ประสบการณ์น้ำท่วมบ้านบัวทอง "อย่าลืมอุดท่อระบายน้ำ"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บ้านบัวทองเป็นหมู่บ้านหนึ่งใน ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง นนทบุรี ซึ่งถูกน้ำท่วมไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ตั้งอยู่ห่างจากตลาดบางใหญ่ 2 กม. ทั้งที่ได้เตรียมการมานานพอสมควร แต่ไม่สามารถฝ่าน้ำท่วมไปได้ หมู่บ้านนี้เคยเผชิญกับน้ำท่วมปี 2538 มาแล้ว ในครั้งนี้มีบทเรียนที่น่าสนใจ วันที่ 10 ต.ค. มีเหตุน้ำท่วมโรงพยาบาลบางบัวทอง เนื่องจากคันกั้นน้ำพัง แต่สถานการณ์ก็ผ่านพ้นเพราะปริมาณน้ำมาสุดที่คลองบางไผ่ ที่อยู่ด้านเหนือของหมู่บ้านนี้ ชุมนุมจึงสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมด้านนี้ รวมถึงการปิดท่อระบายน้ำด้านนี้ เพราะพวกเขาเคยมีประสบการณ์น้ำเข้าทางท่อระบายน้ำในปี 2538 ส่วนด้านใต้เปิดตามปกติเนื่องจากระดับน้ำคลองถนนไม่มีระดับสูง วันที่ 19 ต.ค. น้ำระลอกใหญ่มาถึงบางบัวทอง ช่วงสายประตูน้ำพิมลราชพังน้ำทะลักเข้าตลาดบางบัวทอง ท่วมหมู่บ้านชลลดา น้ำไหลเข้ามาทางคลองบางไผ่ คันกั้นตามแนวคลองเริ่มรับไม่ได้ กำนันและ อบต. ระดมชาวบ้านกรอกกระสอบทราย ตอนบ่าย แต่ละกลุ่มบ้านประชุมวางแผนทำแนวกระสอบทรายกั้นน้ำตามปิดถนนรอง ปิดท่อระบายที่ท่อมาจากด้านเหนือ และมีการพูดถึงการวางกระสอบกั้นแนวบ่อบำบัดน้ำเสียที่ต่อกับคลองด้านใต้และอุดท่อระบาย เตรียมเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำทิ้งจากท่อระบายน้ำและสูบน้ำที่ล้นแนวกระสอบทราย ตอนเย็น รถขนทรายมาส่งทราย ชาวบ้านกรอกทรายและเรียงทำคันกั้นน้ำบนถนนรองตามแผน เวลาประมาณ 23.00 น. น้ำทะลักเข้าท่อระบายน้ำที่ต่อกับคลองด้านใต้ และชะตากรรมของหมู่บ้านก็มาถึง น้ำในคืนวันที่ 19 ประมาณ สูงระดับพื้นถนน เวลาประมาณ 5.00 น. วันที่ 20 ต.ค. น้ำสูงขึ้นอีก 20 ซม. จากนั้นน้ำค่อยๆไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เวลาประมาณ 9.00 น. น้ำสูงประมาณ 30 ซม. ช่วงบ่ายน้ำขึ้นมาที่ระดับ 80 ซม. ในการป้องกันถนนรองที่วางกระสอบสองแนวสูงประมาณ 1.2 เมตร และเตรียมเสริมเป็น 1.5 เมตร เมื่อน้ำล้นแนวที่ 1 เข้าในพื้นที่ 12 ม. * 3 ม. ย่อมเป็นปริมาณที่สามารถสูบกลับออกไปได้ รวมถึงความคิดในการอุดท่อระบายน้ำและเตรียมเครื่องน้ำสำหรับดูดน้ำออกย่อมทำให้ทุกชีวิตใช้ชีวิตเป็นปกติได้ ผมเห็นว่าการเตรียมตัวทำได้ดีพอสมควร และหมู่บ้านอยู่ติดถนนกาญจนาภิเษก อยู่ใกล้ย่านธุรกิจสำคัญ เช่น ตลาดบางใหญ่ บิ๊กซี บางใหญ่ ย่อมมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากภายนอก ดังนั้น จึงควรอยู่รอดได้ การไม่ได้ปิดท่อระบายน้ำคลองด้านใต้ทันที เพราะน้ำท่วมช่วงก่อนหน้านี้มวลน้ำมาไม่ถึง ซึ่งลักษณะการไหลของน้ำจะเอ่อล้นทีละแนวคลองตามช่วงเวลาน้ำขึ้นและลง จึงอาจจะไม่เข้าใจลักษณะนี้ทำให้ไม่คิดว่าน้ำจะมากในคลองด้านใต้ของหมู่บ้าน แต่คราวนี้มวลน้ำมากกว่าเดิมจึงไหลขยายพื้นที่ท่วมต่อไป รวมถึงคลองนี้ด้วย จากประสบการณ์นี้ จึงเชื่อว่า ถ้ามีการเตรียมการในระดับหมู่บ้านยังมีความเป็นไปได้ในการป้องกันตัวเอง เพียงแต่หน่วยงานปกครองท้องที่และหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องวางระบบการส่งกำลังบำรุง เพื่อทำให้แต่ละพื้นที่สามารถต่อสู้ได้ ในความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับ กทม. ในขณะนี้ บอกได้ว่าทำให้เกิดความสิ้นหวังมากขึ้น สิ่งที่รัฐบาลกดดันให้ กทม. ปล่อยน้ำผ่านคลองชั้นในของ กทม. นั้น เจ้าหน้าที่ กทม. บอกว่า จะสามารถช่วยได้ระบายน้ำได้สัก 600,000 ลบ.ม. ต่อวัน แต่ข้อมูลอาจะไม่ครบถ้วน ถึงจะมากกว่า 10 เท่าก็ตาม เมื่อเทียบกับปริมาณ มากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. การระบายผ่านของ กทม. ก็แค่น้ำหยดหนึ่งในมหาสมุทรเท่านั้นเอง เพียงแต่ว่า กทม. กลายเป็นผู้ร้าย ผมยังไม่เห็นว่า หน่วยงานรัฐได้จัดระบบสนับสนุนในการต่อสู้ของระดับพื้นที่เช่นกัน ทำเฉพาะการบรรเทาทุกข์เท่านั้น จึงแค่หวังว่า อย่าทำให้ความสิ้นหวังมากกว่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท