Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.54 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย 100 คน ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งและการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวต่อศาล เมื่อวันที่ 23 พ.ค.54 โดยสั่งให้ทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ออกเมื่อปี พ.ศ.2553 ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกให้กับบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้บริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด จำต้องหยุดการดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลหรือเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ศาลชี้การออกใบอนุญาตมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายและกระทบต่อสิทธิชุมชนของชาวบ้านจำนวนมาก สืบเนื่องจากกรณีประชาชนจำนวนมากใน ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย ต.ริมกก อ.เมือง ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ได้คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน จนกระทั่งวันที่ 23 พ.ค.54 ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านที่รวมกันในนามกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นจังหวัดเชียงรายจำนวน 100 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อให้ศาลพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ออกให้บริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ประเด็นในคำฟ้องมีว่า กระบวนการออกใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ประกอบกับพื้นที่ก่อสร้างโรงงานฯ ดังกล่าวขัดกับกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่เกษตรกรรมอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของ จ.เชียงราย ซึ่งอยู่ในทำเลไม่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างโรงงานทุกชนิด และพร้อมกันนั้นชาวบ้านได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยถ้าหากยังปล่อยให้มีการดำเนินการการก่อสร้างโรงงานต่อไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีเกษตรกรรมของประชาชนจำนวนมากซึ่งยากแกการเยียวยาในภายหลัง ต่อมาในวันที่ 8 ก.ค.54 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้ไต่สวนคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยมีตัวแทนผู้ฟ้องคดีและทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนผู้รับมอบอำนาจ และผู้แทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่1) รวมถึงตัวแทนบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด(ผู้ถูกฟ้องคดีที่2) มาให้ถ้อยคำต่อศาล โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีมูลด้วยเหตุผลหลายประการ คือ ในการขอออกใบอนุญาตฯ ได้ใช้หนังสือความเห็นชอบให้จัดตั้งโรงงานของนายก อบต.เวียงเหนือ ฉบับลงวันที่ 20 ม.ค.52 โดยหนังสือฉบับดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา อบต.เวียงเหนือ การออกใบอนุญาตฯ ดังกล่าวนั้นยังขัดแย้งกับมติคณะกรรมการกลั่นกรองการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้มีมติว่าไม่สมควรให้มีการก่อสร้างโรงงานฯ และประกอบกับในการไต่สวนของศาลมีการรับข้อเท็จจริงว่ามีลำเหมืองสาธารณะ (คลองส่งน้ำ) อยู่ในพื้นที่การก่อสร้างโรงงานฯ และได้มีการถมดินพาดผ่านลำเหมืองสาธารณะดังกล่าวโดยไม่ได้ขออนุญาตกับ อบต.เวียงเหนือ และยังปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่าวันที่ 10 พ.ค.53 สภา อบต.เวียงเหนือได้มีมติไม่สมควรให้มีการตั้งโรงงานไฟฟ้าชีมวล ดังนี้ ถือว่าเป็นการกระทบสิทธิชุมชนตามมาตรา 66 และมาตรา 67 และขัดกับมาตรา 282และมาตรา283 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ศาลปกครองยังให้เหตุผลต่อไปว่า หากให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า เลขที่ (สรข.) 02-119 /2553 ฉบับลงวันที่ 4 มี.ค.53 มีผลบังคับใช้ต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดีจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งร้อยคนและประชาชน จนยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง และหากศาลการมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือการบริการสาธารณะแต่อย่างใด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นจังหวัดเชียงรายจำนวนกว่า 1,000 คน ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย คัดค้านการขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานของบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ซึ่งจะหมดอายุในเดือนสิงหาคม 2554 โดยทางจังหวัดเชียงรายชี้แจงกับชาวบ้านว่าจะพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว และจะมีหนังสือแจ้งความคืบหน้าไปให้กลุ่มชาวบ้านทราบภายในสามวัน จนขณะนี้กลุ่มชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าวแต่อย่างใด สรุปคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวคดีโรงไฟฟ้าชีวมวล คดีหมายเลขดำที่ ๑๔๖/๒๕๕๔ สำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ วันที่ ๓๐ เดือน สิงหาคม ๒๕๕๔ นายบุญซ่น วงค์คำลือ ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๐๐ คน ผู้ฟ้องคดี ระหว่าง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ ๑ กับพวกรวม ๒ คน ผู้ถูกฟ้องคดี หนังสือถึง นายพนม บุตะเขียว และหรือ นางสาววราภรณ์ อุทัยรังสี และหรือ นางสาวอัญญาณี สิทธิอาษา และหรือ นายเฉลิมชัย การมั่งมี ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งร้อย ด้วยคดีนี้ ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ ทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ที่ (สรข. ๕) ๐๒-๑๑๙/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๓ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกให้แก่ผู้ถูกฟ้องที่ ๒ ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น สรุปย่อคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โจทก์ให้การว่า พวกเขาเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชียงราย ประชากรส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม ก่อนหน้านั้นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศเอื้อต่อการอยู่และดำรงชีวิตของสัตว์หลากหลายชนิด จนต่อมาชาวบ้านทราบว่าจะมีโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล โดย บริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด ทำสัญญาซื้อขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยการใช้แกลบเป็นวัตถุดิบ ขนาดกำลังการผลิต ๙.๔ เมกะวัตต์ รวมพื้นที่ทั้งหมด ๗๒ ไร่ โดยใช้น้ำจากแม่น้ำกกและใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๑๓ เป็นเส้นทางวัตถุดิบ โดยทางบริษัทได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ชาวบ้านผู้อาจได้รับผลกระทบ ไม่เห็นด้วยจึงร่วมกันคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ในนามกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น แต่เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๓ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ (สรข.๕) ๐๒-๑๑๙/๒๕๕๓ ให้กับ บริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด โดยที่องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ไม่ได้แจ้งข้อดีข้อเสียและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแต่อย่างใด ทั้งยังมีหนังสืออนุญาตให้ บริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด ดำเนินการก่อสร้างได้ตามความเห็นส่วนใหญ่ของประชาคม และอ้างว่าบริเวณพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าวไม่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมอาคาร ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ศาลได้ให้ความเห็นต่อคำฟ้องและคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ว่าเมื่อจำเลยได้รับความเดือดร้อนจากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาด ๙.๔ เมกะวัตต์ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือได้ให้ความเห็นชอบโดยไม่ผ่านที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือเพื่อให้ความเห็นชอบ ตามหนังสือลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๒ นอกจากนั้นการออกใบอนุญาตดังกล่าวยังขัดแย้งกับมติของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยชีวมวลที่ประชุมมีมติเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ว่า ไม่สมควรมีการก่อสร้าง คำฟ้องและคำร้องดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นที่ซึ่งบริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด ได้ทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้นมีลำเหมืองสาธารณะประโยชน์ โดยบริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด ได้มีการถมดินพาดผ่านลำเหมืองสาธารณะ โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ประกอบกับเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือได้มีการประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่เห็นชอบให้มีการตั้งโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ดังนั้น การที่คณะกรรมการกำกับกิจการ ถือว่าหนังสือลงฉบับวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๒ เป็นหนังสือที่ได้รับความเห็นชอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จึงไม่น่าจะชอบด้วยมาตรา ๖๖,๖๗,๒๘๑,๒๘๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ดังนั้นคำฟ้องของโจทก์จึงมีมูลว่า การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของคณะกรรมการกำกับกิจการ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย หลักที่ศาลต้องพิจารณาประการแรกคือการใช้คำสั่งทางปกครองหรือใบอนุญาตดังกล่าวหากมีผลใช้บังคับต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าการที่ บริษัทพลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด ได้เข้ามาถมดิน ขุดบ่อ และสร้างบ้านพักคนงาน โดยผู้รับมอบอำนาจของบริษัท ให้การกับศาลในชั้นไต่สวนว่าหลังจากถมดินและทำการรางวัดจึงได้รู้ว่ามีลำเหมืองสาธารณะผ่ากลางอยู่ในพื้นที่จริงซึ่งหากดำเนินการก่อสร้างต่อไป ประชาชนย่อมไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในลำเหมืองสาธารณะได้ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ต่ำ เดิมเป็นจุดสำคัญในการระบายน้ำของพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ ซึ่งได้มีการถมดินสูงขึ้นประมาณ ๓-๔ เมตร จากระดับเดิม และตั้งแต่ได้มีการถมดินทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่นา โดยหากศาลมีคำพิพากษาว่าการออกใบอนุญาตดังกล่าวมิชอบและให้เพิกถอน ทางบริษัทจะได้รับความเสียหายน้อยกว่าชาวบ้านในพื้นที่ กรณีจึงเห็นว่า การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เลขที่ (สรข.๕) ๐๒-๑๑๙/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๓ มีผลบังคับใช้ต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดีจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าใบอนุญาตดังกล่าวจะหมดอายุในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ นี้ก็ตาม แต่ทางบริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด ยังมีสิทธิที่จะต่อใบอนุญาตดังกล่าวได้ตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต หลักที่ต้องพิจารณาต่อมาคือการมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา จะก่อให้เกิดอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะหรือไม่ เห็นว่าผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ให้ถ้อยคำต่อศาลในชั้นไต่สวนว่า หากศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ก็ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของกำกับกิจการพลังงาน จึงเห็นได้ว่า การมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การแก่การบริการสาธารณะแต่อย่างใด ศาลจึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ (สรข.๕) ๐๒-๑๑๙/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๓ ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกให้ บริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัดไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net