Skip to main content
sharethis

ว้า...สัปดาห์นี้ไม่มีเรื่องดราม่าเลย อุตส่าห์อดทนนั่งรอมาตั้งแต่วันจันทร์ นั่งๆ นอนๆ รอดราม่าให้บังเกิดเผื่อจะมีเรื่องให้เขียนบ้างก็ปรากฏว่ามีแต่เรื่องเดิมๆ ก็เลยหนีไปช้อปปิ้งเสียเลย ไหนๆ ครั้งก่อนก็เขียนเรื่องเสื้อผ้า แฟชั่น เทรนด์ ไปแล้ว ก็ขอตามติดเลยแล้วกัน พอดีว่าเพิ่งไปช้อปปิ้งกับผู้ชายมาค่ะ (ขออนุญาตเขียนเรื่องส่วนตัวนี้ดดด...นึง นะคะ...นะคะ) ไม่ใช่คนเดียวด้วย แต่ในสัปดาห์เดียวไปช้อปปิ้งกับผู้ชายมาถึง 2 คน !!! สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อนผู้ชายสมัยเรียนที่ตอนนี้ได้ดิบได้ดี ทำงานเป็นทนาย อุ๊ย! ไม่ใช่สิ ต้องบอกว่าที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานกฎหมายอินเต้อ...อินเตอร์ โทรมาขอความช่วยเหลือ เนื่องจากต้องซื้อชุดทำงาน ชุดลำลอง เพื่อไปประชุมงานที่ต่างประเทศ ดิฉันก็ดี๊ด๊า ได้ไปเป็น Personal Shopping แลกกับข้าวหนึ่งมื้อ มัน อุ๊ย! เขา มีงบประมาณอยู่จำนวนหนึ่ง (3 หมื่นบาท) เพื่อซื้อเสื้อผ้าสักสองสามชุด รองเท้าอีกหนึ่งคู่ โจทย์คือสามารถมิกซ์แอนด์แมทช์ได้ทั้งในแบบทางการและไม่ทางการ แต่ยังเป็น Smart Casual อยู่ ภาพตัดมาที่เซ็นทรัลชิดลมในวันนั้น.... “เอานี่ไปลอง...เดี๋ยวเดินตามไป” ดิฉันยื่นกางเกงชิโน (กางเกงชิโนคือกางเกงที่ทำจากผ้าทวิล เป็นคอตตอนชนิดหนึ่งที่ผสมอีกหลายๆ เส้นใยไม่ใช่คอตตอน 100 เปอร์เซ็นต์แล้วในปัจจุบัน เป็นกางเกงสแล็คประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่ผ้าโพลีเอสเตอร์ที่ทิ้งตัว ย้วยยาน เหมือนกางเกงสูทรุ่นพ่อ แต่ผ้ามันจะแข็งๆ หน่อย เกือบคล้ายกับผ้ายีนส์ หรือผ้าตัดสูท ส่วนมากที่เราเห็นจะเป็นผ้าสีกากี เหมือนผ้าชุดยูนิฟอร์มนายอำเภอประมาณนั้น ตอนนี้กำลังอินเทรนด์ เพราะเด็กๆ นำมาใส่โดยการสไตลลิ่งแบบ ‘พับขา’ เพราะถ้าเป็นสแล็คปกติจะพับขาไม่ได้ เนื้อผ้าไม่อำนวย ไม่สวย) ให้มันไปลองตัวหนึ่ง วันนั้นคุณจะเห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้าๆ ออกๆ ห้องลองผู้ชายเป็นที่ตกอกตกใจ เล่น นอกจากกางเกงชิโนที่ดิฉันให้มันไปลองแล้ว ดิฉันยังหยิบสแล็คเนื้อผ้าบางๆ สีเทาขาลีบเข้าไปอีกหนึ่งตัว “ไหนเปิดประตูออกมาให้ดูซิ” ผู้หญิงคนเดียวในห้องลองเสื้อผ้าผู้ชาย ขู่บังคับให้เพื่อนใส่กางเกงอออกมาให้ดู “มันรัดไข่อ่ะมึง” เพื่อนผู้ชายประท้วง แต่ก็ยอมเดินออกมาให้ดูโดยดี “ขามันเล็ก อึดอัดว่ะ ไม่เอาได้เปล่าวะ เอาแบบธรรมดาๆ ได้ป่ะ ไม่เอาแบบดูเป็นตุ๊ด” อ้อ...ลืมไป ดิฉันลืมอธิบายเพื่อนผู้ชายคนนี้ให้ฟัง เขาเป็นชายหนุ่มอายุอีกไม่กี่ปีก็สามสิบ สูง 180 กว่า หุ่น ‘จ้องจะอวบ’ ไม่เคยข้องแวะกับแฟชั่นนอกจากกางเกงยีนส์ (ขากระบอก ไม่ใส่สกินนี่แน่นอน) เสื้อคอโปโลของ La coste หรือ Polo คืออะไรที่เซฟที่สุดในวันสบายๆ ก่อนหน้านี้ใส่แสล็คขากางเกงตีกันผั่บๆ เวลาเดินไปไหนต่อไหน กับเสื้อเชิ้ตสีเรียบๆ คือขาว อย่างมากก็ฟ้าอ่อนๆ หรือเทา หรือมีลายทางเส้นเล็กๆ ได้นิดหน่อย วันไหนมันไม่ใส่เสื้อทีมบอลกับกางเกงยีนส์มากินข้าวด้วยก็บุญแล้ว...อย่างนั้นแหละ “ตุ๊ดตรงไหน ใครๆ เค้าก็ใส่กัน ไม่งั้นเค้าจะทำมาขายใคร แล้วมึงจะกลัวอะไร หน้าอย่างมึงไม่มีใครอยากให้เป็นตุ๊ดหรอก เสียภาพลักษณ์ตุ๊ดหมด” ดิฉันทำหน้าเพลียๆ เพราะนี่ไม่ใช่กางเกงตัวแรกที่ลอง แต่เป็นตัวที่เท่าไหร่ก็ไมรู้ การไปช้อปปิ้งให้เพื่อน ‘ผู้ชาย’ ไม่ใช่เรื่องสนุก และ ‘ไม่ง่าย’ เหมือนไปช้อปให้เพื่อนผู้หญิง เพราะแม้ใครๆ จะบอกว่าผู้ชาย ‘ไม่เรื่องมาก’ แต่จริงๆ แล้ว เขาก็จะมีกฎของเขาอยู่หลากหลาย สีนั้นไม่ได้ ทรงนี้ไม่ไหว แฟชั่นเกินไปก็ไม่ได้อีก ฯลฯ อย่างกางเกงที่ดิฉันให้มันลอง มันเป็นเพียงสแล็คขาลีบ ย้ำ ‘ลีบ’ ไม่ใช่เดฟ หรือสกินนี่แบบที่นักศึกษาชายสมัยนี้ดัดแปลงกางเกงนักศึกษาให้รัดจนกลายเป็นสกินนี่ไป แต่ถึงกระนั้น เพื่อนของดิฉันก็ยังประท้วงว่ามันดู ‘ตุ๊ด’ ไป หรือแม้กระทั่งคาร์ดิแกน เชิ้ตสีนำเงินโคบอลต์ กับเบลเซอร์สีเทา มันก็ยังบอกว่า ‘สุภาพ’ เอาเป็นว่าเดี๋ยวมาเล่าต่อ แต่ขอตัดภาพไปยังอีกวันที่ดิฉันไปช้อปปิ้งกับเพื่อนผู้ชายอีกคน ภาพตัดมาที่เซ็นทรัล เวิลด์...ในอีกวัน ทีแรกดิฉันคิดว่าน่าจะสนุกกว่าผู้ชายคนแรก เพราะผู้ชายคนนี้เป็น ‘เพื่อนสาว’ สูงร้อยเจ็ดสิบกว่า หุ่นลีนมีกล้าม อกกว้างเอวคอด ผิวพรรณไม่ต้องพูดถึง ดีกว่าดิฉันเสียอีก! งานนี้สนุกแน่ ใจก็คิดว่าเธอ อุ๊ย! เขาคงหาอะไรเนี้ยบๆ อย่างเช่นคัตติ้งเนี้ยบๆ แบบ Prada หรือ Dior Homme กับกางเกงชิโนแต่เข้ารูปกว่าขาเต่อนิดๆ เบลเซอร์ (เบลเซอร์คือแจ๊กเก็ตสูท ถ้าเราพูดถึงมันเดี่ยวๆ ไม่รวมเชิ้ต กางเกง เราจะเรียกว่า เบลเซอร์ Blazer) เนี้ยบๆ สักตัว รองเท้าหนังผูกสายหัวแหลมนิดๆ แต่ปราฏกว่า สิ่งที่มันเลือกคือกางเกงคาร์โก้ (คือกางเกงแบบพวกช่างใส่ ที่มีกระเป๋าด้านข้างเยอะๆ) ทรงขาแครอทตัวใหญ่กว่าตัวมันนิดๆ กับเชิ้ตแขนสั้นลายทางตัวโคร่ง และรองเท้าคอมแบ็ตบู๊ต !!! ครั้นจะเรียกให้มันดูอะไรที่เราคิดว่า เริ่ด! มันกลับเชิ่ดใส่ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้สัก 5-6 ปี มันก็ใส่อย่างที่เราเห็นว่าสวยเนี้ยบ สไตลิชสุดๆ !!! แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว (พร้อมกับเคราพอครึ้มๆ ที่เริ่มปลูกเริ่มไว้ได้ไม่นาน!) เล่ามาเสียยืดยาววว...เพื่อมาสู่ประเด็นที่ดิฉันได้อ่านมาจากเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่ง กับบทความ ‘กระแส Neosexual ,มาแรง! หนุ่มๆ จัดเต็มแอคเซสเซอรี่’ ที่พูดถึงเทรนด์ล่าสุดของผู้ชายที่เรียกว่า ‘Neosexual’ ในบทความชิ้นนั้นกล่าวว่าผู้ชายแบบ Neosexual คือผู้ชายที่ประโคม ‘เครื่องประดับเยอะๆ แตกยอดมาจาก Metrosexual ใส่ใจในตัวเอง ความหล่อ บุคลิกภาพ แบบพี่โดม ปกรณ์ ลัม อ่ะแฮ่ม...มีเรื่องต้องโต้แย้งอีกแล้ว Neosexual ซึ่งเป็นประเภทผู้ชายมาใหม่ (เดี๋ยวเราจะมาพูดถึงการมาของมันอีกที) นี้ ไม่ใช่ผู้ชายประเภท ‘ประโคมเครื่องประดับ’ แต่อย่างใด และมันไมได้แตกยอดมาจาก Metrosexual แต่อย่างใด ตรงกันข้าม กันคือการเหม็นเบื่อผู้ชายแบบ Metrosexual ต่างหาก Neosexual คือผู้ชายที่อยู่ตรงข้ามกับผู้ชายแบบโดม ปกรณ์ ลัม ที่ออกมาบอกวิธีเสริมหล่อสารพัดอย่างบนยูทูบ ทั้งการเซ็ตผม กินวิตามินร้อยแปดพันอย่าง (ผู้หญิงอย่างดิฉันยังอายที่แค่วิตามินซียังกินบ้างไม่กินบ้างเลย) เพื่อ ‘ความหล่อ’ หรือภาพลักษณ์ทางหน้าตา ร่างกาย รูปร่างที่ดูดี ซึ่งผู้ชายประเภทนี้ ที่หมกมุ่นอยู่กับความหล่อ ดูดี ทั้งหน้าตา ร่างกาย เสื้อผ้า หน้าผม ซึ่งเป็นลักษณะที่เราใช้เรียกผู้ชายประเภทนี้ว่า Metrosexual แต่ Neosexual นั้นคือผู้ชายที่ ‘แมน’ มากกว่านั้น ไม่ได้สนใจเรื่องความสวยความงาม ไม่ได้ใช้เวลาหน้ากระจกนานๆ คอยตรวจดูความหล่อของตัวเอง หรือยื้อแย่งกระปุกครีมทาหน้ากับผู้หญิง หรือสนใจในแฟชั่นพอๆ กับผู้หญิง กลับกัน Neosexual คือผู้ชายหล่อล่ำ ดูดิบเถื่อนในแบบฉบับผู้ชายแบบคาวบอย มีความเก่งกาจในการซ่อมนั่น ซ่อมนี่ ใช้แรงงาน และถ้าตีรันฟันแทงกับใครก็คงจะชนะ เพราะผู้ชายประเภทนี้จะล่ำบึ้ก (แต่ไมได้ล่ำแบบนายแบบนะ) เหมือนอย่าง Huge Jackman หรือผู้ชายอย่างเจมส์ บอนด์ ที่เก่งสารพัด นอกจากนี้ยังอธิบายไปถึงการเป็นพ่อบ้านที่ทำงานโน่นนั่นนี่ในบ้านได้ หรือความแมนๆ แบบ ‘กินเหล้าหัวราน้ำ’ แต่ยังเว้นไว้ว่ากินอย่างมีสติ แต่กินเก่งและไม่สกปรก ซกมก (แม้เคราจะรุงรังสักหน่อยก็ตาม) เฮ้อ! นี่ไม่อยากจะจับผิดนะคะ...เดี๋ยวคนจะหาว่าดิฉันดีแต่อ่านงานคนอื่นแล้วมานั่งจับผิด ทำไงได้ สายตามันไว๊...ไว แล้วสิ่งที่อ่านก็ดันผิดแบบกลับหัวกลับหางแบบให้อภัยไม่ได้ด้วย ทำการบ้านนิดนึงก็ดีนะคะ...อย่าสักแต่จะขายของ! เอาล่ะ เราเห็นคำสองคำที่ใช้จัดประเภทผู้ชาย ซึ่งก็คือ Metrosexual กับ Neosexual ไปแล้ว ที่จริงมันมีมากกว่านี้ โดยเรียงลำดับการมาก่อนหลังได้ดังนี้ Metrosexual คำนี้เกิดขึ้นในปี 2003 ที่จริงใช้อธิบายถึงผู้ชายที่มีองค์ประกอบอยู่ 2 อย่างคือ ใส่ใจในตัวเอง ทั้งด้านการดูแลตัวเอง ความหล่อ ความสวย สุขภาพ รูปร่าง หน้าตา รวมถึงเสื้อผ้าหน้าผม และผู้ชายประเภทนี้คือผู้ชายที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ (Metro) ที่ติดตามความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง ของสังคมตลอดเวลา ไม่ใช่เพียงเรื่องเทรนด์ของเสื้อผ้า แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยี แต่เอาไปเอามา Metrosexual กลายเป็นผู้ชายที่ใส่ใจแต่เรื่องความสวยงามของหน้าตา รูปร่างเครื่องแต่งกายเท่านั้น และมีการถกเถียงกันว่าเส้นแบ่งของ Metrosexual Men กับ Gay ต่างกันตรงไหน Ubersexual เป็นศัพท์ที่เกิดตามมาจากหนังสือเรื่อง ‘The Future Of Men’ เขียนโดย Salzman, Ira Matathia และ Ann O'Reilly คำว่า Uber นั้นมาจากภาษาเยอรมันซึ่งแปลว่า ‘super’ ในภาษาอังกฤษ ผู้ชายแบบ Ubersexual จะเรียกได้ว่าเป็นการ ‘ฉีก’ ออกจากกระแส Metrosexual ก็เป็นได้ เพราะผู้ชายแบบ Metrosexual นั้นถูกตั้งคำถามถึงความเป็น Feminine ที่มีอยู่ อันเป็นเส้นบางๆ ที่ทำให้ผู้ชายแบบ Metrosexual มาปะปนกับสเตอริโอไทป์ของเกย์ ซึ่งผู้ชายหลายๆ คนอาจจะรู้สึกอึดอัดมากพอสมควร โดย Ubersexual นั้น ไม่คำนึกถึงเทรนด์ที่ต้องวิ่งไล่ล่า แต่เขามีการครีเอทสไตล์ของตัวเองขึ้นมา มีความเนี้ยบแบบผู้ดี (ชาติตระกูลดี)และมีความ ‘แมน’ มากกว่า metrosexual และแทนที่จะเอาใจใส่แต่ตัวเอง พวกเขากลับคิดถึง ‘คนอื่น’ มากกว่า เช่นเรื่องของโลก สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม โดยผู้ชายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของ Ubersexual นี้ก็มีอย่างเช่น จอร์จ คลูนีย์ หรือโบโน่ แห่งวง U2 Retrosexual เหมือนว่า Ubersexual จะ ‘แมน’ ไม่พอ หรืออาจจะดูสูงส่งดัดจริตเกินไปก็ไม่รู้ (หรือว่าการสนใจในเรื่องการเมือง สิ่งแวดล้อม มันอาจจะหาช่องทางการตลาดได้ยาก) จึงเกิดการปะดิษฐ์ศัพท์ใหม่ แบบใหม่ของผู้ชายขึ้นมาหลังจากนั้น ซึ่งก็คือ Retrosexual คำว่า ‘Retro’ ก็บอกแล้วว่าย้อนยุค ผู้ชายแบบ retrosexual จึงเหทือนกับย้อนไปหารูปแบบผู้ชายแบบเก่า ที่แมนๆ มาเล้ย....คาบบุหรี่มาร์โบโร่ คาบไปป์ เป็นผู้นำ เสือผู้หญิง ชอบการผจญภัย ท่องเที่ยวแบบลุยๆ ไม่ใส่ใจเรื่องแฟชั่น การแต่งตัวอะไรทั้งนั้น แต่สนใจในตัวผู้หญิง ผู้ชายที่ถูกนำมาเป็นไอคอนของรูปแบบนี้คืออินเดียน่า โจนส์ หรือท่านเซอร์หนุ่มฮอลลีวู้ดยุคเก่าๆ ทั้งหลาย (ที่เอ่ยชื่อมาไม่อยจะรู้จักเลย) อย่าง บ๊อบบี้ มัวร์ ร็อด สจ๊วต Neosexual ก็อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้น ประการแรก ไม่ว่าจะเป็น Metrosexual, Ubersexual, Retrosexual หรือ Neosexual นั้นก็เป็นการสร้าง ‘คำ’ เพื่ออธิบายรูปแบบ ประเภทของผู้ชาย เพื่อสร้าง ‘เทรนด์’ ใหม่ๆ ในหมู่ผู้ชาย ซึ่งเป็นความต้องการที่อยากจะเพิ่มตลาดการบริโภคให้มากขึ้นนอกจากตลาดของผู้หญิง ผู้ชายจึงเป็นตลาดใหม่ที่ยังไม่ถูกกระตุ้นให้เกิดการบริโภคตามเทรนด์มากนัก กลุ่มคนที่มีกำลังบริโภคแต่ยังไม่ถูกกระตุ้นอย่างผู้ชายนี้จึงเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่บรรดาสินค้าทั้งหลายพยายามจะเจาะตลาด การสร้างเทรนด์ผู้ชายแบบต่างๆ ขึ้นมาก็เป็นเพียง ‘แผนการตลาด’ เพื่อให้บรรดาเจ้าของสินค้าต่างๆ ผลิตสินค้าที่อยู่ในขอบข่ายการบริโภคของรูปแบบของผู้ชายนั้นๆ ออกมาเพื่อให้ผู้ชายบริโภค ตามเทรนด์ หรือรูปแบบที่ตัวผู้ชายคนนั้นอยากเป็นหรือถูกกระตุ้นให้เป็น ซึ่งตัวอย่างของ Metrosexual ซึ่งเป็นรูปแบบที่โด่งดังที่สุดนั้นสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะบรรดาผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ ที่ผลิตออกมาให้ผู้ชายบริโภคมากขึ้นเพื่อ ‘ความดูดี’ แบบเมโทร ซึ่งถูกกระตุ้นผ่านการสร้างคำ สร้างรูปแบบ สร้างเทรนด์ ให้เห็นว่าผู้ชายในแบบ ‘ใหม่’ นั้นต้องหันมาใส่ใจตัวเอง ซึ่งรูปแบบผู้ชายใหม่ๆ ต่อจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น Ubersexual, Retrosexual หรือแม้กระทั่ง Neosexual นั้น อาจจะไปด้วยกันกับ ‘การบริโภค’ ไม่ค่อยดีนัก เราจึงไม่ค่อยได้ยินกลุ่มคำเหล่านี้มากนัก หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือมันเป็นแผนการตลาดที่ ‘ล้มเหลว’ ในการกระตุ้นให้เกิดการบริโภค โดยการสร้างกลุ่มคำเพื่อหารูปแบบให้กับผู้ชาย ซึ่งบางครั้งมันอาจจะไม่ได้มาในรูปแบบของคำแบบโต้งๆ อาจจะผ่านการสไตลิ่งเสื้อผ้าของพรีเซ็นเตอร์ของแบรนด์ที่ถูกเลือกมาในช่วงนั้นๆ บางช่วงอาจจะเป็นผู้ชายแบบเดวิด เบ็คแฮม บางช่วงอาจจะเป็นจอร์จ คลูนีย์ ซึ่งไม่ได้หมายความแค่ว่าช่วงไหนคนไหนดัง แต่ช่วงนั้นผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมุ่งเป้าไปที่เทรนด์ของผู้ชายแบบใด ความน่าสนใจของการสร้างเทรนด์ในกลุ่มผู้บริโภคชายนั้น ไม่เพียงแค่การสร้างกลุ่มคำ การเลือกพรีเซ็นเตอร์ หรือการแสวงหารูปแบบใหม่ๆ (ที่จริงๆ แล้วไม่มีอะไรใหม่เลย) คำใหม่ๆ มาปั่นกระแสเท่านั้น แต่ในปรากฏการณ์ทางการตลาดนี้มันมีความน่าสนใจในเรื่อง ‘เพศ’ ที่ซ้อนอยู่ด้วย จะเป็นว่า ไม่ว่าจะเป็น Ubersexual, Retrosexual หรือ Neosexual ซึ่งเป็นรูปแบบผู้ชายที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแผนการตลาดต่อจาก Metrosexual นั้นล้วนเป็นรูปแบบที่พยายามจะตีตัวออกห่าง หรือต่อต้านรูปแบบผู้ชายอย่าง Metrosexual แม้กระทั่งการพูดถึง หรือการอธิบายว่า Ubersexual, Retrosexual หรือ Neosexual คืออะไร ในบทความต่างๆ ก็จะนำ Metrosexual เป็นที่ตั้ง เพื่อเปรียบเทียบเทียบว่าต่างกันอย่างไร หรือแม้กระทั่งเสียดสี Metrosexual ด้วยซ้ำไป แน่นอนว่าการสร้างเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาทีหลังมันจำเป็นต้องอธิบายว่าแตกต่างจากอันเก่าอย่างไร แต่ในกรณีนี้เหมือน Metrosexual จะถูกนำมาเป็นข้อเปรียบเทียบอยู่อันเดียว (ไม่ค่อยเห็นมีการเปรียบเทียบกับอันเก่าตามไทม์ไลน์ อย่าง Neosexual เปรียบเทียบกับ Retrosexual หรือ Ubersexual เท่าไหร่เลย) Metrosexual ซึ่งเป็นการตลาดที่มาแรงที่สุดกว่ารูปแบบใดๆ ของผู้ชาย กลายเป็นความน่ากลัวน่ารังเกียจไปในบัดดล ภายใต้ ‘การบริโภค’ (และเป็นผู้บริโภคในอุตสาหกรรมการบริโภคของโลกใบนี้) เช่นเดียวกัน แต่การบริโภคแบบ Metrosexual (ที่เน้นไปที่การบำรุงบำเรอตัวเอง ภาพลักษณ์) กลับถูกโจมตี ว่าเป็นพวกบริโภคนิยม ห่วงแต่เรื่อง ‘เปลือกนอก’ รูปลักษณ์ เสื้อผ้า ในขณะที่ผู้ชายอย่าง Ubersexual, Retrosexual หรือ Neosexual ก็อาจบริโภคสิ่งเหล่านี้ไม่ต่างกัน (เช่นผู้ชายแบบ Ubersexual ที่อาจจะไว้เครานิดๆ แต่นั่นไมได้หมายความตั้งใจปล่อยให้รกเป็นธรรมชาติ แต่มันเป็นการตัดแต่งอย่างพิถิพิถันและดูแลทุกวันอย่างดีด้วยผลิตภัณฑ์ความงามเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับ Metrosexual ที่ทาครีมบำรุงก่อนนอนทุกวัน) แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับการเกรงกลัวว่าการบริโภคเช่นนั้นเป็นการบริโภคที่ ‘ไม่ใช่ผู้ชาย’ สิ่งที่ ‘Metrosexual’ ถูกโจมตีมากที่สุดเห็นจะเป็นภาพลักษณ์ที่ทำให้ผู้ชายไม่เป็นผู้ชาย Metrosexual กลายเป็นข้อสับสนระหว่างว่าอันไหน Metro อันไหน Gay และดูเหมือนว่าประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่ทำให้การกำหนดคำ กำหนดเทรนด์ขึ้นใหม่หลังจากที่ Metrosexual ถูกตั้งคำถามถึงรื่องเกย์ไม่เกย์ แมนไม่แมน นั้น ระมัดระวังเป็นพิศษ อย่าง Ubersexual ก็พยามเพิ่มความ ‘แมน’ ด้วยการปฏิเสธเทรนด์หลัก แต่หันมาครีเอทสไตล์ด้วยตัวเอง หรือการที่หันเหความสนใจของผู้ชายไปยังเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และที่ชัดเจนกว่านั้นคือ Retrosexual และ Neosexual ที่ตีตราไว้เลยว่าผู้ชายรูปแบบนี้ต้องแมน (ดังที่อธิบายไว้ เช่น ขี้มา หลีหญิง ซ่อมของในบ้านได้ ฯลฯ ซึ่งที่จริงดิฉันว่าเกย์สมัยนี้ก็ทำได้หมดเหมือนกัน) ผ้ชายจึงไมได้เกรงกลัวการถูกกำหนดรูปแบบเพื่อการบริภค หรือเกลียดกลัวการบริโภคในเชิง ‘บริโภคนิยม’ เหมือนที่ผู้หญิงได้รับคำกล่าวหา แต่เกรงกลัวการบริโภคในรูปแบบทีจะถูกเหมารวมไปว่าตัวเอง ไม่ใช่ผู้ชาย ไม่แมน การกำหนดเทรนด์ของผู้ชายใหม่ขึ้นมา นอกจากจะเป็นการสร้างแผนการตลาดใหม่ เพื่อขายสินค้าใหม่ หรือจุดอิ่มตัว จุดตกต่ำของเทรนด์เก่าที่ไปต่อไปไม่ได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่เพื่อนสาวของดิฉันเล็คเชอร์ให้ฟัง เป็นประเด็ท่น่าสนใจ ที่ได้มากการสังเกตสังกาล้วนๆ ก็คือ เทรนด์ของผู้ชายนั้นพยายามเขยิบหนีความเหลื่อมซ้อนระหว่างผู้ชายกับเกย์ ดังเช่น Metrosexual ที่เราเห็นได้อย่างชัดเจน แต่พอผู้ชายหันมาเป็น Ubersexual ก็จะเห็นว่าสักพักเกย์เองก็ปฏิเสธภาพลักษณ์แบบ Metrosexual หันมาเป็นผู้ชายแบบ Ubersexual เช่นเดียวกัน (ที่เห็นได้ชัดคือการเริ่มไว้หนวดไว้เครานิดดๆ ให้ดูเข้ม เปลี่บนจากรองเท้าหัวแหลมเปี๊ยบมาใส่ Onisuka Tiger กับกางเกงขาสั้น ไม่ต่างอะไรกับผู้ชาย Straight) ซึ่งที่จริงเราไม่อาจเคลมได้หรอกว่ารูปลักษณ์การแต่งกายแบบไหนเกย์ไม่เกย์ มันเป็นเรื่องของการสเตอริโอไทป์ (แต่ดิฉันเชื่อว่าถ้าไม่มีมูลหมามันไม่ขี้หรอก) และก็มักมีกรณียกเว้นแบบ Individual มากๆ (ซึ่งก็เป็นประเด็นเรื่อง Crisis of Representation ไป) แต่ที่น่าสังเกตต่อไปคิอ เมื่อผู้ชายรู้ว่าการกำหนดเทรนด์แบบเอารูปลักษณ์เข้าว่ามันทำให้เกิดความเหลื่อมซ้อนจนแยกไม่ออกว่าอันแบบไหนเกย์ แบบไหนผู้ชาย เทรนด์ที่กำหนดขึ้นใหม่จึงย้อนไปหาความเป็นผู้ชายแบบ (สเตอริโอไทป์) ดั้งเดิม ที่ไม่ได้ดูแค่รูปลักษณ์ภายนอก แต่ดูเรื่องอื่นๆ ที่สามารถใช้อ้างอิงความเป็นผู้ชายได้ อย่างเช่น เริ่มมีการอธิบายเรื่องพฤติกรรมต่อสุภาพสตรีมากขึ้นในเทรนด์ผู้ชายแบบ Retrosexual และ Neosexual หรือเริ่มมีการเพิ่มความสามารถแบบ ‘ผู้ชาย’ มากขึ้นเช่น Retrosexual ต้องเป็นนักผจญภัย เข้าป่าล่าสัตว์ Neosexual ต้องเป็นพวก Handy Man หยิบจับทำงานช่างได้ทั้งหมด (ซึ่งเหล่านี้เป้นสเตอริโอไทป์ของผู้ชาย ที่มักคิดว่าเกย์ทำไมได้ อย่างเกย์จะไม่แตะบอล อะไรประมาณนั้น อต่อย่างที่รู้ว่า เดี่ยวนี้ไม่มีอะไรต่างกันแล้ว) ทั้งหมดมันคือการหา ‘พื้นที่ที่ปลอดภัย’ พื้นที่ที่สามารถบ่งบอกความแตกต่างทางเพศได้อย่างชัดเจน ที่พอจะเป็นที่รับประกันทางใจได้ว่าจะไม่มีการปะปนจนถูกตั้งคำถามว่าอันไหนชายแท้ อันไหนเกย์ อย่างที่เทรนด์แบบ Metrosexual เคยทำไว้ และเมื่อไหร่ที่มันเกิดมีความเคลือบแคลงขึ้น (อย่างเกย์เริ่มไว้เครา เปลี่ยนจากรูปร่างอ้อนแอ้นมาเป็นตัวหนา ล่ำ เสื้อผ้าแบบแมนๆ ที่จริงเรื่อง ‘หุ่น’ พูดได้ต่ออีกหลายหน้าเชียว) เทรนด์ของผู้ชายก็จะเขยิบหนี โดยสร้างเงื่อนไขความเป็น ‘ชาย’ มากขึ้นไปอีก กันวงให้แคบที่สุด เพื่อความปลอดภัยในการดำรง ‘บุคลิก’ บางอย่าง (หรือ Essence บางอย่าง) ที่เป็นของสงวนไว้สำหรับเพศนี้เท่านั้น จึงไม่แปลกใจเพื่อนชายของดิฉันจะคอยแต่จะปฏิเสธสิ่งที่ดิฉันเลือก (ภายใต้ความคิดว่ามันดูเก๋ขึ้นมาหน่อย เป็นแฟชั่นขึ้นมาอีกนิด แต่เราคนนอกดูก็ไม่เห็นว่ามันจะเกย์ตรงไหน) ส่วนเพื่อนสาวก็เช่นเดียวกันที่เลือกของตรงข้ามกับที่ดิฉันคิดไว้ตลอด (ส่วนประเด็นเรื่องแล้วทำไมเกย์จึงเขยิบหนีจากภาพลักษณ์ที่ตัวเองถูกเสอตริโอไทป์ แล้วเขยิบตามให้ More Masculine มากที่สุดนั้น หรือเป็นเพราะว่าสังคมมันไม่ปลอดภัย ไว้มีเวลาค่อยมาว่ากันอีกที) สรุปว่าไปช้อปปิ้งกับเพื่อนผู้หญิงดีที่สุด แม้จะไม่ค่อยมีใครห้ามปรามใครก็ตามที !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net