Skip to main content
sharethis

ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนงาน สหภาพแรงงานในหลายประเทศได้นำประเด็นสุขภาพและความปลอดภัยเข้ามาอยู่ในกระบวนการจัดทำข้อเรียกร้องในการเจรจากับนายจ้าง โดยการบรรจุไว้ในข้อตกลงสภาพการจ้าง (Collective Bargaining Agreement-CBA) สำหรับประเทศไทย เราจะพัฒนาแนวทางนี้ได้อย่างไร เมื่อวันที่ 1 – 2 ต.ค. 54 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมกานต์มณี ประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ สหพันธ์แรงงานนานาชาติของคนงานในกิจการเคมี พลังงาน และเหมืองแร่ (ICEM) และโครงการวิจัยเรื่อง “การส่งเสริมบทบาทสหภาพแรงงานในการทำงานด้านสุขภาพความปลอดภัย” สนับสนุนโดย แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการสัมมนาเรื่อง “การเจรจาต่อรองร่วมของสหภาพแรงงานในประเด็นสุขภาพความปลอดภัย” ในหัวข้อ “กรรมการสหภาพแรงงาน กับประเด็นความปลอดภัย” นำเสนอโดย อำนวย งามเนตร นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้อธิบายถึงความสำคัญของประเด็นสุขภาพความปลอดภัยของคนงานในโรงงานที่อาจเกี่ยวโยงไปถึงการสร้างความไม่พอใจให้คนงานต้องถึงขั้นประท้วง และเกิดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ อำนวยย้ำว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของบริษัทฯ ใดๆ ก็ตามที่มีปัญหา และประเด็นเรื่องสุขภาพความปลอดภัยนั้น ตามกฎหมายก็มีการระบุคุ้มครองผู้ใช้แรงงานไว้แล้ว แต่สิ่งที่กฎหมายระบุนั้นเราต้องเข้าใจว่ามันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ การที่จะได้มาตรฐานที่สูงขึ้นไปอีกนั้นก็จำเป็นจะต้องผ่านการพูดคุยเจรจาต่อรอง ใช้กลไกสหภาพแรงงานชี้ทางให้บริษัทฯ เข้าใจถึงหลักเศรษฐศาสตร์ด้านความปลอดภัยที่ว่า “ค่าใช้จ่ายในการป้องกันอุบัติเหตุน้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการแก้ไข” ในหัวข้อ “อนุสัญญา ILO ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพความปลอดภัย และประสบการณ์การทำงานของสหภาพแรงงานในต่างประเทศ” นำเสนอโดย อรัญญา ภคภัทร ผู้ประสานงาน ICEM โดยอรัญญา ได้นำเสนอข้อมูลสถิติโดยคร่าวๆ จาก ILO ว่าในทุก 15 วินาที คนงาน 1 คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในงานหรือโรคจากการทำงาน, ทุก 15 วินาที คนงาน 160 คน ประสบอุบัติเหตุในงาน, ทุกวัน คนงาน 6,300 คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในงาน หรือโรคจากการทำงาน (มากกว่า 2,300,000 คนเสียชีวิตต่อปี) และมีการเกิดอุบัติเหตุในการทำงานงานมากกว่า 337 ล้านครั้งต่อปี ทั้งนี้ ILO สร้างมาตรฐานที่เกี่ยวกับสุขภาพความปลอดภัยมากกว่า 40 อนุสัญญาและข้อเสนอแนะ โดยอนุสัญญาฉบับที่สำคัญๆ มีดังนี้ ฉบับที่ 155 (ค.ศ.1981) สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน, ฉบับที่ 176 (ค.ศ.1995) ความปลอดภัยในงานเหมือง, ฉบับที่ 167 (ค.ศ.1988) ความปลอดภัยในงานก่อสร้าง, ฉบับที่ 120 (ค.ศ.1964) ความปลอดภัยในงานสำนักงาน, ฉบับที่ 170 (ค.ศ.1990) อนุสัญญาว่าด้วยสารเคมี, ฉบับที่ 161 (ค.ศ.1985) และฉบับที่ 187 (ค.ศ.2006) ส่วนข้อข้อเสนอแนะที่สำคัญได้แก่ ข้อเสนอแนะฉบับที่ 197 (ค.ศ.2006), ข้อเสนอแนะฉบับที่ 164 (ค.ศ.1981), ข้อเสนอแนะฉบับที่ 171 (ค.ศ.1985), ข้อเสนอแนะฉบับที่ 97 (ค.ศ.1953), ข้อเสนอแนะฉบับที่ 102 (ค.ศ.1956) และข้อเสนอแนะฉบับที่ 194 (ค.ศ.2002) สรุปตัวตัวอย่างใจความสำคัญของอนุสัญญา ILO ที่เกี่ยวกับความปลอดภัย … อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 (ค.ศ.1981) สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน - ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม/กิจการ รวมถึงกิจการบริการสาธารณะที่รัฐจัดให้กับประชาชน - ครอบคลุมคนงานทุกคนรวมถึงคนงานในกิจการของรัฐ - ครอบคลุมสถานประกอบการและสถานที่ที่คนงานอยู่หรือต้องเดินทางไปทำงานไม่ว่าสถานที่นั้นจะอยู่ภายใต้การดูแลของนายจ้างโดยตรงหรือไม่ - ครอบคลุมทั้งสุขภาพกายใจซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและชีวอนามัยในการทำงาน - มีการทบทวนสถานการณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัย โดยการระบุปัญหาหลัก, วิธีการแก้ปัญหา, แผนงานหลัก, และการประเมินผลการแก้ปัญหา - ในการบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีระบบการตรวจสอบที่เพียงพอและเหมาะสม ตลอดจนบทลงโทษที่เพียงพอสำหรับการละเมิดกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย - นายจ้างจัดให้มีกระบวนการ/ขั้นตอนการแจ้งการเกิดอุบัติเหตุ /โรคจากการทำงาน การรวบรวมรายงาน/สถิติการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละปี - การสอบสวนการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานโดยเฉพาะกรณีที่เห็นได้ว่ามีความร้ายแรง - ความร่วมมือของคนงานและสหภาพแรงงานกับนายจ้างในด้านความปลอดภัยในการทำงาน - นายจ้างต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอแก่สหภาพแรงงานในด้านมาตรการของบริษัทเพื่อสร้างความปลอดภัยในการทำงาน - สหภาพแรงงานสามารถถามหาข้อมูลจากนายจ้างและได้รับการปรึกษาหารือจากนายจ้างในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน - นายจ้างไม่สามารถบังคับให้คนงานมาทำงานในเงื่อนไขที่ไม่ปลอดภัย/เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ - มาตรการความปลอดภัยของนายจ้างต้องไม่เกิดภาระค่าใช้จ่ายแก่คนงาน (บทที่ 21) - อนุสัญญาฉบับนี้ ไม่มีผลในการแก้ไขอนุสัญญา ILO และข้อเสนอแนะฉบับต่างๆ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 176 (ค.ศ.1995) ความปลอดภัยในงานเหมือง - เหมือง ต้องได้รับการออกแบบ/ดำเนินงาน/รักษาโดยคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยเป็นเรื่องหลัก อนุสัญญาฉบับนี้ให้รายละเอียดว่าด้วยความรับผิดชอบสำหรับนายจ้างและคนงาน - คนงานต้องได้รับการเปิดเผยข้อมูลทั้งจากนายจ้างหรือรัฐบาล - ว่าด้วยสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบการ - ผู้แทนคนงานมีสิทธิเข้าร่วมในการสอบสวน และการพัฒนานโยบายและมาตรการด้านความปลอดภัย รวมทั้งสามารถติดตามสอดส่องดูแลเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานรวมถึงปรึกษา ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ - คนงานเหมืองมีสิทธิที่จะออกจากเหมืองเมื่อเกิดสถานการณ์ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพความปลอดภัยของเขา ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบอนุสัญญาต่างๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในสมาชิก ILO ถึงแม้ว่าอนุสัญญาเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยต่างๆ นั้นประเทศไทยยังไม่ได้ทำสัตยาบัน แต่ในฐานะสมาชิก ILO ก็ควรจะต้องปฏิบัติตาม แต่ก็พบว่าประเด็นความปลอดภัยหลายเรื่องในบ้านเรายังคงไม่เป็นไปตามที่ ILO กำหนดไว้ ตัวอย่างเช่นในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 (ค.ศ.1981) ที่ระบุไว้ว่าเรื่อง “สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน” ต้องครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม/กิจการ รวมถึงกิจการบริการสาธารณะที่รัฐจัดให้กับประชาชน, ครอบคลุมคนงานทุกคนรวมถึงคนงานในกิจการของรัฐ, ครอบคลุมสถานประกอบการและสถานที่ที่คนงานอยู่หรือต้องเดินทางไปทำงานไม่ว่าสถานที่นั้นจะอยู่ภายใต้การดูแลของนายจ้างโดยตรงหรือไม่, ครอบคลุมทั้งสุขภาพกายใจซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและชีวอนามัยในการทำงาน อรัญญากล่าวว่าแต่ในความเป็นจริงในบ้านเราแรงงาน sub-contract ในหลายแห่งยังถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสุขภาพ การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันที่แรงงานเหล่านี้ต้องเสียเงินเอง ต่างจากแรงงานประจำที่นายจ้างจัดหาให้ เป็นต้น นอกจากนี้ในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 ที่ระบุว่า “การปรับเครื่องจักร อุปกรณ์ เวลาในการทำงาน การจัดระบบงาน กระบวนการในการทำงาน ให้เข้ากับศักยภาพทางกายและใจของคนงาน” นั้นในความเป็นจริงโรงงานหลายแห่งเร่งระบบการผลิตโดยไม่มีการปรึกษาหารือกับคนงานด้วยซ้ำ ทั้งนี้อรัญญาตั้งคำถามกับนักสหภาพแรงงานที่เข้าร่วมสัมมนาว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุ หรือนายจ้างละเลยเรื่องความปลอดภัยของแรงงานแล้ว สหภาพแรงงานทำหน้าที่อะไรบ้าง ซึ่งในบางครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพความปลอดภัย เช่น เกิดพนักงานเสียชีวิตในโรงงาน เราก็มักจะคิดว่าเป็นเรื่องของตำรวจ เรื่องของราชการ แต่ทั้งนี้สหภาพแรงงานเป็นส่วนหนึ่งที่จะป้องกันและสืบสวนหาสาเหตุ เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องเหล่านี้อีกได้ อรัญญาเล่าต่อว่าเคยมีประสบการณ์ของสถานประกอบการณ์แห่งหนึ่ง คนงานคนงานถูกหินเจียรตัดนิ้ว แต่นายจ้างกลับโยนความผิดว่าเป็นเรื่องความประมาทของคนงานนำไปสู่การเลิกจ้าง แต่สหภาพแรงงานก็สามารถนำเขากลับเข้ามาทำงานภายหลัง รวมถึงการวิเคราะห์หาสาเหตุปัญหาเรื่องสุขภาพความปลอดภัยว่ามันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอะไรบ้าง อรัญญายกตัวอย่างกรณีของคนงานในสถานประกอบการ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งหนึ่ง คนงานถูกดูดเข้าไปในเครื่องจักรจนเสียชีวิต เมื่อทำการวิเคราะห์ถึงปัญหาต้นตอพบว่าอาจจะไม่ใช่อุบัติเหตุหรือความประมาทของตัวคนงาน เพราะจุดนั้นในอดีตมีคนทำงานสองคนคอยช่วยกัน แต่เมื่อบริษัทลดค่าใช้จ่าย ลดคนงานจึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น รวมถึงตัวอย่างกรณีการตกทะเลเสียชีวิตของคนงานในอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน พบว่าคนงานที่เสียชีวิตเป็นคนงานจ้างเหมาที่ได้รับการอบรมมาไม่เพียงพอ เป็นต้น อรัญญาทิ้งท้ายในประเด็นนี้ไว้ว่าการวิเคราะห์ปัญหาต้องทำให้ลึก และสหภาพแรงงานควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาด้านสุขภาพความปลอดภัยเหล่านี้ สามารถเข้าไปจัดการผ่านกลไกการเจรจาต่อรองกับนายจ้างได้อย่างไรบ้าง สำหรับประเด็นการทำงานของสหภาพแรงงานในต่างประเทศกับประเด็นความปลอดภัยนั้น อรัญญากล่าวว่าจากการที่ได้สอบถามข้อมูลเพื่อนนักสหภาพแรงงานในต่างประเทศให้ตัวอย่างการทำงานคร่าวๆ ไว้ว่า ในการเจรจาต่อรอง สหภาพแรงงานทำข้อตกลงเพื่อให้เกิดการคุ้มครองแก่คนงานที่มีปัญหาทางสุขภาพ และสหภาพแรงงานสามารถกำหนดว่าใครสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับสุขภาพของคนงาน และข้อมูลประเภทไหนที่ใช้อ้างอิงได้ และประเภทไหนที่ใช้อ้างอิงไม่ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การติดตามผลการรักษาทางการแพทย์ ต้องระวังว่าไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือผลที่ไม่คาดคิดเช่น นำไปสู่การเลิกจ้างคนงาน ด้วย ในหัวข้อ “การทำข้อตกลงสภาพการจ้างด้านความปลอดภัยของสหภาพแรงงาน” โดย อรรคพล ทองดีเลิศ อดีตประธานสหภาพแรงงานคนทำยาง แห่งประเทศไทย อรรคพลกล่าวว่านักสหภาพแรงงานต้องคำนึงถึงประเด็นสุขภาพความปลอดภัยและบรรจุเรื่องเหล่านี้เข้าไปในข้อตกลงสภาพการจ้างเจรจาต่อรองกับนายจ้าง นอกเหนือจากเรื่องตัวเงิน โบนัสต่างๆ ทั้งนี้กรรมการสหภาพแรงงานควรมีการศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541, พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554, พ.ร.บ. กองเงินทดแทน, พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นต้น ตัวอย่างข้อเรียกร้องเกี่ยวกับความปลอดภัยของสหภาพคนทำยางแห่งประเทศไทย หมวด 7 ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ข้อที่ 14 ขอให้บริษัทฯ จัดให้มีแสงสว่างตามทางเดิน / โรงจอดรถ ข้อที่ 15 ขอให้บริษัทฯ จัดให้มี ห้องส้วม / ห้องน้ำ / ที่ล้างมือ แยกชายหญิงให้เพียงพอ ข้อที่ 16 ขอให้บริษัทฯ จัดให้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อม เรื่องความร้อน ให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย พร้อมติดตั้งเทอร์โมมิเตอร์แสดงอุณหภูมิในบริเวณดังกล่าว ข้อที่ 17 ขอให้บริษัทฯ มีการปรับปรุงสภาพการทำงาน เรื่องการยกสิ่งของ/ วัตถุดิบให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย ข้อ 18 ขอให้บริษัทฯ จัดฝึกอบรมพนักงานใหม่และพนักงานที่ถูกย้ายงาน ข้อ 19 ขอให้บริษัทฯ จัดฝึกอบรมให้กับพนักงานที่เป็นเทรนเนอร์ทุกตำแหน่ง อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยระหว่างการสัมมนาได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยให้นักสหภาพแรงงานเสนอข้อตกลงสภาพการจ้างที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพความปลอดภัย แลกเปลี่ยนกันกับสหภาพแรงงานต่างๆ ด้วย อรรคพลสรุปว่าในการจัดทำข้อเรียกร้องต่างๆ เพื่อเจรจากับนายจ้างนั้น เราจะต้องมีข้อมูลไว้ประกอบการเรียกร้อง มีการสำรวจข้อมูลในอุตสาหกรรม เพราะบางครั้งในการเจรจานายจ้างมักอ้างเสมอว่าไม่มีที่ไหนเขามีข้อตกลงแบบนี้ แต่ถ้าเรามีข้อมูลว่าที่อื่นๆ มีนายจ้างก็ไม่สามารถจะอ้างแบบนี้ได้ และในเรื่องสุขภาพความปลอดภัยเราต้องชัดในข้อกฎหมายด้วย และมีการเสนอแนวคิดใหม่ๆ เปิดมุมมองใหม่ๆ เช่น มีข้อเรียกร้องให้สามีสารถลามาเฝ้าภรรยาที่ลาคลอดได้ เป็นต้น รวมถึงต้องสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสหภาพแรงงานอื่นๆ ด้วย และนักสหภาพต้องโยงประเด็นให้เป็น คุยกับนายจ้างในลักษณะให้ข้อมูลเขาก่อน เพราะเรื่องสุขภาพความปลอดภัยนั้นสามารถใช้เป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net