Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมได้ติดตามอ่านข่าวเกี่ยวกับข้อเสนอของอาจารย์คณะนิติราษฎร์ในโอกาสครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร 2549 และครบรอบ 1 ปีการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคม ล่าสุดมีผู้ออกมาใช้วาทกรรมเรียก อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ว่าเป็น “กาลิเลโอหลงยุค” ทำให้ผมมานึกทบทวนว่า วาทกรรมดังกล่าวนั้นมีสาระหรือไม่เพียงใด หรือเป็นแค่ถ้อยคำที่นักกฎหมายการเมืองมักจะประดิษฐ์เวลากล่าวถึงฝ่ายตรงข้ามที่มีความคิดต่างจากตนเอง เมื่อมีนักกฎหมายเรียกนักกฎหมายคนหนึ่งว่า เป็นกาลิเลโอหลงยุค ทำให้ผมนึกถึงชีวประวัติช่วงหนึ่งของ กาลิเลโอ กาลิเลอี ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมาย Galileo Galilei (* 15 กุมภาพันธ์ 1564 - † 8 มกราคม 1642) นักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และนักดาราศาสตร์ ชาวอิตาลี ซึ่งชีวิตของเขาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมายอยู่ในช่วงหนึ่ง เนื่องจากเขาถูกดำเนินคดีในปี 1633 โดยฝ่ายศาสนจักรในช่วงยุคการปกครองของพระสันตปาปา Urban ที่ 8 อันที่จริงแล้วกาลิเลอีมีความขัดแย้งกับศาสนจักรมาตั้งแต่ปี 1613 – 1616 เนื่องจากเขาพยายามที่จะศึกษาแนวความคิดของโคเปอร์นิคัสให้สิ้นสงสัย ตามความเชื่อของโคเปอร์นิคัสเชื่อว่า พระอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบจักรวาล และโลกหมุนรอบพระอาทิตย์ นอกจากนี้โลกยังหมุนรอบตัวเองทำให้เกิดกลางวันและกลางคืนขึ้น ในปี 1631 กาลิเลโอได้เขียนจดหมายถึง Casteli นักบวชนิกายเบเนดิกต์ เรียกร้องให้มีการ “ตีความ” เกี่ยวกับถ้อยคำในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เสียใหม่ โดยคำนึงถึงแนวความคิดของโคเปอร์นิคัสดังกล่าวข้างต้น ในเบื้องต้นนั้นความขัดแย้งยุติลงในปี 1616 โดยการห้ามสอนแนวความคิดเกี่ยวกับโลกของโคเปอร์นิคัสดังกล่าว ในปี 1618 พระคาร์ดินัล Bellarmin ถึงกับออกมาเรียกร้องให้กาลิเลโอเลิกสอนหนังสือเลยทีเดียว ต่อมามีพระสันตปาปาองค์ใหม่ นั่นคือ พระสันตปาปา Urban ที่ 8 ซึ่งเป็นเพื่อนกับกาลิเลโอ กาลิเลโอก็ได้พยายามผลักดันแนวความคิดข้างต้นอีกครั้งหนึ่ง ในระยะแรกไม่ปรากฏว่ามีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งในปี 1632 กาลิเลโอได้เขียนบทสนทนาที่เรียกว่า “Dialogo sopra i due massimi sistemi” (บทสนทนาเกี่ยวกับระบบโลกที่สำคัญสองระบบ) ในบทสนทนาดังกล่าว เป็นบทสนทนาระหว่างบุคคลสองคนที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับแนวความคิดเกี่ยวกับโลกของโคเปอร์นิคัส และตัวแทนความเชื่อฝ่ายโคเปอร์นิคัสใช้วีธีการโต้แย้งที่ดีกว่าให้อีกฝ่ายสิ้นสงสัยได้ ปรากฏว่าหนังสือดังกล่าวถูกสั่งห้ามเผยแพร่ในทันทีทันใด หนึ่งปีหลังจากนั้นงานเขียนของกาลิเลโอก็ถูกสั่งห้ามทั้งหมด กาลิเลโอเองก็ถูกจับกุมและถูกฟ้องในข้อหาไม่ให้ความเคารพต่อศาสนจักรและข้อหานอกรีต พระคาร์ดินัลประจำศาลไต่สวน (ศาลไต่สวนนี้มีชื่อเสียงในด้านการใช้วิธีการทรมานในการสืบสวน) ได้กล่าวหากาลิเลโอว่า กระทำการขัดคำสั่งของพระคาร์ดินัล Bellarmin ที่ได้สั่งไว้ในปี 1616 ท้ายที่สุดกาลิเลโอต้องเพิกถอนข้อสมมติฐานของตนที่ว่าโลกกลม และดาวเคราะห์ทั้งหลายต่างก็หมุนรอบพระอาทิตย์ แต่ภายหลังจากการดำเนินคดี กาลิเลโอก็ยังกล่าวว่า “Eppur si muove” (แต่มัน (โลก) ก็เคลื่อนไหว) กาลิเลโอถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต แต่ได้รับอภัยโทษ โดยกำหนดเงื่อนไขให้กลับไปยังเมืองของตน และตกอยู่ภายใต้การกักบริเวณภายในบ้านพักของตนเองจนกระทั่งเสียชีวิต ในปี 1979 พระสันตปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ได้ประกาศตรวจสอบทบทวนคำพิพากษาคดีของกาลิเลโอใหม่ และในปี 1992 พระสันตปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ก็ได้ประกาศเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกาลิเลโอในกรณีดังกล่าว จากข้อพิพาทของนักกฎหมาย และที่ไม่ใช่นักกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ และมีผู้ออกมาให้สมญานามหนึ่งในคณะนิติราษฎร์ว่าเป็น “กาลิเลโอหลงยุค” อีกรอบหนึ่ง ถ้าความคิดของกาลิเลโอซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากโคเปอร์นิคัส ที่เห็นว่าโลกกลมและหมุนรอบพระอาทิตย์นั้นเป็น “สัจจะ” ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ก็ย่อมอาศัยเวลาในการพิสูจน์ว่า เป็นสัจจะหรือไม่ด้วย อันที่จริงข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ เป็นเพียงข้อความคิดเห็นหนึ่งที่ได้แสดงออกและเสนอต่อสังคมว่า ควรจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างไร และวิธีที่นิติราษฎร์เสนอก็ไม่ใช่วิธีที่ใช้กำลังป่าเถื่อนหรือไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองในปัจจุบันแต่ประการใด เมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางออกก็ย่อมเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีแนวทางในการตัดสินความแตกต่างนั้นไว้แล้ว ซึ่งนิติราษฎร์ก็ได้เสนอแนะเอาไว้ว่า ใช้วิธีการ “ประชามติ” นั่นคือตัดสินด้วยเสียงข้างมาก หากผลที่เกิดขึ้นจากข้อเสนอของนิติราษฎร์จะเป็นผลเสียหรือเป็น “เท็จ” คนส่วนใหญ่ที่ลงประชามติเห็นด้วยก็จะได้เรียนรู้ร่วมกันด้วยตนเองว่า การกระทำแบบนี้มันส่งผลเสียอย่างไร ไม่ใช่ให้ผู้ที่เห็นว่าตนมีความรู้ มีคุณธรรม ฉลาดกว่าคนอื่นมาเป็นคนคอยชี้ว่า อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี คุณโง่ คุณไม่รู้เท่าทันเหมือนผม คุณทำตามที่ผมคิดตามที่ผมสั่งก็แล้วกัน เดี๋ยวก็ดีเอง การคิดอย่างนี้มันก็ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยที่เป็นระบอบการปกครองที่ใช้บังคับอยู่ไม่ใช่หรือ กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด ประชาธิปไตยก็ไม่สามารถถูกเสกหรือเนรมิตขึ้นได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ และที่สำคัญประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้า “ประชา” ในรัฐนั้น ไม่ได้เรียนรู้บทเรียนประชาธิปไตยโดยตนเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net