สัมภาษณ์ ลุงเลิดมะนี สีเชียงใหม่: ศิลปินลาวจากขี้เยี่ยกลายเป็นละครหุ่นลาว

ลุงเลิศมณี ศรีเชียงใหม่ หรือถ้าเรียกและเขียนให้ถูกต้องตามภาษาลาวคือ ‘เลิดมะนี สีเชียงใหม่’ เป็นศิลปินละครลาวสูงวัยใกล้หกสิบปี ที่เดินทางมาร่วมงานกิจกรรมเสวนา “ละครเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงหรือ? ซึ่งมูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) ร่วมกับภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดขึ้น ณ โรงละครมะขามป้อม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการ นักการละคร ศิลปินหลายแขนง 20 ชาติเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ลุงเลิดมณี สีเชียงใหม่ เป็นอีกคนหนึ่ง ที่พาทีมงานข้ามฟากจากฝั่งโขงของลาว มาร่วมแสดงงานละครหุ่นลาวให้ผู้คนได้ชมกันอย่างตื่นตาตื่นใจ โดยละครหุ่นของเขานั้นเด่นและสะดุดตาแก่ผู้เห็น เพราะเป็นหุ่นแต่ละตัวนั้น เขาทำมาจากขี้เยี่ย หรือเศษขยะที่อยู่รอบๆ โรงละครมะขามป้อม แล้วนำมาประดิษฐ์ ตกแต่ง ปรับใช้ และนำมาแสดงให้ดูตรงนั้นเลย นี่คือคำบอกเล่าของ ลุงเลิดมะนี ว่าทำไมชีวิตเขาถึงผูกพันกับหุ่นขี้เยี่ยเช่นนี้ และละครเปลี่ยนสังคมได้จริงหรือ? ซึ่งจากคำเว้าซื่อๆ ของลุงเลิดมะนี นั้นอาจซ่อนแฝงไว้ในความสัมพันธ์ ความงาม ความจริง และความเชื่อ ให้ค้นหาได้ บ้านเดิมจริงๆ ของลุงอยู่เมืองไหน ? อยู่บ้านแก้งก่อ เมืองจำพอน สุวันนะเขด เขตภาคใต้ของลาว ติดกับมุกดาหารของไทยนี่แหละ บ้านลุงอยู่ในเขตชนบท ออกจากสุวรรณเขตประมาณห้าสิบกว่ากิโล ครอบครัวของลุงดั้งเดิมเป็นศิลปินมาก่อนหรือเปล่า ? ก็มีน้องของพ่อ เป็นอาว เขาเป็นหมอลำสุดยอดของเมืองลาวเลยหละ ชื่อหมอลำบุนตอง เป็นหมอลำพอนสะหวัน ในเมืองสุวันนะเขด จะมีลำหลายประเภท อย่างลำพอนสะหวัน ลำพูไท ลำบ้านช่อ มีแขวงเดียวนี่แหละที่มีหมอลำหลาย แขวงอื่นก็มีเหมือนกัน แต่จะมีลำอันเดียว เรื่องหมอลำนี่ปัจจุบันมีลูกหลานสืบทอดต่อๆ กันมาไหม ? ไม่มีเลย เพราะว่าการเป็นหมอลำมันเป็นชีวิตที่ไม่รุ่งเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่คนโบฮานเขาห้ามถ้าเต้นกินรำกินเขาว่าไม่ดี แต่ว่าน้องของพ่อเป็นคนสองเพศ เขาก็แหวกแนวออกไปอะไรก็ตามเขาก็ต้องเอาอย่างเดียว รำ เขาก็เป็นหมดลำคนเดียวในเขตสุวรรณเขต แล้วมาในยุคของลุง ได้กลายมาเป็นศิลปินละครหุ่น หรือกะบอกลาวนี้ได้อย่างไร ? ชีวิตมันก็ยืดยาว ครั้งแรกเริ่ม ชีวิตลุงไม่อยากเป็นนักศิลปินเลย ลุงเข้าเฮียนวิชาครู เฮียนครูวรรณคดีกับการเมือง หลังจากเรียน 4 ปี ก็มีพรสวรรค์ในการแสดง การเล่านิทาน ก็เป็นแรงบันดาลให้การเล่านิทานนี่มันจะเป็นการชักชวนให้คนหัวเราะ แล้วก็เป็นการเติมชีวิตให้คน แต่การเล่านิทานมันมีช่วงคับแคบ ก็เลยคิดว่ามาเป็นนักแสดงดีกว่า ก็หันตัวมาเป็นนักแสดง ไปเรียน ตอนนั้นเขาเชิญผู้เชี่ยวชาญของเวียดนามมาสอน สอนเทคนิคการแสดง เป็นสาขาการแสดงเลยหรือเปล่า ? ไม่นะ เป็นการสอนในระยะสั้น แค่เก้าเดือน จบออกมา ก็มาเป็นนักแสดง รัฐบาลลาวก็ตั้งกองละครขึ้นในเวลานั้น ลุงก็เรียนจบมหาวิทยาลัย ชื่อมหาวิทยาลัยสร้างครูดงดู่ แต่ก็ไม่ได้เป็นครู ออกมาก็มาเป็นนักแสดงเลย(หัวเราะ) ลุงเป็นข้าราชการของลาวเลยใช่ไหม ? แม่น ตอนนั้นถือว่าเป็นข้าราชการ มีเงินเดือนกินแล้ว ก็ทำกับรัฐบาล หลังจากการทำการละคร ลุงได้มีการแลกเปลี่ยนกับทางเวียดนาม คือเขาให้ทุนไปศึกษางานมาสร้างกองละครลาว ซึ่งกองละครลาวนี่ลุงก็ยังไม่ชอบ เพราะว่าจำนวนคนมันเยอะ ไปที่ไหนทีก็ประมาณ 30-40 คน เยอะ ไม่ชอบ ลุงก็ออกมาเป็นนักแสดงตลก แล้วทำไมถึงเลือกที่จะแสดงละครหุ่น ? คือเวลาเดียวกันนั้น มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลฝรั่งเศสเข้ามา ก็ได้มีโอกาสได้เข้าคุยกับรัฐบาลกลาง แล้วเขาก็ให้ทุนเราไปเรียนที่ฝรั่งเศส ประมาณหกเดือน เรียนพื้นฐานของการแสดง กลับคืนมาก็มาสร้างทีมงานของลุงที่ลาว มีกลุ่มกายกรรมของลาว และในเวลาเดียวกันนั้นนักแสดงของฝรั่งก็เข้ามาในลาว มีนักแสดงละครหุ่นเข้ามา เขาก็มาเสาะหาลุง เพราะว่าลุงเป็นคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสได้คล่อง แล้วเขาก็ให้พาทีมงานนี้ไปแสดงตามชนบท อันนี้ลุงคิดว่ามันเป็นปาฏิหาริย์ของลุง ที่ได้เอาการแสดงของฝรั่งไปแสดงบนดอย เพราะตามหมู่บ้านนั่นไม่มีคนเว้าภาษาลาวได้ มีแค่พ่อบ้านคนเดียวเว้าภาษาลาวได้ ลูกบ้านเว้าภาษาชนเผ่าหมดเลย เป็นลาวเทิง ที่นั่นไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ มืดหมดเลย ค่ำมาเขาทำการแสดง โดยที่ให้ชาวบ้านเอาดุ้นฟืนมาคนละดุ้น เอากองรวมกันแล้วก็ดังไฟ(ก่อไฟ)ขึ้น แล้วคนฝรั่งเขาก็ทำการแสดงรอบกองไฟ ในเวลาเดียวกันชาวบ้านก็เอาวัฒนธรรมของชาวบ้านออกมาแสดงแลกกัน ฝรั่งมีแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมของตัวขึ้นมา เขาก็บันทึกเอา แล้วก็กลับไปบ้านเขา ทำให้ลุงมองเห็นกลวิธีในการแสดงของฝรั่ง จนกลายมาเป็นละครหุ่นใช่ไหม ? แม่น พอลุงเห็นเหตุการณ์นั้น ลุงกลับลงดอย ก็ไปรายงานกับรัฐบาล ว่าเราควรเหมือนเขา ทำวิธีอย่างเขา เพราะวิธีของเขาดี เพราะก่อนหน้านั้นลุงอยู่ละครของลาว พอไปแสดงให้ชนเผ่าเบิ่ง เขาไม่เบิ่งเพราะเขาไม่รู้ภาษา แต่ฝรั่งนี่มีเทคนิค โดยไม่ต้องพูด หลังจากนั้น ลุงก็ขอทุนรัฐบาลไปเรียน รัฐบาลเขาก็ให้เราไป กลับมาเราก็มาสร้างทีมงานละครหุ่น โดยเอาอุปกรณ์ของลาว คือเอาขี้เยี่ย(เศษขยะ)ของลาวนี่แหละ มาทำ แล้วก็เอาแสดงให้ชาวบ้านดู ปรากฏว่าทำให้เราเห็นความแฮง เห็นความเปลี่ยนแปลงของมัน ทำไมลุงถึงเลือกเอาขี้เยี่ยหรือเศษขยะมาทำเป็นละครหุ่น ? เพราะว่าเราไปบ้านแต่ละบ้าน เราไม่ถืออุปกรณ์ไป แต่เราไปหาเอาในหมู่บ้านนั้นเลย เราเอาหุ่นที่อยู่ในบ้าน เอาอุปกรณ์ที่อยู่ในบ้านขึ้นมา แล้วให้เขาทำเอง แล้วก็ให้เขาเล่นเอง เราแค่สอนเทคนิคนิดๆ หน่อยๆ มันทำให้ชาวบ้านฮักผลงานที่เขาทำขึ้นมา มีผลงานเป็นของตนเอง แล้วเขาก็จะรู้จักจุดอ่อนจุดดีที่คนอื่นเขาทำ ถ้าเกิดหุ่นที่ทำนั้นมันมีปัญหาเขาก็แปง(สร้าง)ใหม่เลย เฮ็ดให้ชาวบ้านมีความฮักในผลงาน อันที่สอง เฮ็ดให้ชาวบ้านไม่ทิ้งขี้เยี่ย อันไหนที่ทิ้ง ก็เอามาทำประดิษฐ์ประดอย แล้วก็เล่นกัน แล้วก็เป็นการขยายงาน เพราะตรงนี้มันเป็นงานรีไซเคิลด้วย ก็เลยทำให้ละครหุ่นของลุง กลายเป็นที่สนใจและได้รับความนิยมมากขึ้น ? ลุงเริ่มทำละครหุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 พอถึงปี 2011 ปรากฏว่ากระแสมันพุ่งขึ้น แฮงขึ้น จากลุงคนเดียว แล้วก็เพิ่มมา 5 คน ซึ่งทั้ง 5 คนนี่ได้ส่งไปฝึกงานที่ฝรั่งเศส แล้วก็กลับมาแสดง จากนักแสดงละครหุ่น 5 คน ก็มาเป็น 10 ปัจจุบันนี้มีซาวคน (20 คน) แล้วซาวคนนี่ ก็ยังสามารถไปแสดง แยกไปตามที่ต่างๆ ครั้งละ 5 คนได้ หมายความว่า จุดเด่นของการแสดงละครหุ่น คือไม่ต้องใช้คนเยอะ และไม่ต้องเตรียมตัวหุ่น ? แม่นแล้ว คือไม่จำเป็นต้องไปแสดงหมด ใช้คนน้อย แล้วเราก็สามารถไปได้ทุกที่ทุกทาง ไปก็ไม่จำเป็นต้องเอาอะไรไป อันนี้มันจะเป็นการประหยัด และก็สามารถไปทุกแห่งทุกซอกทุกซอยของพื้นที่ได้ดนตรีเราไม่ต้อง เราก็ใช้ดนตรีของพื้นบ้านเขา อะไรก็ได้ที่มันให้เสียง แล้วก็เคาะให้หุ่นแสดง อันนี้มันจะดันให้เราแฮงขึ้น จนทำให้ผลงานและชื่อเสียงของละครหุ่น หรือกะบอกลาวขี้เยี่ยโด่งดังไปทั่ว ? 11 ปี ที่ผ่านมา เราไปจัดแสดงอยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศของอาเซียนครบเลยหละ แล้วก็จะไปทางยุโรป มีฝรั่ง อัฟริกา เยอรมัน ฯลฯ ปรากฏว่ามันบรรลุขึ้นมาแล้ว ปัจจุบันนี้จากหน่วยกระบอกลาวก็แตกออกเป็นหน่วยหน้อยๆ อย่างเช่น หน่วยข้าวเหนียว หน่วยแจ่วบอง ที่เป็นลักษณะพื้นบ้านๆ ละครหุ่นลาวของลุงแตกต่างกับละครหุ่นชาติอื่นอย่างไรบ้าง ? ลุงเคยประชันกันกับละครโจหลุยส์ของไทยนะ วิธีเล่นของโจหลุยส์กับของกระบอกลาวเหมือนกัน มันคล้ายๆ กันตรงตัวหุ่น แต่ของเราจะไม่ปิดหน้า ไม่เล่นกับผ้ากั้ง แต่จะออกไปเล่นกับผู้ชม แต่ของโจหลุยส์เป็นตัวละครที่แพง ผลิตขึ้นมาแล้วขายไม่ได้ ถ้าซื้อก็ไม่ขาย ตรงกันข้ามกับของเรา เราผลิตขึ้นมาแล้วแสดงแล้วฝากไว้เลย ฝากไว้ให้บ้านนั้นเลย เขาก็เอาไปเลย ชาวบ้านเขาก็เล่นไป(หัวเราะ) นอกจากโจหลุยส์แล้วก็ยังมีละครน้ำของเวียดนาม อันนี้ก็ไม่มีอะไรมากแต่มันมีน้ำเล่น เล่นอยู่ในน้ำ อันนี้เป็นตัวพิเศษที่บ่มีไผทำขึ้นมา ก็เหมือนกับละครหุ่นกระบอกลาวเอาขี้เยื้อขึ้นมา ก็ยังไม่มีไผทำ แต่อันนี้เขาก็ศึกษาเรา เราก็ศึกษาของเขาด้วย แต่ในร่วม 10 ปีมานี้ เราได้ร่วมโครงการเกี่ยวกับละครเสียงเด็กแล้วก็บรรดาเครือข่ายของละครที่อยู่ในกลุ่มของอาเซียนด้วยกัน ก็มีการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ทุกวันนี้สังคมในประเทศลาวยอมรับการแสดงหุ่นลาวมากขึ้นไหม ? จุดนี้ยังไกลกันกับเมืองไทย เพราะว่าคนลาว เขาไม่เหมือนลุง อย่างเพื่อนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยสร้างครูดงดู่ด้วยกัน บางคนก็ไปเป็นรัฐมนตรี เป็นกรมการเมือง แต่ลุงเลิศไม่ได้เป็น เมื่อก่อนเพื่อนหลายคนบอกว่าลุงเลิศเป็นบ้า เรียนจบสูง แต่มาทำอย่างนี้ ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีใครว่าอย่างนั้นแล้วหละ(หัวเราะ) สังคมยอมรับเราแล้ว แค่นั้น แต่ประชาชนมีไม่กี่คนที่เข้าใจปัญหานี้ยังอีกหลายคนอยู่ ใครคือกลุ่มเป้าหมายของการแสดงละครหุ่นลาว ? เวลาเราเปิดกลุ่ม work shop ผู้ที่เข้ามาเรียนจะไม่ใช่คนในวงการ แต่เป็นเด็กด้อยโอกาส อนาถา ไม่มีงานทำ เรียกได้ว่าผู้ใหญ่ยังไม่เข้าใจเรา เขาจะเอาลูกเขาไปเป็นภาษี จะเอาลูกเขาไปเป็นการเงิน เอาลูกไปเป็นบัญชี เผื่อจะกอบโกยอะไรเขามา เพราะหลายคนเขาคิดเพียงแค่จะทำอย่างไรจะได้เงินหลาย แต่ลุงดีใจที่มีโอกาส อยู่ข้างคนยากคนจน ได้ช่วยเหลือพวกเขา ปัจจุบันนี้ก็มีหลายโครงการเชิญเราไป ลุงเลิศก็จะฝากลูกฝากหลานไปให้คนอื่นรู้ว่าละครมันดี มันเปลี่ยนนิสัยของลูกเขาได้ เห็นผิดเป็นยังไง ถูกเป็นยังไง และรูปการละครของลุงเลิศไม่เหมือนเก่า แต่ก่อนมีการเขียนบท มีการขึ้นต้นเรื่อง การดำเนินเรื่อง และการจบเรื่องว่าจะจบลงยังไง จบจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งหรือว่าเศร้าไปเลย ตายไปเลย แต่ลุงเลิศไม่ทำอย่างนั้น แค่ยกขึ้นมาในละครเรื่องเดียวที่ลุงเลิศเคยแสดงผ่านๆ มา อย่างเช่น เรื่องความฝันของปู่จันย่าจัน ความฝันของผู้เฒ่า ลุงเอาเรื่องนี้ไปแสดงให้เด็กน้อยอนุบาลเบิ่ง เขาก็คิดไปอย่างหนึ่ง เรื่องเดียวกันแต่ถ้าเอาไปแสดงโฮงเฮียนประถม มัธยม เขาก็คิดไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราเอาไปแสดงที่มหาวิทยาลัยเรื่องเดียวกันมันก็คิดไปอีกเรื่องหนึ่ง เราจะไม่ให้กรอบเขา ถ้าคุณดู คุณต้องคิด ยกตัวอย่าง แมงไม้ที่ลุงทำ ถ้าเด็กน้อยเห็นก็จะอ้า..แมงมุม แต่ไปถามอีกคนหนึ่งก็อาจจะบอกว่า งู ก็ได้เขามีสิทธิคิด แต่ลุงไม่ได้ตีกรอบ เป็นนี่เป็นนั่น เพื่อจะให้เขาได้คิดว่านี่มันอะไร เราจะไม่เข้าไปในกรอบแต่เราจะแหวกแนวออกไป แล้วให้เขาไปคิดเอาเอง ทุกวันนี้ลุงมีความสุขไหมกับการใช้ชีวิตเป็นศิลปินละครหุ่นแบบนี้ ? ก็ธรรมดา ถ้าเราอยากได้อะไร เรามุ่งมั่นในอะไร แล้วก็ไม่มีใครมาห้าม ลุงคิดถูกแล้ว เพราะว่าหลังจากประชาชาติปลดปล่อยมันไปทางคอมมิวนิสต์ ก็คิดว่าตายแล้ว มันจะไปสังคมนิยมยังไง สุดท้ายมันก็ไปของมันเอง มาปัจจุบันนี้ โลกก็ยอมรับแล้วว่า มันไม่เหมือนคอมมิวนิสต์แล้ว ถ้าจะเป็นคอมมิวนิสต์ก็เป็นคอมมิวนิสต์แบบลาว ถ้าของแบบจีนก็แบบของจีนต่างหาก ก็มีความสุขของมัน โดยที่ไม่มีใครมาห้ามเราได้ จะห้ามเราทำไม มีบางคนที่เคยไปฮ่วมบุญโบราณของมหกรรมละคร มีบางคนก่อนจะแสดงเขาทำพิธีกรรม แต่ของเราไม่การทำพิธีกรรมสามสิบนาทีก่อนแสดงแบบนั้น ผู้ชมก็จะตั้งคำถามว่าอะไรวะ มีการจุดเทียน มีการเทศน์ ก่อนการแสดง และบางคนมักมาถามเรา คุณมีไหม เราบอกไม่มี เราไม่ไหว้ครู เพราะเราเอาขี้เยี่ยมาทำ แต่ที่เขาเอาหน้ากากอะไรมาแสดงนั้น เขาต้องใส่หิ้งฆ่าหมูไปไหว้กัน แต่เราไม่ทำ จะให้เรามาไหว้ขี้เยี่ย เราคงไม่ไหว้ละ(หัวเราะ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท