Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อเสนอที่ว่านี้หมายถึง ข้อเสนอทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร และ 1 ปีกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งกลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจ (อย่างบิดเบือน) ในพื้นที่ข่าว จนต้องมีงานแถลงข่าว การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ (เพื่องานแถลงข่าว) เพื่อชี้แจงเพิ่มเติมอีกครั้งในอีก 7 วันให้หลัง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม http://prachatai3.info/journal/2011/09/37069 ส่วน “เรา” ในที่นี้หมายถึง “เรา” ทุกคนที่เป็นเจ้าของประเทศนี้ร่วมกัน ทำมาหากินในสังคมนี้ร่วมกัน สร้างครอบครัวมีลูกหลานที่จะต้องเติบโตในประเทศนี้ต่อไป เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของ “ระบบ” และ “หลักการ” ที่มันจะอยู่กับสังคมไทยไปอีกนานเมื่อพวกเราจากโลกนี้ไปแล้ว ก่อนอื่น ต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่นักกฏหมาย ไม่เคยเรียนกฏหมาย ไม่มีความรู้ใดๆเกี่ยวกับกฏหมายทั้งนั้น แต่ผมเชื่อว่าไม่มีความรู้ใดๆในโลกนี้ที่ลอยลงมาจากสะเก็ดดาวหาง ความรู้ทุกอย่างมันต้องยึดโยงกับความเป็นจริงและปัญหาของสังคมมนุษย์ทั้งนั้น อุปมาเหมือนเราขับรถสักคัน เราก็ต้องรู้ว่ารถคันนั้นดีเลวแค่ไหน สมรรถภาพเป็นอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องเป็นช่างเครื่องหรือจบวิศวกรรมศาสตร์ยานยนต์มาโดยตรง ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดว่าถึงแม้ “เรา” จะไม่ใช่นักกฏหมาย แต่เราก็สนใจเรื่องราวเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องไปห่วงกังวลประเด็นทางเทคนิค เรื่องทางเทคนิคก็ปล่อยให้ช่างเทคนิคเขาจัดการถกเถียงหาข้อสรุปกันไป แต่สิ่งที่เราต้องสนใจคือหลักการ เหตุผล และประเด็นสำคัญของเรื่องนั้นๆมากกว่า เพราะ “เรา” คือเจ้าของประเทศร่วมกัน ในทางกลับกัน “คุณ” อาจไม่ต้องสนใจเรื่องเหล่านี้ หากคุณมั่นใจว่าลูกหลานของคุณสามารถมีอำนาจปืนได้แน่ๆ หรือมั่นใจว่าจะมีเงินมากพอที่จะเอาไปซื้ออำนาจปืน หรือไม่ก็มั่นใจว่าลูกหลานจะมีชาติกำเนิดที่ดีพอ จนไม่ต้องสนใจระบบการปกครองที่ “เป็นสากล เป็นอารยะ” อย่างระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่า “เรา” จำเป็นต้องสนใจ ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ข้างต้นให้มาก สนใจแปลว่ารับฟัง ขบคิด ฝึกใช้เหตุใช้ผล สนใจอาจไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยไปเสียทุกเรื่อง หรือเชื่อถือไปหมดทุกรายละเอียด แต่อย่างน้อยต้องเปิดใจให้สิ่งใหม่ เปิดพื้นที่ให้ข้อถกเถียงเกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ ทำไม ? 1. ข้อเสนอนี้เป็นการขีดเส้นให้ชัดเลยว่าคุณจะเลือก ประชาธิปไตย หรือ ระบอบรัฐประหาร ไม่ว่าคุณจะชอบหรือเกลียด ทักษิณ ชินวัตร มันไม่เกี่ยวกับ “แก่น” ของสิ่งที่นิติราษฏร์นำเสนอ เรื่องนี้มันไปไกลกว่านั้นมาก แก่นของมันอยู่ที่การปฏิเสธ “อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ” ทั้งหมด ซึ่งนำมาสู่การใช้อำนาจดิบก่อรัฐประหาร ล้มรัฐธรรมนูญ แล้วกระบวนการยุติธรรมก็รับไม้ต่อๆกันมา โดยไม่ตั้งคำถามถึงความชอบธรรม เป็นแบบนี้มาแล้วหลายสิบปี เรื่องราวแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคตุลาการภิวัฒน์ แต่มันเกิดขึ้นมานานแล้วในแวดวงกฏหมาย มีการสร้าง “นวัตกรรมทางกฏหมาย” มายาวนาน จนเสมือนว่าเป็น “ธรรมเนียม” ของนักกฏหมายไทยไปแล้วที่จะต้องยอมรับอำนาจจากการรัฐประหาร (คำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ยอมรับคณะรัฐประหารว่าเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจออกกฎหมายอะไรก็ได้ตามใจชอบ) “ปกติแล้วเวลาที่เกิดการรัฐประหารสำเร็จ ก็จะมีการเรียกบรรดานักกฎหมายเข้าไปซึ่งมีความช่ำชองในการร่างพรบ. นิรโทษกรรม และอบรมฝังลึกกันมาว่าเมื่อมีการรัฐประหารแล้วเขาก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เขาก็จะปฏิบัติตามอย่างเชื่องๆ และมีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานเป็นลำดับและวงการกฎหมายไทยก็ยอมรับความคิดแบบนี้ เราขังตัวเองอยู่ในกรอบในกรงของความคิดแบบนี้คณะนิติราษฎร์เปิดกรงนี้ออกไปเพื่อบอกว่าเราควรจะเป็นอิสระจากความคิดแบบนั้นได้แล้ว” “มีทนายความท่านหนึ่งซึ่งเป็นทนายความของ รต. ฉลาด วรฉัตร มาพบผม นำเอกสารให้ผมชุดหนึ่งเอกสารนี้เป็นคำฟ้องและคำพิพากษาเนื่องจาก รต. ฉลาด ฟ้องคณะรัฐประหาร คตส. ครม. และบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติรวม 308 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นกบฏ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของคณะรัฐประหารนั้นแม้จะเป็นความผิดก็ถูกนิรโทษกรรมไปแล้วโดยบทบัญญัติมาตรา 37 ของ รธน. 2549 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษผู้กระทำการรัฐประหาร ซึ่งศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า การกระทำดังกล่าวนั้น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ถูกใช้ ไม่ว่ากระทำฯ นั้นแม้ผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสินเชิง ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 308 คนหากเป็นการขัดหรือแย้งกับ รธน. 2540 หรือผิดกฎหมายอาญามาตราใดก็ให้พ้นความผิดโดยสิ้นเชิง จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น” วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ้างอิง : http://prachatai3.info/journal/2011/09/37069 โปรดสังเกตคีย์เวิร์ดของคำวินิฉัยข้างต้นว่า “การกระทำของคณะรัฐประหารนั้นแม้จะเป็นความผิดก็ถูกนิรโทษกรรมไปแล้ว” ดังนั้นสิ่งที่นิติราษฎร์นำเสนอจึงเป็นการยิงคำถามไปที่ “แก่น” ของอำนาจสูงสุดของประเทศ นั่นคือหากเราเชื่อว่าอำนาจสูงสุดมาจากประชาชน ไม่ใช่มาจากการยึดอำนาจของใครก็ตามที่ถือปืนอยู่ในมือ เราก็ต้องยินดีที่จะลบล้างผลพวงของการทำรัฐประหาร สิ่งนี้อาจนับได้ว่าเป็น “นวัตกรรมใหม่” ทางกฏหมายไทย ซึ่งหากเราอยากให้ลูกหลานของเราเติบโตมาในประเทศประชาธิปไตยก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับฟัง ส่วนจะถกเถียงปรับแก้รายละเอียดกันต่อไปอย่างไรก็ว่ากัน เว้นเสียแต่คุณจะรู้สึก “โอเค” กับการอยู่ในประเทศที่ปกครองกันด้วยกองทัพและรัฐประหาร 2. ข้อเสนอนี้ไม่ใช่แค่หลักการแต่มี “วิธีการ” ทางเทคนิคอยู่ด้วย นอกจากหลักการประชาธิปไตยแล้ว สิ่งที่นิติราษฏร์นำเสนอยังมี “วิธีปฏิบัติ” ในทางเทคนิคกฏหมายประกอบอยู่ด้วย พวกเขาไม่ใช่นักวิชาการที่กล่าวลอยๆผ่านสื่อไปวันๆ แต่เป็นนักวิชาการที่ทำการบ้านเป็นอย่างดี อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าผมไม่ใช่นักกฏหมาย ผมไม่อาจให้ความเห็นใดๆในเชิง “เทคนิค” ได้ สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือแนวทางที่นิติราษฏร์เสนอนั้นอาจเป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลก มีหลายประเทศที่เคยใช้แนวทาง “ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร” แบบนี้มาแล้ว (พูดภาษาชาวบ้านคือเป็นสินค้าที่มี Site Reference) นอกจากนั้น จนถึงวันนี้ (25 กันยายน 2554) ยังไม่มีนักกฏหมายคนไหนในประเทศนี้ออกมาพูดชัดๆสักคนว่าข้อเสนอนี้ “ทำไม่ได้ในทางกฏหมาย” เหตุผลที่ทุกคนยกมา ล้วนบอกว่า ไม่เหมาะ ไม่ควร เสี่ยง ทำเพื่อทักษิณคนเดียว ฯลฯ แต่ไม่มีใครฟันธงเลยว่ามันทำไม่ได้อย่างไร เป็นหลักการที่ผิดอย่างไร หรือติดปัญหาเทคนิคตรงไหน 3. ข้อเสนอนี้ตอกย้ำปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2550 กลุ่มนิติราษฎร์คือนักวิชาการด้านกฏหมายมหาชน เมื่อเห็นปัญหาของกฏหมาย เขาก็ชี้ประเด็นให้สังคมทราบ อ.วรเจตน์ ดูจะเป็นนักวิชาการไม่กี่คนที่ยังพูดจาเรื่องเดิม เหมือนเดิม แม้เวลาจะเปลี่ยนไป เพราะหากเราไม่ความจำสั้นเกินไปนัก ในวันที่มีการรณรงค์ “รับ/ไม่รับ รัฐธรรมนูญ 2550” นั้น ประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายสนับสนุน รธน.50 ยกมาดีเบตคือ “ยอมรับว่ามันมีข้อบกพร่อง แต่ขอให้รับไปก่อนเถอะ แล้วไปแก้กันทีหลัง ได้แค่นี้ก็ดีแล้วเมื่อมองว่ามันเป็น รธน.ที่มาจากการรัฐประหาร” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรายอมรับว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด แต่เรามองว่า มันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของการกลับคืนมาแห่งอำนาจของประชาชนอย่างราบรื่น ชัดเจน แน่นอน ผมเคารพและได้ฟังความคิดเห็นของท่านอาจารย์วรเจตน์ชัดเจนวันนี้ เมื่อสักครู่นี้ ว่าท่านเห็นทางสะดวกของท่านเหมือนกัน แต่ว่า ท่านครับ นั่นคือความเห็นและความเชื่อไม่ชัดเจนแน่นอน ราบรื่นเท่ากับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ การที่เราลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะให้ผลดีคือ “ยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที” คมช. สิ้นสภาพทันที ส่วนว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดี มีข้อบกพร่อง มีบางจุดหลายจุดที่ท่านนำเสนอมานี้ เราเริ่มกระบวนการแก้ไข การแก้ไขนี้ผมอยากจะให้ “เราทำแบบเมื่อปี 2540 เราเสนอแบบให้ 50,000 คนเท่านั้นครับ! แล้วก็ ส.ส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้นครับ!” เสนอแก้ไขมาตราเดียวแบบที่เราเริ่มทำในปี 2540 แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่ เนี่ยครับ เราก็ว่าถ้าเราเดินอย่างนี้มันจะราบรื่นกว่าที่เราจะใช้วิธีการว่า เอาล่ะ! เราล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วคาดหวังว่า คมช. กับ ครม. จะหยิบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในอดีต มาปรับปรุงให้ดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เรากำลังทำนี้ นายจรัญ ภักดีธนากุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ้างอิง : http://prachatai.com/journal/2007/08/13725 ถึงวันนี้ มีนักกฏหมายกลุ่มไหนในประเทศนี้อีกบ้างที่ยังเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญเสียใหม่ ? 4. ข้อเสนอนี้ไม่ใช่การช่วยทักษิณ แต่เป็นการจงใจ “ไม่ช่วย” คนทำรัฐประหารต่างหาก นี่คือประเด็นที่ถูกบิดเบือนอย่างโง่เง่ามากที่สุด ถ้าอ่านข้อเสนอให้ดีจะเห็นว่า ข้อเสนอนี้มุ่งยกเลิกกฏหมายที่ประกาศ “ยกโทษ” ให้คณะรัฐประหาร และยกเลิกคำตัดสินต่างๆที่เกิดขึ้นโดยอิงกับอำนาจรัฐประหาร แต่ไม่ได้ห้ามไม่ให้เอาผิดทักษิณ หรือ คนอื่นๆ ในทางกลับกันข้อเสนอยังเปิดช่องให้เอาผิดทักษิณได้อยู่ และเป็นการเอาผิดแบบถูกต้องตามทำนองคลองธรรมที่ไม่ใช่การ “นิรโทษกรรม” อีกด้วย (นิรโทษกรรม หมายถึง คุณทำผิด แต่เขียนกฏหมายยกโทษให้ เช่นเดียวกับที่ คมช.​นิรโทษกรรมตนเองนั่นแหละ) ดังนั้นหากคุณไม่ชอบทักษิณ และเชื่อว่าเขากระทำผิดจริง คุณยิ่งต้อง “ฟัง”​ข้อเสนอนี้ให้ละเอียด เพราะมันหมายถึงโอกาสในการนำทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจริงๆ แบบที่เขาอ้างไม่ได้ด้วยว่าถูกรังแกโดยอำนาจนอกระบบ และถ้าคุณเชื่อว่าเขาผิดจริง ย่อมไม่ต้องกังวลกับกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม เว้นเสียแต่ว่าคุณเชื่อลึกๆว่าทักษิณอาจจะไม่ผิด แต่ก็อยากเอาผิดเขาเสียเต็มประดาจนต้องยอมหรี่ตาให้อำนาจนอกระบบ สิ่งที่ทำให้ประเด็น “เอื้อประโยชน์ให้ทักษิณ” ถูกชูขึ้นมาให้ไขว้เขวนั้น ไม่ใช่เพราะข้อเสนอนี้จะเอื้อประโยชน์กับทักษิณ แต่เพราะข้อเสนอนี้มุ่งจะ “เอาผิด” กับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารต่างหาก 5. เป็นการส่งสัญญาณถึงผู้สนับสนุนรัฐประหาร จากข้อ 4. ข้อเสนอนี้จะเป็นการส่งสัญญาณบอก “ผู้สนับสนุนรัฐประหาร” โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นมือไม้ให้ทหารว่าจง “คิดให้หนัก” หากจะมีพฤติกรรมทำนองนี้ต่อไปในอนาคต เพราะหากอำนาจสูงสุดของประเทศกลับมาเป็นของประชาชนเมื่อไหร่ ก็ใช่ว่า “ระบบกฏหมาย” จะไม่สามารถเอาผิดคุณได้เหมือนหลายสิบปีที่ผ่านมา ด้วย “นวัตกรรม” ทางกฏหมายนี้ พวกคุณจะไม่สามารถ “ลอยตัว” จากความผิดฐานล้มล้างการปกครองได้ง่ายๆเหมือนเช่นเคย ในทำนองเดียวกัน – หาก “เรา” ไม่สนับสนุนรัฐประหารจริงๆ (ดังเช่นเหตุผลในข้อ 1) เรายิ่งควรยินดีกับข้อเสนอนี้ เพราะหากข้อเสนอของนิติราษฎร์ได้รับการนำไปปฏิบัติจริงๆ การทำรัฐประหารครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นได้ยากมาก หรืออาจสามารถป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารอีกเลยก็เป็นได้ หมายเหตุ : ข้อมูลจากเว็บไซต์ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ระบุว่าประเทศไทยมีรัฐประหารมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก 6. เป็นการส่งสัญญาณบวกถึงนักกฏหมายน้ำดี ข้อเสนอนี้ยังส่งสัญญาณไปบอกนักกฏหมาย “น้ำดี” ทั้งหลายด้วยว่า “นวัตกรรม” ทางกฏหมายที่ยืนข้างหลักการประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นแล้ว มีประเทศอื่นเขาใช้จริง ทำจริง ทำได้ ขอเพียงแค่สังคมพร้อมใจกันปฏิเสธอำนาจดิบเถื่อนของการทำรัฐประหาร ในฐานะนักกฏหมาย หรือผู้ใช้กฏหมาย พวกคุณไม่จำเป็นต้องเดินตามธรรมเนียมที่ขัดต่อหลักความถูกต้องเหมือนที่ผ่านๆมา เราไม่จำเป็นต้องเดินวนลูปอยู่กับสิ่งแย่ๆที่เราก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น 7. เป็นการส่งปัญญาเข้าสู่สังคม ข้อเสนอนี้ส่งสัญญาณ “บวก” ไปถึงราษฎรไทยด้วยว่า เราสามารถ “สู้” กับอำนาจปืนได้ด้วยสติปัญญา ด้วยความรู้ ด้วยเหตุผล ด้วยหลักการ ขอให้ลองคิดดูว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเพียง 7 คน เขียนข้อเสนอเพียง 4 หน้ากระดาษ แล้วตั้งโต๊ะแถลงข่าวใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง วันรุ่งขึ้นผู้มีอำนาจทั้งหลายในประเทศล้วน “เป็นเดือดเป็นร้อน” กันไปหมดกับแนวทางที่พวกเขานำเสนอ ทั้งที่พวกเขาไม่มีปืน ไม่มีเงิน และไม่มีกระทั่งฐานการเมืองมวลชน สิ่งที่อาจารย์กลุ่มนี้ทำให้ “พวกเรา” เห็น คือการบอกว่า ในการจะสู้กับปีศาจนั้น เราไม่จำเป็นต้องขายวิญญาณให้ปีศาจอีกตนหนึ่งเพื่อเอาอำนาจดิบเถื่อนมาปราบปีศาจตนแรก เราสู้กับปีศาจได้ด้วยแสงสว่าง ด้วยความรู้ ด้วยเหตุผล ด้วยปัญญา และปีศาจทุกเผ่าพันธุ์เหมือนกันหมด – พวกมันกลัวแสงสว่าง หลักคิดเช่นนี้สมควรได้รับการ “ปลูกฝัง” และต่อยอดต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ราษฎรไทยได้เชื่อกันจริงๆเสียทีว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน ไม่ใช่ของพรรคการเมือง ไม่ใช่ของทหาร หรือของเทวดาที่ไหน มันอาจได้ผลช้า มันอาจต้องเฝ้าอดทนรอคอย แต่มันเป็นหนทางที่ยั่งยืน ………. สุดท้าย ผมอยากกล่าวด้วยว่า สิ่งที่คณะนิติราษฎร์ทำลงไปนั้นเสมือนเป็นการจุดไฟแห่งปัญญาให้แก่สังคมที่กำลังมืดมิด ซึ่งคือ “หน้าที่” โดยตรงของนักวิชาการที่มีต่อสังคม นักวิชาการมีหน้าที่ทำงาน “ทางเทคนิค” ที่ตนเองถนัด เพื่อตอบปัญหาของสังคมอย่างซื่อสัตย์ต่อหลักวิชาที่ตนเองยึดถือ ในเวลาที่สังคมมืดมิด ผู้คนสับสน มันต้องมีใครสักคนลุกขึ้นมาจุดไฟให้สว่างบ้าง แม้มันอาจจะเล็กน้อย ไม่ได้สว่างจ้าจนไล่ความมืดให้หมดสิ้นไปได้ แต่อย่างน้อย คนอื่นๆรอบข้างก็จะมองเห็นว่าการจุดไฟมันทำได้ และเราทุกคนสามารถช่วยกันจุดไฟ แล้วส่งต่อๆกันไปให้มากขึ้นได้ ขอคาราวะกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ไว้ ณ โอกาสนี้ “ผมคิดว่า ความคิดแบบนี้เมื่อมันเปิดกรงออกไปและโบกบินสู่สังคมแล้ว ต่อให้นิติราษฎร์ทั้ง 7 คนไม่อยู่แล้ว แต่ความคิดนี้จะอยู่ในสังคม มันฆ่าไม่ตายแล้ว เพราะฉะนั้นจะทำรัฐประหารก็ทำไป มีปืนมีรถถังก็ทำไป แต่ถ้าทำแล้วคุณต้องปกครองโดยปืนโดยรถถังตลอดกาล ถ้ามันไม่สำเร็จในยุคสมัยของเรา รุ่นลูกรุ่นหลานเราก็จะมาพูดต่อ แต่ผมคิดว่ามันจะสำเร็จในยุคสมัยของเรา” วรเจตน์ ภาคีรัตน์ 25 กันยายน 2554 Beneath this mask there is more than flesh. Beneath this mask there is an idea, Mr. Creedy, and ideas are bulletproof - V for Vendetta ที่มา: www.roodthanarak.com/2011/09/why-nitirat/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net