Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

น้ำท่วมเป็นปัญหาประเภทใด

ก.ภัยธรรมชาติ
ข.การจัดการทรัพยากร
ค.ข้อมูลข่าวสาร
ง.การเมือง
จ.ถูกทุกข้อ

ตลอดเดือนที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวไหนจะสำคัญ ได้รับการพูดถึง ติดตามไปมากกว่าข่าว ‘น้ำท่วม’ ด้วยเพราะความเสียหาย ในปีนี้มากมายกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา ด้วยความป่วยไข้ทำให้ดิฉันไม่ได้ออกไปไหน วันๆ ได้แต่นั่งสูดน้ำมูกหน้าจอทีวี หรือไม่ก็จอคอมพิวเตอร์ จนทำให้กลายเป็นคนที่มีโอกาสได้ติดตามข่าวน้ำท่วมตลอดทั้งวัน เช้าจรดเช้าของอีกวัน ทั้งทางโทรทัศน์ เว็บไซต์ข่าว หรือบนเฟซบุ๊ก

เหมือนหนังม้วนเก่า ฉายซ้ำปีที่แล้ว ผิดแต่ว่าในปีนี้ความเสียหาย และมวลน้ำนั้นจำนวนมากมหาศาลกว่า ไทยทีวีสีช่องสาม ทั้งรายการของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ รายการข่าวสามมิติของคุณกิตติ สิงหาปัด และรายการยิบย่อยอื่นๆ ของช่องสามที่รายงานข่าวตลอดทั้งวัน รวมถึงการระดมเงินบริจาคผ่านครอบครัวข่าว ไทยทีวีสีช่องสาม ยังเป็น ‘พระเอก’ อยู่เช่นเดิม และผู้ร้ายก็ยังเป็นรัฐบาล หน่วยงานราชการ ที่ทำงานเชื่องช้า ต้วมเตี้ยม เหมือนดังเช่นในปีที่แล้ว ที่มีกระแสการเปรียบเทียบว่านายกฯ คือคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา หรือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กันแน่ เช่นเดียวกันในปีนี้ หลายคนก็ตั้งคำถามเดียวกันว่านายกฯ คือใคร สรยุทธ สุทัศนะจินดา กิตติ สิงหาปัด หรือว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นั่นเป็นเรื่องที่รัฐบาล (ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน) ต้องไปเรียนรู้จัดการเอาเอง ยิ่งลักษณ์ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ครบ 4 ปี หรือไม่ แต่เห็นๆ กันอยู่แล้วว่าน้ำท่วมทุกปี เพราะฉะนั้นในปีหน้า หนังม้วนเดิมก็จะเวียนกลับมาฉายอีก ดิฉันไม่มีความรู้มากพอจะเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ในเมื่อน้ำท่วมเป็นปัญหาภัยธรรมชาติ (ใครตอบข้อ ก.ถูกต้องนะค้า...แต่ได้คะแนนหรือเปล่าต้องรอดูกันต่อไป) แต่ยังมีเรื่องการจัดการน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง (ข้อ ข. ก็ถูกต้องค่ะ) หรือแม้กระทั่งกระบวนการเยียวยา ช่วยเหลือในขณะน้ำท่วม หรือหลังน้ำท่วม สิ่งที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี น่าจะทำให้หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงเห็นแล้วว่า มีรูโหว่รูรั่วตรงไหนอย่างไรบ้าง และจะจัดการกับมันอย่างไร และเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องตัดสินใจให้คะแนนรัฐบาลนี้ เก็บแต้มไว้เลือกตั้งคราวหน้าว่าสอบผ่านหรือไม่ อย่างไร

ในปีนี้จังหวัดอยุธยาดูเหมือนจะได้รับความเสียหายมากที่สุด (ดูจากการปักหลักทำข่าวที่นั่นเป็นหลัก) และมันก็ใกล้กรุงเทพฯ นิดเดียว จิตใต้สำนึก (หรือจิตไร้สำนึก) ของดิฉันก็คงเหมือนกับคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ทั่วไป ที่ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดว่า กรุงเทพฯ จะท่วมหรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไร ขนาดไหน พร้อมๆ กับการนั่งดูภาพรวมอื่นๆ ของประเทศ ว่ามีจังหวัดไหนท่วมแล้วบ้าง ส่งเอสเอ็มเอสไปให้กำลังใจ (ที่ได้บุญด้วยเพราะค่าเอสเอ็มเอสที่ส่งไปจะแปรไปเป็นเงินบริจาค) บริจาคเงินและสิ่งของไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม คอยอัพเฟซบุ๊กถึงข้อมูลข่าวสาร และความเห็นอกเห็นใจคนไทยที่ถูกน้ำท่วม และก่นด่ารัฐบาลไปพลางๆ ตามแต่จะมีประเด็น (ให้ด่า) หรือบางคนไม่มีประเด็นก็จะด่า (เดี๋ยวจะกล่าวถึงต่อไป)

ด้วยความอืดอาด ต้วมเตี้ยม การทำงานไม่เป็น หรืออะไรก็แล้วแต่ ของการจัดการปัญหาน้ำท่วม เยียวยา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ของหน่วยงานราชการ รัฐบาล ทำให้สายตาของเราเบนไปยังการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเป็นหลัก โดยเฉพาะไทยทีวีสีช่องสาม ที่นอกจากจะเกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว ยังดูเหมือนว่าเป็นหน่วยงาน ‘หลัก’ ในการช่วยเหลือ ประสานงาน ฯลฯ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกด้วย ดังที่หลายคนได้เห็นกันในข่าว (ช่องสาม ถ้าดูช่องอื่น อย่างไทยพีบีเอส ก็จะเห็นว่าไทยพีบีเอสเป็นอีกหน่วยงาน ‘หลัก’ เช่นกัน)

ก่อนอื่นดิฉันขอแสดงความชื่นชมในความทุ่มเท เสียสละ ของทีมงานข่าวทุกคน ที่นอกจากจะติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด (ลงไปแช่อยู่ในน้ำเลยทีเดียว เพื่อให้เห็นว่าท่วมจริงๆ นะ) แล้ว ยังช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างขยันขันแข็งอีกด้วย แต่การได้นั่งติดตามดูข่าวของดิฉันก็ทำให้เกิดความหงุดหงิด เมื่อภาพข่าวที่ได้เห็นในทุกๆ วันนั้น ไม่ต่างจาก ‘รายการคนค้นคน’ เพราะมันเต็มไปด้วย ‘ดราม่าสตอรี่’ (ขออนุญาตดัดจริตใช้คำทับศัพท์นะคะ) มากกว่าจะเป็นเนื้อความข่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณยายผู้โดดเดี่ยว ถูกลูกหลานทิ้ง ไม่ได้กินข้าวกินน้ำเป็นวันๆ และไม่มีใครไปช่วยเหลือ (ข่าวแบบนี้เราจะเห็นบ่อยๆ ในช่วงข่าวชีวิตจริงอันน่าเศร้า ที่มีทุกช่อง) สาววัยกลางคนชาวต่างด้าว ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ เพียงเพราะเธอเป็นชาวต่างด้าว (ถ้าอยากได้ข่าวแบบนี้ ติดต่ออาจารย์แหวว พันธุ์ทิพย์ ได้ คาดว่าคงมีเคสสตัดดี้ให้เป็นข่าวได้หลายปี—ด้วยความเคารพและเชิดชูอาจารย์แหววนะคะ ไม่ได้ประชดประชัน แม้หนูจะได้คะแนนวิชากฎหมายสัญชาติของอาจารย์มาน้อยนิดก็ตามที) ข่าวสาวท้องใกล้คลอด หรือแม้กระทั่งทำคลอดกันเอง ในขณะที่น้ำท่วม ข่าวชาวบ้านทะเลาะกัน (หรือทะเลาะกับเจ้าหน้าที่รัฐ) เรื่องเปิดคันกั้นน้ำ (แม้ข่าวนี้จะน่าสนใจที่สุดในการเปิดประเด็นเรื่อง ‘สิทธิการถูกน้ำท่วมอย่างเท่าเทียม ก็ตาม แต่ประเด็นข่าวไม่ได้ไปไกลขนาดนั้น นอกจากการทะเลาะและการประนีประนอมกัน) ฯลฯ

ดราม่าสตอรี่จำพวกนี้ กินเวลาการนำเสนอข่าวมากกว่าประเด็นอื่นๆ ไปเสียหมด ประเด็นสำคัญๆ ของข่าว ‘น้ำท่วม’ ที่ประชาชนควรจะได้รับรู้ เพื่อเตรียมตัวรับมือ ป้องกัน หรือได้เรียนรู้ว่าปัญหาน้ำท่วมนั้นมีเหตุปัจจัยที่หลากหลายกลับแตกกระจาย ไม่เป็นโล้เป็นพาย จับความไม่ได้ จนถึงขั้นโซเชียลเน็ตเวิร์กต้องตั้งแฟนเพจ ‘น้ำขึ้น ให้รีบบอก’ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแหล่งข่าวที่มีประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนประชาชนด้วยกันเอง นี่ยังไม่นับหน่วยงานราชการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลฯ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาล ที่เราหวังพึ่งไม่ได้
 


 แฟนเพจ "น้ำขึ้น ให้รีบบอก" 

ดราม่าสตอรี่เหล่านี้ แน่นอน...นัยหนึ่งมันเป็นข่าวที่ ‘ขายได้’ ไม่ต่างจากข่าวหนังสือพิมพ์หัวสีหน้าหนึ่ง แต่ถามว่าประชนชนได้อะไรจากการเสพข่าว ‘ดราม่าสตอรี่’ และประชาชนต้องสูญเสียอะไรจากการเสพข่าวเหล่านี้ การพูดเช่นนี้ดิฉันอาจจะถูกมองว่ามือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ที่สำคัญอาจถูกมองว่าเป็นเพียงคนกรุงเทพฯ ที่เห็นแก่ตัว (ที่ไม่ยอมถูกน้ำท่วม—แล้วจะกล่าวถึงประเด็นนี้อีกที) ต้องการรับรู้ข่าวเพียงว่าน้ำจะมากรุงเทพฯ เมื่อไหร่ จะได้รับมือ ป้องกันได้ทันท่วงที หากยอมรับผิดไว้ครึ่งหนึ่ง แล้วอีกครึ่งหนึ่งขอบอกว่านั่นก็ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯ รวมถึงคนในที่อื่นๆ ทั้ง คนที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อน ในป่าไกลปืนเที่ยง คนที่ถูกดินถล่ม น้ำป่าทะลัก ฯลฯ ควรจะได้รับรู้ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นไม่ใช่หรือ ? ในขณะที่น้ำท่วมอยู่ที่ที่หนึ่ง ทำไมต้องไปปักหลักกันเพื่อรายงานแต่เรื่อง ‘ดราม่าสตอรี่’ ในที่ที่นั้นแต่ละวันด้วย และนั่นทำให้ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญๆ ที่ประชาชนในที่อื่นๆ หรือพื้นที่ที่กำลังจะเสี่ยงภัยหดหายไป เหลือเพียงแค่ชิ้นข่าวประกอบเรื่องดราม่าสตอรี่ ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นการรายงานข่าวเพื่อแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า

หลายคนอาจคิดว่า ดีแค่ไหนแล้วที่ ‘เขา’ ทำทั้งหน้าที่ผู้สื่อข่าว และผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปพร้อมๆ กัน และประเด็นเรื่องการช่วยเหลือผู้คน หรือเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ ก็ควรจะมาก่อนประเด็นข่าวด้วยซ้ำไป ดิฉันจะมากล่าวโทษเรียกร้องอะไรนักหนา ทำไมไม่ไปเรียกร้องก่นด่ากับรัฐบาลโน่น แน่นอนว่า...หาก ‘เขา’ ไม่ได้มีหน้าที่ ตำแหน่ง ‘ผู้สื่อข่าว’ ดิฉันก็จะไม่เรียกร้องในเรื่อง ‘ประเด็นข่าว’ จากเขา ดิฉันไม่ได้เรียกร้องความเป็นซูเปอร์ฮีโร่จากนักข่าว หรือละครน้ำเน่า ดราม่าดูแล้วน้ำตาคลอ ต้องรีบกดเอสเอ็มเอสส่งเข้าไปในรายการ หรือรีบบริจาคเงิน ด้วยความสงสาร และในขณะเดียวกัน หน่วยงานที่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูลข่าวสาร หรือการให้ความช่วยเหลืออย่างหน่วยงานราชการ รัฐบาลก็สมควรได้รับคำตำหนิมากกว่าหลายเท่าตัวนัก!!!

ปัญหาเรื่องน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นปัญหาเรื่อง ‘ภัยธรรมชาติ’ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมกันสร้างขึ้นไม่มากก็น้อยตามคำอธิบายเรื่องโลกร้อนแล้ว ยังเป็นปัญหาเรื่องการจัดการ (หรือละเว้นที่จะจัดการ) ทรัพยากรน้ำ หรือแม้กระทั่งปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสารอีกด้วย ในการนำเสนอข่าวอย่างน้อยนิด และไม่ปะติดปะต่อ รวมถึงการเก็บงำความจริงบางอย่างของทางราชการ ทำให้เกิดคำถามหลายคำถามตามมาไม่หยุด ไม่ว่าจะเป็นทำไมกรุงเทพฯ ถึงน้ำไม่ท่วม ทำไมจึงมีการผันน้ำเข้าจังหวัดนี้ ไม่เข้าจังหวัดนี้ เข้าพื้นที่นี้ ไม่เข้าพื้นที่นี้ ปัญหาเรื่องตรงนั้นท่วม ตรงนี้ไม่ท่วม จึงใช่เพียงแค่ปัญหา ‘ภัยธรรมชาติ’ เพียงอย่างเดียว แต่มันยังซับซ้อนไปมากกว่านั้น

ตัวอย่างเช่น ในรายงานข่าวการเถียงกันของชาวบ้านที่อยุธยา ที่พยายามจะพังคันกั้นน้ำ เพราะเขตในบ้านตนเองท่วมขังอย่างสูง แต่ทางราชการไม่ยอมให้พัง เพราะกลัวน้ำไหลเข้าสู่เศรษฐกิจของจังหวัด ยังคำถามมายังชาวบ้านเหล่านั้นว่า สิทธิความเท่าเทียม หรือไม่เท่าเทียมในการถูกน้ำท่วมวัดกันที่ตรงไหน เนื่องจากในปีที่แล้ว (รัฐบาลที่แล้ว) พวกเขายอมให้น้ำท่วมเขตหมู่บ้านตนเอง แต่ก็ไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่สมควรจะได้ ปีนี้เขาจึงต้องลุกขึ้นสู้ เพราะเกรงว่าความเสียหายที่ยินยอมจะไม่ได้รับการเยียวยาอีก และมันก็สุดจะเกินทนแล้ว

สิทธิความเท่าเทียม หรือไม่เท่าเทียมในการถูกน้ำท่วมนี้ รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วยหรือเปล่า ?

หรือการผันน้ำเข้าพื้นที่ทำการเกษตร ที่บางจังหวัด (บางพื้นที่) น้ำต้องท่วม บางจังหวัด (บางพื้นที่) น้ำไม่ท่วม ในขณะที่รายการข่าวรายการหนึ่งนำนักวิชาการมาพูดถึงประเด็นนี้ แล้วโยนบาปไปยังเกษตรกรว่า ก็รู้แล้วว่าเขาไม่ให้ทำนาปรัง ยังจะทำอีก แล้วเห็นไหมว่าพอน้ำท่วม ก็ต้องมาเยียวยารักษา เรียกค่าเสียหายกัน ฯลฯ (เราจะไม่ไปไกลถึงประเด็นเรื่องนาปรังนาปี เดี๋ยวยาว) ทำไมเรา หรือ หน่วยงานราชการ หรือรัฐบาล ไม่ออกมาพูดกันตรงๆ เว้ากันซื่อๆ ไปเลยว่า พื้นที่นี้จะให้น้ำท่วม ก็จ่ายเขาไป (ส่วนจะนำเงินจากไหนมาจ่าย ก็ค่อยมาพูดคุยกันอีกทีว่า พื้นที่ของคนที่หลีกเลี่ยงการถูกน้ำท่วม อย่างเขตเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ หรือกรุงเทพฯ นั้น ควรต้องจ่ายภาษีน้ำท่วมเพิ่มหรือไม่) ซื้อพื้นที่น้ำท่วมไปเลยว่าปีนี้จะซื้อพื้นที่น้ำท่วมตรงนี้ จะจ่ายเท่านี้ พอใจหรือไม่ คุ้มกันไหม ไม่ใช่มั่วหลอกกันเรื่องภัยธรรมชาติ การผันน้ำ การคาดคะเนปริมาณน้ำผิดพลาด หรือทิศทางน้ำ กันอย่างเช่นทุกวันนี้ ถึงเวลาที่เราจะทำอะไรตรงไปตรงมากันหรือยัง หรือจะรอให้มันกลายเป็นปัญหาที่มีเงื่อนงำซ้ำซากกันต่อไป (และคนที่โดนก็เป็นคนพื้นที่ ‘เดิมๆ’ ทุกปีร่ำไป และคนที่ไม่โดนด้วยเงื่อนงำนั้นก็ยังไม่รู้สึกตัวอยู่ร่ำไป)

หรือว่าระบบที่คนที่หนึ่งบริจาคเงินเพื่อไปช่วยคนที่หนึ่งนั้นมัน ‘สวยงาม’ (สำหรับใคร ?) กว่าการมานั่งพูดกันตรงๆ เรื่องการจ่าย (ภาษี?) หรือเช่าพื้นที่สำหรับน้ำท่วม ?

นี่ยังไม่นับรวมปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือน ทั้งเรื่องฝนฟ้า การปล่อยน้ำ ทิศทางน้ำ ฯลฯ ที่ไร้ประสิทธิภาพ ทั้งของหน่วยงานราชการ รัฐบาล ที่ดูเหมือนว่าประเทศนี้เมืองนี้ไม่มีหน่วยงานรัฐอยู่เลย หรือมีอยู่ก็เพียงแค่ชื่อ ไม่มีใครทำงาน ไม่มีการสื่อสาร (หรือสื่อสารด้วยภาษาที่ไม่เข้าใจได้ง่าย) ทั้งๆ ที่ประเทศไทยไม่ได้เพิ่งจะมีน้ำท่วมในปีนี้ แต่หน่วยงานทางราชการทั้งหลายที่ไม่ได้เปลี่ยนคนทำงานไปตามรัฐบาลที่ได้ตำแหน่งมา แต่อยู่มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เผลอๆ อาจจะผจญเรื่องน้ำท่วมมาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบด้วยซ้ำ แต่ก็ยังไม่เรียนรู้ (พูดอย่างนี้เดี๋ยวก็หาว่าดิฉันเข้าข้างรัฐบาลอีก ขอบอกว่าเห็นถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลว่า ทำงานไม่เป็น สั่งการไม่ได้) รวมถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ที่ไม่มีแก่นสารของเรื่อง ที่จะช่วยให้สามารถได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นำไปใช้ได้ หรือเป็นการป้องกันเตือน อย่างตรงไปตรงมา และเป็นประเด็นหลัก ประเด็นใหญ่แล้ว ก็เห็นจะมีแต่เรื่องดราม่าสตอรี่ทั้งหลาย ข่าวแจกถุงยังชีพ ข่าวดาราลงไปช่วยน้ำท่วม ข่าวนายกฯ ลงพื้นที่ มีแต่ข่าว Post-น้ำท่วมทั้งนั้น ทั้งๆ ที่เรามีทั้งเขตน้ำท่วม กำลังจะท่วม เสี่ยงที่จะท่วม แต่สุดท้าย ทุกพื้นที่จะถูกรายการเมื่อ ‘น้ำท่วม’ แล้วทั้งหมด

หลังจากผิดหวังจากการดูข่าวทางทีวีแล้ว ดิฉันจึงหันหน้ามาพึ่ง (เล่น) เฟซบุ๊ก โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ว่ากันว่ามีพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนสังคมในปัจจุบัน แต่แล้วก็ต้องผิดหวังไม่ต่างกัน เมื่อมันนั้นเต็มไปด้วย ‘สลิ่มบันเทิง’ อย่างการโพสต์ข้อความประมาณว่า “verb ช่องที่ 1 คือ ยิ่งลักษณ์ ส่วน verb ช่องที่สองคือ ยิ่งเละ” แต่นั่นก็พอจะเข้าใจได้ และมันไม่มีค่าพอที่ควรจะใส่ใจ โดยเฉพาะหากเรานึกว่าเฟซบุ๊กก็เป็นเพียงกระดานการระบายความรู้สึกส่วนตัวบนโลกไซเบอร์ ไม่อาจเรียกร้องตรรกะ เหตุผล หรือคำอธิบายที่ลึกซึ้งอะไรมากกว่านั้นได้

แต่เพียงไม่นาน ก็มีภาพอันได้รับการแชร์ต่ออย่างมากมาย และกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเฟซบุ๊ก นั่นก็คือภาพการเปรียบเทียบการลงพื้นที่ของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับนายกฯ คนปัจจุบัน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รูปหนึ่งของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เดินลุยน้ำ ในขณะที่อีกรูปที่นำมาแปะข้างๆ กันเพื่อเปรียบเทียบเป็นของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่เดินบนสะพานไม้ ซึ่งก็ตามมาด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์อันหลากหลาย หลากรส ไม่ว่าจะเป็น

“ดูนายกฯ ไพร่สิ ทำตัวอย่างกับอมาตย์, ไม่รู้จะไปให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อนทำไม, เธอไปเดินแฟชั่นเหรอ, เธอคิดว่าอยู่บนแคตวอล์กหรือไง, เห็นได้อย่างชัดเจนว่าใครตัวจริง, สมน้ำหน้าพวกที่เลือกมันเข้ามา เป็นไงล่ะ เดินอย่างสวยเลย” ฯลฯ คอมเมนต์คงมีเยอะกว่านี้ (มันส์และหยาบคายมากกว่านี้) ตามแต่เฟซบุ๊กใครมันที่ได้รับการแชร์มาต่อๆ กัน

คงไม่ต้องอธิบายกันมากความ เพราะคนที่สติดีอยู่บ้าง ก็คงเห็นได้ว่ามันไม่ใช่ประเด็นเรื่องน้ำท่วม แต่เป็นประเด็น (การดิสเครดิตทาง) การเมือง และคนที่พอจะมีสติอยู่บ้าง ไม่ได้มืดบอดไปด้วยอคติและความเกลียดชังเลือกข้าง ก็คงจะรู้ได้ว่าภาพๆ เดียวไม่อาจแทนความจริงทั้งหมด และในการลงพื้นที่ในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็คงไม่มีเพียง ‘ภาพ’ นี้ภาพเดียว คงมีหลากร้อยหลายพันภาพที่ถูกผู้สื่อข่าวบันทึกและนำมาลงเพื่อเขียนข่าว ทั้งภาพที่ยิ่งลักษณ์ลุยน้ำ อภิสิทธิ์เดินบนสะพานไม้ หรือนั่งเรือ ฯลฯ แต่มันก็ถูก ‘ตัดตอน’ ความจริง (เช่นสะพานนั้นถูกสร้างขึ้นมาอยู่แล้ว เดินบนสะพานจะผิดแปลกอะไร หรือนายกฯ อาจกำลังมีประจำเดือน จึงลุยน้ำไม่ได้) นำมาใช้และนำมาอธิบายด้วย ‘ข้อความ’ หนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยอคติและความโง่เขลาโดยแท้

เพราะเพียงไม่นานหลังจากก็มีภาพ ‘ภาพอีกชุด’ ถูกนำมาตัดต่อคู่กัน และวางไว้เคียงข้างภาพเดิม เพื่อสั่งสอนพวกสลิ่มเฟซบุ๊กทั้งหลาย ว่าหากเรานำอีกภาพมาวางต่ออีกภาพ จากจำนวนหลายร้อยหลายพันภาพที่ถูกถ่าย ก็จะได้ ‘ควาหมาย’ (ซึ่งถูกขับเน้นด้วยข้อความอีกที) อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายที่ตรงกันข้ามกับการเปรียบเทียบในภาพชุดแรกก็ตามที แต่ยังดีที่ผู้ที่ทำภาพเปรียบเทียบสองชุดล่าสุดนั้น เป็นผู้มีสติและรู้เท่าทันอคติและความลำเอียงมืดบอดอย่างยิ่งยวด จึงไม่ได้ทำมาเพื่อดิสเครดิต หรือจ้องจะทำลายใคร (เพราะไม่ได้นำเสนอเพียงภาพตัดต่อสองรูปที่สื่อนัยยะหนึ่งอย่างโดดๆ อย่างที่ชุดแรกทำ แต่นำมาวางคู่กับอีกสองภาพแรกที่ถูกนำมาตัดต่อเพื่อสื่อนัยยะหนึ่งก่อนหน้านี้) แต่มีข้อความที่สุดแสบสันไปยังเหล่าสลิ่มเฟซบุ๊กทั้งหลายที่แชร์และสนุกสนานในการก่นด่ากับภาพชุดแรกไปเรียบร้อยแล้ว ข้อความมีว่า

“เบิ่งเนตรดูบ้างก็ดีสำหรับคนที่ยังไม่หลุดพ้นจากความเกลียดชัง แล้วอินการเมืองแบบเลือกที่รักมักที่ชัง”
 

แน่นอนว่า ยิ่งลักษณ์ก็อาจเดินสะพานบ้าง นั่งเรือบ้าง ลุยน้ำบ้าง เช่นเดียวกันกับอภิสิทธิ์ และนั่นไม่ได้หมายความว่า ใครทำตัวเยี่ยงไพร่ ใครทำตัวเยี่ยงอำมาตย์ (นี่เป็นอีกหนึ่งกรณีของสังคมที่นิยมแต่ ‘เปลือก’ คือยกมาแต่รูปลักษณ์ คือคำว่าไพร่กับอมาตย์โดยไม่ดูบริบททางการเมืองที่วาทกรรมนี้ถูกหยิบยกมาใช้ เช่นเดียวกันกับกรณีนักเรียนแต่งชุดนาซี หรือคนในเฟซบุ๊กไปเล่นโปรแกรมหน้าเหมือนหมาของเมืองนอกที่เขาเอาไว้หาคนรับอุปการะสุนัขจรจัด ที่สะท้อนการนำมาใช้แต่ ‘เปลือก’ โดยนำมาซึ่งสารัตถะของสิ่งๆ นั้นด้วย) และการจะตัดสินว่าใครแก้ปัญหาได้ดีกว่าใคร นอกจากเราๆ ท่านๆ บนเฟซบุ๊กที่ต้องเก็บคะแนนไว้ในใจเผื่อการเลือกตั้งคราวหน้าแล้ว ชาวบ้านที่เขาต้องลุยน้ำท่วมจริงๆ ที่ไม่ได้มีเวลามานั่งทำเรื่องพรรค์นี้บนเฟซบุ๊ก เขาก็น่าจะมีคะแนนในใจอยู่แล้ว และเราทั้งหมดก็จะใช้สิทธินั้นผ่านการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยในการเลือกตั้งครั้งหน้า

สนามการเมืองเรื่องน้ำท่วมบนเฟซบุ๊กจึงดุเดือดและน่าสนใจ แต่สำหรับดิฉันมันน่าสนใจน้อยลง (และเสียใจมากขึ้นที่หลายๆ คนไร้สติไปอย่างง่ายดายเช่นนั้น) เพราะมันไม่ใช่การพูดถึงเรื่องที่ควรจะพูดกันตรงๆ และเป็นประโยชน์ อย่างเช่น การจัดการน้ำ ประเด็นเรื่องการปิดบัง หรือไม่บอกความจริงของข้อมูลข่าวสาร หรือการรายงานข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล และสื่อมวลชน ฯลฯ และหากปัญหาน้ำท่วมในปีนี้มันจะให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง มันก็สมควรจะครอบคลุมทั้งข้อ ก. ข. ค. ง. ไม่เช่นนั้น ปีหน้า น้ำท่วมก็ยังเป็นเพียงแค่ ‘ภัยธรรมชาติ’ และเรา (ชาวกรุง) ทั้งหลายก็แค่นั่งดูข่าวดราม่าสตอรี่ รู้สึกเห็นใจสงสาร ส่งเอสเอ็มเอส และเงินบริจาค เช็กเฟซบุ๊ก โพสต์อะไรนิดๆ หน่อยๆ และหวังว่ากรุงเทพฯ น้ำจะไม่ท่วม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net