Skip to main content
sharethis

นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร หลังข้อเสนอถูกบิดเบือนจากสื่อและนักการเมืองตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา อัดกลับสื่อมวลชนที่บิดเบือนข้อเสนอถามตัวเองบ้างหรือเปล่าว่ากระทำต่อสังคมและประชาชนอยู่ใช่หรือไม่ 25 กันยายน 2554 ที่ห้อง LT 1. คณะนิติศาสตร์ มธ. นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์แถลงข่าวกรณีข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร หลังข้อเสนอในครั้งแรกถูกตอบโต้จากฝ่ายการเมืองตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางประชาชนที่สนใจรับฟังล้นหลาม โดยผู้จัดต้องขยายห้องสำหรับการติดตามฟังการแถลงข่าวเพิ่มอีก 1 ห้อง โดยถ่ายทอดผ่านกล้องวงจรปิด ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, สาวตรี สุขศรี, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ธีระ สุธีวรางกูร, ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ และ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล “เราไม่มีความสามารถทางอื่นเลย นอกจากสู้กันด้วยเหตุด้วยผลทางวิชาการ เรื่องสำนวนโวหารนั้นเราสู้ไม่ได้” จันทจิรา เอี่ยมมยุรา กล่าวเปิดการแถลงข่าว โดยกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนทุกแขนงที่มาทำข่าวการแถลงข้อเสนอทางวิชาการ 4 ประการของคณะนิติราษฎร์ และร่วมกันเสนอข่าวจนกว้างขวางต่อสาธารณชน และขอบคุณที่รับคำเชิญของคณะนิติราษฎร์มาทำข่าวข้อถกแถลงเพิ่มเติม เกี่ยวกับข้อเสนอทางวิชาการ 4 ประเด็น และหวังว่าจะนำเสนอข่าวอยางครบถ้วนทุกประเด็น จันทจิรากล่าวว่าเมื่อข้อเสนอของนิติราษฎร์ออกสู่สาธารณชน ก็มีคนสนใจอย่างกว้างขวาง ได้รับกำลังใจและข้อเสนอแนะมากมาย แต่ก็พบว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์มีผู้ที่ยังสงสัย ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และส่วนหนึ่งก็เป็นไปในทิศทางการนำเสนอด้วยภาพลบอย่างยิ่ง ทำนองว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์จะทำให้เกิดกลียุคในบ้านเมือง ระส่ำระสายวุ่นวาย นองเลือด จึงเห็นว่าจำเป็นต้องมาถกแถลงอีกครั้ง “ถ้าท่านเป็นสุจริตชนที่อ่านข้อเสนอแนะของเราอย่างละเอียดพอสมควร และถ้ามีใจเป็นกลางไม่มีอคติไม่มีประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับรัฐประหาร ก็จะเห็นว่าข้อเสนอเป็นการผ่าทางตันและข้อขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ด้วยการเสนอว่าเราไม่ยอมรับผลพวงของรัฐประหาร มุ่งหมายให้เปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติ ไม่เสียเลือดเนื้อต่อไป ด้วยการเสนอให้ทำประชามติ เพื่อให้ไทยพ้นจากวังวนของรัฐประหาร ด้วยการไม่ยอมรับการนิรโทษกรรมจากการรัฐประหาร และเป็นการเสนอโดยไม่มองหน้าคน แต่ให้ทุกคนที่ถูกกล่าวหาได้เข้าสู่กระบวนการการพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการตามปกติ” วรเจตน์ ภาคีรัตน์ “ฝ่ายที่ทำให้ข้อเสนอของนิติราษฎร์ดูไม่มีความหมายไม่มีคุณค่า เพราะเขากลัวอำนาจประชาชน” วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อธิบายรายละเอียดของข้อเสนอแนะ “หลังจากที่เราได้ออกแถลงการณ์ไปเมื่อหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมก็ไม่คิดว่าเราต้องมาอธิบายขยายความเพิ่มเติม” อย่างไรก็ตาม เขาเริ่มอธิบายความเกี่ยวกับข้อเสนอของนิติราษฎร์ว่า เขารู้ดีว่าการเสนอประเด็นนี้จะมีความสั่นสะเทือนสังคมอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ไม่คาดคิดว่าจะส่งผลต่อเนื่องหลายวงการ โดยครั้งนี้เขาได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 2 มีใจความโดยย่อว่า หนึ่ง ในแถลงการณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร มีข้อเสนอ 4 ประเด็น คือการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร แต่ปรากฏว่าสื่อมวลชนทั่วไปกลับมุ่งไปที่การล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหาร และพบว่าสื่อมวลชนเข้าใจคลาดเคลื่อนทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา สอง ข้อเสนอไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรม อภัยโทษ หรือล้างมลทินของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็ทำได้ตามปกติ จึงไม่ควรมีบุคคลใดไปกล่าวอ้างว่า นิติราษฎร์เสนอให้ล้างความผิดผู้ที่ถูกกล่าวหา สาม เหตุที่ให้ล้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะได้นำเอาประกาศ คปค. มาใช้บังคับคดี จึงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นผลจากการรัฐประหาร 19 กันยายน สี่ ยืนยันว่าผลพวงจากรัฐประหาร 19 กันยายนต้องลบล้าง แต่ผลพวงของรัฐประหารต้องกระทำโดยคำนึงบุคคลผู้สุจริตด้วย และไม่ได้เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2549 และรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ให้ล้าง เฉพาะ 36-37 ในรัฐธรรมนูญ 2549 เพราะเป็นการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร ห้า การลบล้างผลพวงจากการรัฐประหารทำได้ตามกฎหมายดังที่ปรากฏในนานาอารยประเทศ เช่น การประกาศความเสียเปล่าของนาซี ระบอบวิชี่ ฝรั่งเศส เป็นต้น หก ต่อข้อสงสัยว่า เหตุใดคณะนิติราษฎร์จึงให้ลบล้างผลพวงเฉพาะรัฐประหาร 19 กันยายน ขอชี้แจงว่า นิติราษฎร์ปฏิเสธการรัฐประหารทุกครั้ง แต่ที่ให้ล้างผลพวงของ 19 กันยายน เพราะผลพวงยังดำรงอยู่และเป็นต้นตอของความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทยขณะนี้ เจ็ด ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์มีความชอบธรรมในการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร “นิติราษฎร์ยืนยันที่จะปกป้องหลักการทั้งหลายอย่างสุดกำลังด้วยความบริสุทธิ์ใจ” วรเจตน์กล่าวย้ำ และอธิบายขยายความเพิ่มเติมว่า ที่ปรากฏในสื่อว่า นิติราษฎร์จะล้างความผิดให้ทักษิณ ชินวัตร และเป็นไปเพื่อช่วยคนเพียงคนเดียว เป็นความพยายามบิดเบือนแถลงการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าละอายและไม่พึงกระทำ “ในแถลงการณ์ของเรานั้นชัดเจนว่า ไม่ใช่การนิรโทษกรรม ไม่ใช่การล้างมลทิน แม้แต่พูดอย่างนี้สื่อบางสำนักก็ยังบอกว่าเป็นการล้างความผิด ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่เสนอให้ตรงไปตรงมาในเบื้องต้นก่อน ไม่ควรบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้สังคมเข้าใจผิด อาจะเป็นไปได้ว่า ข้อเสนอครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองระบอบประชาธิปไตย 2475 ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน สื่อจึงไม่สามารถเสนอตามความเป็นจริง และเหตุผลของเรามีน้ำหนักมากจนกระทั่งการเสนอข่าวตามความเป็นจริงจะทำให้สังคมคล้อยตามพวกเรา” “เหตุผลที่ต้องลบล้างคำวินิจฉัยนั้น ถ้าเราปฏิเสธการรัฐประหารต้องปฏิเสธผลของรัฐประหารนั้นด้วย และการที่เราประกาศลบล้างคือการไม่เคารพอำนาจศาลหรือไม่ ผมเรียนว่า ศาลจะขุ่นเคืองใจหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้พิพากษาท่านนั้นเป็นคนอย่างไร ถ้าผู้พิพากษาท่านนั้นมีจิตใจฝักใฝ่เผด็จการรับเผด็จการทหาร เขาย่อมขุ่นเคืองใจ แต่ถ้าเกิดผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งมีจิตใจฝักใฝ่ประชาธิปไตย และสถานการณ์ขณะรัฐประหารทำให้เขาไม่สามารถทำอะไรเป็นอย่างอื่นได้นอกจากต้องตัดสินไปตามคำสั่งนั้น ผู้พิพากษานั้นต้องขอบใจกลุ่มนิติราษฎร์ เพราะสิ่งที่เราทำอยู่คือการช่วยศาล ดังนั้นข้อเสนอกระทบศาลหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปว่า ผู้พิพากษานั้นมีจิตใจอย่างไร และขอความกรุณาสื่อว่า เวลาไปเสนอข่าวช่วยเสนอให้ตรงความจริงหน่อย อย่าบอกว่านี่คือการล้างความผิด เพราะกระบวนการต่างๆ นั้นสามารถเริ่มต้นใหม่ เป็นการพิสูจน์บนกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการลงโทษผู้ที่กระทำรัฐประหารซึ่งเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ไม่พูดถึง ทั้งๆ ที่มีการพูดแล้วในการแถลงข่าวครั้งที่แล้ว ข้อเสนอของเรามีข้อเสนอที่น่าสนใจคือ การเสนอให้ลบล้างมาตรา 36-37 ของรัฐธรรมนูญ 2549 เพราะเป็นบทบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหารซึ่งประเทศไทยมักมีการนิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหารทุกครั้ง และนวัตกรรมการรับรองรัฐประหารในสังคมไทยนั้น ได้สร้างให้เกิดการพัฒนาการเขียนกฎหมายสนับสนุนรัฐประหารซึ่งพัฒนาสูงสุดถึงขั้นรับรองการนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการดำเนินคดีกับคณะรัฐประหาร ถ้าประชาชนออกเสียงประชามติในรัฐธรรมนูญที่จะสถาปนาขึ้นใหม่ อำนาจนั้นสูงสุดพอที่จะประกาศได้ว่า นิรโทษกรรมนั้นเสียเปล่าได้ เท่ากับไม่เคยมีการนิรโทษกรรม และให้บุคคลที่ทำรัฐประหารต้องถูกลงโทษ “ผมพอจะทราบว่า ทำไมสื่อมวลชนไม่เสนอประเด็นนี้ หลังจากมีการแถลงข่าวแล้ว มีทนายความท่านหนึ่งซึ่งเป็นทนายความของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร มาพบผม นำเอกสารให้ผมชุดหนึ่ง เอกสารนี้เป็นคำฟ้องและคำพิพากษาเนื่องจาก ร.ต. ฉลาด ฟ้องคณะรัฐประหาร คตส. ครม. และบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติรวม 308 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นกบฏ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของคณะรัฐประหารนั้น แม้จะเป็นความผิดก็ถูกนิรโทษกรรมไปแล้วโดยบทบัญญัติมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญ 2549 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษผู้กระทำการรัฐประหาร ซึ่งศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า การกระทำดังกล่าวนั้น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ถูกใช้ ไม่ว่ากระทำฯ นั้นแม้ผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 308 คนหากเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2540 หรือผิดกฎหมายอาญามาตราใดก็ให้พ้นความผิดโดยสิ้นเชิง จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น” “มาตรา 37 เป็นกล่องดวงใจของคณะรัฐประหาร ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นั้นเป็นการทำลายกล่องดวงใจของคณะรัฐประหาร จึงเป็นที่เข้าใจว่า ทำไมข้อเสนอของเราจึงถูกทำให้กลายเป็นการช่วยคนๆ เดียวให้พ้นผิด” “มีคนบอกว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นข้อเสนอที่สุดโต่ง ผมเป็นบุคคลอันตราย และผมเป็นบุคคลอันตรายแน่ต่อคนที่ทำรัฐประหาร จริงๆ แล้วเราลบล้างประกาศ คปค. ตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 เราไม่ได้ลบล้างรัฐธรรมนูญ 2549 หรือ รัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย แปลว่า ถ้าเขาไม่เข้าใจเพียงพอ เขาก็อาจจะแกล้งไม่เข้าใจ เพราะรัฐธรรมนูญ 2549 เราก็ไม่ได้เสนอให้ลบทั้งหมด เราลบเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับผู้ทำรัฐประหาร เพราะถ้าลบทั้งหมดจะเกิดความวุ่นวายทางกฎหมายที่ตามมา เพราะรัฐบาลได้ทำกิจกรรมทางกฎหมายมากมาย เราเห็นประเด็นนี้ เราจึงไม่เสนอให้ลบทั้งหมด แต่เมื่อมีคนถามอีกว่า ถ้าเกิดลบล้างประกาศ คปค. ก็เท่ากับรัฐธรรมนูญ 40 ถูกใช้บังคับเรื่อยมา เราก็ถือว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ใช้มาจนสิ้นสุดไปเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 “มีคนลบล้างรัฐธรรมนูญ แล้วคุณบอกว่าไม่ผิด แล้วตัวกฎหมายก็ไม่มีผลบังคับใช้อย่างนั้นหรือ ผมเรียนว่า เราได้ไตร่ตรองข้อเสนอนี้แล้วอย่างรอบคอบ และมีการกระทำกันแล้วในต่างประเทศ แต่จะเป็นของใหม่มากๆ ในระบบกฎหมายของไทย ซึ่งถ้ามันทำได้สำเร็จ ผมเชื่อว่าการทำรัฐประหารจะเกิดขึ้นได้ยากมากหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย” “ข้อเสนอนี้ไม่ใช่เพียงการต่อสู้ทางความคิดระหว่างฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยกับฝ่ายชื่นชมเผด็จการ แต่เป็นการต่อสู้อย่างแหลมคมทางความคิดของบรรดานักกฎหมายด้วยกันด้วย ยังไม่มีนักกฎหมายแม้แต่คนเดียวออกมาบอกว่า ข้อเสนอของเราทำไม่ได้ ผมเรียนว่า ถ้าเกิดนักกฎหมายคนไหนเห็นว่าข้อเสนอของเราทำไม่ได้ ให้ออกมาบอกด้วยว่าทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันทำได้ ถ้าจะทำ” “ปกติแล้วเวลาที่เกิดการรัฐประหารสำเร็จ ก็จะมีการเรียกบรรดานักกฎหมายเข้าไป ซึ่งมีความช่ำชองในการร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และอบรมฝังลึกกันมาว่า เมื่อมีการรัฐประหารแล้วเขาก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เขาก็จะปฏิบัติตามอย่างเชื่องๆ และมีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานเป็นลำดับ และวงการกฎหมายไทยก็ยอมรับความคิดแบบนี้ เราขังตัวเองอยู่ในกรอบในกรงของความคิดแบบนี้ คณะนิติราษฎร์เปิดกรงนี้ออกไปเพื่อบอกว่า เราควรจะเป็นอิสระจากความคิดแบบนั้นได้แล้ว\ “ถ้าคุณสามารถเขียน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมได้ นักกฎหมายอย่างเราก็สามารถที่จะคิดค้นการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่และประกาศลบล้าง ความเสียเปล่าของการนิรโทษกรรมได้ จริงๆ แล้วข้อเสนอเรื่องนี้มันชัดเจนในตัวเอง แต่รายละเอียดปลีกย่อยอาจจะต้องมาพูดคุยกันว่า จะมีเรื่องอะไรที่ต้องลบล้างอีก แต่หลักการต้องทำแบบนี้ เพื่อให้เห็นว่าในที่สุดแล้วเมื่อคุณทำรัฐประหารสำเร็จ วันหนึ่งเมื่ออำนาจคืนสู่เจ้าของอำนาจตัวจริงคือประชาชนแล้ว เขาก็อาจตัดสินใจเอาโทษคุณได้” ประเด็นสุดท้าย คือ ทำไมข้อเสนอของนิติราษฏร์จึงถูกมุ่งไปที่คดีของทักษิณ กลายการเป็นชวนทะเลาะ “เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะฝ่ายที่ทำให้ข้อเสนอของนิติราษฎร์ดูไม่มีความหมายไม่มีคุณค่า เพราะเขากลัวอำนาจประชาชน เขากลัวว่า หากวันหนึ่งข้อเสนอนี้ถูกผลักดันให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา และประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เห็นด้วยกับพวกเรา เขาจะไม่มีที่ยืน มีคนบอกว่า ข้อเสนอของเราไม่ต่างกับเผด็จการที่ได้อำนาจแล้วออกกฎหมายตามใจชอบ เขากล่าวว่ามันต่างกันมากราวสวรรค์กับนรก เพราะคณะนิติราษฎร์ไม่มีอำนาจอะไรที่จะล้มล้างอำนาจรัฐประหาร เราสอนหนังสือ มีแค่กำลังความคิดและกำลังสติปัญญา แต่ข้อเสนอของเรา ถ้ามันเป็นไปได้ ก็จะถูกเอาไปให้ประชาชนตัดสินใจ ใครก็ตามที่เคารพประชาชนจริงต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน และอำนาจประชาชนเป็นอำนาจที่สูงสุดแล้วของระบอบประชาธิปไตยและชอบธรรมเต็มเปี่ยม อย่าได้พึงเอาอำนาจของประชาชนไปเปรียบเทียบกับอำนาจของคณะรัฐประหารเด็ดขาด” “ถ้าท่านเข้าใจไม่ชัด ผมจะอธิบายจนกว่าจะสิ้นลม จนกว่าท่านจะเข้าใจ คนเราถ้าไม่รู้ต้องถาม อย่าไปคิดเอาเอง อย่าไปตีความบิดเบือน” วรเจตน์กล่าวในที่สุด ปิยบุตร แสงกนกกุล \"พวกที่ไม่ได้อ่าน แต่ด่าไว้ก่อน แล้วเอาแถลงการณ์ไปบิดเบือนให้เข้าใจผิด สื่อแบบนี้ผมเห็นว่าค่อนข้างเลวนะครับ\" ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่า เขาสำรวจพบว่า หลังนิติราษฎร์แถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา มีคนพูดประเด็นกฎหมายและหลักการน้อยมาก แต่ถูกบิดเบือนเป็นเรื่องการช่วยทักษิณเป็นส่วนใหญ่ มีนักวิชาการที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐและไทยโพสต์ ข้อหนึ่งคือการยืนยันว่า “โมฆะ” ไม่มีในทางกฎหมายมหาชน แต่ปิยบุตรยืนยันว่า “มี” เพียงแต่ไม่เรียกว่า โมฆะ แต่ที่จริงผลไม่ต่างกัน “ถ้าเปิดรัฐธรรมนูญดูจะเห็นชัดว่า การตรา พ.ร.ก. ที่มีเหตุในการตราได้ เช่น ความปลอดภัยของสาธารณะ เป็นต้น และศาลรัฐธรรมนูญ จะตรวจดูว่า เหตุนั้นครบถ้วนไหม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ครบองค์ประกอบ ก็ถือว่าเป็นโมฆะ ในทางกฎหมายปกครอง คำสั่งทางปกครองก็มีการประกาศความเสียเปล่า เพราะให้ถือว่าไม่มีมาแต่ต้น” ปิยบุตรยกตัวอย่างประเทศต่างๆ ที่มีกระบวนการทางกฎหมายในลักษณะเช่นนี้มาแล้ว (อ่านเพิ่มเติมที่นิติราษฎร์) “ผมยืนยันว่า สิ่งที่เรากำลังจะทำเป็นสิ่งที่ประเทศอื่นทำมาแล้ว และทำด้วยวิธีแตกต่างไป” โดยเขายกตัวอย่างบางประเทศที่น่าสนใจ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ปี 2003 รัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์ ตรา พ.ร.บ. เพิกถอนคำพิพากษาของศาลที่ลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากนาซี ให้ประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาเหล่านั้นทั้งหมดและตั้งคณะกรรมการเยียวยาขึ้นมาชุดหนึ่ง ประเทศกรีซ รัฐธรรมนูญ 1952 มีกษัตริย์เป็นประมุข ปี 1967 มีการรัฐประหาร และปกครองมาได้สักพักก็ไปไม่รอดสุดท้ายปี 1974 ก็เอานายคารามาริส มาตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และประชาชนหวังมากว่าเขาจะนำพาประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตย สิ่งแรกที่รัฐบาลนี้ทำคือ การประกาศฟื้นฟูความชอบด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย ประกาศความเสียเปล่าของกฎหมายจากการรัฐประหาร และใช้รัฐธรรมนูญ 1952 โดยเว้นหมวดกษัตริย์ไว้ก่อน แล้วให้ประชาชนลงมติว่า จะเป็นสาธารณรัฐหรือจะมีกษัตริย์เป็นประมุข ประเทศสเปน หลังนายพลฟรังโกออกจากอำนาจแล้ว ก็เข้าสู่ประชาธิปไตย แต่รัฐสภาสเปนพยายามปรองดองและนิรโทษกรรมให้นายพลฟรังโกไป แต่มีกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายบางส่วน รวมทั้งเครือญาติผู้ได้รับผลกระทบจากสมัยฟรังโก มีความพยายามผลักดันกันในระดับสภา เพื่อลบล้างผลพวงของระบอบฟรังโก้ และแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากระบอบฟรังโก้ ประเทศตุรกี หลังเคมาลอาตาเติร์ก เปลี่ยนแปลงตุรกีให้เป็นรัฐสมัยใหม่ แต่ความเป็นประชาธิปไตยยังไม่เกิดเต็มที่ เกิดรัฐประหารบ่อยครั้ง กระทั่งครั้งสุดท้ายคือ 12 ก.ย. 1980 มีการรัฐประหารและคณะทหารปกครองประเทศเรื่อยมา มีรัฐธรรมนูญ 1982 ระหว่างนี้มีคนตายประมาณ 5

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net