ปฏิบัติการยึดวอลสตรีท ยึดได้ ยืดยาก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในขณะนี้ ปฏิบัติการยึดถนนวอลสตรีท (Wall Street) อันเป็นที่ตั้งของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ต่างๆรวมทั้งตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกา กำลังเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก และแน่นอนว่าได้ทำให้หลายต่อหลายคนสนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว บ้างก็ได้รับแรงบันดาลใจจนประกาศเลยว่า ยุคใหม่ของอเมริกาได้มาถึงแล้ว คือยุคของการที่ประชาชนจะไม่ยอมก้มหัวอยู่ใต้อำนาจของระบอบทุนนิยมอีกต่อไป ฤาว่าระบอบทุนนิยมแห่งดินแดนทุนนิยม “ตัวพ่อ” จะเดินทางมาถึงคราล่มสลายแล้ว? ถึงแม้ว่าปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่ทางการเงิน” ของเหล่านักกิจกรรมและประชาชนต่างๆกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและคงยากที่จะฟันธงสรุปอย่างแน่นอนว่า ผลสุดท้ายปรากฏการณ์นี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงประการใดหรือไม่ แต่เราก็สามารถศึกษาประวัติศาสตร์เล็กๆน้อยๆของการประท้วงรูปแบบนี้ในโลกตะวันตกอย่างคร่าวๆดู เพื่อตัดสินเอาเองไปพลางๆก่อนว่า ประวัติที่ผ่านมานั้นบ่งชี้ในโอกาสความสำเร็จหรือล้มเหลว เราสามารถจัดได้ว่ากลุ่ม Occupy Wall Street เป็นหนึ่งในขบวนการที่ใช้วิธีการแบบ “direct action” หรือวิธีการประท้วงแบบแสดงออกผ่านกิจกรรมนอกระบบการเมืองทั่วไป (เลือกตั้ง) เพื่อชี้ให้สังคมเห็นถึงประเด็นปัญหาต่างๆและเพื่อเป็นการแสดงการต่อต้านไปในตัวด้วย โดยวิธีการแสดงออกสามารถเป็นไปทั้งตั้งแต่ปฏิบัติการโดยตรงเช่น เดินขบวน ปิดถนน ยึดตึกอาคาร หรือเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ต่างๆ โดยในโลกตะวันตกนั้นถือว่า direct action ได้เติบโตคู่ขึ้นมากับการเมืองประชาธิปไตยเสรีนิยม ก่อนหน้ากลุ่ม Occupy Wall Street ก็มีหลายกลุ่มได้พยายาม direct action กันมามาก เช่น กลุ่มประท้วงเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มต่อต้าน “โลกาภิวัฒน์” และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลต่างๆ คำถามคือ direct action เหล่านี้ ประสบกับความสำเร็จมากน้อยเพียงใด? ตัวอย่างล่าสุดที่ผู้เขียนต้องการเปรียบเทียบให้เห็นคือ direct action ของกลุ่มต่อต้านนโยบายทางงบประมาณของรัฐบาลอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งการตัดงบรัฐสวัสดิการ, การลดจำนวนข้าราชการ, และการขึ้นราคาค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ข้อที่สามนี่เองที่เป็นเหตุให้เหล่านักกิจกรรมนักศึกษาอังกฤษรวมตัวกันและจัดการ direct action ต่างๆเป็นเวลาหลายเดือน จนเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก แทบไม่แพ้กับการปิด Wall Street ครั้งนี้เลยทีเดียว มีการยึดอาคารเรียนและห้องสมุดในวิทยาลัยทั่วกรุงลอนดอน มีการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่(แต่จบที่ความรุนแรง) ตลอดจนมีการจัด “ม็อบดาวกระจาย” ไปประท้วงตามสถานที่ต่างๆ ในเดือนมีนาคมเมื่อต้นปีนี้ สหภาพแรงงานทั่วอังกฤษก็ยิ่งหนุนกระแสการต่อต้านของนักศึกษาเข้าไปอีกด้วยการนัดหยุดงานและเดินประท้วง จนกลายเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม direct action ต่างๆของเหล่านักศึกษา กลับไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด รัฐบาลสามารถผ่านนโยบายต่างๆที่นักกิจกรรมนักศึกษาต่อต้าน การยึดอาคารเรียนก็จบลงอย่างเงียบๆ มิหนำซ้ำ การเลือกตั้งสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยลอนดอน อันเป็นศูนย์กลางของ direct action นั้นก็ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของแกนนำนักศึกษาผู้ที่เคยเป็นหัวหลักหัวตอของ direct action ดังกล่าว ความจริงแล้ว ในประเทศตะวันตกนั้น แทบไม่สามารถที่จะหา direct action ที่สามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงจริงจังได้เลย การประท้วงการประชุมองค์การการค้าโลกในกรุง Seattle ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2000 อันโด่งดัง มิได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยน หรือแม้แต่การเดินขบวนต่อต้านสงครามอิรักในหลายประเทศตะวันตกก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลในประเทศของตนเปลี่ยนใจไม่เข้าร่วมสงครามแต่อย่างใด (โดยเฉพาะในกรุงลอนดอน ที่มีผู้เข้าร่วมถึง 1,000,000 คน) ตรงกันข้าม direct action กลับได้รับการสนับสนุนอย่างมาก และถึงกับสามารถพัฒนาเป็นการปฏิวัติได้ในภูมิภาคตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ หรือที่เรียกกันว่า Arab Spring โดยเฉพาะในตูนิเซีย อิยิปต์ ลิเบีย และซีเรีย – ความจริงแล้ว บรรดา direct action ในประเทศตะวันตกเสียเองที่พยายาม “เลียนแบบ” การปฏิวัติของ Arab Spring เองด้วย หรือไม่ก็วาดภาพการ direct action ของตัวเองว่าเหมือน Arab Spring (ดูแถลงการณ์ล่าสุดของกลุ่ม Occupy Wall Street เอง ก็พูดแบบนี้) ทำไม direct action จึงประสบความสำเร็จในโลกตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ มากกว่าโลกตะวันตก? ผู้รู้หลายท่านชี้ว่า ความล้มเหลวของ direct action อาจจะเป็นเพราะลักษณะหนึ่งที่ตามมาด้วยของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมในประเทศตะวันตก มากกว่าเป็นเพราะการที่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของ direct action เหล่านั้น กล่าวคือ หัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมคือ (1) ระบอบรัฐสภา และ (2) การเลือกตั้ง ดังนั้นความชอบธรรมในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมจึงต้องได้มาจากเพียง 2 ช่องทางที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น การปฏิวัติหรือเคลื่อนไหวนอกกรอบของการเลือกตั้งและรัฐสภา ถือว่าอยู่นอกกระบวนการความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม ความจริงแล้ว แม้แต่นักกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารและรัฐบาลอันเป็นผลผลิตของการรัฐประหารในไทยเอง โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง ก็คุ้นเคยกับแนวคิดที่ว่า “ประชาธิปไตย ต้องมาจากการเลือกตั้งและกระบวนการรัฐสภา” ดีอยู่แล้ว ในการปฏิวัติ Arab Spring สามารถกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีกระบวนการประชาธิปไตยรองรับอยู่ ความชอบธรรมของรัฐบาลต่างๆในประเทศเหล่านั้นตั้งอยู่บนบารมีและอำนาจของผู้นำประเทศเพียงอย่างเดียว จึงไม่เป็นการยากที่จะท้าทายความชอบธรรมนั้น ในทางกลับกัน ปัญหาของ direct action ในโลกตะวันตกคือบรรดานักกิจกรรมนั้นจะต้องฟันฝ่ากับโครงสร้างการเมืองอันได้รับการสักการะทั้งจากประชาชนอันมากในตะวันตกเองและนอกตะวันตกด้วยว่า เป็นช่องทางความชอบธรรมที่ “แฟร์” ที่สุดแล้ว ซึ่งก็คือการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางรัฐสภาและการเลือกตั้งตามที่กล่าวไว้ ทั้งหมดนี้ มิได้หมายความว่าประเด็นปัญหาที่กลุ่ม Occupy Wall Street ชี้ให้เห็นนั้นผิดแต่อย่างใด แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ “วิธีการ” ของกลุ่ม Occupy Wall Street นั่นเอง ในประวัติศาสตร์อเมริกันเองเคยผ่านวิกฤติการณ์ทางการเงินที่เลวร้ายกว่านี้มาแล้วในยุคทศวรรษ 1920-1930 แต่ก็มิได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมและประชาธิปไตยรัฐสภา-เลือกตั้ง อันเป็นหัวใจของประเทศสหรัฐอเมริกาเลย ถ้าหากการยึดถนน Wall Street มิได้ยืดเยื้อหรือก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆเลย และกลายเป็นเพียงอีกหนึ่งเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ direct action ในโลกตะวันตกต้องล้มเหลงลงไป – ตามที่ผู้เขียนเกรงว่าจะเป็นเช่นนั้น – เราก็ควรตั้งคำถามจริงจังให้มากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม ซึ่งไม่มีที่รองรับความเปลี่ยนแปลงที่มิได้เสนอโดยกลุ่มอำนาจใดๆเลยในระบบการเลือกตั้งและรัฐสภา แต่ถ้าหากการยึดครั้งนี้เกิดยืดขึ้นมา ผู้เขียนก็ขอแสดงความยินดีด้วยกับโฉมหน้าใหม่ของการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยตะวันตกเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท