Skip to main content
sharethis

“สุภาพบุรุษไพร่” เป็นหนังสือจากค่ายมติชนที่กำลังจะวางแผงทั่วประเทศ แม้ว่าเจ้าของเรื่อง “ณัฐวุฒ ใสยเกื้อ” จะเกริ่นไว้ในหนังสืออย่างถ่อมตัวว่า “มันจะขายได้หรือ” แต่กวาดตาดูแฟนคลับเสื้อแดงแล้ว เชื่อแน่ว่าว่าหนังสือเล่มนี้จะต้องขายดีอย่างยิ่ง ประชาไทคุยกับ “ฟ้ารุ่ง ศรีขาว” ผู้สื่อข่าวประจำกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เจ้าของงานเขียนเล่มนี้ ถึงข้อสังเกตของเธอต่อแกนนำเสื้อแดงและขบวนการประชาธิปไตยไทยในช่วงเวลาอันใกล้ ทำไมเธอจึงทำหนังสือเล่มนี้ และทำไมเลือกเขียนเรื่องของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดงที่อายุน้อยที่สุด รากเหง้าทางการเมืองสั้นที่สุดในบรรดาแกนนำเสื้อแดง “เพราะณัฐวุฒิรับสาย(โทรศัพท์)ง่ายที่สุด แต่คนอื่นไม่ค่อยรับสาย ฮ่าๆๆ” เจ้าของหนังสือกล่าวกลั้วหัวเราะ เหมือนพูดเล่น แต่ในฐานะนักข่าวด้วยกัน เราทราบดีว่า นั่นคือเรื่องจริง ที่ว่าณัฐวุฒินั้นเป็นแหล่งข่าวที่เข้าถึงง่ายมาก แม้แต่เมื่อเปรียบเทียบกับแกนนำด้วยกันเอง ก่อนที่เธอจะกล่าวตอบคำถามต่อไปอย่างจริงจัง ทำไมณัฐวุฒิ? เพราะเราเห็นความขัดแย้งกันระหว่างจุดเริ่มต้นที่เขาเริ่มจากความเป็นตลก ที่ไม่มีราคา คนไม่สนใจ คนไปสนใจจักรภพ (เพ็ญแข) วีระ (มุสิกพงศ์) เพราะความอาวุโสหรือบทบาทก่อนหน้านั้น ขณะที่เรารู้สึกว่าเราฟังวีระไม่เข้าใจ เราไม่ได้เห็นในยุคที่คุณวีระยิ่งใหญ่ ต่อมาหลังจากณัฐวุฒิ พูดเรื่องไพร่ อำมาตย์ ก็เลยรู้สึกว่าการนำของณัฐวุฒิเปลี่ยนไปจากความตลกมาสู่ทฤษฎีที่เราเคยเรียนตอนเป็นนักศึกษา (รัฐศาสตร์ มธ.) มันคงเกี่ยวกับแบกกราวด์ความรู้สึกของเราด้วยตอนที่เราเรียนมหาวิทยาลัย และครูบาอาจารย์ก็ชอบพูดประชดประชันทำนองภูมิใจในความเป็นไพร่ ก็เลยแปลกใจว่าถ้าจักรภพพูดเราก็เฉยๆ เพราะเขาจัดว่าเป็นปัญญาชน แต่ณัฐวุฒิ เหมือนคนตลก ขำๆ บางทีก็ดุดันแล้วมาพูดในเนื้อหาที่เรารู้สึกอยู่เป็นทุนเดิม ก็เลยสนใจเขา และจากการรู้จักกันโดยส่วนตัวก็เห็นความเปลี่ยนแปลง เช่น หลังจากเหตุการณ์หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เราก็ตามไปคุยกับเขาหลังแถลงข่าว โดยถามว่าในฐานะแกนนำจะรับผิดชอบอย่างไรที่คนบาดเจ็บและทรัพย์สินคนอื่นเสียหาย แต่ณัฐวุฒิเหมือนคนมีความรู้สึกไม่ดีกับเราและเสียงแข็งใส่เราว่า ใครจะอยากให้มวลชนเจ็บตัว คือ เขาไม่เก็บความรู้สึกว่าเขาไม่อยากให้เป็นแบบนี้ ต่อมาเราก็ไปทำข่าวสายอื่น ไม่ได้มาตามม็อบทุกวันเหมือนช่วงตั้งเวทีสนามหลวง เมื่อฝ่ายเสื้อแดงได้เป็นรัฐบาล มีช่วงที่ไม่ได้ทำข่าวณัฐวุฒิ มาเจออีกทีตอนที่มีเวทีผ่านฟ้า เจอกันหลังเวที ณัฐวุฒิก็คุยกับเราแล้วถามว่ามีอะไรจะคอมเมนต์ หรือวิจารณ์เขาไหม และท่าทีเหมือนใจเย็นลง รู้สึกว่าจากปี 2550 มาปี 2553 เขาเปลี่ยนไปในระยะเวลาไม่กี่ปี เปลี่ยนทั้งในแง่ที่คนอื่นคิดกับเขาและทั้งที่ตัวเรารู้สึกว่าเขาเปลี่ยนแปลง ความประทับใจจากการทำหนังสือเล่มนี้ ตอนที่เขาคิดว่าจะตอบตกลงกับเราที่จะเขียนเรื่องราวของเขา เราคิดว่าเขาไม่ได้มั่นใจว่าเราจะเขียนถึงเขาในทางบวกหรือลบ ที่ประทับใจมากคือเขาบอกว่าให้เขียนได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นตัวตลกหรือผู้ร้ายก็ให้สะท้อนออกมาตามที่เรามอง \เป็นหนังสือของน้อง ให้ใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนในการทำงาน\" ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาพูดระหว่างที่เขาอยู่ในห้องขัง เราเดาว่าเขาไม่มั่นใจว่าเราจะเขียนถึงเขาอย่างไร เพราะเราก็ไม่ใช่คนสนิทกับเขาในความหมายที่ว่าจะทำให้เขามั่นใจได้ว่าจะเข้าข้างเขา อีกอย่างที่ประทับใจคือ (หัวเราะ) ระหว่างที่เรากำลังทำหนังสือเล่มนี้ คือช่วงเวลาที่ณัฐวุฒิอยู่ในคุก และมีหลายคนถามเราว่า “มันมีค่าขนาดนั้นเลยหรือ” อีกสิ่งหนึ่งที่ประทับใจคือ เพื่อนๆ สื่อมวลชนให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ขณะที่การเมืองไทย “ความจริง” เป็นสิ่งที่รัฐบอกว่าอยากจะหาออกมาให้ได้ มีการตั้งคณะกรรมการและงบประมาณใหญ่โตมโหฬาร เหมือนสังคมนี้โหยหาความจริง ขณะที่เพื่อนนักข่าวหลายคนเล่าความจริงให้เราฟังโดยไม่มีเงื่อนไขอะไร ไม่มีอะไรต้องเอามาแลกเปลี่ยนกัน เราได้ฟังเหตุการณ์จริงโดยที่ไม่ต้องเสียงบประมาณรัฐไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไรอันซับซ้อน แต่แน่นอนการให้คุณค่าข้อเท็จจริงอันเดียวกันคนที่มีพื้นฐานความคิดต่างกันก็คงจะแปรความหรือให้น้ำหนักต่อข้อเท็จจริงนั้นต่างกันไป ตอนที่ชอบที่สุดในหนังสือคือ “สว่างแสงชาดอาภรณ์” ซึ่งเป็นเรื่องราวช่วงท้ายของการชุมนุม ขณะที่ลูกสาวของณัฐวุฒิ “ชาดอาภรณ์” ถือกำเนิดขึ้นมาในเช้าวันที่ 10 พ.ค. 2553 ที่ชอบเพราะว่ามันเหมือนฉากในหนังดีน่ะ เพราะในช่วงเวลาเดียวกันเขาต้องคิดทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว แต่อีกแง่หนึ่งก็มีเรื่องขบวนการ นึกภาพตัดไปตัดมา ระหว่างที่ชุมนุมกับโรงพยาบาล ขณะเดียวกันก็ได้รับโทรศัพท์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐรู้แล้วว่าคุณอยู่ตรงไหน ทำให้เขาต้องหนี วันนั้นมีอีกคู่ความสัมพันธ์ที่ไปกันไม่ได้คือ แกนนำกับแกนนำ อุปสรรคของงานเขียน เวลา เรามีงานประจำต้องทำ ตอนทำไม่มีใครรู้เยอะ ในแง่การเขียนการเรียบเรียงยากตอนวางโครงเรื่องที่เราต้องตัดสินใจว่า เรื่องอะไรน่าจะบ่งบอกเรื่องราวของคนเสื้อแดงและณัฐวุฒิ อีกอย่าง เวลาที่จะคุยกับเขาก็มีระยะเวลาจำกัด เพราะเขาอยู่ในเรือนจำ ก็เพิ่งมาทราบภายหลังว่าคุณศิริสกุลและญาติๆ แกนนำแต่ละคนเป็นคนระบุว่าให้เยี่ยมเวลานี้ทุกวัน ทั้งที่ครอบครัวสามารถเปลี่ยนได้ตามสะดวก แต่คุณศิริสกุลเห็นว่าคนเสื้อแดงมาเยี่ยม ก็จะได้รู้ตรงกันว่ามาตอนกี่โมง เราก็เลยไปเยี่ยมพร้อมๆ คนเสื้อแดงจำนวนมาก ต้องก้มผ่านซี่กรง เราก็เกรงใจคนเสื้อแดงที่เขาอยากจะคุยกับแกนนำด้วยว่าเขาอุตส่าห์มาไกลก็อยากจะคุย เราไม่ได้คิดจะถือตัวว่าเรามาเขียนหนังสือให้เขาต้องได้อภิสิทธิ์ เพราะคนที่มาเยี่ยมก็เท่ากันหมดคือทุกคนอยากสื่อสารกับแกนนำ มีคนแซวไหมว่าหลงเสน่ห์แกนนำหรือรับตังค์เขามาเขียน (หัวเราะร่วน) มีคนแซวเหมือนกัน เพราะพี่เต้นแกเคยแซวว่าเราเป็นแฟนเก่าแก แต่คนฟังไม่รู้ที่มาที่ไป จริงๆ คือแกเคยปล่อยมุก แซวเพราะแกเคยเห็นเราตัวเล็กกว่านี้ แกเลยแซวว่า เราเป็นแฟนเก่าแต่ถูกผู้ใหญ่กีดกัน พอแกไปแต่งงานกับพี่แก้มเราเลยเสียใจจนตัวโตขนาดนี้ เดาว่าบุคคลที่สามได้ยินก็เลยเอาไปตีความใหญ่โต จริงๆ คือแกจะเล่นมุกว่าเราเปลี่ยนไปคือตัวโตขึ้นมาก ส่วนเรื่องเงิน เราตกลงกับณัฐวุฒิตอนที่ขอเขียนเรื่องเขาว่าเขาจะคิดค่าเรื่องหรือเปล่า เขาบอกว่า “ถ้าขายได้ก็เป็นความสำเร็จของน้อง เป็นผลงานของน้อง” ส่วนค่าเรื่องนี่ หนังสือพิมพ์เสร็จแล้วเรารับเงินค่าเรื่องจากสำนักพิมพ์มติชน นัยยะสำคัญทางการเมืองของหนังสือเล่มนี้ วิธีการเล่าของเราคือไม่ตัดสินคุณค่าว่าถูกผิด ดีเลว เป็นสิ่งที่เราได้มาจากการเรียนหนังสือในสายคิดที่ให้ความสำคัญกับการแสวงหาความจริง แต่ไม่ได้บอกว่าความจริงมีชุดเดียว เพราะแค่การพูดถึงข้อเท็จจริง ว่าสิ่งนั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่มันก็ยากแล้ว ยังไม่ต้องไปพูดเรื่องการชี้วัดตัดสิน หนังสือเล่มนี้คงไม่สร้างแรงกระเพื่อมอะไรมากไปกว่าคนที่ไม่เคยรู้ประวัติของณัฐวุฒิได้รู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเขา เพราะเราตั้งใจจะมองเรื่องด้วยความเป็นคนธรรมดา เหมือนชีวิตคนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของการเมืองในสเกลใหญ่ แต่เราก็ไม่ใช่คนโรแมนติก หรือมีอุดมการณ์ขนาดที่ประชาไททำหนังสือ “คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต” เวลาเราพูดถึงณัฐวุฒิเราก็ยังลังเลว่าเขาเป็นอะไรกันแน่ คือเป็นคนธรรมดาที่ไม่ถูกให้ราคา หรือเขาเป็นคนระดับนำอยู่แล้ว ตั้งแต่ความเป็นนักการเมืองท้องถิ่น คงพูดได้แค่ว่าเขาเป็นปัจเจกบุคคลที่อยู่ในส่วนประกอบของเหตุการณ์ใหญ่ แต่เขาเป็นคนธรรมดาหรือเปล่าเราก็ไม่แน่ใจ แต่ท้ายที่สุดก็คงไม่พ้นที่เราจะเลือกให้คุณค่าด้านใดด้านหนึ่งเพราะที่สุดแล้วเราก็เลือกชื่อหนังสือ “สุภาพบุรุษไพร่” ที่บอกอยู่แล้วว่าบวกหรือลบ คุณเคยบอกว่า การติดตามขบวนการเสื้อแดงมาตลอดทำให้มุมมองคุณเปลี่ยนไป ถึงวันนี้มองขบวนการเสื้อแดงอย่างไร มีหลายคู่ความสัมพันธ์ว่าระหว่างแกนนำกับทักษิณเขารับเงินกันหรือเปล่าเราก็ไม่ได้ไปเจาะ เพราะไม่ใช่ประเด็นที่เราสนใจ แต่อาจเป็นประเด็นของนักข่าวที่ชอบสืบสวนสอบสวนเขาคงสนใจ แต่เรามองว่ามีคู่ความสัมพันธ์อื่นๆ อีกที่น่าสนใจ เช่น คู่ความสัมพันธ์ระหว่างแกนนำกับมวลชน ซึ่งในสายสัมพันธ์อันนี้มวลชนกับแกนนำเขาผูกพันกันด้วยความคิดร่วมกันบางอย่างอันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าใครรับเงินจากใคร เพราะว่าต่อให้ทักษิณใช้เงินจ่ายให้แกนนำจริงหรือใช้เงินหว่านกับมวลชนจริงๆ ต่อให้เป็นอย่างนั้น เราคิดว่าถ้าพวกเขาไม่มีความคิดความเชื่อบางอย่างร่วมกัน เขาก็คงไม่อดทนเดินในขบวนนี้ที่ต้องเผชิญการดูถูกดูแคลนสารพัดข้อกล่าวหา ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงจุดไหนของขบวนการก็ตาม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net