Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

นโยบายที่รัฐไทยมักใช้ในการแก้ไขปัญหาอาหารราคาแพงในยามปกติ คือ การปฏิเสธใช้อำนาจรัฐและกฎหมายในการควบคุมราคาอาหารและวัตถุดิบ แต่จะใช้วิธีการขอร้องให้ผู้ประกอบการทั้งหลายร่วมมือในการลดราคาสินค้าลงมาอยู่ในระดับที่ประชาชนไม่เดือดร้อนมากนัก เว้นกรณีเกิดภัยพิบัติร้ายแรงที่รัฐอาจใช้อำนาจในการควบคุมราคาพร้อมกับป้องกันการกักตุนอาหาร เพราะสถานการณ์บังคับ

ปรากฏการณ์ราคาอาหารและวัตถุดิบผันผวนมิใช่ปัญหาเล็กๆ ระดับที่มีเพียงแม่บ้านได้รับความเดือดร้อนแล้วต้องมานั่งคิดว่า หากหมูแพง เราจะทำข้าวผัดใส่ไก่ กุ้ง หรือปลา แทน เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในบ้าน เพราะแท้จริงแล้วอาหารเป็นรายจ่ายสำคัญที่สุดของครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งก็เป็นจำนวนกว่าครึ่งของประเทศไทย ซึ่งก็คือผู้บริโภคที่ในอีกฐานะหนึ่งก็เป็นแรงงานซึ่งต้องหารายได้มาให้พอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ไม่พักต้องพูดถึงการกักตุนอาหารที่ทำให้ราคาแพงขึ้นในยามฉุกเฉิน

เมื่อราคาอาหารขึ้นเสียงก่นด่าหรือการแสดงความอิจฉาส่วนมากมาตกแก่เกษตรกรผู้ผลิตอาหารและวัตถุดิบ ในทำนองที่ว่า เกษตรกรไม่เห็นใจคนกิน หรือเกษตรกรรวยกันใหญ่แล้วอยากเปลี่ยนไปเป็นเกษตรกรบ้าง ซึ่งเป็นการมองข้ามประเด็นสำคัญคือ เกษตรกรได้รับผลกำไรจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด และใครกันแน่ที่ร่ำรวยขึ้นมาจากสถานการณ์นี้

ผลงานวิจัยไทบ้านของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในระบบพันธนาการ (Contract Farming) พบว่ารูปแบบสัญญาที่ผูกมัดเกษตรกรเข้ากับเงื่อนไขของบรรษัทธุรกิจเกษตร มิได้ทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติมในกรณีที่ราคาอาหารในช่วงนั้นเพิ่ม แต่อาจจะต้องเจ๊งหากราคาอาหารในตอนนั้นตกต่ำ

สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างเกษตรกรกับบรรษัทจะเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนต้นของการเริ่มผลิต โดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะรับปัจจัยการผลิตมาจากบรรษัทหรือนายหน้า(เริ่มเป็นหนี้) และจะมีการกำหนดว่าปลายฤดูกาลบรรษัทจะรับซื้อจำนวนเท่าไร ในราคาเท่าไหร่ และมีการตกลงว่าต้องขายเพื่อใช้หนี้สินก่อนที่เหลือจึงจะเป็นของเกษตรกร

หากบังเอิญว่าในตอนที่ผลผลิตออกมานั้นราคาอาหารสูงมาก เกษตรกรก็ยังขายได้ในราคาเท่าเดิมเพราะบรรษัทอ้างสัญญาที่ทำ ฝ่ายบรรษัทก็นำออกขายสู่ตลาดในราคาที่แพง ทำให้เกษตรกรสูญเสียโอกาสในราคาสินค้าเพราะบรรษัทจะอ้างว่ากรรมสิทธิ์ในอาหารเป็นของบรรษัทแล้ว เช่น กรณีผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่ให้ไข่แก่ญาติไม่ได้ เพราะบรรษัทจะฟ้องร้องฐานขโมยไข่ของบรรษัท ทั้งที่เกษตรกรเป็นคนเลี้ยงไก่มากับมือ

นี่คือ ปัญหาเรื่องการสูญเสียอธิปไตยในอาหาร เกษตรกรเอาอาหารไปให้ญาติพี่น้องเพื่อบรรเทาปัญหาอาหารแพงไม่ได้ และเสียโอกาสในการขายอาหารเอง ไม่ได้ร่ำรวยขึ้นเลย แต่กลับต้องซื้ออาหารที่แพงขึ้นเช่นกันเพราะตนก็เก็บผลผลิตไว้กินเองไม่ได้ ต้องขายทั้งหมด แล้วเอาเงินไปแลกอาหารที่ราคาแพง

ในทางกลับกัน หากราคาอาหารในตอนนั้นตกต่ำ เพราะมีปริมาณผลผลิตล้นเกินความต้องการ บรรษัทและนายหน้าหลายรายกลับ “ปฏิเสธการรับซื้อ” ทั้งที่มีสัญญากันอยู่ และถากถางให้เกษตรกรไปแต่งทนายฟ้องร้องเอาเอง หรือบางกรณีก็ใช้อิทธิพลระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติบังคับให้เกษตรกรสยบยอม หรือใช้เงื่อนไขของหนี้สินที่คงค้างกันอยู่มาบีบว่าถ้าเรื่องมาก จะบังคับหนี้เดิมที่มีกันอยู่

นั่นคือ ปัญหาเรื่องอำนาจต่อรองด้อยกว่า อย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะความสามารถในการบังคับสัญญามิได้อยู่ที่เกษตรกร ในหลายกรณีก็ไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีการทำสัญญาแต่ไม่ให้เกษตรกรถือสัญญาไว้ แม้จะมีกฎหมายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่เกษตรกรก็ต้องแต่งทนายขึ้นสู้ในศาลให้ศาลเพิกถอนข้อสัญญา ซึ่งบริการทางกฎหมายก็มีราคาและเสียเวลาเสียสุขภาพจิตมาก

ความทุกข์ของเกษตรกรจึงหลบซ่อนอยู่ภายใต้ “พันธนาการ” ที่มีระหว่างผู้ที่มีอำนาจไม่เท่ากัน และสังคมก็ไม่ได้รับรู้เรื่องราว เพราะข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ของบรรษัทธุรกิจโถมทับอยู่ในหน้าสื่อกระแสหลักทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ต่างๆ เป็นอันมาก

ที่น่าตกใจคือ สื่อมวลชนบางคน นักวิชาการบางกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ร่วมด้วยช่วยกันปิดบัง หรือบางรายก็ไร้เดียงสาไปพบแต่เกษตรกรที่บรรษัทเลี้ยงไว้เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร โดยขาดข้อมูลสืบสวนสอบสวนเชิงลึกที่เจาะไปสู่กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในภาวะล้มละลายหวาดกลัว และไม่กล้าให้ข้อมูลในที่แจ้ง เพราะเกรงอำนาจอิทธิพลของเจ้าหนี้ทั้งบรรษัทและนายหน้า

หากจะตอบโจทย์ให้ได้ว่า เกษตรกรมีหนี้สินได้อย่างไรในภาวะที่ราคาอาหารมีแต่จะเพิ่มขึ้น ก็ต้องดู ราคาที่เกษตรกรได้รับ เทียบกับ ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย

สมการของราคาอาหารในตลาด เท่ากับ ต้นทุนที่ไร่นาโรงเรือน+ราคาที่สัญญารับซื้อ+ราคาที่บรรษัทรายใหญ่ขาย+กำไรที่ผู้ค้ารายย่อยขาย = ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย ซึ่งผู้บริโภคที่ว่าก็หมายถึงเกษตรกรที่ต้องควักเงินมาซื้อเอง

แม้มีผู้เสนอให้ตัดวงจรของ “คนกลาง” ออกไปเลย แล้วสถาปนาระบบเศรษฐกิจชุมชนขึ้นมาดุจดังปรากฏในกรณีของ ชุมชนพอเพียงในหลายแห่ง แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตกคือ การเชื่อมโยงข้อมูล ช่องทางการกระจายสินค้า และการบริหารจัดการ เพื่อให้อาหารจากไร่นาโรงเรือนไปสู่ผู้บริโภคในเมือง ที่ยังเป็นปัญหาสำคัญที่แก้ไม่ตก ตั้งแต่ตอนที่จะแก้ปัญหาการล้มตายของโชว์ห่วยจากการรุกคืบของทุนข้ามชาติที่มีเทคโนโลยีในการบริหารจัดการที่เหนือกว่า

แต่สิ่งที่สังคมมิได้ตระหนักนัก คือ ปัจจุบันมีทุนไทยบางกลุ่มใช้กำลังเงินที่มีซื้อเทคโนโลยีการบริหารจัดการแบบเอกชนต่างด้าว ผสานกับเส้นสายทางธุรกิจการเมืองที่มีกับพรรคการเมือง และราชการ เข้ามาผูกขาดระบบอาหาร และเป็นผู้ครองตลาดอาหารทั้งด้านการผลิต การกระจายสินค้า การขายส่งขายปลีก และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อครบวงจร ทำให้คนในประเทศไทยชินชากับสภาพความเป็นไป

อย่างไรก็ดีปัญหานี้มิได้อยู่นอกเหนือความรับรู้ในการเป็นไปของสังคมไทย รายงานประจำปีที่กล่าวอ้างถึง “ความร่ำรวย” ของมหาเศรษฐีในประเทศไทย และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงย่อมแสดงนัยยะให้คนจำนวนหนึ่งสงสัยว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันหรือไม่

หากนำเอาตัวเลข “หนี้สินเกษตรกร” ทาบทับกับ “กำไรของบรรษัทเกษตร” อาจจะได้ตัวเลขที่ชวนสนเท่ห์ คำถามคือ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปเป็นอำนาจทางการเมืองที่ชักใยอยู่เบื้องหลังหรือไม่

ดังนั้น การที่ภาครัฐทั้งฝ่ายการเมืองและราชการไม่มีมาตรการแทรกแซงตลาดเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดกับเกษตรกรและผู้บริโภค โดยปล่อยให้บรรษัทร่ำรวยขึ้น ย่อมทำให้สังคมสงสัยในสายสัมพันธ์ที่มีต่อกัน และความสัมพันธ์นี้ก็ผิดจริยธรรมทางการเมือง และเป็นการทำบาปหนักต่อคนทั้งชาติ

ทางเลือกของสังคมไทยจึงอาจมาถึงขั้นสุดท้ายแล้วว่าจะปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้แล้วเราก็ค่อยกลืนกลายไปเป็นพวกเดียวกับเขา หรือลุกขึ้นมาทวงถามความรับผิดชอบทางสังคมจากนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และบรรษัท อย่างตรงไปตรงมา เพื่อทวงคืนอำนาจในการกำหนดชีวิตของเราทุกคน

 

หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก olly301  (CC BY-SA 2.0)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net