Skip to main content
sharethis

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่อนจดหมายจี้รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ให้ความสำคัญสูงสุดและดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลต่อการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน

9 ก.ย. 54 - สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ทำจดหมายเปิดผนึก เรื่องขอเร่งรัดให้รัฐบาลของให้ความสำคัญสูงสุดและดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล ต่อการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ จะเป็นครั้งแรกที่จะมีการตรวจสอบรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ ประเทศไทยภายใต้กลไกการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (รายงาน UPR) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้



 

9 กันยายน 2554
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
ทำเนียบรัฐบาล
ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต
กทม.10300 ประเทศไทย
โทรสาร +66 (0) 2288-4016
 

เรื่อง การเคารพหลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการยุติการไม่ต้องถูกลงโทษ

กราบเรียน นายกรัฐมนตรี

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเร่งรัดให้รัฐบาลของท่านให้ความสำคัญสูงสุดและดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล ต่อการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ จะเป็นครั้งแรกที่จะมีการตรวจสอบรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ ประเทศไทยภายใต้กลไกการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย(รายงาน UPR)ฉบับนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งที่รัฐบาลแสดงให้ประชาคมโลกและประชาชน ไทยเข้าใจการเคารพหลักนิติธรรมได้อย่างชัดเจน ความรับผิดชอบแท้จริงที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ รวมถึงขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมที่จะให้บรรลุเป้าหมายของพันธกิจนี้

ในฐานะประเทศภาคีสมาชิกของกติกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ไม่เพียงแต่ต้องเคารพและดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน แต่ยังต้องใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างที่จะประกันการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อย่างเต็มที่

ถึงแม้ว่าความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อในช่วงหกปีที่ผ่านมา นั้นมีความซับซ้อน องค์กรของเราเชื่อว่าการไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและการที่ผู้ตกเป็นเหยื่อไม่ สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้นั้นเป็นสาเหตุและปัจจัยหลักที่ทำให้ ความรู้สึกไร้ซึ่งความยุติธรรมมีอยู่ทั่วไป และขยายไปทั่วประเทศ

การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่อมวลชน

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยทุก แห่ง เสรีภาพนี้ได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (หมวด 7 มาตรา 45) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 ซึ่งประเทศไทยได้ภาคยานุวัติเมื่อปี พ.ศ.2539 โดยในรายงาน UPR ที่จัดทำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เรียกร้องให้รัฐบาล “ยึดถืออย่างเคร่งครัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในการประกันเสรีภาพของ สื่อมวลชนและประชาชน”

การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นได้รับการยอมรับภายใต้ กฎหมายระหว่างประเทศเพียงในกรณีที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายที่จะ คุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ของบุคคลอื่นหรือเพื่อความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของประชาชน เท่านั้น โดยให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เท่าที่จำเป็นและเหมาะสม การจำกัดเสรีภาพเช่นนี้จำเป็นต้องมีข้อยกเว้น และต้องมีคำนิยามที่จำกัดให้แคบและชัดเจน พร้อมการคุ้มครองที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งมีมาตรการเยียวยาเพื่อตรวจสอบการละเมิดต่างๆ

ในประเทศไทย พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกนำมาใช้ในลักษณะที่เป็นการละเมิดและไม่โปร่งใส ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยังสามารถกล่าวได้ว่าการใช้กฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความมั่นคง อีกหลายฉบับนั้น เป็นไปในลักษณะเดียวกันนี้ กฎหมายเหล่านี้ถูกเขียนอย่างเคลือบคลุมและกว้างมากเกินไป ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางและไม่ถูกตรวจสอบ ในการที่จะเซ็นเซอร์สื่อโดยพลการ ; ดำเนินคดีอาญาต่อการแสดงความคิดเห็นโดยสงบ และจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายที่เหมาะสมและการ ตรวจสอบโดยอิสระอื่น ๆ กฎหมายเหล่านี้ยังถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อที่จะจำกัดการแสดงความเห็นโดยสงบ และชอบธรรมของผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง ในปี พ.ศ.2553 เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ นั้น ได้มีการปิดกั้นเว็บเพจจำนวนหลายหมื่นแห่ง การปิดสถานีวิทยุชุมชนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล มากกว่าหนึ่งร้อยแห่ง การเซ็นเซอร์การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนหลายแห่ง หรือบางแห่งถูกสั่งให้หยุดดำเนินการทุกอย่าง

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินการให้มีการทบทวนอย่างรอบคอบและเคร่งครัดเกี่ยวกับ มาตรการต่าง ๆ ทางกฎหมายและการบริหารราชการที่กระทบต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และให้ดำเนินการแก้ไข หรือยกเลิกมาตรการต่าง ๆ ที่ขัดกับหรือละเมิดกฎหมายและมาตรฐานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องเปิดเผยรายละเอียดและจำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพฯ ต่อสาธารณชน ยุติการพิจารณาคดีลับ และยุติการเซ็นเซอร์และข่มขู่ทุกรูปแบบที่กระทำต่อสื่อมวลชน ผู้ใช้อินเตอร์เนท และผู้ให้บริการอินเตอร์เนท

การปิดปากประชาชนที่ใช้สิทธิอันชอบธรรมไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของ ระบอบอำนาจนิยม แต่ยังเป็นวิธีการสร้างความขัดแย้งและความตึงเครียดในสังคม ขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่รัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูป ธรรมในอันที่จะยุติและแก้ไขการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

การลงโทษประหารชีวิต

ปัจจุบัน จำนวนสองในสามของประเทศในโลกได้ทำการยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2553 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ได้ลงมติเป็นครั้งที่สาม เรียกร้องให้ทั่วโลกชะลอการลงโทษประหารชีวิต โดยมตินี้ได้รับการรับรองจากภาคีสมาชิก 109 ประเทศ เราบันทึกไว้ว่าประเทศไทยซึ่งเคยลงนามคัดค้านมติสองครั้งก่อนหน้านี้ ได้งดออกเสียงในการลงมติ ปี พ.ศ. 2553 และไม่ลงนามในแถลงการณ์ที่ไม่รับรองมติดังกล่าว

ในข้อ 3.1 ของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2552-2556) เสนอให้ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม เรามีความห่วงใยอย่างยิ่งที่รายงาน UPR ของรัฐบาลไม่กล่าวถึงข้อเสนอนี้และไม่ให้คำมั่นใดที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต การประหารชีวิตเป็นความโหดร้ายโดยแท้และเป็นการลงโทษที่ไร้ มนุษยธรรมซึ่งไม่อาจย้อนคืนได้ พยานหลักฐานสำคัญได้แสดงให้เห็นแล้วว่าโทษประหารชีวิตไม่มีผลในการยับยั้ง อาชญากรรมต่าง ๆ รัฐบาลต้องแสดงภาวะผู้นำที่แท้จริงในการให้ข้อมูลและเปลี่ยนแปลงมากกว่าการ แอบอยู่ข้างหลังมติมหาชนต่อโทษประหารชีวิต

นอกจากนี้ เรายังมีความห่วงใยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมและ ทารุณโหดร้ายที่มีการล่ามโซ่นักโทษชายที่รอการประหารชีวิต การปฏิบัตินี้ยังคงดำเนินอยู่ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ยุติการกระทำนี้ใน ปี พ.ศ. 2548 และศาลปกครองแห่งประเทศไทยได้มีคำวินิจฉัยในปี พ.ศ. 2550 ว่าการปฏิบัติเช่นนี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภารับรองโดยทันทีทันใด ต่อมติการชะลอการลงโทษประหารชีวิต ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด ให้ยุติการล่ามโซ่ผู้ต้องโทษประหารชีวิตชาย และร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการที่จะกระตุ้นให้สาธารณชนเห็นถึงความจำเป็น ของการยกเลิกโทษประหารชีวิต เราขอย้ำถึงคำเตือนก่อนหน้านี้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ มีถึงรัฐบาลไทยว่าการประหารชีวิตอาจกระทำได้กับ“อาชญากรรมที่ร้าย แรงที่สุด” เท่านั้น และความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดไม่นับเป็น “อาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด” ตามความหมายในข้อ 6.2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เป็นเรื่องที่ต้องเน้นย้ำด้วยว่าการผ่อนปรนในข้อนี้ไม่อาจนำมาอ้าง “ที่จะถ่วงเวลาหรือขัดขวางการยกเลิกโทษประหารชีวิต” (ข้อ 6.6 ICCPR)

กฎหมายพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคง

การกำหนดให้มีการใช้กฎหมายพิเศษต่าง ๆ เกี่ยวกับความมั่นคง รวมถึงกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในจังหวัดชายแดนใต้ และในจังหวัดอื่น ๆ ระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อไม่นานมานี้ นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง รวมทั้งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การคุมขังโดยไร้หลักเกณฑ์ การจับกุมโดยไม่มีหมายจับ และการยืดเวลาการควบคุมตัวโดยไม่มีการการแจ้งข้อหา การปฏิบัติเหล่านี้ยังส่งผลให้มีการละเมิดอื่น ๆ ที่รุนแรง เช่น การบังคับให้บุคคลสูญหาย การทรมาน และการวิสามัญฆาตกรรม

ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความมั่นคงให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางโดยไม่ถูกตรวจสอบอย่างรอบคอบจากองค์กรอิสระ รวมทั้งฝ่ายตุลาการและองค์กรอื่น ๆ ข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนั้นคุ้มกันรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ จากการถูกลงโทษในอาชญากรรมที่พวกเขาก่อขึ้น ความคุ้มกันเช่นนี้เป็นผลลบต่อกระบวนการสมานฉันท์ในชาติและก่อให้เกิดความ รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้ง

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนโดย เร่งด่วน ตลอดจนกระบวนการทางกฎหมายและสิทธิต่าง ๆ ในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม รวมถึงกฎหมายทั้งปวงที่เกี่ยวกับการคุ้มครองความมั่นคงแห่งรัฐและความสงบ เรียบร้อยของประชาชนและการปฏิบัติที่เป็นผลจากกฎหมายเหล่านี้ ขอให้ดำเนินการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายพิเศษต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงเพื่อทำให้กฎหมายเหล่านี้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิ มนุษยชนและมาตรฐานสากลซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี

อำนาจพิเศษใด ๆ ควรต้องนิยามอย่างแคบ ๆ และระมัดระวัง และให้มีการทบทวนกฎหมายเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัดโดยรัฐสภาและได้ รับการตรวจสอบโดยองค์การอิสระอื่น ๆ นอกจากนี้ การนำมาใช้ต้องสอดคล้องอย่างเคร่งครัดกับการพิจารณาคดี ความจำเป็น และความเหมาะสม ความผิดที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างที่มีการใช้กฎหมายเหล่านี้ต้องถูก สอบสวนและลงโทษ

การไม่ต้องถูกลงโทษ และการไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม

การไม่ต้องถูกลงโทษของเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ในกองกำลังรักษา ความมั่นคงแห่งรัฐนั้นยังคงได้รับการคุ้มครองอย่างกว้างขวางและต่อ เนื่อง ทั้งในกฎหมายและในทางปฏิบัติ แม้รายงาน UPR ของรัฐบาลยอมรับว่า “ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงความยุติธรรม” เป็นปัญหา แต่ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่พัวพันในความผิดต่าง ๆ เช่น การบังคับให้บุคคลสูญหาย และการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แทบจะไม่เคยถูกดำเนินคดี ในจำนวนคดีที่มีการลงโทษซึ่งมีไม่มากนัก พวกเขาถูกลงโทษในความผิดลหุโทษที่ไม่ได้สะท้อนถึงความร้ายแรงของ อาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริง ๆ หรือไม่ก็ถูกสั่งปล่อยตัวทั้งหมด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายสิทธิมนุษยชนที่ถูกทำให้สูญหายไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นคดีที่มีความผิดร้ายแรงนั้น สิ้นสุดลงโดยจำเลยทุกคนถูกปล่อยตัวไป ภาระความรับผิดต่อการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสังหารผู้ต้องสงสัยก่อ ความไม่สงบ 32 ศพ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2547 ในมัสยิดกรือเซะ หรือความตายของผู้ชุมนุมประท้วงจำนวน 84 ศพเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547 ในคดีตากใบยังคงไม่ได้รับการตัดสินเนื่องจากไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐถูก ลงโทษ ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานชัดเจนที่ชี้ให้เห็นถึงความรับผิดทางอาญา

ความตาย 92 ศพ และผู้บาดเจ็บ 1,885 คน ในระหว่างการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเสื้อแดงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ยังคงไม่มีการชดใช้ หรือลงโทษที่เหมาะสมและเป็นธรรม เรายินดีที่ได้ยินคำมั่นสัญญาของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่าจะสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในการที่จะสอบสวนและหาความจริงในเหตุการณ์รุนแรงของการชุมนุมประท้วงเหล่า นี้ แต่เราผิดหวังอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคงที่มีส่วนในปฏิบัติการทาง ทหารเพื่อสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงนี้ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะ กรรมการค้นหาความจริงฯ

ความสมานฉันท์แห่งชาติต้องการความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อหลัก นิติธรรมและสถาบันประชาธิปไตยรวมถึงฝ่ายตุลาการ ความล้มเหลวในการให้ความยุติธรรมและการเยียวยาเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงของกระบวนการสมานฉันท์ ด้วยเหตุนี้ การไม่ต้องถูกลงโทษเช่นนี้ต้องถูกยกเลิก ความยุติธรรมไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นพันธกรณีและเป็นกฎเกณฑ์บังคับ

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเยียวยาเหยื่อและครอบครัวโดยเร็วและอย่าง เหมาะสม รวมทั้งดำเนินการทางกฎหมายและอื่น ๆ ตามที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

การเพิ่มงบประมาณสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูก ละเมิดสิทธิมนุษยชนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และการบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายทหารต้องให้ความร่วมมือกับการทำงานของ คอป. และองค์การอิสระอื่นๆที่ตรวจสอบหาความจริงเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญยิ่ง รัฐบาลไทยควรเร่งรัดการให้สัตยาบันกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฉบับอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมิให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายไทยให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกฝ่ายพลเรือนที่เข้มแข็งและมี ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกองทัพ เราขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้มีการพิจารณาทบทวนคดีกรือเซะและตากใบเพื่อที่จะ ดำเนินการลงโทษผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น

ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อหลบภัย และผู้ย้ายถิ่น

รายงาน UPR ของรัฐบาลไทยไม่ให้ความสนใจอย่างชัดเจนกับกรณีที่มีการอ้างอิงใด ๆ ถึงการละเมิดหลักการที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้ ของการไม่บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย (the non-derogable principle of non-refoulement) การละเมิดเหล่านี้รวมถึงการบังคับให้ชาวม้งลาวจำนวนมากกว่า 4,600 คนกลับสู่ถิ่นฐานในประเทศลาวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยในจำนวนนี้ มี 158 คนมีสถานะเป็น “บุคคลในความห่วงใย”ของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ; การบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวพม่าหลายพันคนที่หลบหนีการปราบปรามทางทหารมา พักอาศัยในเขตพื้นที่แนวชายแดน ; และกรณีที่กองทัพเรือของไทยบังคับผลักดันชาวโรฮิงยาจากพม่าและบังคลาเทศให้ กลับออกไปในเขตน่านน้ำสากลโดยส่งลงเรือที่มีสภาพทรุดโทรม พร้อมจัดน้ำดื่มและอาหารให้เพียงเล็กน้อยเป็นเหตุให้มีการเสียชีวิต รัฐบาลชุดก่อนสัญญาว่าจะสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวแต่ยังไม่มีการ ดำเนินการใด ๆ

แรงงานย้ายถิ่นที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนวนนับล้านคนจากประเทศเพื่อน บ้านยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกละเมิดทางเพศ ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และถูกรีดไถ รายงาน UPR ของรัฐบาลได้ให้คำมั่นที่จะปฏิรูปกระบวนการ “พิสูจน์สัญชาติ”ให้มี “ความซับซ้อนและใช้เวลาน้อยลง และมีประสิทธิผลมากขึ้น” โดยรัฐบาลได้ยอมรับว่ากระบวนการจดทะเบียนแรงงานที่มีอยู่นั้นมีข้อบกพร่อง อย่างรุนแรง

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้นำหลักการไม่บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหา ที่พักพิง มาจัดทำเป็นนโยบายแห่งชาติ รัฐบาลไทยต้องเคารพบรรทัดฐานระหว่างประเทศและทำให้แน่ใจว่า UNHCR มีอิสระที่จะคัดเลือกและกำหนดสถานภาพของผู้แสวงหาที่พักพิง หรือผู้ลี้ภัยก่อนที่จะมีการตัดสินใจและดำเนินการส่งกลับถิ่นฐานเดิม รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกในการให้ความคุ้มครองทาง กฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง และผู้ย้ายถิ่น โดยออกกฎหมายที่เหมาะสมและปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 และพิธีสาร พ.ศ.2510 ที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพผู้ลี้ภัย และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานย้ายถิ่นและครอบครัว (พ.ศ.2533) ต้องมีกระบวนการสอบสวนที่น่าเชื่อถือและการลงโทษผู้กระทำผิดที่ทำการละเมิด สิทธิแรงงานย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย

การให้ความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนต่างๆ

เรามีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อความล่าช้าในการจัดส่งรายงานที่ผูกพัน ตามกติการะหว่างประเทศฉบับต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก เราขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เคารพต่อพันธกรณีโดยการจัดส่งรายงานที่เลยกำหนด มาแล้วโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และขอให้การส่งรายงานในอนาคตเป็นไปตามกำหนดเวลาด้วย ในการจัดทำรายงานเหล่านี้ รัฐบาลไทยควรต้องจัดการประชุมหารือกับองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมให้กว้าง ขวางและครอบคลุมทั่วประเทศและนำข้อมูลที่ได้มาบรรจุในรายงานของ รัฐบาลด้วย

เมื่อประเทศไทยส่งผู้แทนเข้าชิงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลไกต่าง ๆ ในองคาพยพของสหประชาชาติ แต่ในขณะนี้ ยังมีคำถาม 11 ข้อ ที่ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติรอคำตอบอยู่ ดังนั้น เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้นี้โดยตอบคำถาม เหล่านี้และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการอนุญาตให้ผู้รายงาน พิเศษสหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รายงานพิเศษฯ ต่อไปนี้

  •  ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของแรงงานย้ายถิ่น
  • ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการชุมนุมโดยสงบ
  • ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความ คิดเห็นและการแสดงออก
  • ผู้รายงานพิเศษด้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่ทารุณโหด ร้าย ไร้มนุษยธรรม
  • คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ
  • คณะทำงานว่าด้วยการบังคับให้บุคคลสูญหาย

 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยจำเป็นที่จะต้องก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องไปสู่ประชาธิปไตยที่เข้ม แข็ง มีการเคารพและยึดถือสิทธิมนุษยชนเป็นแกนหลักในการวางนโยบายเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ถ้อยคำเพียงอย่างเดียวไม่อาจปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ คำมั่นสัญญาเพียงอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดความแน่ใจในกระบวนการสมานฉันท์ แม้ว่ารายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศที่รัฐบาลจัดทำ นั้น ระบุรายละเอียดของกฎหมาย ข้อบังคับ แผนงาน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเหล่านี้ไม่ได้สะท้อน หรือประกันการปกป้องสิทธิมนุษยชน หากนำมาใช้อย่างไม่ถูกต้องและไม่ถูกตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจถึงผลกระทบที่ ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ เป็นเรื่องจำเป็นที่สุดที่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่จะทำให้ เกิดความแน่ใจและสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและ หลักนิติธรรม โดยการยุติการไม่ต้องถูกลงโทษทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ และทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างเสมอภาคโดยทันทีทันใด

ในวันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึงนี้ การนำเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน UPR ของรัฐบาลจะเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งของประเทศไทยในการอธิบายให้รายละเอียด เพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงคำมั่นสัญญา เพื่อที่จะบรรลุเป้าประสงค์เหล่านี้

ขอกราบขอบคุณ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่กรุณาให้ความสนใจรับฟังข้อเสนอแนะของเรา หากท่านต้องการรายละเอียดใดเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้เพิ่มเติม เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดเตรียมและให้คำปรึกษาหารือ

 

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง

 

Ms. Souhayr Belhassen
ประธานสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH)
 
นายแดนทอง บรีน
ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
 
สำเนาถึง :
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการการะทรวงยุติธรรม
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร
พลเอกธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา
ศาสตราจารย์ อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net