Skip to main content
sharethis

“ปลัด ก.วัฒนธรรม”ชงนายกฯ แก้ปัญหาชาวเล เสนอ อบจ.5 จังหวัดอันดามันร่วมแก้ “NGOsมาเลย์” ลั่นหากรัฐไทยแก้ไม่ได้-ยกระดับสู่‘อาเซียน’ พร้อมนำเรื่องปรึกษารัฐบาล รีสอร์ทสร้างทับสุสานฝังศพ 15 แห่ง ส.ส.ภูเก็ตเสนอองค์กรท้องถิ่นลงขันซื้อที่ให้เช่า แนะรัฐควรออกโฉนดชุมชน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 25554 ที่หาดราไวย์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต คณะทำงานเครือข่ายชุมชนชาวเล เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน ร่วมกับองค์ภาคี จัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 2 โดยมีชาวเล ประกอบด้วยกลุ่มชาวมอแกน มอแกลน และอุรักลาโว้ย จาก 5 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน คือสตูล พังงา ระนอง กระบี่ ภูเก็ต อีกทั้งยังมีกลุ่มชาวไทยพลัดถิ่น ชาวบ้านจากเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เครือข่ายชุมชนสวนยางด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานประมาณ 1,500 คน นายสนิท แซ่ซิ่ว ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กล่าวรายงานว่า ปัจจุบันชุมชนชาวเล 5 จังหวัด จำนวน 41 ชุมชน 2,758 หลังคาเรือน 17,489 คน ประสบปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินกับทางภาครัฐจากการประกาศพื้นที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และนักธุรกิจเอกชนสร้างรีสอร์ท บ้านพัก ตอนนี้มีชาวบ้านถูกดำเนินคดี 663 คน และมีการออกเอกสารสิทธิ์ และสร้างอาคารสถานที่ทับสุสานฝังศพถึง 15 แห่ง เวลาประมาณ 14.00 น.มีเสวนาหัวข้อ ย้อนมอง 1 ปี มติครม.ชาวเล :ความจริงกับนโยบาย ดำเนินรายการโดยมีนางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยในวงเสวนาว่า ในวันที่ 29 กันยายน 2554 นี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมกระทรวงต่างๆ ตนจะเสนอให้นายกรัฐมนตี เห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิถุนายน 2553 จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล หรืออาจจะแต่งตั้งรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นประธานฯเพื่อให้มีการแก้ปัญหาของชาวเลอย่างจริงจัง จากเดิมที่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานฯ “นอกจากมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเลในระดับประเทศแล้ว ควรมีคณะกรรมการในระดับจังหวัด และคณะกรรมการในระดับท้องถิ่น ตนมีความเห็นว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะใหนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดของ 5 จังหวัดที่มีกลุ่มชาวเล ร่วมกันแก้ไขปัญหาร่วมกันจะได้หรือไม่ อย่างไร” นายสมชาย กล่าว นายเรวัต อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 2 จังหวัดภูเก็ต เสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันลงงบประมาณซื้อที่ดินที่เป็นของเอกชน ให้ชาวเลเช่า ส่วนที่ดินที่เป็นของรัฐให้ออกเป็นโฉนดชุมชน Ustaz Abdul Wahab B. Ahmad จากองค์กร Muhammadiyah International ซึ่งเป็นองค์กรเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของชาวเลจากมาเลเซีย และอินโดเนเซีย กล่าวในวงเสวนาว่า ถ้าหากว่ารัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับชาวเลไม่ได้ ตนจะนำเรื่องนี้ยกระดับผลักดันในระดับอาเซียน กลับไปตนจะนำปัญหาเกี่ยวกับชาวเลในประเทศไทยไปปรึกษากับทางรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องชาวเล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net