ศรีสุวรรณ จรรยา: เอ็นจีโอพร้อมตอบโต้รัฐบาล เมื่อ(ร่าง)กฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม...แท้ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมาถือว่าเป็นวันสุดท้ายที่คณะรัฐมนตรีจะได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ในการที่จะได้ร้องขอไปยังรัฐสภาภายใน 60 วันเพื่อขอให้พิจารณา(ร่าง)กฎหมายที่ยังคงค้างการพิจารณาอยู่ในรัฐสภาที่ยังมิได้ให้ความเห็นชอบ ให้ได้กลับมาพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อไปได้ ภายหลังจากที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไป และมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศแล้ว ในรัฐสภาชุดก่อนหน้าที่จะมีการยุบสภามีการพิจารณา(ร่าง)พระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ... คงค้างอยู่ในชั้นกรรมาธิการของวุฒิสภา เมื่อมีการยุบสภาไปเสียก่อนร่างกฎหมายดังกล่าวจึงคงค้างการพิจารณาอยู่ในรัฐสภา จนกระทั่งมีสภาชุดใหม่ มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว หลายคนจึงคาดหวังว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้รับการยืนยันกลับไปยังรัฐสภาใหม่ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาและนำมาประกาศบังคับใช้ได้อย่างรวดเร็วต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศนั่นเอง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่าคณะรัฐมนตรีมิได้ร้องขอหรือยืนยันร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปยังรัฐสภาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลมิได้ให้ความสำคัญ หรือความสนใจต่อกรณีปัญหาดังกล่าวเลย จึงถือว่าเป็นการประกาศศึกกับภาคประชาสังคม และเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งประเทศขึ้นมาโดยเจตนา ถือเป็นการท้าทายบนสถานะและความรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ชื่อปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข สส.จังหวัดเลย อดีตวิศวกรโยธา ประจำกองควบคุมการก่อสร้าง สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายรักเกียรติ สุขธนะ) ที่เคยถูกกล่าวหากรณีพัวพันการทุจริตยามูลค่า 1,400 ล้านบาท แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนเอาผิดได้ การทำแท้ง(ร่าง)กฎหมายองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมฯที่รอคลอดมากว่า 10 ปีของรัฐบาล โดยโยนกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรฯ ยกร่างทำใหม่ สวนทางนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ถือเป็นการฆ่าตัดตอนพลังภาคประชาชนในการตรวจสอบโครงการลงทุนที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและสุขภาพ ก็ขอให้จับตาดูว่าความขัดแย้งรุนแรงจะเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าอย่างไร เพราะระยะเวลาเพียงไม่นานที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ แถลงนโยบายต่อรัฐภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ในเรื่องนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อ 5.3 ระบุว่า “รัฐบาลจะดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเร่งรัดการควบคุมมลพิษ โดยการปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ปรับปรุงกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงขององค์กรภาคประชาชน ผลักดันกฎหมายว่าด้วยองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม....” แต่เมื่อเข้ามาบริหารประเทศจริงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลับทำตรงกันข้าม โดยคณะรัฐมนตรี ได้โยนเรื่องกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรฯ ยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ หรือกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง โดยยึดถือตามร่างกฎหมายฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง หรือคณะกรรมการ 4 ฝ่าย หากทีมงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีความรู้และได้ศึกษาที่มาที่ไปในการผลักดันกฎหมายองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ก็จะพบว่า ร่างกฎหมายองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ได้ผ่านกระบวนการวิจัย การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศมาอย่างยาวนานนับสิบปี นับแต่รัฐธรรมนูญฯ ปี 2540 เป็นต้นมา และร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ วุฒิสภา ก็เป็นร่างที่เสนอโดยคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนตัวแทนภาควิชาการ และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อยู่แล้ว รัฐบาลอาจจะอ้างว่าปัจจุบันก็มีองค์การอิสระในรูปของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่แท้ที่จริงระเบียบดังกล่าวขัดต่อกฎหมายและที่สำคัญขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้งหลายประการ ส่วนจะขัดอย่างไร เดี๋ยวรออีกไม่นานจะฟ้องให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยหรือมีคำพิพากษาว่าผิดอย่างไร การมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรฯ ไปยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ จะทำให้ขั้นตอนการพิจารณากฎหมายนี้ล่าช้าออกไป และมีเป้าหมายแอบแฝงที่ต้องการปรับรื้อโครงสร้างองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมฯ โดยไม่ต้องการให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ในรูปแบบองค์กรระดับชาติ เพื่อลดทอนพลังในการตรวจสอบและถ่วงดุลการดำเนินโครงการหรือกิจกรรอาจรุนแรงฯ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 ร่างกฎหมายดังกล่าว มีหลักการเนื้อหาสาระสำคัญที่ผ่านการพิจารณาแก้ไขจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเป็นที่ยอมรับ หากรัฐบาลต้องการปรับแก้เนื้อหาในร่างกฎหมายก็สามารถดำเนินการได้ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาโดยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา การให้กระทรวงทรัพยากรฯ ไปยกร่างใหม่ ทำให้กระบวนการล่าช้าออกไปอีกมาก และอาจเป็นปัญหาต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา รวมทั้งอาจเกิดความล่าช้าต่อกระบวนการพิจารณาอนุมัติการพัฒนาและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล และโครงการลงทุนของเอกชน รัฐบาลคงลืมไปว่า ขณะนี้วิกฤตการณ์มาบตาพุดยังไม่คลี่คลาย ยังมีคดีความฟ้องร้องค้างกันอยู่ในศาลปกครองสูงสุดถึง 3 คดีใหญ่ ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง และเมื่อรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ไม่ให้ความสำคัญกับการผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้ผ่านรัฐสภาโดยเร็ว แต่กลับใช้เทคนิคชั้นเชิง ตามข้อเสนอแนะของข้าราชการในกระทรวงทรัพย์ฯหัวโบราณ และกฤษฎีกาที่มีแต่ผู้สูงอายุจำนวนมาก โดยมุ่งหวังดิสเครดิตภาคประชาสังคม และองค์กรเครือข่าย ก็เห็นทีที่จะต้องสร้างสอนบทเรียนอีกหลาย ๆ บทให้กับรัฐบาลที่ดีแต่โม้ชุดนี้ กับรัฐมนตรีหน้านี้กันต่อไป อย่าลืมนะครับว่ามีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่เป็นเมกกะโปรเจ็คหลายโครงการที่จะต้องจัดทำ EHIA ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง และตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2552 มีมากมายหลายโครงการ ที่สร้างความเดือดร้อนและเสียหายเกิดขึ้นกับประชาชน เช่น โครงการขยายอาคารและก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และพัทยา-มาบตาพุด โครงการแลนด์บริดจ์ภาคใต้ โครงการท่าเรือปากบารา โครงการโรงไฟฟ้า IPP ทั้งหลาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ทั้ง 10 สายใน กทม.และปริมณฑล โครงการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ฯลฯ ไม่รวมโครงการต่าง ๆ ในมาบตาพุด ที่อยู่ในคำสั่งศาลปกครองกว่า 67 โครงการด้วย โครงการเหล่านี้บางโครงการผ่าน EIA ไปแล้ว แต่ต้องกลับไปทำ EHIA ใหม่ทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นโครงการประเภทรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ต้องผ่านการให้องค์การอิสระพิจารณาเห็นชอบเสียก่อน แต่ถ้าไม่ทำก็มีทางเดียวเท่านั้นคือ การฟ้องร้องต่อศาล อยากเห็นนักว่ารัฐบาลชุดนี้และรัฐมนตรีกระทรวงนี้ จะมีปัญญาแก้ไขสถานการณ์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้หรือไม่...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท