เสวนา UPR: ประมวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย

จากการบรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” ในเวทีเสวนาเรื่อง “การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด : Universal Periodic Review และสิ่งที่คุณจะทำได้” เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554 ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ มูลนิธิศักยภาพชุมชน มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญสิทธิในด้านต่างๆ 9 คน มาร่วมเสวนาถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่น่าสนใจ ดังนี้ สมชาย ปรีชาศิลปกุล: เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและกฎหมายพิเศษในไทยว่า แม้รัฐบาลไทยจะพยายามยกกฎหมายขึ้นมาแสดงให้เห็นถึงบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิ แต่ความจริงแล้วรัฐธรรมนูญไม่สามารถเป็นคำตอบได้ เห็นได้ชัดจากการที่สังคมไทยไม่สามารถพูดอะไรตรงไปตรงมา ทั้งที่มีการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายที่ให้ยกเว้นในสถานการณ์ปกตินั้นเป็นปัญหาอุปสรรคอย่างมาก และแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐมีลักษณะอำนาจนิยม จากการปิดเวบไซต์จำนวนมากและจับกุมผู้แสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ตโดยเกินกว่าเหตุ มีการใช้กำลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ไม่เคยถูกร้องเรียนหรือตรวจสอบใดๆ ในขณะที่ผู้ที่ถูกจับกุม ถูกแจ้งข้อหารุนแรงและไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้สื่อยังมีลักษณะของการเซ็นเซอร์ตัวเองในประเด็นที่สังคมควรรับรู้หลายประเด็น ทั้งที่การกระทำเช่นนี้จะยิ่งก่อให้เกิดข่าวลือมากกว่าข้อเท็จจริง อีกประเด็นคือการเลือกข้างของสื่อมวลชน ซึ่งอาจารย์สมชายชี้ว่า อาจถึงจุดที่ต้องยอมรับการเลือกข้างของสื่อ เพราะไม่มีสื่อใดเป็นกลางแม้แต่สื่อต่างประเทศ ในสังคมไทยยังคงมีปัญหาการเข้าใจผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง โดยมักจะโจมตีกันอย่างรุนแรง ทั้งที่การไม่เห็นด้วยนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ควรจะต้องแสดงความเห็นในลักษณะที่เข้าใจผู้อื่น ถ้าทุกคนมองเห็นคนอื่นเป็นมนุษย์ ก็จะยอมรับความเป็นมนุษย์ในมิติอื่นๆ ได้ ไม่เฉพาะในเรื่องทางการเมือง ทศพล ทรรศนกุลพันธ์: สิทธิทางเศรษฐกิจ และฐานทรัพยากร ในขณะที่อาจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิทางเศรษฐกิจ โดยเชื่อมโยงกับสิทธิทางการเมืองไว้ว่า สิทธิทางการเมืองทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ เนื่องจากทรัพยากรของรัฐที่ถูกนำมาใช้ในการผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจไม่มีข้อปฏิบัติชัดเจน ขณะเดียวกัน ผู้คนต้องได้รบผลกระทบอย่างมากจากทุนขนาดใหญ่ ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เกษตรกรรมพันธะสัญญา (Contract Farming) ที่ตอนนี้ชาวนาเปรียบเสมือนแรงงานในที่ดินของตนเอง ต้องเป็นหนี้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่นำปัจจัยการผลิตมาให้ และสัญญาระหว่างบริษัทกับเกษตรกรก็ขาดความเป็นธรรม นอกจากผู้ผลิตอย่างเกษตรกรจะต้องเจอปัญหาแล้ว ผู้บริโภคก็ยังไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการคุ้มครองสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้อาจารย์ทศพลยังเน้นถึงสิทธิในฐานทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในพันธุกรรมที่เกษตรกรต้องเสียเงินมากกว่าเสียค่าเช่าที่ดิน แม้ระบบของรัฐมีกลไกคุ้มครองสิทธิในพันธุกรรมได้ แต่ชัดเจนแล้วว่า รัฐกลายเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจในการละเมิดประชาชน รวมไปถึงเรื่องทรัพยากรดิน น้ำ ป่าที่ถูกครอบงำภายใต้วาทกรรมการพัฒนา โดยละเลยสิทธิของชาวบ้านในพื้นที่และต้องเผชิญปัญหาโดยตรง จะเห็นได้จากงานวิจัยว่า พื้นที่ที่น้ำท่วมหลักส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ทำเกษตรพันธสัญญา กลุ่มที่รุกเข้าไปในส่วนป่าสงวนนั้นล้วนแต่เป็นบริษัททุนขนาดใหญ่ สุดท้ายอาจารย์ได้เสนอว่า การรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ไม่ควรคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของชนชั้นนำ วรวิทย์ เจริญเลิศ: สิทธิแรงงาน เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์สิทธิแรงงานในปัจจุบัน อาจารย์วรวิทย์ เจริญเลิศ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งประเด็นถึงแนวคิดเรื่องสิทธิแรงงานที่ถูกผลักดันผ่านองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และได้มีอนุสัญญาให้ประเทศต่างๆ ไปปฏิบัติตาม ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลเรื่องสิทธิแรงงานมาจาก ILO แต่เมื่อนำมาปฏิบัติกลับเกิดความขัดแย้ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสังคมจากยุคเกษตรกรรมไปสู่ยุคอุตสาหกรรม ต่างกับประเทศตะวันตกตรงที่ยังไม่มีการเปลี่ยนผ่านเรื่องประชาธิปไตย และปฏิเสธการมีส่วนร่วมของชนชั้นล่าง ความเป็นจริงมีแรงงานไทยจำนวน 24 ล้านคนและแรงงานข้ามชาติอีก 2 ล้านคน แต่กลับมีแรงงานไทยเพียง 9 ล้านคนที่ได้รับการคุ้มครองอันเนื่องมาจากคำนิยามของความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้าง แรงงานที่เหลือเป็นประกอบอาชีพอิสระและบางส่วนถูกจ้างงานนอกระบบ และยังมีปัญหาเรื่องสหภาพแรงงานในไทยที่ถูกทำลาย ลูกจ้างที่ลุกขึ้นมาตั้งสหภาพแรงงานมักจะถูกเลิกจ้าง กฎหมายที่ควรจะคุ้มครอง กลับกลายเป็นเครื่องมือของรัฐ ซึ่งเห็นได้จากแรงงานที่เข้าไปเป็นสมาชิกไตรภาคี(ระหว่างรัฐ-นายจ้าง-แรงงาน) บางส่วนไม่ใช่แรงงานที่เป็นผู้นำสหภาพ และคนเหล่านี้มักจะทำงานกับรัฐ มอนหอม: แรงงานข้ามชาติ นอกเหนือจากแรงงานไทยที่ถูกละเมิดแล้ว แรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงชนกลุ่มน้อย ผู้ไร้รัฐ และผู้ลี้ภัยก็ถูกละเมิดสิทธิ ประเด็นนี้ถูกนำเสนอผ่านคุณมอนหอม ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิบัติการสตรีไทใหญ่ หรือ Shan Women Action Network (SWAN) ที่ได้ย้อนรอยสาเหตุไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลพม่าต่อชนกลุ่มน้อยอย่างร้ายแรง ทั้งการปฏิบัติอย่างทารุณต่อร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศ การขับไล่จากถิ่นที่อยู่ เสรีภาพด้านต่างๆ รวมถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีผู้ลี้ภัยและอพยพเข้ามาในไทยจำนวนมาก โดยคุณมอนหอมเน้นถึงชาวไทใหญ่ที่ไม่ได้รับการรับรองให้เป็นผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัย แต่มีผู้พลัดถิ่นภายใน (Internally Displaced Persons) ซึ่งอยู่ตามชายแดนทั้งหมดห้าค่าย การที่ไม่ได้มีสถานะผู้ลี้ภัย ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุขที่ไม่สามารถใช้บริการได้และมีปัญหาในด้านการสื่อสาร อีกทั้งยังต้องเป็นแรงงานข้ามชาติ ที่เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทั้งเรื่องค่าจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ถูกหักค่าแรงได้ง่าย แต่มีค่าใช้จ่ายสูง การถูกทารุณจากนายจ้าง การขาดความปลอดภัยในการทำงานและที่อยู่อาศัย อีกทั้งไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้หากนายจ้างไม่ยินยอม ทั้งนี้กลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหารุนแรงในเรื่องของสถานะทางกฎหมายซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตทุกๆ ด้าน อารีด้า สาเมาะ: สถานการณ์ละเมิดสิทธิชายแดนใต้ นอกจากนี้ เวทีเสวนาที่เชียงใหม่ยังได้มีโอกาสต้อนรับวิทยากรจากสามจังหวัดชายแดนภายใต้ คือ คุณอารีด้า สาเมาะ ซึ่งเป็นนักข่าวในท้องถิ่นที่รับทราบข้อมูลที่เป็นจริง โดยคุณอารีด้าได้นำเสนอมุมมองของคนในพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจว่าระหว่างปี 2547- 2554 มีเหตุการณ์รุนแรงทั้งหมด 10,984 เหตุการณ์ โดยประชาชนธรรมดาได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งส่วนมากเป็นพี่น้องมุสลิม แต่ในข่าวกลับนำเสนอแต่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง พยายามเสนอว่าสามารถคุมสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้เพราะจำนวนเหตุการณ์ลดลง แต่ความจริงช่วงที่ผ่านมาเหตุการณ์ความรุนแรงได้ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนต่อครั้งมากขึ้น ต่างจากเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงก่อนที่เกิดบ่อยครั้งกว่าแต่ส่งผลเสียต่อครั้งน้อยกว่ามาก โดยคุณอารีด้าได้นำเสนอตัวละครหลักๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ในลักษณะปิรามิดสามชั้น ชั้นบน คือ ผู้ใช้ความรุนแรง ได้แก่ รัฐและขบวนการ โดยเจ้าหน้าที่รัฐมองทุกคนเป็นผู้ต้องสงสัย ในขณะที่ขบวนการพยายามดึงมวลชนและสามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีการกดขี่และการใช้กฎหมายพิเศษของรัฐ ชั้นกลางคือ ภาคประชาสังคมและนักสิทธิซึ่งทำงานได้ยากมากเนื่องจากรัฐและขบวนการ และชั้นล่างคือผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่มีพื้นที่ปลอดภัย เกรียงไกร ไชยเมืองดี: สิทธิเด็ก ในประเด็นเรื่องของสิทธิเด็ก คุณเกรียงไกร ไชยเมืองดี จากมูลนิธิรักษ์เด็กได้ถ่ายทอดข้อมูลจากการลงไปทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิเด็กทั่วบริเวณภาคเหนือว่า เด็กของชนเผ่าพื้นเมืองและในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจำนวนมาก และสถานการณ์เช่นนี้ก็ยังเกิดขึ้นกับเด็กในครอบครัวแรงงานข้ามชาติ ซึ่งนอกจากขาดการศึกษาแล้วยังต้องถูกกดขี่ ใช้แรงงาน และอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีเด็กติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมากที่ไม่ทราบชะตากรรมของตนเอง สุดท้ายคุณเกรียงไกรยังได้ชี้ให้เห็นถึงสิทธิการมีส่วนร่วมและสิทธิในการเล่นของเด็กซึ่งผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ในสังคมมองข้าม ไม่ค่อยฟังเสียงเด็ก และมักใช้อารมณ์และความรุนแรงต่อเด็ก สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่ไม่ได้มองเด็กว่ามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ทั้งที่เด็กมีความต้องการของตนเอง เพียงแต่ต้องการการดูแลจากผู้ใหญ่เท่านั้น พงษ์ธร จันทร์เลื่อน: สิทธิความหลากหลายทางเพศ ส่วนคุณพงษ์ธร จันทร์เลื่อน จากมูลนิธิเอ็มพลัส ได้กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิความหลากหลายทางเพศในสองประเด็นหลัก ได้แก่ เรื่องใบ สด.43 หรือใบเกณฑ์ทหาร ซึ่งเคยถูกระบุว่าเป็นโรคจิตถาวร อันมีผลต่อการสมัครงานและทำนิติกรรม แม้ศาลปกครองได้ตัดสินไปแล้วว่า ให้เปลี่ยนคำระบุเป็น “เพศสภาพไม่ตรงกำเนิด” แต่การรณรงค์ในเรื่องการตรวจร่างกายอย่างเหมาะสมและเคารพผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศยังคงดำเนินต่อไป อีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องกฎหมายรับรองสถานะคู่ชีวิต ซึ่งองค์กรกลุ่มสิทธิความหลากหลายทางเพศกำลังรณรงค์ให้มีการรับรองคู่ชีวิตคนเพศเดียวกันทางกฎหมาย เพื่อให้มีสิทธิตั้งครอบครัวได้เช่นเดียวกับคู่ชีวิตหญิงชาย ไชยันต์ รัชชกูล: สิทธิทางสังคม สำหรับสิทธิทางสังคม อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล จากมหาวิทยาลัยพายัพ ได้เน้นย้ำถึงปัญหาเชิงทัศนคติโดยทั่วไปในทางศาสนาและความเชื่อที่ฝั่งรากลึกในสังคมไทย อันเป็นหน่อเชื้อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่สามารถยับยั้งได้ โดยคนส่วนมากมักจะมอง ผู้พิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ที่ตกอยู่ในสภาพยากลำบากอื่นๆ ว่า เป็นผู้มีกรรม และมองข้ามการปกป้องคุ้มครองสิทธิของคนเหล่านี้ไป นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา และภาษา ทั้งที่แทบจะไม่มีชาติใดในโลกที่ไม่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ สุดท้าย อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้แสดงมุมมองของตนต่อการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปว่า ระดับการพัฒนาประเทศไม่ทั่วถึงกัน อย่างประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจล้าหลัง ไม่มีการต่อสู้เพื่อเอกราช การที่พี่น้องจากต่างแดนเข้ามาอยู่ในประเทศเรา อาจจะทำให้หลงคิดไปว่าประเทศไทยเจริญแล้ว ทั้งที่สิทธิความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจนั้นแทบไม่มี ในด้านการพัฒนาทางสังคมที่ไม่เท่ากันนั้น ทำให้ต้องใช้เวลาและมีความยากลำบากอย่างมากกว่าที่จะสามารถตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ จึงขอให้ทุกฝ่ายต่อสู้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท