Skip to main content
sharethis

‘จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์’ พยานจำเลยคดี ‘โรงไฟฟ้าบางคล้า’ ฟ้องหมิ่นเอ็นจีโอหลังออกรายการคมชัดลึก แจงข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ย้ำทุกคนควรวิจารณ์นโยบาย-กระบวนการรัฐได้ ศาลนัด ‘ส.ว.รสนา’ สืบพยานปากสุดท้าย 1ธ.ค.นี้

 
วันที่ 30 ก.ย.54 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำ อ.3151/2552 ที่บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงาน ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
 
นางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึก เนชั่นชาแนล จำเลยที่ 2 ในคดีเดียวกันซึ่งศาลมีคำสั่งยกฟ้องไปก่อนหน้านี้ เบิกความในฐานะพยานจำเลยว่า การจัดรายการในวันเกิดเหตุสืบเนื่องจากขณะนั้นมีการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าของชาวบ้านบางคล้า โดยใช้หัวข้อ “โรงไฟฟ้าเพื่อใคร” ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม จำเป็นต้องมีการพูดคุยเพื่อให้ได้ความรู้ ได้ข้อมูลชุดเดียวกัน และเพื่อเป็นการหาทางออก ทั้งนี้ การเลือกประเด็นเป็นไปตามหลักการของรายการและการทำหน้าที่สื่อมวลชน อีกทั้งมีการติดต่อผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นในทุกด้านมาร่วมสนทนา
 
ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึก กล่าวด้วยว่า การเชิญนางสาววัชรีจำเลยในคดีมาร่วมรายการ เนื่องจากเป็นเอ็นจีโอด้านพลังงาน และในรายการนางสาววัชรีได้นำเสนอความเห็นต่อการดำเนินโครงการขนาดใหญ่โดยเน้นย้ำเรื่องการถามความคิดเห็นของชาวบ้าน และความโปร่งใสในการกำกับดูแลของรัฐ ยกตัวอย่างกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเข้าไปมีตำแหน่งอยู่ในบริษัทเอกชน ย่อมมีการซ้อนทับเรื่องผลประโยชน์ได้ตามหลักการ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าในรายการนางสาววัชรีวิพากษ์วิจารณ์โดยพุ่งเป้าที่กระบวนการตรวจสอบของรัฐว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ โดยใช้บริษัทของโจทก์เป็นกรณีตัวอย่าง
 
ชี้ทุกคนควรวิจารณ์นโยบาย-กระบวนการรัฐได้
 
นางสาวจอมขวัญ กล่าวให้ความเห็นต่อมาว่า การสนทนาในวันดังกล่าวเนื้อหายังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรายการ เพราะขาดผู้เกี่ยวข้องกับประเด็น คือ บริษัทเอกชนเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้า และตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ แม้จะมีการต่อสาย ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  เข้าร่วมพูดคุยในรายการ เพราะควรเป็นการเข้าร่วมรายการเพื่อตอบคำถามประเด็นต่อประเด็นให้ครบถ้วน
 
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัว ข้อมูลของนางสาววัชรีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และทุกคนควรวิจารณ์นโยบาย และกระบวนการกำกับดูแลกิจการโดยรัฐได้ไม่ใช่เฉพาะเอ็นจีโอเท่านั้น และตรงนี้เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย
 
ต่อคำถามซักค้านของทนายโจทก์ถึงหลักการการตรวจสอบ กลั่นกรองคำพูดของผู้ร่วมรายการในรายการสดนางสาวจอมขวัญ ชี้แจงว่า ข้อแรกทางรายการได้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นทุกคนเข้าร่วมในการสนทนา แต่เป็นสิทธิที่ผู้ถูกเชิญจะเข้าร่วมหรือไม่ และหากในรายการมีการล้ำเส้นไปเป็นการกล่าวหาที่ก่อความเสียหาย จำเป็นต้องชี้แจงในทันที ผู้ดำเนินรายการจะหยุดประเด็นไว้ เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มาร่วมในรายการ ส่วนหากคำพูดของผู้ร่วมรายการปรากฏในภายหลังว่าเป็นการให้ร้ายผู้อื่น ส่วนตัวเห็นว่าควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งผู้ร่วมรายการ ผู้ดำเนินรายการ และผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากไม่มาร่วมชี้แจงในรายการ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การสืบพยานในคดีนัดต่อไป ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากสุดท้ายคือนางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ในคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ในวันที่ 1 ธ.ค.54
 
ทั้งนี้ การฟ้องร้องคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีการให้สัมภาษณ์ทางรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 เกี่ยวกับกรณีชาวบ้าน อ.บางคล้า ปิดถนนประท้วงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า ในพื้นที่ ม.5 ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ บริษัท สยาม เอ็นเนอร์จี จำกัด ยังได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีแพ่งนางสาววัชรี เรียกค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาทด้วย
 
ชาวบ้านเผยยังหวั่นใจ เหตุพื้นที่กว่า 500 ไร่เป็นของบริษัทโรงไฟฟ้า
 
ด้านนายประยุทธ แซ่เตียว ชาวบ้านบางคล้าซึ่งเบิกความต่อศาลในช่วงเช้าวันนี้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การพูดคุยในรายการคมชัดลึก ชาวบ้านได้ร่วมให้ข้อมูลถึงเหตุผลการชุมนุมคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ว่าอาจทำให้ชาวบ้านทำมาหากินไม่ได้และจะกระทบต่อวิถีชีวิต โดยการคัดค้านโครงการดังกล่าวมีมาก่อนที่จะพบกับนางสาววัชรี และการพูดคุยในรายการเป็นการตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินการของรัฐที่อาจเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนที่ธุรกิจด้านพลังงาน
 
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ หลังจากย้ายโครงการโรงไฟฟ้าไปก่อสร้างยังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา นายประยุทธ ให้ข้อมูลว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ได้ให้คนงานนำเครื่องจักรเข้าไปปรับสภาพพื้นที่ในที่ดินกว่า 500 ไร่ที่ซื้อไว้สำหรับทำโรงไฟฟ้า และทราบว่ามีความต้องการที่จะทำรั้วล้อมรอบพื้นที่ จากที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าได้เปิดให้เช่าพื้นที่ทำนา ทำให้ชาวบ้านต้องคอยเฝ้าระวังดูสถานการณ์ เพราะที่ดินเป็นของโรงไฟฟ้า แม้โครงการเก่าจะย้ายไป แต่จะประมูลใหม่วันไหนชาวบ้านก็ไม่รู้
 
ทนายชี้การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เป็นสิทธิในสังคมประชาธิปไตย
 
นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ นักกฎหมายจากสภาทนายความ และทนายจำเลยในคดี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวสิ่งที่สังคมจะได้จากคดีดังกล่าวว่า คำตัดสินของศาลจะเป็นบรรทัดฐานของสังคมและคดีความอื่นๆ ในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตต่อกิจการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน และประโยชน์ของสาธารณะ
 
นายแสงชัย กล่าวด้วยว่า สิทธิในการแสดงความเห็นเป็นรากฐานของประชาธิปไตย หากไม่มีตรงนี้ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้หมายความให้ทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือด่ากันได้อย่างเสรี เพราะมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว และการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าการพูดหรือการวิจารณ์ควรเป็นอย่างไร ตรงนี้มีขอบเขตซึ่งกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ติชมโดยประชาชนทั่วไป แค่นั้นก็มีสิทธิแล้วสำหรับกิจการที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม ต่อประโยชน์สาธารณะ
 
ส่วนผู้ที่คิดว่าตัวเองเสียหายก็มีสิทธิฟ้องร้องตามกฎหมาย มีหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ว่าการใช้สิทธิเป็นการใช้สิทธิที่ไม่ถูกต้อง แต่สำหรับการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเป็นหลักร้อยล้านนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องเอามาคิดว่าเป็นการใช้สิทธิที่ถูกต้อง สมควรหรือไม่อย่างไร เป็นหน้าที่ของสังคมที่ต้องช่วยกันตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป
 
“หลักก็คือกิจการสาธารณะต้องให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้หมายความว่าต้องผิดทุกเรื่องหรือต้องถูกทุกเรื่อง แต่ว่าถ้าไปจำกัดตัดสิทธิตรงนี้เมื่อไหร่ก็หมายความว่าสังคมนี้ขาดความเป็นประชาธิปไตย” นายแสงชัย กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net