Skip to main content
sharethis

ศูนย์อุตุฯ ฝั่งตะวันออก ผวาน้ำท่วม เตือนจังหวัดชายฝั่งอ่าวไทย ระวังภัยน้ำท่วม พายุ ดินโคลนถล่ม “หาดใหญ่” ตื่นภัยน้ำท่วม แห่ขนกระสอบทรายป้องบ้าน “ไพร พัฒนโน” แจงถี่ยิบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย “หาดสมิหลา” เจอคลื่นถล่มพังยับ ปัตตานีเรียกประชุมด่วนคณะทำงานด้านน้ำ เร่งขุดลอกคูคลอง พร่องน้ำในเขื่อน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ศูนย์อุตุนิยมวิทยา ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แจ้งเตือนให้เรือประมงในพื้นที่เพิ่มความระมัดระวังและควรกลับเข้าฝั่งในช่วงนี้ เนื่องจากความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก และยังทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปมีคลื่นลมแรงสูงกว่า 2 เมตร และพื้นที่เสี่ยงระวังน้ำท่วมฉับพลัน จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2554 ขณะที่บริเวณปากอ่าวปัตตานีมีเรือประมงนับพันลำ ทยอยกลับเข้าฝั่งจอดหลบคลื่นลมมรสุม โดยเฉพาะเรือประมงขนาดเล็กถึงขนาดกลาง โดยสภาพอากาศในจังหวัดปัตตานี ท้องฟ้ามืดมาประมาณ 3 วันแล้ว ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีมีการจัดเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันภัยออกตรวจพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปัตตานี พร้อมกันนี้ทางจังหวัดยังได้แจ้งเตือนไปยังทุกอำเภอ ให้ระมัดระวังพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะถูกน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มและน้ำท่วมซ้ำซาก นอกจากนี้ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาฝั่งตะวันออก ยังได้พยากรณ์สภาพอากาศภาคใต้ฝั่งตะวันออกว่า ตั้งแต่เวลา 13.00 วันที่ 31 ตุลาคม 2554 ถึงเวลา 13.00 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ลักษณะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีน ที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน เริ่มมีกำลังอ่อนลง ประกอบร่องมรสุม หรือร่องฝนพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีเมฆมากกับมีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป หรือประมาณ 80% ของพื้นที่ มีฝนตกเกือบทั่วไป และฝนหนักถึงหนักมากในบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 20–35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2–3 เมตร ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ระมัดระวังอันตราย ที่อาจเกิดจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 31 ตุลาคม 2554–วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ความสูงของคลื่นประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2–3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง สำหรับจังหวัดสงขลา มีเมฆมากกับมีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป หรือประมาณ 80% ของพื้นที่ และมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20–35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2–3 เมตร ส่วนอำเภอหาดใหญ่่ จังหวัดสงขลา มีเมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป หรือประมาณ 80% ของพื้นที่ และมีฝนหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15–35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ประชาชนในอำเภอหาดใหญ่ ต่างตื่นตัวเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูมรสุมและมีฝนตกหนักติดต่อกัน โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกได้ประกาศเตือนให้จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้องเฝ้าระวังน้ำฉับพลัน ขณะเดียวกันเทศบาลนครหาดใหญ่ได้เตรียมพร้อมรับมือ ด้วยการนำทรายมาเทกองและบรรจุกระสอบเก็บไว้ที่สนามกีฬาจิระนคร บริเวณประตูด้านหลัง ส่วนหนึ่งเตรียมไว้ใช้ป้องกันและสร้างแนวกั้นน้ำตามจุดเสี่ยงต่างๆ และส่วนหนึ่งให้ประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่มารับทรายไปสร้างแนวกั้นน้ำไม่ให้เข้าท่วมบ้านเรือน หรือร้านค้า พนักงานเทศบาลนครหาดใหญ่ เปิดเผยว่า เทศบาลนครหาดใหญ่ได้เตรียมกระสอบบรรจุทรายไว้แล้วกว่า 200,000 กระสอบ ทันทีที่เกิดเหตุสามารถนำออกใช้สร้างแนวกั้นน้ำได้ทันที ในส่วนประชาชนที่ติดต่อขอรับกระสอบทราย เบื้องต้นให้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านมาติดต่อ โดยให้ผู้มาขอรับตักทรายบรรจุกระสอบเองครอบครัวละ 20 กระสอบ ขณะนี้มีประชาชนทยอยมาติดต่อขอรับกระสอบทรายอย่างต่อเนื่อง วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ แถลงว่า ขณะนี้เทศบาลนครหาดใหญ่พร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว โดยตั้งงบกลางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมประมาณ 60 ล้านบาท ใช้สำรักบรื้อและทำความสะอาดท่อระบายน้ำขนาดใหญ่และท่อระบายน้ำสาขา เตรียมรับน้ำฝนภายในเขตตัวเมืองประมาณ 330 กิโลเมตร เพื่อให้น้ำระบายลงสู่คลองสายหลัก ทั้งคลองอู่ตะเภาและคลองระบายน้ำที่ 1 ได้สะดวก “เราตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัย 4 เขต เขต 1 โรงเรียนเทศบาล 1 และโรงเรียนเทศบาล 3 เขต 2 บ้านพักครูเทศบาล และวัดโคกนาว เขต 3 โรงเรียนเทศบาล 4 และสถานีขนส่งเทศบาลนครหาดใหญ่ เขต 4 โรงเรียนอนุบาลเทศบาล 5 โรงเรียนเทศบาล 2 และโรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน โครงการบ้านพี่เลี้ยงให้ความช่วยเหลือประชาชนในชุมชนที่ยากจนและผู้สูงอายุ ที่ขาดคนดูแลในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะชุมชนในเขต 1 เขต 3 และเขต 4 ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก บ้านพี่เลี้ยงแต่ละหลังจะมีทั้งเครื่องอุปโภค บริโภค เวชภัณฑ์ ทั้ง 4 เขต มี 204 หลัง รองรับผู้ประสบภัยในชุมชนได้กว่า 10,000 คน” นายไพรกล่าว นายไพร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ ส่วนใหญ่เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันจากฝนตกหนักต่อเนื่องติดต่อกัน และอิทธิพลของลมพายุ รวมทั้งน้ำเหนือจากอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และน้ำจากเทศบาลรอบนอกไหลมาสมทบ สำหรับมาตรการป้องกันได้จัดเตรียมกระสอบทราย 500,000 กระสอบ ทำพนังกั้นน้ำในจุดที่เป็นช่องโหว่ป้องกันไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมเมือง สำรองข้าวสาร 50,000 ถุง อาหารกึ่งสำเร็จรูป 250,000 ซอง และปลากระป๋องกว่า 250,000 ป๋อง ไว้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามจุดอพยพต่างๆ ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ คลื่นได้ซัดชายหาดกัดเซาะหาดชลาทัศน์ หรือหาดสมิหลา ทำให้ต้นสนขนาดใหญ่ที่อยู่ริมหาดล้มกว่าสิบต้น และชายหาดถูกคลื่นกัดเซาะระยะทางกว่า 100 เมตร แม้ในบริเวณดังกล่าวเทศบาลนครสงขลาได้สร้างเขื่อนแคเบี้ยนตะแกรงเหล็กใส่ก้อนหินฝังไว้ตลอดแนว ป้องกันคลื่นกัดเซาะชายหาดและต้นสนไว้แล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถต้านทานคลื่นลมที่มีกำลังแรงได้ โดยเขื่อนแคเบี้ยนบางส่วนยังถูกคลื่นซัดเสียหาย หลังเกิดเหตุนายสมชาย เมฆาอภิรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครสงขลา ได้ระดมคนงานและรถเจซีบีนำกระสอบทรายกว่า 1 หมื่นกระสอบ มาวางไว้ใต้โคนต้นสนที่ถูกคลื่นกัดเซาะจนเหลือแต่ราก ประคองไว้ไม่ให้ล้ม รวมทั้งนำกระสอบทรายมาเรียงซ้อนตรงบริเวณชายหาดที่ถูกคลื่นกัดเซาะ เพื่อลดความรุนแรงจากการปะทะกับคลื่นที่พัดเข้าหาชายหาด จะได้ลดความเสียหายไม่ให้ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ต่อมา เวลาประมาณ 14.00 น.–15.30 น. วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมเคเอ็ม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี นายเสรี ศรีหะไตร รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นประธานการประชุมคณะทำงานบริหารจัดการน้ำ ในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดปัตตานี มีนายอนุรักษ์ ธีระโชติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปัตตานี ตัวแทนโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี และตัวแทนชลประทานจังหวัดปัตตานี เข้าร่วมประชุม นายเสรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือกันถึงการจัดการทางเดินของน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ โดยดูมาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ การขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำ ระบบการปล่อยน้ำของสำนักชลประทานจังหวัดปัตตานี ทั้งนี้ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 คณะทำงานบริหารจัดการน้ำจะจัดประชุมโฟกัสกรุ๊ปเชิงประเด็น เกี่ยวกับการเตรียมรับมือภัยพิบัติ โดมีตัวแทนจากภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐ เข้ามาร่วมประชุม เพื่อวางแผนเตรียมรับมือภัยพิบัติ โดยเฉพาะในช่วงเกิดภัยพิบัติมักเกิดปัญหาสินค้าบางประเภทขาดตลาด จนต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จึงอาจต้องใช้ระบบการวางแผนและการจัดการ หรือซัพพลายเชนส์ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาสินค้าขาดตลาดด้วย นายพิทักษ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เวลา 09.00 น. วันที่ 1–2 พฤศจิกายน 2554 เทศบาลเมืองปัตตานีจะมีการระดมพนักงานทศบาลกว่า 100 คน ไปเก็บผักตบชวา และขุดลอกคูคลองหมอวิทย์ บริเวณคลองระบายน้ำถนนเส้นหน้ามหาวิทยลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พร้อมกันนี้เทศบาลฯ ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ เรือ เสื้อชูชีพ และกระสอบไว้รองรับและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ก่อนหน้านี้ทางหน่วยงานได้ขุดลอกคูคลอง คูระบายน้ำ ในเขตเทศบาลฯ และกำจัดผักตบชวาในคูคลองเป็นปกติอยู่แล้ว “ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม เป็นช่วงหน้าฝน ถ้าไม่ขุดลอกน้ำอาจท่วมถนนอย่างหนัก กระแสน้ำจากแม่น้ำปัตตานีอาจเอ่อล้นขึ้นมาท่วมบริเวณชุมชนโรงอ่างได้” นายพิทักษ์ กล่าว นายอนุรักษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เขื่อนบางลางมีน้ำอยู่ปริมาณ 47.1% ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 760 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนหน้านี้ได้พร่องน้ำทำให้น้ำที่สถานีใต้เขื่อนบางลางอยู่ในระดับปกติ ทำให้น้ำในเขื่อนแห้ง เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนที่จะเติมเข้ามา เพราะถ้าปล่อยให้ปริมาณน้ำฝนเกิน 760 ล้านลูกบาศก์เมตร อาจจะทำให้เกิดวิกฤติได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net