เลิกมองพระสงฆ์กับการเมืองแบบโรแมนติกเสียที

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มีเพื่อนๆ ทาง fb วิจารณ์การแสดงความเห็นทางการเมืองของพระรูปหนึ่ง เป็นคำบรรยายและบทสนทนาใต้ภาพที่ขึ้นสเตตัสของท่าน ผมเห็นว่าความเห็นดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว จึงนำเสนอให้ช่วยกันคิดต่อ ภาพที่ 1 และคำบรรยายใต้ภาพ เล่นกันแต่คุณไสย ตั้งแต่เทเลือด-สาดเลือด ยันทาสีแดงทั่วองค์พระพรหม ไหนว่าก้าวหน้ากันนัก เสรีนิยมกันนัก อยากให้เท่าเทียม เสมอภาค ประชาธิปไตย สุดท้ายก็ไม่พ้นผี ไม่พ้นเทพ แถมชนะเลือกตั้งท่วมท้น พี่ชายก็ยังไม่มีแผ่นดินอยู่ อยู่ดี...พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ไม่กระดิก แต่ทะลึ่งจะไปสะกดเทพเทวดา...ไม่มีใครสั่งสอนหรือว่า..จะเป็นนักการเมืองที่ดี ต้องบริหารให้โปร่งใส ซื่อตรงและมุ่งเอาประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนเป็นหลัก หากอยู่ในศีลในธรรม ธรรมะและความสามารถในการทำงานก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในงานการเมือง โดยไม่ต้องมีพี่บอกบทและไม่ต้องจ้างผีไอ้ตู่ไอ้เต้นมาโม่แป้งเพราะหวังเศษเงิน และต่อให้มีมวลชนยี่สิบสามสิบล้าน หากไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสุดท้ายอนาคตก็คงไม่ต่างจากพี่ชาย หรือผู้นำประเภทเดียวกัน ฝากใครไปบอกนายกฯยิ่งลักษณ์ด้วยเถิด ว่าตอนนี้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชาติบ้านเมือง ไม่ใช่ไสยศาสตร์มนต์ดำ แต่คือการ \ยอมลาออก\" และให้คนมีฝีมือเข้ามาแก้วิกฤติให้บ้านเมือง ถ้ากลัวว่าจะเสียผลประโยชน์ของตนและพรรคพวกก็ลองหาดูในพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ คงพอหาได้บ้าง อย่ามัวหวงเก้าอี้กระทั่งยอมให้บ้านเมืองล่มจมอยู่เลย ภาพที่ 2 : บทสนทนาธรรมในสถานการณ์น้ำท่วม จากปกมติชน พระรูปนั้นแสดงความเห็นว่า \"ไร้รสนิยม\" พระไพศาล วิสาโล ก็เข้ามาแสดงความเห็นว่า \"เขาอาจต้องการบอกก็ได้ว่า ตอนนี้เดือดร้อนไปทั่ว แม้แต่พระก็ต้องหนีน้ำมาฉันเพลบนถนน\" พระรูปนั้นตอบไปว่า “สงสัยนิดๆ ครับหลวงพี่เตี้ย ว่าหากน้ำท่วมบ้านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และนายกกับสามีกำลังจะช่วยกันขนของ โดยนายกยิ่งลักษณ์กำลังนุ่งกระโจมอก (เป็นเรื่องสมมติชนิดเหนือจริงมาก) บก.เสถียรกับหนุ่มเมืองจันทร์ จะมีอารมณ์ขัน เอารูปมาขึ้นปก ทำนองว่า.. \"ยิ่งปู ก็ยิ่งเปลือย\" อะไรประมาณนี้หรือเปล่า?... ภาพที่ 3 (โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม) เพื่อนถามผมว่า พระแสดงความเห็นทางการเมืองจะแจ้งแบบนี้ได้หรือ? ผมตอบไปว่าปกติพระก็แสดงความเห็น หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองแบบจะแจ้งอยู่แล้ว เพียงแต่เราอาจมองเห็นบางเรือง แต่ทำเป็นมองไม่เห็นในบางเรื่อง เช่น เรื่องอวยเจ้า การเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรในวันสำคัญ การเทศนายอพระเกียรติ หรือสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรสก็แสดงธรรมสนับสนุนการส่งทหารไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นผู้วางระบบการศึกษาสงฆ์และการศึกษาฝ่ายบ้านเมือง เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นต้น เรื่องที่เป็นบวกแก่รัฐหรือผู้มีอำนาจรัฐดังกล่าวเป็นต้นนี้ สังคมไทยถูกปลูกฝังให้ยอมรับกันเป็นปกติ ไม่รู้สึกว่าพระยุ่งกับการเมือง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์เจ้า หรือผู้มีอำนาจรัฐ สังคมจะรู้สึกทันทีว่าพระยุ่งการเมือง และเห็นว่าพระไม่ควรจะยุ่ง จะเห็นว่าเป็นพระสงฆ์ไทยค่อนข้างวางตัวลำบาก ถ้าเป็นการเมืองที่รัฐหรือผู้มีอำนาจรัฐต้องการให้ยุ่ง พระสงฆ์จะไม่ยุ่งก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะถูกหาว่าไม่ให้ความร่วมมือ กระทั่งกระด้างกระเดื่อง ถ้าเป็นการเมืองที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบรัฐที่พระสงฆ์เห็นว่าควรทำ รัฐหรือสังคมก็บอกว่าไม่ควรมายุ่ง ตกลงพระไทยก็ยุ่งการเมืองทั้งสองแบบเลย แต่ส่วนใหญ่จะยุ่งการเมืองที่เป็นการสนับสนุนผู้มีอำนาจรัฐ โดยเฉพาะชนชั้นนำในวงการสงฆ์มักจะเข้ากันได้กับทุกฝ่ายที่เข้ามามีอำนาจรัฐเพื่อรักษาสถานภาพของตนเอง ที่ว่ามานี้คือข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น แต่โดยหลักการแล้วก็ไม่มีวินัยสงฆ์ห้ามพระยุ่งการเมืองเอาไว้โดยตรง มีแต่ต้องดูแบบอย่างการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์เกี่ยวข้องกับการเมืองในบทบาทของผู้สอนจริยธรรมแก่ผู้ปกครอง บางคราวก็เข้าไปยุติความขัดแย้งในบางเรื่องที่พอจะทำได้เท่านั้น ส่วนในทางกฎหมายมีคำสั่งมหาเถรสมาคม (มส.) เรื่อง “ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538” ที่มีบางข้อห้ามพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมืองเอาไว้ว่า… ข้อ 4 ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าไปในที่ชุมนุม หรือในบริเวณสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด หรือในที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่ากรณีใดๆ ข้อ 5 ห้ามพระภิกษุสามเณรกระทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่การหาเสียง เพื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใดแก่บุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ ข้อ 6 ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ ข้อ 7 ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมอภิปราย หรือบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการเมืองซึ่งจัดตั้งขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด แต่คำสั่งที่ว่ามานี้ก็แทบไม่มีผลบังคับได้จริง แค่ดูเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 5 ปี ที่ผ่านมา ก็มีพระสงฆ์ที่เป็นพระเกจิอาจารย์ตั้งแต่ระดับ “พ่อแม่ครูบาอาจารย์” พระราชาคณะ (ว่ากันว่ามีพระผู้ใหญ่บางรูปคุยโทรศัพท์สายตรงกับคุณทักษิณอยู่บ่อยๆ) ลงมาจนถึงหลวงตา พระเล็กพระน้อยจากวัดในชนบท ต่างก็ออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง และชุมนุมทางการเมือง โดยไม่แยแสต่อคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด ฉะนั้น เราควรจะเลิกหลอกตัวเอง หรือเลิกมองอะไรอย่างแมนติกเสียที เช่นว่าพระสงฆ์บริสุทธิ์จากการเมือง อยู่เหนือการเมือง คือไม่ว่าสถาบันไหนที่เราบอกว่า “อยู่เหนือการเมือง” นั่นก็เป็นเพียงมายาคติ ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ เมื่อไม่ใช่ เราก็ต้องมีกติการองรับให้ชัดว่าควรจะเป็นอย่างไร เมื่อพระสงฆ์มายุ่งกับการเมืองได้สถานะในทางสังคมการเมืองของพระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาคเหมือนพลเมืองคนอื่นๆ คือพระมีเสรีภาพวิจารณ์หรือด่าคนอื่นได้ คนอื่นๆ ก็มีเสรีภาพวิจารณ์หรือด่าพระได้อย่างเสมอภาคเช่นกัน เมื่อถูกชาวบ้านวิจารณ์หรือด่ากลับ พระไม่ควรออกอาการ “ดิ้นพล่าน” หรือจะมาอ้างสถานะพิเศษใดๆ ไม่ได้ จะมาบอกว่าชาวบ้าน “กำเริบเสิบสาน” หรือไม่ให้ความเคารพนบนอบในความเป็นพระของตนไม่ได้ ถ้าไม่อยากถูกวิจารณ์ ถูกด่า ก็อย่าเสร่อมาแสดงความเห็น หรือยุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็เท่านั้นเอง ในโลกของความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าพระจะรู้เรื่องธรรมะดีกว่า ลึกซึ้งกว่า มีศีลธรรมสูงส่งกว่าชาวบ้านเสมอไปหรอกครับ หรือต่อให้รู้ธรรมะดีกว่า มีศีลธรรมสูงกว่า กระทั่งถูกยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ได้หมายความว่า มุมองทางการเมืองของพระเช่นนั้นจะมีเหตุผลดีกว่า ถูกต้องกว่ามุมองของคนขับแท็กซี่ แม่ค้าขายส้มตำ หรือชาวบ้านธรรมดาๆ ทั่วไปหรอกครับ ฉะนั้น ในทางการเมืองจึงไม่มีใครมีอภิสิทธิ์ทางศีลธรรมเหนือใคร ที่สำคัญพระที่สอนชาวบ้านว่าไม่ควรมีอคติ และมักตัดสินคนเลือกสีเหลือกฝ่ายว่ามีอคติ เอาพวกเหนือความถูกต้องอะไรต่างๆ นั้น (ทั้งที่เป็นไปได้ว่าเขาอาจเลือกพระยึดหลักการ) บางรูปก็ “มือถือสากปากถือศีล” (หมายถึงการกระทำขัดแย้งกับสิ่งที่สอน) เช่น เราไม่อาจมองได้ว่า ความเห็นทางการเมืองของพระที่ยกมาข้างต้นนั้นเป็นความเห็นที่ปราศจากอคติใดๆ เป็นต้น จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านอย่างเราๆ จะวิจารณ์หรือด่า “ความเห็นทางการเมือง” บางความเห็นของพระบางรูปทาง fb กลับไปว่า เป็นความเห็นแบบตรรกะวิบัติ ที่ออกมาจากมโนธรรมชำรุด ผมรับรองครับว่า การวิจารณ์หรือด่ากลับประมาณนี้ “ไม่บาปมากว่าการฆ่าเวลา” อย่างแน่นอน!"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท