Skip to main content
sharethis

เหมืองทองอัคราหวั่นโดนถอนบัตรส่งเสริมลงทุน (บีโอไอ) เหตุหมกเม็ดอีไอเอขยายโรงงานถลุงแร่ ซ้ำสร้างส่วนขยายก่อนมีใบอนุญาต เอ็นจีโอแฉบีโอไอแหกกฎข้อเสนอกรรมการสิทธิ์ฯ ห้ามส่งเสริมการลงทุนเหมืองแร่ทองคำ ให้บริษัทต่างชาติ ชี้ชาวบ้านรับผลกระทบอ่วม ไซยาไนต์ - สารหนู - ระเบิด เท่าตัว 8 ต.ค. 54 - มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจภายหลังเครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด กว่า 40 คน นำโดย นายวิม สรณะชาวนา เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการขยายโรงงานถลุงแร่ของบริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานคณะทำงานติดตามนโยบายเหมืองแร่ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด ได้ก่อสร้างโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อถลุงแร่ทองคำในปริมาณเพิ่มขึ้น จากกำลังการผลิตปัจจุบันที่ 8,000ตันต่อวันมา เป็น 32,000 ตันต่อวัน โดยขณะนี้ได้ก่อสร้างส่วนขยายเกือบเสร็จหมดแล้ว รอเปิดระบบเท่านั้น ทั้งนี้บริษัทมีการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวมาตั้งแต่ปี2552 เรื่อยมา โดยที่ยังไม่มีใบอนุญาตใดๆ ทั้งสิ้น กล่าวคือ ก่อสร้างไว้ก่อนแล้วขอใบอนุญาตตามหลัง ทั้งนี้ใบอนุญาตที่จะต้องขอเพื่อเปิดโรงงานส่วนขยายจะมีใบสำคัญอย่างน้อยสองรายการคือ หนึ่ง รายงาน EHIA เนื่องจากโรงงานถลุงแร่ทองคำเข้าข่าย มาตา 67 วรรคสอง และสอง ใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานจากกรมโรงงานแต่ทั้งสองใบยังไม่มี และยังไม่ได้ นั่นหมายความว่า ขณะนี้บริษัทอัคราฯ ก่อสร้างโรงงานส่วนขยายก่อนมีใบอนุญาต นายเลิศศักดิ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้บริษัทอัคราฯ กำลังดำเนินการจัดทำ EHIA ตามมาตรา 67 วรรคสอง โดยได้จัดเวทีPublic Scoping หรือเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและ Public Review หรือเวทีรับฟังความคิดเห็นการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อนำร่างรายงานฯนั้นมาเปิดอธิบายให้ชาวบ้านฟัง เมื่อ 11พฤษภาคม และ 14 กันยายน 2554 ที่ผ่านมาตามลำดับ ขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะปรับปรุงร่างรายงานฯให้สมบูรณ์และนำส่ง คชก./สผ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานฯ “จริงๆ แล้ว รายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์น่าจะมีเตรียมไว้แล้ว สิ่งที่ทำจึงเป็นแค่ขบวนการปาหี่ตบตาประชาชนมากกว่า เรื่องน่าห่วงกังวลก็คือ การก่อสร้างโรงงานส่วนขยายจะส่งผลให้ต้องทำเหมืองแร่ทองคำเพิ่มขึ้นจะต้องใช้วัตถุระเบิดเพิ่ม เพื่อให้ได้ปริมาณสินแร่เพิ่มขึ้น เพื่อเอาไปป้อนโรงงานถลุงแร่ ทุกอย่างจะเพิ่มหมด เมื่อใช้วัตถุระเบิดเพิ่ม แรงสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เสียง มลพิษจากการระเบิด การขนส่งสินแร่ป้อนโรงงาน การใช้ไซยาไนด์แยกแร่ สารหนูตามสภาพธรรมชาติที่แพร่กระจายขึ้นมาบนผิวดินแหล่งน้ำก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย” นายเลิศศักดิ์กล่าว ผู้ประสานงานคณะทำงานติดตามนโยบายเหมืองแร่ฯกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทอัคราฯได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนในส่วนของโรงงานส่วนขยายนี้แล้วเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 โดย ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการที่อัคราฯขอบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในส่วนของโรงงานส่วนขยายนี้ คือ ก่อนหน้านี้กรรมการสิทธิฯ ทำรายงานผลการตรวจสอบที่67/2549 เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2549 โดยมีมาตรการแก้ไขปัญหาข้อ 4.4 ว่า ‘ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณางดการส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทต่างชาติในกิจการเหมืองแร่ทองคำและเงินที่ดำเนินการในประเทศไทย ภายในเวลา 90 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้’ แต่บีโอไอใช้วิธีเลี่ยงว่าไม่ได้ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในส่วนของ การทำเหมือง/เหมืองแร่ แต่ออกบัตรส่งเสริมฯ ให้ในส่วนของ โรงงานถลุงแร่ เท่านั้น ผู้ประสานงานคณะทำงานติดตามนโยบายเหมืองแร่ฯกล่าวว่า สิ่งที่ตนคิดว่า บีโอไอผิดพลาด ก็คือ ถึงแม้จะออกบัตรส่งเสริมฯ ในส่วนของโรงงานก็ตามก็ไม่พ้นที่จะนำสินแร่จากส่วนของการทำเหมืองมาป้อนที่โรงงานเพิ่มขึ้นอยู่ดี แต่บีโอไอไม่สนใจว่าจะนำสินแร่มาจากที่ไหนก็ได้ ไม่ได้มองหรือสนใจปัญหาที่จะเกิดขึ้น บีโอไอไม่สนใจว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่เพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องการสินแร่มาป้อนโรงงานเพิ่มขึ้นจะทำอย่างไร บีโอไอบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะต้องคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ “นอกจากนั้นแล้วยังมีประเด็นที่สำคัญมากที่บีโอไอและอัคราฯหมกเม็ดอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ ในเงื่อนไขบัตรส่งเสริมฯ บอกว่า จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สผ./คชก.ในด้านมาตรการป้องกันและแก้ไขฯ ภายใน 6 เดือนนับแต่ออกบัตรส่งเสริมฯ โดยอัคราฯ และบีโอไอไปเอารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ที่ได้รับความเห็นชอบจาก สผ./คชก. เมื่อ 12 ก.พ. 2550 มาสวมหรือเป็นข้ออ้างหรือบิดเบือนออกบัตรส่งเสริมฯ ให้ ประเด็นก็คือ รายงานอีไอเอชาตรีเหนือฉบับนี้เป็นรายงานอีไอเอในส่วนของการขอขยาย 'การทำเหมือง' ไม่ใช่อีไอเอในส่วนขอขยาย'โรงงานถลุงแร่' แต่อย่างใด ถือเป็นการบิดเบือนแบบผิดฝาผิดตัว”ผู้ประสานงานคณะทำงานติดตามนโยบายเหมืองแร่ฯ กล่าว เขาระบุต่อว่า กรรมการสิทธิฯ เคยเรียกบีโอไอมาชี้แจงในประเด็นนี้เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 54 ที่ผ่านมา บีโอไอตอบว่าเนื่องจากอีไอเอฉบับแหล่งชาตรีเหนือ ที่ผ่านความเห็นชอบเมื่อ 12 ก.พ. 2550 ที่เอามาอ้างอิงเพื่อออกบัตรส่งเสริมฯให้ก่อสร้างโรงงานส่วนขยายแก่อัคราฯ ไปนั้นขณะนั้นเป็นช่วงที่ยังไม่ต้องทำ HIA ตาม 67 วรรคสอง แต่พอมามีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้โรงงานประกอบโลหกรรมแร่ทองคำถือว่าเป็นโครงการรุนแรงตาม 67 วรรคสองนั้น บริษัทอัคราฯ เลยอยากแสดงสปิริตต่อสังคมว่ารับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามรัฐธรรมนูญจึงตกลงปลงใจทำ EHIA ขึ้นมา เป็นเรื่องของอัคราฯ ไม่เกี่ยวกับบีโอไอแต่อย่างใด “แต่แท้จริงแล้วอัคราฯ กลัวถูกถอนบัตรส่งเสริมฯ มากกว่า นั่นก็คือ เอาอีไอเอแหล่งชาตรีเหนือในส่วนของการขออนุญาตขยายการทำเหมืองมาอ้างบิดเบือนให้บัตรส่งเสริมฯ ในส่วนของการขอขยายโรงงาน ซึ่งประเด็นนี้บีโอไอก็ต้องผิดด้วย ผิดที่ไม่ดูตาม้าตาเรือออกให้โดยผิดฝาผิดตัว” นายเลิศศักดิ์กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทอัคราฯได้รับประทานบัตรทำเหมืองอยู่ 2 เฟส หนึ่งคือ 'แหล่งชาตรี' หรือโครงการระยะที่1 อีไอเอผ่านความเห็นชอบไปเมื่อ 27 ธ.ค. 2542 และได้รับประทานบัตร5 แปลง 1,259 ไร่ (รวมใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายอีก1,575 ไร่ รวมเป็น 2,835ไร่) เมื่อ ปี 2543 สองคือ 'แหล่งชาตรีเหนือ' หรือโครงการระยะที่ 2 อีไอเอผ่านความเห็นชอบเมื่อ12 ก.พ. 2550 และได้รับประทานบัตร 9 แปลง 2,466 ไร่ เมื่อ 21 ก.ค. 2551 เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้าหากว่ารายงานอีไอเอประกอบการขอบัตรส่งเสริมฯ ในส่วนของโรงงานส่วนขยายได้รับความเห็นชอบไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2550 (อีไอเอแหล่งชาตรีเหนือที่ขอขยายการทำเหมืองแร่เพิ่มขึ้นจากแหล่งชาตรี) แล้วเหตุใดบริษัทอัคราฯจะต้องมาดำเนินการจัดทำ EHIA ใหม่เพื่อรองรับโรงงานส่วนขยายซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ผ่านขั้นตอน PublicReview ไปแล้วเมื่อวันที่14 ก.ย. 2554 ที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net