉลาดทางการพัฒนาทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นมาสอนให้ลูกมามีวัฒนธรรมกันเถอะ!

แหม่...ก็ทนอ่านมาตั้งนาน ขึ้นต้นเหมือนจะเปรี้ยว เหมือนกำลังจะมาวิพากศ์วิจารณ์ว่าทำไมพ่อแม่ หรือครอบครัวสมัยใหม่ในสังคมไทยต้องสร้างภาระหนี้เพื่อให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียนขนาดนั้น แล้วมันคุ้มหรือไม่ ผู้เขียนบทความก็วกเข้าเรื่องการสนอให้ลูกมีวัฒนธรรมแบบไม่มีปี่ไม่ขลุยได้ ทิ้งให้ดิฉัน ซึ่งลุ้นแทบตายอารมณืค้างกลางบทความ วัยรุ่นเซ็งมากๆ ค่ะ ต่อจากนั้นผู้เขียนก็บรรยายว่าการสอนให้ลูกมี ‘วัฒนธรรม’ นั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่รำไทย เล่นดนตรีไทย ไปวัด ใส่เสื้อผ้าไทย ทำอาหาร ทำงานบ้าน ฯลฯ ดิฉันว่าคลิกเข้าไปอ่านบทความเองจะสนุกกว่า แต่ไหนๆ ดิฉันก็เขียนถึงบทความนี้แล้ว ก็ขอนำตัวอย่างมากล่าวถึงเป็นข้อๆ เลือกเอาข้อที่ดิฉันถูกใจดีกว่า

  1. ใส่เสื้อผ้าลายดอกคอกลม—แม้ข้ออื่นๆ จะลงท้ายด้วยคำว่า ‘ไทย’ แต่ข้อนี้ผู้เขียนกลับไม่บอกว่าใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้า ‘ไทย’ แฮะ เช่นผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า โจงกระเบน ดังนั้นดิฉันขอตีความว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถไปซื้อเสื้คอกลมลายดอกคอลเล็กชั่นใหม่ของ Zara Kid หรือ Paul Smith Kid มาให้ลูกใส่ก็ได้ค่ะ ถือว่าเป้นไปตามคำแนะนำ และมี ‘วัฒนธรรม’ ด้วย
  2. นำแผ่นวีซีดีการแสดงดนตรีไทยมาให้ดูบ่อยๆ จนชินทำนองเพลง—ถือว่าผู้เขียนเข้าใจสังคมสมัยใหม่มากกก...มีการแนะนำให้ดูจากวีซีดีด้วย
  3. หาโอกาสให้ลูกได้เป็นตัวแทนวันแม่ วันพ่อแห่งชาติ หรือเป็นตัวแทนไหว้ครู—ดิฉันตงิดๆ กับคำว่า ‘หาโอกาส’ จำได้ว่าตอนเด็กๆ วันแม่วันพ่อทีไร พวกเรานักเรียนมักจะเกี่ยวกันว่าใครจะเป็นตัวแทนห้อง ตัวแทนชั้นเรียนทุกที ไม่รู้เป็นอะไร ไม่ค่อยมีใครอยากให้พ่อแม่มาโรงเรียน หรือถ้ามีการคัดเลือกตัวแทน ส่วนมากจะเป็นเด็กที่สวยหล่อ เรียนดี ดูมีหน้ามีตาของห้อง หรือชั้นเรียน ที่จะได้เป็น ‘ตัวแทน’ ทุกทีไป การที่บทความบอกให้พ่อแม่เป็นคน ‘หาโอกาส’ เนี่ย หมายถึงใต้โต๊ะให้ครู หรือเพื่อนๆ ในห้องเรียนเลือกลูกตัวเองหรือเปล่าคะ เรื่องอย่างนี้พ่อแม่ท่าจะไปยุ่งเกี่ยวยาก
  4. หุงข้าว (หม้อไฟฟ้า)— ถือว่ายังเป็นการปรานีต่อลูกมากที่ยังให้ใช้หม้อไฟฟ้า ว่าแต่ทำไมที่บอกว่าให้หัดซักเสื้อผ้าเอง ไม่วงเล็บไว้ว่า ‘เครื่องซักผ้าอัตโนมัติ’ ด้วย
  5. พออายุได้ ๑๖-๑๘ สอนให้รู้จักการแต่งกายแบบไทย—คือให้ใส่ผ้าแถบ (เกาะอก) ไปสยามชิมิคะ ?

เอาเป็นว่ายังมีอีกหลายอย่างที่จะช่วยให้คุณอารมณ์ดีตลอดการอ่านบทความนี้ (ซึ่งน่าจะผิดวัตถุประสงค์ของการ

เขียนบทความขึ้นมา) แต่หลังจากอ่านจบ ดิฉันก็เริ่มเปลี่ยนโหมดอารมณืมาอยู่ในโหมด โกรธ และกราดเกรี้ยวขึ้นมาทันที นอกจากเสียดายภาษีที่รัฐเก็บไป แล้วยังตั้งกระทรวงที่ไม่ทำประโยชน์ต่อสังคมนี้ขึ้นมาแล้ว ยังไม่เข้าใจด้วยว่า กระทรวงวัฒนธรรมส่งบทความนี้ออกมาทำไม (และได้อย่างไร...ช่างกล้านะ)

ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่บรรดาพ่อแม่ทั้งหลาย จะส่งเสริมให้ลูกได้มีกิจกรรมทำในเวลาว่าง กิจกรรมที่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเรียนรำไทย เต้นบัลเลต์ ชกมวย หรือแม้กระทั่งนั่งอ่านหนังสืออยู่บ้าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเอาคำว่า ‘วัฒนธรรม’ มาบังหน้า เพราะเมื่ออ่านบทความจบ สิ่งที่เห็นว่าต้องพิจารณาและพูดกันอย่างจริงจังมีดังนี้

1. ความหมายของคำว่า ‘วัฒนธรรม’ คืออะไร

ดูเหมือนว่ากระทรวงวัฒนธรรมจะพยายามตีขลุมเอาว่าคำว่า ‘วัฒนธรรม’ นั้น คืออะไรที่ลงท้ายด้วยคำว่า ‘ไทย’ หรือ

อยู่ในซับเซตของคำว่าไทย เช่น เรียนเป่าขลุ่ย ตีระนาด ซึ่งเป็นเครื่องดนตรี ‘ไทย’ แล้วทำไมจึงไม่ใช้ชื่อบทความนี้ไปเลยว่า ‘เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีวัฒนธรรมไทย’ เดาเอาว่าคำว่า ‘วัฒนธรรม’ เฉยๆ น่าจะขายได้เนียนกว่า เพราะคำว่าวัฒนธรรมไทยมันคงเอียน และ Cliché เกินไปที่จะมาพูดถึงแบบฮาร์ดเซลเช่นนี้ (แต่สุดท้ายแม้จะล่อลวงด้วยคำว่า ‘วัฒนธรรม’ เฉยๆ ในบทความก็ฮาร์ดเซลอยู่ดี) สิ่งหนึ่งที่บทความนี้ขาดไปคือ การเลี้ยงลูกให้มีวัฒนธรรมนั้น ส่งผลดีอย่างไรแก่ตัวลูก ทำไมพ่อแม่จึงต้องสอนลูกให้มีวัฒนธรรม

สิ่งที่ทำให้คนเหม็นเบื่อกระทรวงวัฒนธรรมอยู่ในปัจจุบัน นอกจากความคร่ำครึ ล้าสมัย ชอบทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง และไม่เข้ากับยุคสมัย และความเป็นจริงของสังคมแล้ว ตัวกระทรวงเองก็มีปัญหากับการตีความคำว่า ‘วัฒนธรรม’ อยู่มิใช่น้อย ดูจากบทความที่ทำเสนอนี้ ที่คำว่า ‘วัฒนธรรม’ นั้นถูกจัดกรอบให้แคบลงเหลือเพียงแค่คำที่ลงท้ายด้วยคำว่า ‘ไทย’ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ เป็นการปรากฏการณ์ dilemma ของสังคมไทย คือการออกมารณรงค์เรื่อง ‘ไทยๆ’ กันอย่างเอกเริก อ้างว่าเป็นมรดกของชาติ แต่เราก็อยากก้าวหน้าในระดับ ‘สากล’ แต่ปัญหาคือในระดับสากล ไม่มีใครเขาประกวดประขันอะไรที่ ‘ไทยๆ’ กัน แล้วเราจะจัดวางคน (เยาวชน) ที่จะสืบสานความเป็นไทยไว้กลุ่มไหน แล้วคนที่จะมีความสามารถทัดเทียมสากลไว้กลุ่มไหน เช่น เด็กโรงเรียนรัฐตามบ้านนอกก็สืบสานอะไรที่ไทยๆ ไป เพราะไม่มีปัญหาที่จะเข้าถึงอะไรที่เป็น ‘สากล’ ส่วนเด็กอินเตอร์ หรือเด็กบ้านรวยก็ไปเรียนอะไรที่เป็นสากลแล้วไปสร้างชื่อเสียงมาให้ประเทศเสีย อย่างนั้นหรือ ? ซึ่งนำมาถึงปัญหาที่ต้องพิจารณาในข้อสอง

2. ต้นทุนในการจะมีวัฒนธรรม

ต้นบทความกล่าวมาอย่างดิบดีว่า พ่อแม่ต้องจน ต้องแบกภาระหนี้สินไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ ในการมีลูกสักหนึ่งคน แล้วก็จบ

ลงไปอย่างดื้อๆ ว่า ‘สังคมไทยน่าสงสาร’ ดิฉันมีข้อซักถามว่าถ้าน่าสงสารแล้ว ทำไมกระทรวงวัฒนธรรมยังออกมารณรงค์ให้พ่อแม่เลี้ยงลุกให้มีวัฒนธรรม ด้วยการพาไปเรียนนั่น เรียนนี่ อีกหรือคะ นั่นเท่ากับการสร้างหนี้ของพ่อแม่เพิ่มหรือเปล่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้ การจะเรียนรำไทย ตีระนาด ตีขิม เรียนทำกับข้าว (บทความใช้คำว่า ไปเรียนทำกับข้าว) ฯลฯ ทั้งหมดนั้นต้องส่งลูกไปเรียนเอาข้างนอก (โรงเรียน) และในบทความเองก็ไม่ได้แนะนำให้โรงเรียนเป็นผู้ ‘สร้าง’ วัฒนธรรม แต่เป็นพ่อแม่ที่ต้องมีหน้าที่พาลูกไปเรียนรู้ และสร้างลูกให้มีวัฒนธรรมเอง ดิฉันจึงขอใช้วิจารณญาณเอาเองว่า นั่นหมายถึงให้พ่อแม่ส่งลูกทั้งหลายไปเรียนเพิ่มเติมนอกโรงเรียน

การไปเรียนตีขิม เรียนตีระนาด รำไทย ทำกับข้าว ฯลฯ นั้นต้องใช้เงินหรือไม่ แน่นอนมันต้องใช้ อย่างน้อยถึงจะเรียนเองที่บ้านก็ต้องซื้ออุปกรณ์ แล้วในขณะที่บทความเองก็บอกพ่อแม่ต้องเป็นหนี้เพราะมีลุกคนหนึ่ง ทำไมยังต้องแนะนำให้พาอแม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กมี ‘วัฒนธรรม’ ด้วยเล่า ตามมาด้วยคำถามว่าพ่อแม่ ‘ชนชั้น’ ไหนที่สามารถทำอย่างที่กระทรวงวัฒนธรรมแนะนำได้บ้าง การพาลูกไปเรียน ไปวัด ไปเที่ยวดูนั่นนี่ แม้อาจจะใช้เงินไม่มาก แต่ก็ต้องใช้เวลา พ่อแม่ชนชั้นกรรมาชีพ หรือชนชั้นแรงงาน คงไม่มีใครมีเวลาพอที่จะทำอย่างนั้น (แค่เลี้ยงยังอาจไม่มีเวลาเลี้ยงเองเลย ส่วนมากมักส่งให้ย่ายายเป็นคนเลี้ยง นี่ยังไม่นับปัญหาแรงงานอพยพที่ไม่สามารถอยู่กันเป็นครอบครัวได้อีกนะ) ลำพังแค่จะหาเงินค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าเทอมลูก ค่ากินค่าอยู่ ทำงานสัปดาห์ละเจ็ดวันก็แทบจะไม่พอแล้ว จะเอาเวลาไหนไปสร้างลุกให้มี ‘วัฒนธรรม’ แบบครบวงจรขนาดนั้นคะ

และถ้าเป็นพ่อแม่ชนชั้นสูง บ้านรวย ไฮโซ ก็คงส่งลูกไปเรียนเปียโน เต้นบัลเลต์ ฮิปฮอป แจ๊ซ เรียนศิลปะ ออกแบบดีไซน์ และเชื่อเถอะว่า พ่อแม่ชนชั้นนี้ก็ไม่ได้มานั่งประคบประหงมลูกแบบครอบครัวอบอุ่นอย่างที่เห็นในโทรทัศน์หรอก เขาก็ต้องทำธุรกิจ ออกงานสังคม บินไปต่างประเทศ ก็มีแต่คนขับรถ กลับพี่เลี้ยงเท่านั้นแหละ ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก และหากจะพูดถึงพ่อแม่ชนชั้นกลาง ก็คงไม่ต่างกับชนชั้นสูง เพราะก็อยากให้ลูก ‘ทัดเทียม’ ‘ก้าวหน้า’ พาไปเรียนภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาเลี่ยน หรือเรียนบัลเลต์ เรียนเปียโนไม่ต่างกัน ก็คงจะเหลือแต่ครอบครัวระดับกลางๆ หรือกลางล่างเท่านั้นแหละ ที่พยายามจะไขว่คว้าอุดมการณ์แบบครอบครัวชนชั้นกลางและชนชั้นสูงมา แต่ด้วยต้นทุนที่มีไม่มากพอ และไม่สามารถลงทุนได้สูงขนาดนั้น จึงหยิบจับได้แต่อะไรที่พอมีกลิ่นบ้าง แต่ใช้ต้นทุนน้อยกว่า

แต่ถึงอย่างไร...เราก็ต้องมาตอบคำถามว่าทำไม พ่อแม่ต้องแบกรับภาระหนี้ในเรื่องเหล่านี้ ในการสร้างลูกให้มีวัฒนธรรมด้วย ซึ่งเราจะมาพูดกันต่อในหัวข้อที่สาม

3. การผลักภาระให้ครอบครัวโดยอุดมการณ์รัฐ

ในบทความจะเห็นว่าเป็นการชี้แนะให้ ‘พ่อแม่’ เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมให้กับลูก ซึ่งดิฉันได้กล่าวไปแล้วว่า มันเป็นการ

สร้างภาระที่เหลวไหลสิ้นดี ซึ่งก็อาจจะเถียงกลับมาได้ว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องไปเสียเงินเสียทองเลย โรงเรียนก็มีสอนเรื่องแบบนี้ (จริงหรือ ?) ดิฉันคิดว่าหากรัฐพยายามท่ะผลักดัน ให้สังคมต้องแบกรับภาระ ‘วัฒนธรรม (ไทย)’ นั้น รัฐก็ควรจะสร้างตัวช่วยให้สังคมด้วย ไม่ใช่มาชี้หน้าด่ากราด อ้างความสูญสิ้นวัฒนธรรมอันดีงามจากการเป็นสังคมสมัยใหม่แบบนี้ ถ้าอยากให้เด็กเรียนรำไทย เป่าปี่ เป่าขลุ่ย ก็สร้างศูนย์เรียนฟรีเหล่านี้ในทุกๆ หมู่บ้าน ทุกๆ ชุมชนขึ้นมาสิ (ดีกว่าเอาเงินไปจ้างพรีเซ็นเตอร์ แล้วอัดเม็ดเงินลงโฆษณาตามทีวีที่มได้ผลอะไร) เด็กๆ ในครอบครัวที่ไม่มีโอกาสไปเรียนบัลเลต์ เหรือแม้แต่เรียนอะไรเลยก็ตาม (เห็นไหมว่าสุดท้ายมันก็หลีดเลี่ยงเรื่องต้นทุนไม่พ้นหรอก) เบื่อๆ ว่างๆ มันก็เข้าไปนั่งเล่น ไปสนุกกันเองแหละ อย่างน้อยก็ยังมีที่ไป นอกจากจะเป็นการสร้างที่ให้เด็กมีที่ไป ไม่ไปทำเรื่องที่เป็นอันตรายอื่นๆ แล้ว ยังสามารถสร้างงานให้แก่ผู้คน (ที่จบมาด้านนี้ เช่น จบเอกเป่าขลุ่ย) ได้มีงานทำอีกด้วย และก็ได้สืบเจตนารมย์การรักษาวัฒนธรรม (ไทย) อีกด้วย แต่รัฐก็ไม่ทำ และพร้อมจะผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของ ‘พ่อแม่’ และพร้อมจะหาแพะรับบาปที่ชื่อ ‘เยาวชน’

4. แพะรับบาปที่ชื่อ ‘เด็กและเยาวชน’

ดิฉันสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมเวลามีเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยจะสูญหายไปจากชาติ มักจะมีการกล่าวโทษเด็กๆ

เยาวชนเสมอไป ว่าไม่รักษาความดีงามนี้เอาไว้ ไปเห่อวัฒนธรรมตะวันตกเสียหมด ทำไมคนที่ต้องรักษาไม่ใช่พวกคนทำงาน พ่อแม่ ลุงป้าน้าอา คนแก่ๆ ทำไมต้องเป็นเยาวชน ซึ่งจะบอกว่าเยาวชนมีเวลว่างก็คงไม่ถูกนัก เพราะแค่เรียนหนังสือก็หมดเวลาไปทั้งวันแล้ว ไหนจะต้องเรียนพิเศษเสาร์อาทิตย์อีก (เห็นไหมว่ารัฐนั่นแหละที่บีบให้เด็กๆ ไม่มีเวลาไปศึกษา ‘วัฒนธรรม’ เพราะต้องแข่งขันกันภายใต้ระบบการศึกษาแบบนี้) หรือว่าถ้าให้เด็กเป็นคนสืบสานแล้วจะอยู่ได้งาน เพราะเด็กอายุยังนน้อย แต่ก็เห็นว่าผู้ใหญ่ในวันนี้ที่เคยเป็นเด็กในวันก่อน ก็ไม่เห็นมีใครสืบสานสักคน ก็ยังออกแคมเปญให้เด็กเยาวชนเป็นคนรับภาระนี้มาทุกยุคทุกสมัย ขาเดาเอาว่าเด็กมันน่าจะโง่ และด้วยความเป็นเด็กมันต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เถียงไม่ได้ เลยต้องให้เด็กเป็นแพะรับบาไป เพราะผู้ใหญ่รู้กันหมดแล้วว่า มันเอาไปทำมาหากินไม่ได้ จบเอกเป่าขลุ่ยมา แล้วจะสอนที่ไหน สอนได้ชั่วโมงละกี่บาทกันเชียว สู้จบเอกเปียโนไม่ดีกว่าเหรอ เช่นเดียวกันกับสอนรำไทย สอนเต้นบัลเลต์ หรือฮิปฮอปท่าจะรวยกว่า เพราะฉะนั้นโยนให้เด็กมันนี่แหละ ง่ายดี (โดยเฉพาะเด็กโรงเรียนรัฐ ที่มีงานอย่างนี้ต้องโดนเกณฑ์ให้มาเข้าร่วมรณรงค์ เดินขบวน ฯลฯ ส่วนเด็กโรงเรียนอินเตอร์ แม้แต่เพลงชาติยังไม่เปิดเลย...สองมาตรฐานหรือเปล่าคะ อิจฉาเด็กโรงเรียนอินเตอร์จัง ผมไม่ต้องตัด เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายก็ซ้วย...สวย ไม่ต้องยืนเคารพธงชาติตากแดดหน้าเสาธงด้วย บ้านรวยมันดีอย่างนี้นี่เอง)

บทความชิ้นนี้ จึงเป็นบทความที่ผิดตั้งแต่การเรียบเรียงตรรกะที่ใช้ในการเขียน แถมยังเปิดช่องให้มีการข้อสงสัยต่างๆ นานาๆ ตั้งแต่การตั้งคำถามว่า ‘วัฒนธรรม’ คืออะไร ? แล้วต้องมีไปเพื่ออะไร นี่ยังไม่นับรวมความฮาร์ดเซลที่เหมือนกับว่าชีวิตนี้ต้องไปทำทุกอย่างที่อยู่ในซับเซตของคำว่า ‘ไทย’ ทั้งหมดให้ได้เ พื่อให้มี ‘วัฒนธรรม’ อีกด้วย ดิฉันจึงไม่รู้ว่าสุดท้ายนี้ ความมุ่งหมายของบทความนี้เพื่อใคร ? พ่อแม่หรือ ชนชั้นไหน ? เด็กหรือ ? หรือผู้อ่านทั่วไป และหากจะวัดกันว่าความสำเร็จของบทความคือการสื่สารประเด็นที่ต้องการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะไม่จำเป็นต้องให้ผู้อื่นคล้อยตามไปทุกความคิดเห็น แต่ก็ให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงเจตนารมย์ของผู้เขียนภายใต้หลักการเหตุผลหนึ่ง ก็นับได้ว่าบทความนี้ไม่ประสบความสำเร็จในการสื่อสารแม้แต่น้อย แต่ภายใต้การไม่ประสบความสำเร็จในการสื่อสารนั้นก็ทำให้ผู้อ่านไปด้รับประโยชน์ในทางอื่น คือเสียงหัวเราะจากการอ่านบทความ และทำให้เราเข้าใจได้ว่า

ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่รัฐบาล กระทรวงวัฒนธรรมก็ยังเป็นกระทรวงวัฒนธรรม ที่มีอุดมการณ์ของตัวเองไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เคยตั้งคำถามต่อตัวเอง ไม่มองดูสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และคำว่าอะไรที่ไม่ลงท้ายด้วย ‘ไทย’ นั้น (หรืออยู่ในซับเซตของคำว่าไทย) ก็แลดูจะไม่มี ‘วัฒนธรรม’

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท