วาทกรรมทางการเมืองของพระสงฆ์ จาก 6 ตุลา 19 ถึง เมษา-พฤษภา 53

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มายาคติ “พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง” หากพิจารณาในเชิงโครงสร้าง (หรือมองแบบ realistic ไม่มองแบบ romantic) สถาบันสงฆ์ได้ถูกออกแบบให้ขึ้นต่อรัฐและมีบทบาทสนับสนุนรัฐโดยปริยาย เช่น มีระบบ “พระราชาคณะ” หรือระบบสมณศักดิ์ที่สืบทอดมาจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นระบบที่กำหนดให้พระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ หากเป็นการเมืองเพื่อสนับสนุนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้มีอำนาจรัฐ หรือสนับสนุนนโยบายของรัฐ แต่หากเป็นการเมืองในความหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ หรือตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจหรือต่อนโยบายรัฐ ย่อมเป็นการเมืองที่พระสงฆ์ไม่ควรยุ่ง หรือยุ่งไม่ได้ ฉะนั้น การพยายามอธิบายว่าพระสงฆ์บริสุทธิ์จากการเมือง หรืออยู่เหนือการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงเป็นคำอธิบายที่สังคมไทยพยายามสร้าง “มายาคติ” ขึ้นมาหลอกตนเอง จะว่าไปแล้ว หากมองพระสงฆ์แต่ละปัจเจกบุคคล พระสงฆ์ย่อมมีสองสถานะคือเป็นพระสงฆ์และเป็นพลเมืองของรัฐ แต่รัฐไทยไปจำกัดสิทธิต่างๆ ของพระสงฆ์ในฐานะพลเมือง เช่นห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น ในขณะที่พระสงฆ์ศรีลังกา (ที่เรานำพุทธศาสนามาจากเขา) มีสิทธิเลือกตั้ง ก่อตั้งพรรคการเมือง เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นตัวแทนประชาชนในการบริหารประเทศได้ พระพม่าออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเคียงข้างประชาชนประท้วงรัฐบาลเผด็จการได้ ขณะที่ในธิเบต พระสงฆ์เป็นผู้ปกครองรัฐเสียเอง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพุทธศาสนาไม่มีวินัยห้ามพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมืองไว้โดยตรง จึงเปิดช่องให้พระสงฆ์ใช้ดุลพินิจของตนเองว่า ควรจะยุ่งหรือไม่ยุ่งการเมืองในแง่ไหน อย่างไร เมื่อใช้ดุลพินิจต่างกันพระสงฆ์แต่ละประเทศจึงมีสิทธิทางการเมือง และเกี่ยวข้องกับการเมืองในลักษณะแตกต่างกัน ในบ้านเรานั้นนอกจากรัฐไทยจะจำกัดสิทธิทางการเมืองของพระสงฆ์ดังกล่าวแล้ว องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย คือมหาเถรสมาคมยังออกประกาศห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมทางการเมือง จัดอภิปราย เสวนาทางการเมืองทั้งในวัดและนอกวัด แต่ทว่าประกาศดังกล่าวไม่มีผลในทางปฏิบัติมากนัก เพราะแทบในทุกเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่สำคัญ เรามักเป็นพระสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองที่เป็นการละเมิดประกาศดังกล่าวอยู่เสมอ วาทกรรมทางการเมืองของพระสงฆ์ 6 ตุลา 19 และเมษา-พฤษภา 53 แต่บทความนี้จะพิจารณาเฉพาะการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองของพระสงฆ์ในลักษณะของการสร้าง “วาทกรรมทางการเมือง” ที่สะท้อน “ความหมาย” ของการเลือกฝ่ายและเป็นกลางทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ เช่น วาทกรรมที่สะท้อนการเลือกฝ่าย “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” ของ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19 “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) และวาทกรรมสะท้อนความเป็นกลาง เช่น “สันติวิธีคือทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง” ของ พระไพศาล วิสาโล สองวาทกรรมหลังเป็นวาทกรรมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เมษา-พฤษภา 53 เราจะพิจารณาแต่ละวาทกรรม ดังต่อไปนี้ 1. วาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” ของ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ หรือที่คนพูดกันจนชินปากว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” เป็นวาทกรรมที่โด่งดังมากเมื่อกิตติวุฑโฒ ให้สัมภาษณ์นิตยสารจตุรัส ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2519 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการประโคมข่าวผ่านสื่อของรัฐ และหนังสือพิมพ์ดาวสยามเวลานั้นว่า นักศึกษา ประชาชนที่ออกมาต่อต้านเผด็จการเป็นคอมมิวนิสต์ ขอคัดบทสัมภาษณ์บางตอนมาให้อ่านดังนี้ จตุรัส : การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือคอมมิวนิสต์บาปไหม กิตฺติวุฑฺโฒ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ ชื่อว่าถือเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั้นไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ (ว่า) เราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามารซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน จตุรัส : ผิดศีลไหม กิตติวุฑโฒ : ผิดน่ะมันผิดแน่ แต่ว่ามันผิดน้อย ถูกมากกว่า ไอ้การฆ่าคนคนหนึ่งเพื่อรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ ไอ้สิ่งที่เรารักษาปกป้องไว้มันถูกต้องมากกว่า แล้วจิตใจของทหารที่ทำหน้าที่อย่างนี้ไม่ได้มุ่งฆ่าคนหรอก เจตนาที่มุ่งไว้เดิมคือมุ่งรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ การที่เขาอุทิศชีวิตไปรักษาสิ่งดังกล่าวนี้ก็ถือว่าเป็นบุญกุศล ถึงแม้จะฆ่าคนก็บาปเล็กน้อย แต่บุญกุศลได้มากกว่าเหมือนเราฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ ไอ้บาปมันก็มีหรอกที่ฆ่าปลา แต่เราใส่บาปพระได้บุญมากกว่า จตุรัส : ฝ่ายซ้ายที่ตายหลายคนในช่วงนี้ คนฆ่าก็ได้บุญ กิตติวุฑโฒ : ถ้าหากฆ่าคนที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้วก็ได้ประโยชน์ จตุรัส : คนฆ่าฝ่ายซ้ายที่ไม่ถูกจับมาลงโทษ ก็เพราะบุญกุศลช่วย กิตติวุฑโฒ : อาจจะเป็นได้ ด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ (หัวเราะ) 2. วาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ซึ่งปรากฏทางทวิตเตอร์ของท่านเองราวกลางเดือนมกราคม 2553 เป็นช่วงเวลาที่กระแสสื่อมวลชนกำลังคาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนมีนา-พฤษภา 2553 จะมีการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง และเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงเหมือนเหตุการณ์สงกรานต์เลือดปี 2552 ในช่วงนี้สื่อเสื้อเหลืองก็เริ่มประโคมข่าวความรุนแรงของเสื้อแดงเป็นระยะๆ ต่อมาได้มีการนำข้อความดังกล่าวของ ว.วชิรเมธี ไปวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ และมีการนำเสนอในรายงานข่าวทาง Voice TV เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 ว่า วาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน” วรรคทองของ ว.วชิรเมธี โด่งดังไม่แพ้วาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ของ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ ในช่วง 6 ตุลา 19 จากนั้น ว.วชิรเมธี ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสาร GM ฉบับเดือนธันวาคม 2553 เกี่ยวกับที่มาของวาทกรรมดังกล่าวนี้ GM : ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์การทวิตเตอร์ของท่านชิ้นหนึ่งเป็นอย่างมาก นั่นคือการทวิตที่บอกว่า ‘ฆ่าเวลา บาปกว่าฆ่าคน’ อยากให้ท่านอธิบายว่า แท้จริงแล้วทวิตนี้มีความหมายที่แท้จริงอย่างไร ว.วชิรเมธี : จริงๆ แล้ว เรื่องนี้มันไร้สาระเสียจนอาตมาไม่อยากพูดอะไร อาตมากำลังสอนเรื่องคุณค่าของเวลา โดยยกตัวอย่างเรื่องราวขององคุลีมาลว่า พระองคุลีมาลฆ่าคนมาแล้ว 999 คน วันหนึ่งท่านพบกัลยาณมิตร คือพระพุทธเจ้า ท่านก็ได้มาบวช กลับตัวกลับใจ จนกลายมาเป็นพระอรหันต์ได้ สรุปได้ว่า องคุลีมาลยังกลับใจ แล้วคุณทำไมไม่กลับตัว นั่นคือเรื่องของการฆ่าคนยังมีโอกาสที่คนคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เมื่อเขาสำนึกผิด แต่เวลาทุกวินาทีเมื่อมันไหลผ่านเราไปแล้ว มันจะผ่านเราไปครั้งเดียวเท่านั้น ในชีวิตหนึ่ง คุณมีเงินหมื่นล้านแสนล้าน คุณไปต่อรองซื้อเวลากลับมาไม่ได้ เช่นวันนี้ที่เราคุยกัน คุณสามารถคุยกับอาตมาแบบนี้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในอนันตจักรวาลนี้ คุณไม่สามารถรีไซเคิลวันเวลานี้กลับมาได้อีกแล้วในชีวิตของคุณ ฉะนั้น เราควรจะใช้เวลาทุกวินาทีของคุณให้คุ้มค่าที่สุด ในเวลาที่อาตมาเทศน์หรือให้สัมภาษณ์ อาตมาก็พูดเท่านี้ละ แต่ก็มีนักวิชาการ ซึ่งคงจะอยากงับอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วก็ไปเล่นงานใครสักอย่างหนึ่ง สอยเอาบางท่อนบางประโยคไป แล้วก็ไปบอกว่า ว.วชิรเมธี เห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคนของรัฐบาล อาตมาได้อ่านนักวิชาการสรุปเช่นนี้แล้วก็เห็นว่า ทำไมนักวิชาการเดี๋ยวนี้ทำงานกันง่ายจังเลย คุณไม่ลองคิดดูหรือว่า พระรูปหนึ่งที่บวชมาตั้งแต่อายุ 13 จบเปรียญธรรม 9 ประโยค ฝึกปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ไม่เคยมีประวัติเห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคน จู่ๆ จะลุกขึ้นมาบอกว่าการฆ่าคนเป็นสิ่งที่ดี มันเป็นการสรุปที่มักง่ายจนอาตมาไม่อยากจะไปใส่ใจ เมื่อเราอ่านเนื้อใน เราได้เห็นบทสรุปที่แสนจะตื้นเขิน ดูเสมือนว่านักวิชาการเหล่านั้นกำลังแสดงความคิดเห็นต่อบ้านนี้เมืองนี้ แต่ถ้าเราอ่านดูจริงๆ มันเป็นเรื่องของการแสดงความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นต้องมีรากฐานทางวิชาการรองรับอย่างแน่นหนาเป็นหลักฐาน ส่วนการแสดงความรู้สึก แค่คุณไม่พอใจอะไรใคร คุณก็โพล่งหรือสบถออกมาแค่นั้น แล้วทุกวันนี้เราได้เห็นนักวิชาการหรือปัญญาชนทำแบบนี้กันมาก แล้วก็เรียกว่าฉันกำลังทำงานวิชาการ แล้วมันขายดีนะ ติดตลาด เพราะวัฒนธรรมของสังคมไทยเป็นวัฒนธรรมของความเชื่อ ไม่ใช่วัฒนธรรมแห่งการแสวงหาความรู้ นั่นทำให้นักวิชาการจำนวนมากสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาท่ามกลางซากปรักหักพังของเพื่อนร่วมชาติ ถ้าลองใช้ความคิดกันหน่อย ศึกษาประวัติของอาตมาดูหน่อย เขาไม่มีทางที่จะสรุปว่า ว.วชิรเมธี เห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคน บางคนก็บอกว่าผู้ที่รัฐประหารอาศัยชุดความคิดของ ว.วชิรเมธี ไปทำรัฐประหาร รัฐบาลก็อาศัยชุดความคิดของพระบางรูปนี่ละมาบริหารราชการแผ่นดินและเบียดเบียนประชาชนอย่างไม่รู้สึกผิด เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำอยู่มีความชอบธรรมทางศาสนาและศีลธรรมรองรับพอสมควร แต่ทำไมคนเหล่านั้นจะต้องอาศัยพระเด็กๆ รูปหนึ่งเพื่อทำงานทางการเมือง มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นอาตมาจึงรู้สึกว่า ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นปัญญาชนหรือนักวิชาการสรุปอะไรง่ายเกินไป พูดง่ายๆ คือปัญญาชนสมัยนี้ทำงานด้วยจินตนาการมากกว่าทำงานด้วยความรู้ 3. วาทกรรม “สันติวิธีคือทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง” ของ พระไพศาล วิสาโล ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่แสดงบทบาทเป็นกลางทางการเมืองด้วยการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีชัดเจนที่สุด ผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน การเขียนบทความ การเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านกิจกรรมบิณฑบาตความรุนแรง เป็นต้น ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองช่วง เมษา-พฤษภา 53 โดยท่านเชื่อว่า สันติวิธีคือทางแก้ปัญหาความขัดแย้งและสามารถเปลี่ยนเผด็จการให้เป็นประชาธิปไตยได้ ดังที่ท่านกล่าวในการให้สัมภาษณ์ผู้เขียนที่เคยเผยแพร่ในประชาไท ตอนหนึ่งว่า อาตมาเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสามารถเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีได้ แต่ว่าถ้ามันสันติไม่ได้มันก็ต้องเกิดความรุนแรง อันนี้ต้องทำใจหากทำเต็มที่แล้ว แต่อาตมาเชื่อว่าระบอบเผด็จการสามารถจะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยได้ด้วยสันติวิธี มันก็มีตัวอย่าง เช่น ชาวฟิลิปปินส์โค่นเผด็จการมาร์คอส ชาวรัสเซียโค่นคอมมิวนิสต์ด้วยสันติวิธี ในยุโรปตะวันออกระบอบคอมมิวนิสต์พังทลายก็โดยสันติวิธี ในเซอร์เบียเผด็จการมิโลเซวิส ก็ถูกประชาชนขับไล่ด้วยสันติวิธี คือประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์มากมายที่ทำให้เรายืนยันได้ว่า เผด็จการสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยได้ด้วยสันติวิธี วิจารณ์วาทกรรมทางการเมืองของพระสงฆ์ วาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” หรือ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” เป็นวาทกรรมของการเลือกข้างทางการเมืองอย่างชัดแจ้งที่สุด เพราะเจ้าของวาทกรรมดังกล่าวคือ กิตติวุฑโฒ เป็นสมาชิกระดับนำของ “กลุ่มนวพล” ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 บนจุดยืนของการปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยกล่าวหานักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่า เป็นคอมมิวนิสต์ที่ต้องการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ฉะนั้น การฆ่าคนที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์จึงได้บุญมากกว่าบาป หากพิจารณาการอ้างเหตุผลของกิตติวุฑโฒตามที่ให้สัมภาษณ์จัตุรัส จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการบิดเบือนหลักคำสอนของพุทธศาสนาเพื่อรับใช้ฝ่ายเผด็จการที่กุมอำนาจรัฐอย่างชัดแจ้ง และเป็นการใช้ข้ออ้างทางพุทธศาสนาสนับสนุน “การล่าแม่มด” หรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรงปราบปรามนักศึกษา ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ถือเป็น “ตราบาป” ที่พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งประทับไว้ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย วาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” หากพิจารณาเฉพาะความหมายในทางตรรกะถือว่าเป็นการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบที่เป็น “เหตุผลวิบัติ” (fallacy) เพราะสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบในฐานะเป็นสิ่งที่ “ถูกฆ่า” ไม่ใช่สิ่งที่มีลักษณะคล้ายกันหรือใกล้เคียงกัน ในทางตรรกะประโยคเช่นนี้จึงไม่ valid ส่วนในทางหลักธรรมที่ ว.วชิรเมธี อ้างว่า เพื่อให้รู้คุณค่าของเวลาโดยเปรียบเทียบองคุลีมาลฆ่าคนมา 999 คน ยังกลับใจและพัฒนาตนจนเป็นพระอรหันต์ได้ แต่การปล่อยเวลาผ่านไปเพียงหนึ่งนาทีก็เรียกกลับไม่ได้นั้น ย่อมไม่ใช่ข้ออ้างที่สรุปได้ว่า “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” เพราะการฆ่าคนตามหลักคำสอนพุทธนั้นถือว่าบาปแน่นอน ไม่ว่าจะฆ่าด้วยข้ออ้างใดๆ ก็ตาม แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนว่าการฆ่าเวลาเป็นบาป (การปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ คือการสูญเสียโอกาสบางอย่างเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องเป็นบาป หากเราไม่ใช้เวลานั้นๆ ไปทำบาป) แต่ปัญหาของวาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ไมใช่แค่ตรรกะวิบัติ หากแต่เป็นการเสนอวาทกรรมเช่นนี้ออกมาในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง แม้เจ้าตัวจะอ้างว่าไม่มีเจตนาสนับสนุนการใช้ความรุนแรงปราบปรามคนเสื้อแดง ก็อาจถูกมองได้ว่าเป็น “การพูดไม่ดูกาลเทศะ” โดยเฉพาะในช่วงก่อนหน้านั้นผู้พูดไปจัดรายการทาง ASTV เขียนบทความสนับสนุนการเลือกข้างว่า “ธรรมอยู่ฝ่ายไหน พระต้องเลือกอยู่ฝ่ายนั้น” ในบริบทที่พันธมิตรประกาศใช้ “ธรรมนำหน้า” ในการต่อสู้ทางการเมือง แถมยังเคยสัมภาษณ์ทางทีวีไทย ว่า “ประชาธิปไตยอำนาจเป็นของประชาชน แต่เราลืมถามว่าประชาชนมีศักยภาพพอที่จะใช้อำนาจหรือยัง” ยิ่งทำให้สังคมตีความ หรือเข้าใจว่า วาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” มีนัยขในทางการเมือง ฉะนั้น คำให้สัมภาษณ์ของ ว.วชิรเมธี ที่กล่าวหานักวิชาการทำนองว่ารู้สึกไปเอง คิดไปเอง หรือ “ปัญญาชนสมัยนี้ทำงานด้วยจินตนาการมากกว่าทำงานด้วยความรู้” โดยไม่ดูว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตนเอง (ว.วชิรเมธี) เป็นอย่างไร ตนพูดถูกหลักตรรกะ ถูกหลักธรรม ถูกกาลเทศะหรือไม่เป็นต้นนั้น จึงไม่น่าจะถูกต้องนัก ส่วนวาทกรรม “สันติวิธีคือทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง” แม้ไม่ใช่การตีความหลักการพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เรียกร้องทุกฝ่ายให้ใช้สันติวิธี และเห็นคุณค่าของการเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่า สันติวิธีตามแนวทางของพระไพศาล ไม่ลงลึกถึงความเป็นจริงของปัญหา และไม่ลงลึกในประเด็นความเป็นธรรมทางการเมือง โดยวาทกรรมดังกล่าว ผู้ใช้วาทกรรมนั้นจึงวิพากษ์และเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ละอคติ ความโกรธ ความเกลียดชัง และห้ามใช้ความรุนแรงต่อกันเท่านั้น ไม่แตะโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรม หรือ “อำนาจนอกระบบ” ที่เป็นต้นเหตุของความไม่เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด และในที่สุดโดยการใช้วาทกรรมดังกล่าวกลับทำให้สังคมมองเห็นเพียง “ความผิดบาป” ของคนเสื้อแดงที่ถูกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงฆ่ากันเองบ้าง เผาบ้านเผาเมืองบ้าง ส่วนรัฐนั้นกลับถูกมองว่าใช้ความรุนแรงโดยจำเป็น หรือควรแก่เหตุ ดังรายงานผลการสอบหาข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น ฉะนั้น โดยวาทกรรมดังกล่าวจึงไม่ได้ช่วยให้สังคมมองเห็น “ความผิดบาป” ของฝ่ายรัฐหรือโครงสร้างอำนาจนอกระบบที่กำกับรัฐอีกทีหนึ่ง อันเป็น “โครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรง” แม้จะเป็นวาทกรรมที่อ้างว่า อยู่บนจุดยืน “ความเป็นกลางทางการเมือง” แต่ก็ถูกตั้งคำถามได้ว่าเป็นความเป็นกลางที่ “ปิดตาข้างหนึ่ง” หรือไม่ จึงทำให้ผู้ใช้วาทกรรม “สันติวิธีคือทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง” ไม่เรียกร้องให้รัฐรับผิดชอบต่อกาสลายการชุมนุมทางการเมืองที่ทำให้มีคนตาย 91 (?) เป็นต้น แต่อย่างใด กล่าวโดยสรุป พระสงฆ์เซเลบริตี้ที่ประดิษฐ์วาทกรรมทางการเมืองในบริบทเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองตั้งแต่ 6 ตุลา 19 ถึง เมษา-พฤษภา 53 สะท้อนให้เห็นความวิปริตทางความคิด ตรรกะวิบัติ ขาดการใช้ปัญญาและกรุณาในบริบทของสถานการณ์ที่ควรใช้ ไม่ลงลึกถึงความเป็นจริงและความเป็นธรรม เพราะพระเหล่านี้ถ้าไม่สนับสนุน “อำนาจนอกระบบ” อย่างออกหน้าออกตา ก็สนับสนุนอย่างแอบแฝง และ/หรือไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพียงพอที่จะยืนเคียงข้างประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความเป็นประชาธิปไตย หมายเหตุ : ปรับปรุงจากบทความเรื่องเดียวกันที่เผยแพร่ในจุลสารปรีดี ฉบับเดือนตุลาคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท