Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ รุกถามความคืบหน้าประทานบัตรเหมืองโปแตชหลัง กพร. และบริษัทอ้างปักหมุดเสร็จแล้ว ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดเผยเตรียมปิดประกาศเขตเหมืองในเดือนนี้ ชีหากคัดค้านสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองได้ วานนี้ (9 พ.ย.54) เวลา 10.00 น. แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวน 20 คน เดินทางไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เพื่อติดตามความคืบหน้าการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของบริษัทเอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมทั้ง ยื่นหนังสือคัดค้านการขออนุญาตประทานบัตรโครงการฯ นายปัญญา โคตรเพชร เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า สถานการณ์การผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ได้กลับมาเข้าสู่สถานการณ์ตรึงเครียดอีกครั้ง เมื่อฝ่ายบริษัทได้มีความพยายามผลักดันโครงการโดยทำการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้นำชุมชน สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งที่ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้แสดงเจตจำนงมาตลอดว่าการดำเนินการจัดเวทีหลายต่อหลายครั้ง ของบริษัท ไม่มีความชอบธรรม และขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชาวบ้านในพื้นที่ “ที่พวกเราพากันมาในวันนี้ ก็เพื่อจะมาถามจากอุตสาหกรรมจังหวัดเกี่ยวกับเรื่องเหมืองโปแตช ว่าหลังจากที่ กพร. และบริษัท ได้อ้างมาว่า ปักหมุดเสร็จแล้ว จะดำเนินการในขั้นต่อไปนั้น ตอนนี้ไปถึงไหนกันแล้ว เพราะพวกเราซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ก็ร่วมกันค้านการปักหมุดรังวัดมาตลอดว่า ไม่มีความชอบธรรม ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม แต่บริษัทก็ยังมีการเคลื่อนไหวที่จะผลักดันโครงการต่อให้ลุล่วง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความสับสนต่อสถานการณ์ จึงได้กันมาพบอุตสาหกรรมจังหวัดในวันนี้ ให้ช่วยชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการเหมืองโปแตช” ด้าน นายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ทำการชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดิน ว่า หลังจากที่มีการปักหมุดรังวัดแล้วเสร็จเมื่อปีที่แล้ว ขั้นต่อไปก็จะทำการปิดประกาศไปยังหน่วยงานราชการ เทศบาล และ อบต.ที่อยู่ในพื้นที่โครงการ ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนนี้ เมื่อถึงตอนนั้นก็จะทราบว่ามีใครบ้างอยู่ในเขตคำขอประทานบัตร และถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ซึ่งหากชาวบ้านจะคัดค้านก็เตรียมเอกสารยื่นได้ตามแปลงที่มีชื่ออยู่ นายวรากรยังกล่าวอีกว่า พอปิดประกาศแล้ว ตามขั้นตอนก็จะมีการทำประชาพิจารณ์ หรือประชาคมหมู่บ้านในเขตเหมือง ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ชาวบ้านจะค้าน หรือถ้าเห็นว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ ส่วนผลของการคัดค้านก็จะทำให้กระบวนการทุกอย่างหยุดชะงักทันที จนกว่าบริษัทจะตกลงกันได้กับผู้คัดค้าน ส่วน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมาคำว่าการมีส่วนร่วมจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ไม่ได้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมที่แท้จริงต่อภาคประชาน ทำให้เกิดปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังเสมอมา “เวลาหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชนดำเนินการอะไร ก็มักจะมีการอ้างว่าได้สร้างการมีส่วนร่วมให้กับชาวบ้านแล้ว ถ้าทำจริงชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ คงไม่ต้องมาพบอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อที่จะขอข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์โครงการเหมืองแร่โปแตชหรอก” นายสุวิทย์กล่าว และเสริมว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมีการทำความเข้าใจในประเด็นการมีส่วนร่วมให้มีความลึกซึ้ง และดำเนินการอย่างชัดเจน ผู้ประสานงาน ศสส.กล่าวด้วยว่า ในส่วนของสถานการณ์เหมืองโปแตชที่จะมีการปิดประกาศการขอประทานบัตรนั้น ชาวบ้านก็ต้องออกมาค้านอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เพราะขั้นตอนการดำเนินการที่ผ่านมามันขัดหลักการมีส่วนร่วมมาตั้งแต่แรก “อยากจะตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่าถ้าหากการคัดค้านของชาวบ้านดำเนินการตามช่องทางของกฎหมาย เช่น ฟ้องร้องต่อศาลปกครองนั้น อธิบดี กพร. จะยุติการเอื้ออำนวยให้เกิดโครงการเหมืองโปแตชหรือไม่ และถ้าหากกลุ่มชาวบ้านใช้วิธีการคัดค้านที่ไม่ได้ผ่านช่องทางของกฎหมาย เช่น การชุมนุม การปิดถนน กลับถูกกล่าวว่าชาวบ้านไม่มีเหตุผลไม่อยู่ในกรอบกติกา สิ่งเหล่านี้จึงไม่มีความเป็นธรรมต่อกลุ่มชาวบ้านเลย” สุวิทย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net