"หม่อมปลื้ม" เทียบขบวนการ "Occupy Wall St." ที่สหรัฐฯ คือ "พันธมิตรฯ" บ้านเรา

“ม.ล.ปลื้ม\ ชี้ขบวนการ “Occupy Wallstreet” ซึ่งถูกเชิดชูว่าเป็นขบวนการประชาชนต่อต้านรัฐที่ช่วยอุ้มพวกนายทุนนั้น มีความคล้ายกับขบวนการ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ในบ้านเรา เพราะเรียกร้อง “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้” เหมือนกัน ในรายการ The Daily Dose ประจำวันที่ 21 ต.ค. 54 ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับขบวนการ Occupy Wallstreet ที่กำลังลุกลามไปสู่ อีกหลายๆ ประเทศ ทั้งในยุโรป และเอเซียแปซิฟิค ซึ่งล่าสุดมี 82 ประเทศแล้วนั้น ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ระบุว่าการลุกลามออกไปหลายประเทศที่กำลังเกิดขึ้น มีขบวนการและเครือข่ายประสานงานจัดตั้งมวลชนขึ้นมา แต่มวลชนที่ออกมาชุมนุมนั้นก็มีความประสงค์ที่จะมาชุมนุมในลักษณะนี้อยู่แล้ว ออกมาด้วยความสมัครใจ คนเหล่านี้ไม่ได้ถูก “ซื้อ” มาเพื่อ “ชุมนุม” แต่อย่างใด โดยคนที่ออกมาชุมนุมนั้นต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่าตนได้ลองมานั่งคิดดูว่ากลุ่ม Occupy Wallstreet นี้ ไม่พอใจกับเรื่องอะไร ซึ่งแน่นอนว่าสาเหตุหนึ่งนั้น กลุ่มคนเหล่านี้ไม่พอใจกับการบริหารงานของรัฐบาลประธานาธิบดี George W. Bush และ Barack Obama ที่นำเงินกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าไปอุ้มสถาบันการเงินให้อยู่รอดพ้นจากวิกฤตการเงินระลอกล่าสุด (Subprime crisis) ซึ่งสถาบันการเงินส่วนใหญ่ก็สามารถอยู่รอดมาได้ (ยกเว้น Lehman Brothers) ทั้งนี้กลุ่มที่ออกมาประท้วงนั้นมองว่าพวกเขาซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ 99% นั้นกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเงินภาษีประชาชนที่นำเอาไปอุ้ม Wallstreet โดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่าเหตุผลนี้ดูจะเข้าใจได้ ดูเป็นเหตุเป็นผล และเป็นสิ่งที่รัฐบาลในกรุงวอชิงตันจะต้องฟังและนำไปพิจารณาในการปรับนโยบายที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจในแบบที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายมากขึ้น “ผมคิดว่าข้อเสนอของ Occupy Wallstreet ข้อนี้เป็นเหตุเป็นผลและเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการยอมรับจากรัฐบาลใหม่ ถ้าเกิด Obama แพ้การเลือกตั้ง และประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐได้รับเลือกตั้งมาแก้ไขปัญหาการว่างงานและอื่นๆ” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าว แต่ข้อเรียกร้องบางเรื่องนั้น ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวต่อไปว่าก็ไม่เข้าใจว่ากลุ่ม Occupy Wallstreet เรียกร้องเรื่องอะไร บางทีจะบอกว่านายธนาคารนั้นร่ำรวยเกินไป มันก็เป็นเรื่องของนักธุรกิจที่ประกอบธุรกิจที่ต้องแสวงหากำไร ให้บริษัทของตัวเองมีรายได้สูง ให้ตนเองร่ำรวย มีโบนัส มีเงินเดือน ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเราอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ต้องแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเศรษฐกิจระบบทุนนิยมในสหรัฐฯ อยู่แล้ว “บางเรื่องมันก็มีเหตุมีผล บางเรื่องผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะบ่นไปทำไม มันจะแก้อะไรได้” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าว เมื่อย้อนกลับมาดูเมืองไทย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ แสดงทัศนะว่าการชุมนุมของกลุ่ม Occupy Wallstreet นั้นมีความคล้ายคลึงกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มากกว่าการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และที่สหรัฐฯ เองนั้นก็มีม็อบสองม็อบเช่นเดียวกับบ้านเรา โดยก่อนหน้านั้นมีการชุมนุมของกลุ่ม Tea Party ซึ่งเชียร์พรรครีพับลิกัน ส่วนกลุ่ม Occupy Wallstreet ก็อาจจะสนับสนุนพรรคเดโมแครตมากกว่า แต่ทั้งนี้กลุ่ม Occupy Wallstreet ก็ไม่ได้ชอบพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งเป็นพิเศษ พวกเขาไม่ชอบรัฐบาลใดก็ตามที่เข้ามาแล้วไปอุ้มสถาบันการเงิน อุ้มชนชั้นนายทุน และไปช่วยให้ไม่มีการกำกับดูแลการบริหารงานของสถาบันการเงินใหญ่ๆ ไปเปิดให้มีความเสรีมากเกินไป สำหรับสถาบันการเงินต่างๆ ที่ดูเหมือนเอาเปรียบประชาชนและเอาเปรียบผู้บริโภค “แต่ว่าผมว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเขาคงไม่ได้เชียร์พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ถ้าให้เขาเลือกผมคิดว่าเขาอาจจะเลือกพรรคเดโมแครต” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าว ถึงแม้บางคนจะเปรียบเทียบว่าการชุมนุมของกลุ่ม Occupy Wallstreet นั้นเหมือนกับกลุ่ม นปช. เพราะว่ามีแนวคิดที่เสรีนิยม แต่ในส่วนตน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กลับมองว่าการชุมนุมของกลุ่ม Occupy Wallstreet นั้นเหมือนกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ มากกว่า เพราะว่าในที่สุด สิ่งที่เรียกร้องนั้นมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และก็ไม่เหมาะสมกับประเทศ เพราะเมื่อย้อนไปดูการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งแต่ปี 48 เป็นต้นมา ล้วนแล้วแต่เป็นการเรียกร้องขอรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นการเรียกร้องที่ต้องการให้มีการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง โดยที่อาจจะต้องดึงกองทัพ หรือดึงองค์กรอื่นๆ เข้ามา เช่น ตุลาการ เพื่อเข้ามาจัดการ เพื่อเข้ามาประหารรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มาจากประชาชน ทั้งนี้ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวต่อไปว่าถึงแม้สิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้องดังที่ได้กล่าวไปนั้น จะไม่ใช่สิ่งที่กลุ่ม Occupy Wallstreet เรียกร้อง แต่กลุ่ม Occupy Wallstreet ก็ได้เรียกร้องสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ในสังคมของสหรัฐฯ เช่นกัน ตนเห็นว่าการเรียกร้องให้มีการลดความเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯ ตามข้อเสนอของกลุ่ม Occupy Wallstreet นั้นมันไม่มีทางเกิดขึ้น และถ้ามันเกิดขึ้นตนก็ไม่เชื่อว่ามันจะดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วยซ้ำไป “มองข้ามชอร์ตไปกลุ่ม Occupy Wallstreet ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจในการปกครองประเทศในสหรัฐฯ ในแบบที่พวกเขาก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าถ้าเป็นแบบไหนแล้วมันจะดีกว่าในปัจจุบัน … คือถ้าไม่มีรัฐบาลของ Bush ไม่มีรัฐบาลของ Obama แล้วมันจะเป็นรัฐบาลแบบไหน เข้ามาแบบไหน ที่จะดีกับประชาชนอเมริกันส่วนใหญ่อีก 99%” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าว เพราะฉะนั้นสิ่งที่กลุ่ม Occupy Wallstreet เรียกร้องมันจึงเป็นไปไม่ได้ แล้วถ้านำมาปฏิบัติมันอาจจะไม่มีผลดีต่อการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ได้ ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เรียกร้องในบ้านเรา แต่ทั้งนี้ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่าตามทัศนะของตนถึงแม้การเคลื่อนไหวของกลุ่ม Occupy Wallstreet จะเหมือนกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ มากกว่ากลุ่ม นปช. แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันบางเรื่องเท่านั้น ไม่ใช่ทุกเรื่อง ส่วนกลุ่ม นปช. นั้น ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทียบว่ามีความเหมือนกับกลุ่ม Tea Party ในบางเรื่องเหมือนกัน เช่น สื่อกระแสหลักของสหรัฐฯ เองก็มีการโจมตีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Tea Party เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ในบ้านเรา ทั้งๆ ที่จริงแล้วในการเคลื่อนไหวนั้นมันมีหลักการ และก็มีแนวคิดที่ควรจะได้รับการปฏิบัติโดยรัฐบาล แต่ว่ากลับถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่ออกมาสร้างความวุ่นวายตั้งแต่แรก ทั้งนี้ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่าการเปรียบเทียบนี้เป็นเพียงมุมมองของตนเอง ถ้าหลายคนไม่เห็นด้วยก็ให้ลองนำไปคิดดู เพราะตนมองว่าการเปรียบเทียบเรื่องนี้มีความหมายสำหรับการมองเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท