Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากเป็นผู้ติดตามข่าวน้ำท่วม เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม วันนี้ผมเริ่มใกล้เข้าสู่ฐานะ “ผู้ประสบภัยน้ำท่วม” เนื่องจากบ้านผมอยู่ในพื้นที่แขวงสีกัน เขตดอนเมือง บ้านอยู่ห่างจากคลองเปรมประชากรประมาณ 100 เมตร เป็นพื้นที่เสี่ยงถูกน้ำท่วม หลังจากเก็บข้าวของชั้นล่างขึ้นที่สูงตามคำประกาศเตือนของผู้ว่ากทม. และ ศปภ. ผมมีคำถามมากมายที่เกิดขึ้น และคิดว่าชาวกรุงเทพฯ และประชาชนในทุกจังหวัดก็คงมีคำถามคล้ายๆ กัน ที่อยากให้ ศปภ. , ผู้ว่ากทม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยแถลง ช่วยตอบ ด้วยครับ คำถามก่อนน้ำท่วม 1. ถ้าน้ำทะลักมาจริงๆ ผมจะได้รับการเตือนภัยหรือไม่ จากช่องทางไหน (ทีวี , SMS, รถกระจายข่าวของสำนักงานเขต, จุดพลุ ฯลฯ) เพราะเมื่อดูข่าวพื้นที่ถูกน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร บางบัวทอง ฯลฯ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมให้ข้อมูลเหมือนกันว่า ก่อนที่น้ำจะทะลักไหลเข้ามาท่วมบ้าน ไม่มีการแจ้งเตือนให้รู้ตัวเลย 2. เวลาแจ้งเตือนให้ยกของขึ้นที่สูง หรือขึ้นชั้นสอง หลายบ้านคงเจอปัญหาคล้ายๆ กันว่าไม่สามารถยกของที่อยู่ชั้นหนึ่งขึ้นไปชั้นสองได้หมด ก็ต้องพยายามยกขึ้นที่สูง แต่ยกไปก็สงสัยไปว่า ต้องยกของสูงเท่าใดถึงจะปลอดภัย 1 เมตร หรือ 1.5 เมตร หรือ 2 เมตร เอาของขึ้นโต๊ะกินข้าวจะพ้นน้ำหรือไม่ ช่วยคาดการณ์ระดับได้มั๊ยครับ คนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่จะได้ยกของได้ถูก หรือลงทุนซื้อที่วางของได้ถูกต้อง 3. หากมีการแจ้งให้อพยพ ผมอยากรู้ว่าผมควรใช้เส้นทางไหนในการเดินทาง ควรไปโดยวิธีใด รถส่วนตัว รถของสำนักงานเขต รถของทหาร และจะให้ขึ้นรถได้ที่ไหน 4. หากต้องไปอยู่ศูนย์พักพิง ช่วยบอกข้อมูลด้วยครับว่าผมควรเตรียมตัว เตรียมของ ไปอยู่นานประมาณกี่วัน จะได้เตรียมตัว เตรียมใจได้ถูก 5. ผมอยากรู้ก่อนการอพยพจากบ้านว่า เมื่อน้ำท่วมบ้านผมแล้ว น้ำจะท่วมอยู่สักกี่วัน หรือกี่เดือน จะได้เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ไปได้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะไปอยู่บ้านญาติ หรือไปอยู่ศูนย์พักพิง และจะได้รู้ว่าผมควรวางแผนการใช้ชีวิตอย่างไรในช่วงน้ำท่วม ทั้งเรื่องไปทำงาน ลูกไปเรียน การกลับมาดูบ้านเป็นระยะ ฯลฯ คำถามหลังน้ำท่วม 6. ผมคิดว่าผู้ที่ถูกน้ำท่วมต่างมีความเครียดนานับประการ เพื่อลดความเครียดให้แก่ประชาชน ผมอยากให้รัฐบาลช่วยทำการบ้าน (มีหน่วยงานภาครัฐจำนวนมากที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำโดยตรง พอที่จะมีเวลาช่วยคิดเรื่องนี้ได้) เพื่อช่วยบอกข่าวดีบ้างว่า รัฐบาลจะมีนโยบายและมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังน้ำท่วมอย่างไร เช่น เรื่องการซ่อมแซมบ้าน คนที่ทำงานในโรงงานซึ่งยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ ข้าวและผลผลิตทางการเกษตรที่ถูกน้ำท่วม ฯลฯ 7. ตอนนี้ผมเริ่มคิดถึงการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด ผมอยากรู้ข้อมูลว่า ในปีหน้า หรือปีต่อๆ ไป มีโอกาสจะเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่แบบนี้มากน้อยเพียงใดในพื้นที่ต่างๆ จะได้ตัดสินใจลงทุนปรับปรุง ซ่อมแซม และป้องกันบ้านจากภัยน้ำท่วมได้อย่างเหมาะสม คำถามต่อการทำงานของ ศปภ. และ กทม. 8. การแถลงข่าว การให้ข้อมูลตามช่องทางการสื่อสารต่างๆ ของ ศปภ. และ กทม. ทำเป็น 2 เวอร์ชันได้มั๊ยครับ (1) เวอร์ชันแบบทั่วไปอย่างที่ทำอยู่ในเวลานี้ และ (2) เวอร์ชันแบบเทคนิค มีข้อมูลวิชาการเชิงลึก เพื่อให้ผู้ที่เข้าใจและสนใจข้อมูลเหล่านี้ จะได้เข้าใจเหตุผลที่ท่านใช้ประกอบการตัดสินใจมากขึ้น เช่น ทำไมเปิดหรือไม่เปิดประตูระบายน้ำ ทำไมผันน้ำไปทางนี้ ทำไมไม่เร่งผันน้ำลงทะเล ฯลฯ และจะได้ไม่เกิดปัญหาการวิจารณ์บางเรื่องออกไปอย่างเข้าใจผิด (ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในสังคมออนไลน์) สร้างความสับสนในสังคม รวมทั้งช่วยเพิ่มความเชื่อถือต่อการตัดสินใจและการดำเนินงานของ ศปภ. มากยิ่งขึ้น 9. ศปภ. ช่วยปรับปรุงเวปไซด์ของ ศปภ. ให้เป็นแหล่งรวมข้อมูลที่สำคัญๆ สำหรับการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมได้มั๊ยครับ และเป็นข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบเบื้องต้นแล้วว่าเชื่อถือได้ เช่น - แหล่งข้อมูลติดตามสถานการณ์น้ำท่วม - วิธีการป้องกันบ้านจากน้ำท่วมอย่างถูกต้อง เช่น การกั้นกระสอบทราย การก่ออิฐ ฯลฯ - การป้องกัน/ลดความเสียหายรถยนต์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้าจากน้ำท่วม (หากเคลื่อนย้ายหนีน้ำไม่ได้ ) - การใช้ชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยหากติดอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วม - การเตรียมข้อมูล การเตรียมตัวเพื่อติดต่อบริษัทประกันภัย ฯลฯ ผมประเมินว่า จากข้อมูลที่ ศปภ. และ กทม. มีอยู่ในเวลานี้ อาจไม่มีข้อมูลที่จะตอบได้อย่างชัดเจนในทุกคำถาม ผมอยากให้ช่วยบอกข้อมูลในลักษณะคาดการณ์ก็ได้ครับ มีแนวโน้ม/ความเสี่ยงมาก ปานกลาง หรือน้อย และในกรณีไม่มีข้อมูลก็โปรดแจ้งว่าไม่มีข้อมูลเพียงพอ ผมและประชาชนจะได้รู้ว่าควรตัดสินใจอย่างไร หรือ ควรจะหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไร และจะได้เป็นการเปิดขยายพื้นที่ให้นักวิชาการ องค์กรชุมชน ที่มีข้อมูลได้ช่วยส่งข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ ศปภ.และ กทม. หมายเหตุ (1) ผมอยากบอกว่า หากผมเป็นคนต่างจังหวัดที่น้ำกำลังท่วมอยู่ ผมคงรู้สึกน้อยใจเนื่องจากการแถลงข่าวของศปภ. มีแต่ข้อมูลเฉพาะคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก คนต่างจังหวัดก็อยากรู้ว่า น้ำจะลดหรือยัง ใช้เวลานานเท่าใด รัฐบาลมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรต่อจากนี้ (2) ช่วยปรับปรุงบริการรับเรื่องแจ้งขอความช่วยเหลือจาก Hot Line ของรัฐบาลด้วยครับ เพิ่มคู่สายรับเรื่องขอความช่วยเหลือให้มากขึ้น เช่น เบอร์ 1111 โทรไม่เคยติด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net