พ.ร.บ.จดแจ้งฉบับใหม่: โซ่ตรวนหนังสือพิมพ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ กำลังสับสนอลหม่านกับปัญหาน้ำท่วม จนแทบจะไม่มีข่าวอื่นปรากฏในสื่อ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2554  ก็มีมติเห็นชอบ ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ของกระทรวงวัฒนธรรมโดยเนื้อหาสาระต้องนับว่า เลวร้ายไม่แตกต่างจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อในยุคเผด็จการ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484  ที่ยกเลิกไปด้วยผลของการตราใช้บังคับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550

ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้แปรรูปอำนาจเจ้าพนักงานการพิมพ์ ตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ มาเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยให้อำนาจ ผบ.ตร. มีอำนาจครอบจักรวาล ซึ่งล้วนเป็นการแทรกแซงและลิดรอนสิทธิ เสรีภาพสื่อทั้งสิ้น โดยเฉพาะการย้อนยุคไปในห้วงอำนาจเผด็จการ ที่จะต้องมีใบอนุญาตการพิมพ์ และที่เลวร้ายไปกว่า พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ก็คือ ต้องมีการต่อใบอนุญาต หรือหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ทุก 5 ปี       

สาระสำคัญของร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ยังให้อำนาจ ผบ.ตร.และน่าจะเป็นประเด็นขัดแย้งสำคัญ คือการให้อำนาจออกคำสั่ง ห้ามพิมพ์ เผยแพร่ ส่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี นั่นแปลว่า ผบ.ตร.จะต้องเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ก่อนตีพิมพ์ก่อน จึงจะวินิจฉัยได้ว่า สมควรใช้อำนาจออกคำสั่งห้ามเผยแพร่ หรือปิดหนังสือพิมพ์หรือไม่         

เรื่องสถาบันนั้น เป็นเพียงเรื่องบังหน้า ซึ่งความผิดฐานหมิ่นสถาบัน มีอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา ประเด็นคงอยู่ที่ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี เป็นเรื่องที่ตีความได้กว้างมาก ประเด็นเหล่านี้ เคยเป็นเรื่องที่รัฐยุคเผด็จการใช้เป็นเครื่องมือปิดหนังสือพิมพ์ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล โดยอ้างความมั่นคงแห่งรัฐ ทั้งที่หลายกรณีเป็นความมั่นคงของรัฐบาลเอง          

ความเลวร้ายอีกข้อหนึ่งของร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ การกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีสั่งห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สิ่งพิมพ์ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และความมั่นคงของชาติ โดยกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจากนี้ไป จะเป็นผู้ที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อผู้ประกอบวิชาชีพสิ่งพิมพ์อย่างยิ่ง ยิ่งเสียกว่า “เจ้าพนักงานการพิมพ์” ตามกฎหมายเดิม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะแต่งตั้งให้อธิบดีกรมตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล เป็นเจ้าพนักงานการพิมพ์ในกรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดในต่างจังหวัด ส่วนอัตราโทษ จะสูงกว่ากฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี            

จะเรียกว่าเป็นการโยนหินถามทาง เจตนาจะข่มขู่ให้สื่อหวาดกลัว  หรือไม่ก็ตาม แต่ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เป็นภาพสะท้อนแนวคิดเผด็จการอย่างชัดแจ้ง อีกทั้งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามมิให้มีการสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ เพื่อลิดรอนเสรีภาพ การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น เสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน ห้ามไม่ให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลนี้พยายามเข้ามามีอิทธิพลครอบงำสื่อ หลังจากสร้างความหวาดระแวงในหมู่สื่อมวลชนให้เกิดขึ้นมาแล้ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท