สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 5 - 11 พ.ย. 2554

ระวัง! นายหน้าหลอกไปทำงานอิสราเอล นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอิสราเอล โดยเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย ได้ลงนามความตกลงด้านแรงงาน เพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตร ณ ประเทศอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน” โดยประกาศรับสมัครบุคคลสัญชาติไทย อายุระหว่าง 23 - 39 ปี กำหนดรับสมัครระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2554 สำนักงานบริหารแรงงานไปต่างประเทศ สำนักจัดหางานกรุงเทพ เขตพื้นที่ 1 – 10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่เนื่องจากปัจจุบันกรมการจัดหางานได้รับรายงานว่ามีบุคคล หรือสาย/นายหน้า ไปแอบอ้างกับคนหางานหรือผู้สมัครว่าสามารถช่วยเหลือให้ได้รับการคัดเลือกไป ทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล โดยมีพฤติกรรมเรียกเก็บเงินจากคนหางานหรือผู้สมัคร ซึ่งทางกรมการจัดหางานขอแจ้งให้ทราบว่า การดำเนินการคัดเลือก จะดำเนินการด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และเสมอภาค หากมีผู้ใดแอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้ได้รับการคัดเลือก เพื่อไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล หรือมีพฤติกรรมในทำนองเดียวกันนี้โปรดอย่าหลงเชื่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้ถูกหลอกจนสูญเสียทรัพย์สินเงินทองหรือไปตกระกำลำบากในต่าง แดน จึงประชาสัมพันธ์เตือนให้คนหางานหรือผู้สมัคร หากมีข้อสงสัยประการใดสามารถสอบถามข้อเท็จจริงหรือแจ้งเบาะแสผู้มีพฤติกรรม หลอกลวงคนหางานได้ที่ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ หรือศูนย์มิตรไมตรี กรมการจัดหางาน โทร. 1694 สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเลย ศาลากลางจังหวัดเลย หลังเก่า ชั้น 2 โทร. 0-4281-1861 และ 0-4281-2594 -5 (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 4-11-2554) “แรงงานไทย” บาดเจ็บหลัง “อิสราเอล” ถูกโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซา 6 พ.ย. 54 - แรงงานชาวไทยรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากจรวด ซึ่งกลุ่มหัวรุนแรงในฉนวนกาซาลอบยิงโจมตีอิสราเอล เพื่อตอบโต้กองทัพอากาศอิสราเอลที่เปิดฉากถล่มกลุ่มหัวรุนแรง เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดอะ เยรูซาเลม โพสต์ ของอิสราเอล รายงานวันนี้ (6) ทั้งนี้ คนไทยผู้นี้ได้รับบาดเจ็บ “เพียงเล็กน้อย” จากจรวดที่ยิงออกมาจากฉนวนกาซา เมื่อช่วงคืนวันเสาร์ (5) เพื่อโจมตีย่านฮอฟ แอชเคลอน ที่ตั้งอยู่เหนือฉนวนกาซา จรวดที่ทำร้ายแรงงานไทยคนนี้เป็น 1 ใน 2 ลูก ซึ่งถูกยิงเมื่อคืนวันเสาร์ ลูกแรกตกทางตอนใต้ของเมืองแอชเคลอน โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ก่อนที่อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา จรวดลูกที่สองจะถูกยิงตามออกมา จนชาวไทยคนนี้ได้รับบาดเจ็บ ก่อนเกิดเหตุดังกล่าว กองทัพอากาศอิสราเอลเพิ่งบุกถล่มกลุ่มหัวรุนแรงในฉนวนกาซา ซึ่งกำลังเตรียมการโจมตีชายแดนอิสราเอล โดยสถานนีโทรทัศน์ช่อง 10 ของอิสราเอล รายงานว่า กลุ่มหัวรุนแรงเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 2 ราย อนึ่ง กลุ่มหัวรุนแรงในฉนวนกาซาแถลงข่มขู่รัฐยิวมาเสมอ ว่า จะตอบโต้ด้วยความรุนแรง หากเครื่องบินรบอิสราเอลยังคงโจมตีฉนวนกาซา อย่างไรก็ตาม เดอะ เยรูซาเลม โพสต์ ไม่ได้เปิดเผยชื่อของแรงงานชาวไทยคนนี้ หรือรายละเอียดเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-11-2554) โรงงานน้ำตาลยื่นมือช่วยเหลือผู้ว่างงานจากภาวะน้ำท่วมประกาศจ้างงานกว่า 1 หมื่นอัตรา นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารและประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง รวมถึงภาคการผลิตและบริการจำนวนมากที่ต้องหยุดดำเนินงาน และต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการฟื้นฟูกิจการ ทำให้มีแรงงานจำนวนมากที่ต้องว่างงานและขาดรายได้ ส่งผลต่อการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิตของแรงงานเหล่านี้และครอบครัว “กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ดี และหารือกันว่า เราควรเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประเทศ โดยการช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ให้มีงานทำ เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองและครอบครัว โดยโรงงานน้ำตาลต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจะหางานที่เหมาะสมให้กับผู้ที่ว่างงาน บางคนอาจทำงานในไร่อ้อย บางคนที่มีความรู้เรื่องเครื่องจักรกลก็จะให้ทำงานในโรงงาน หรือบางคนอาจช่วยงานในสำนักงาน” นายสิริวุทธิ์กล่าว ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ประกอบไปด้วยโรงงานน้ำตาลทรายทั้งหมด 47 โรงงานที่ตั้งกระจายอยู่ในภาคเหนือ 10 แห่ง ภาคกลาง 16 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แห่ง และภาคตะวันออกอีก 5 แห่ง สามารถรับแรงงานในช่วงเปิดหีบอ้อยได้มากกว่า 10,000 ตำแหน่ง โดยการหีบอ้อยและผลิตน้ำตาลทรายจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 จนถึงประมาณเดือนเมษายน 2555 สำหรับจังหวัดที่ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายมีอยู่ใน 27 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย อุทัยธานี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี สระแก้ว กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มุกดาหาร มหาสารคาม สุรินทร์ หนองบัวลำภู และอุดรธานี โดยผู้ที่สนใจเข้าทำงานสามารถติดต่อไปที่โรงงานน้ำตาลทั้ง 47 แห่งได้โดยตรง ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดสถานที่ตั้งโรงงานได้จากเว็บไซต์ www.thaisugarmillers.com หรือโทรศัพท์สอบถามที่ 0-2273-0992 ตั้ง แต่วันนี้เป็นต้นไป (ไทยชูการ์ มิลเลอร์, 7-11-2554) สภาองค์การนายจ้าง-ลูกจ้างเสนอ ก.แรงงานตั้งกองทุนฉุกเฉิน นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังที่ให้สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยเข้าพบว่า ทางสภาองค์การนายจ้างได้ออกแถลงการณ์ร่วมทวิภาคี เพื่อเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเสียหายของสถานประกอบการและลูกจ้าง จากวิกฤติน้ำท่วม โดยเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินช่วยเหลือนายจ้าง-ลูกจ้างที่ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และให้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีในระดับกระทรวง เพื่อดูแลด้านเยียวยาและฟื้นฟู ประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมทั้งให้สภาองค์การนายจ้าง และสภาองค์การลูกจ้าง ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม) ที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเยียวยาและฟื้นฟูในระดับกระทรวงตามที่ เสนอมานั้น พร้อมที่จะรับไปนำเสนอต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการชุดนี้ก็จะเป็นผู้ที่พิจารณาจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินช่วยเหลือฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สำหรับเรื่องที่เสนอให้สภาองค์การนายจ้าง และสภาองค์การลูกจ้าง เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม) ที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น ก็เช่นเดียวกันคงจะต้องนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อนำไปเสนอต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้นายสมเกียรติ ยังได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องของฝ่ายนายจ้างที่เสนอให้มีการเลื่อนระยะเวลาใน การจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มในอัตรา 40% ที่คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในวันที่ 1 เม.ย.55 ออกไปก่อน ว่า ในเรื่องนี้เป็นมติของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งจะต้องมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อให้มีผลบังคับตามที่กำหนด ซึ่งเชื่อว่าในวันที่ 1 เม.ย.55 สถานประกอบกิจการที่ถูกน้ำท่วมจะสามารถฟื้นตัวได้ทัน และสามารถจ่ายในอัตราที่กำหนดได้ อีกทั้งอยากให้มองว่าการปรับค่าจ้างเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ลูกจ้างมีกำลังในการซื้อ เพราะในช่วงที่น้ำท่วมลูกจ้างต้องหยุดงานทำให้ไม่มีกำลังในการจับจ่ายสินค้า รวมถึงเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้ออกประกาศเลื่อนการส่งเงินสมทบให้กับ ผู้ประกันตนทุกมาตราออกไปจนกว่าสถานการณ์น้ำจะลดลง โดยประเมินตามพื้นที่ประสบอุทกภัย อีกทั้งมาตรการเยียวยาผู้ใช้แรงงานรายละ 3,000 บาท ก็ได้ผ่านความเห็นชอบของอนุกรรมการกลั่นกรองแล้ว และจะเสนอให้คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม) ในชุดที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาองค์การนายจ้าง และสภาองค์การลูกจ้าง ยังไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกับรัฐบาลทั้งที่เป็นผู้ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โดยตรงจึงขอเสนอตัวเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงาน สำหรับข้อกังวลในเรื่องของการเลิกจ้างลูกจ้างในช่วงน้ำท่วม ขอยืนยันว่านายจ้างและสถานประกอบการใดที่มีกำลังจ่ายไม่มีนโยบายเลิกจ้าง ลูกจ้างแน่นอน เนื่องจากหลังน้ำลดจะต้องเร่งการผลิตตามคำสั่งซื้อให้ทัน ส่วนมาตรการช่วยเหลือที่นายจ้างต้องการในขณะนี้คือ การลดเงินสมทบลงจากปกติ 5% ให้เหลือเพียง 3% และงดเก็บเงินสมทบของลูกจ้าง โดยให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายแทน (บ้านเมือง, 7-11-2554) สปส. คาดการณ์ น้ำท่วมกระทบผู้ใช้แรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 220,000 คน 7 พ.ย. 54 - นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2554 มีผู้ใช้แรงงานว่างงาน 104,182 คน แบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ ถูกเลิกจ้าง 18,024 คน สมัครใจลาออก 82,618 คน และ ว่างงาน เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาจ้าง 3,540 คน โดยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา สปส.ได้จ่ายเงินประกันว่างงานไปทั้งหมด 305 ล้านบาท ทั้งนี้จากปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ทำให้แรงงานได้รับผลกระทบและอาจถูกเลิกจ้าง สปส.จึงคาดการณ์ไว้ว่า หากสถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤต จะทำให้ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2554 มีผู้ใช้แรงงานว่างงาน เพิ่มเป็น 360,000 คน แบ่งเป็น เลิกจ้าง กว่า 220,000 คน สมัครใจลาออก 130,000 คน และสิ้นสุดสัญญาจ้าง 10,000 คน ส่งผลให้ สปส.จะต้องจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานประมาณ 5,550 ล้านบาท ด้าน น.ส.ส่งศรี บุญบา รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานในจังหวัดต่างๆ ที่ประสบอุทกภัยและถูกเลิกจ้าง ขอให้ไปยื่นคำร้องรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อสำนักงานจัดหางานเขต พื้นที่ จังหวัด ส่วนกรณีที่เป็นแรงงานที่ได้รับสิทธิประโยชน์แล้วและไม่สามารถไปรายงานตัว ได้ตามกำหนด ก็ขอให้โทรศัพท์มาแจ้งต่อสำนักงานจัดหางานต่างๆ เนื่องจากขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ของ สปส.ไปประจำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากแรงงานที่ว่างงานได้งานใหม่แล้ว สถานประกอบการแห่งใหม่ที่รับเข้าทำงานจะแจ้งข้อมูลมายัง สปส. ซึ่ง สปส.จะยกเลิกการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 7-11-2554) ก.แรงงาน เตรียม เสนอ 2 โครงการช่วยเหลือ นายจ้างลูกจ้างที่ประสบอุทกภัย ต่อที่ประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พรุ่งนี้ (8 พ.ย.54) กระทรวงแรงงาน จะเสนอ 2 มาตรการ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ โครงการจ่ายค่าจ้างให้แรงงานที่กระทบน้ำท่วมรายละ 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เติมให้กับนายจ้างที่จ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติ ในวงเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท และโครงการยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย หลักสูตร 10 วัน โดยผู้เข้าอบรมจะได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 120 บาท ตั้งเป้ามีผู้เข้าร่วม 15,000 คน ในวงเงิน 61 ล้านบาท เชื่อว่า 2 มาตรการนี้หากได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะสามารถช่วยให้นาย จ้างไม่เลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยคาดว่าหากได้รับความเห็นชอบในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเริ่มจ่ายค่าจ้างตามโครงการแรกได้และเริ่มเปิดอบรมตามโครงการที่ 2 ควบคู่กันไป อย่างไรก็ตามคาดว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในหลายนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมบางหว้า ซึ่งยังไม่มีการเลิกจ้างคนงาน ที่ขณะนี้เริ่มสูบน้ำอย่างเต็มกำลังจะสามารถฟื้นฟูและเริ่มเปิดงานได้ในช่วง กลางเดือนธันวาคม หรือประมาณ 45 วัน ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีลูกจ้างกระทบน้ำท่วมกว่า 819,147 คน ในสถานประกอบการ 20,526 แห่ง ซึ่งเป็นลูกจ้างซับคอนแทคกว่าร้อยละ 20 ประมาณ 150,000 – 160,000 คน ซึ่งกลุ่มนี้เสี่ยงถูกเลิกจ้างประมาณ 100,000 คน อย่างไรก็ตามในกลุ่มนี้กระทรวงแรงงานได้เตรียมตำแหน่งงานว่างที่มีลักษณะงาน ใกล้เคียงกันรองรับกลุ่มนี้แล้ว (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 7-11-2554) น้ำท่วมกรุงแรงงานเดือดร้อนกว่า 100,000 คน 8 พ.ย. 54 - กสร.เผยแรงงานเมืองกรุงเดือดร้อนพุ่งกว่า 100,000 คนแล้ว ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยาเริ่มคลี่คลาย 25 โรงงานเรียกแรงงานกว่า 33,000 คน กลับเข้าทำงานแล้ว เผยไอแอลโอ เสนอ 4 แนวทางร่วมช่วยเหลือแรงงานถูกน้ำท่วม นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมใน กทม.ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการจำนวนมากโดยพบว่าใน 5 เขตพื้นที่ของ กสร. ประกอบด้วย เขต 2 จตุจักร ดอนเมือง บางเขน บางซื่อ หลักสี่ เขต 5 คลองสาน ธนบุรี บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ เขต 6 ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางแค ภาษีเจริญ หนองแขม เขต 7 จอมทอง ทุ่งครุ บางขุนเทียน บางบอน ราษฎร์บูรณะ และเขต 10 คลองสามวา สายไหม มีนบุรี ลาดกระบัง สะพานสูง และหนองจอก มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 6,474 แห่ง และแรงงานเดือดร้อน 109,602 คน นายอาทิตย์ กล่าวว่า ส่วนภาพรวมทั่วประเทศในขณะนี้ มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบลดลงจากเดิม 32 จังหวัด ล่าสุดเหลือเพียง 14 จังหวัด เนื่องจากบางจังหวัด เช่น ชัยนาท ลพบุรี นครสวรรค์ น้ำเริ่มลดลงแล้วและสถานประกอบการเรียกแรงงานกลับเข้าทำงานตามปกติ ทั้งนี้ ใน 14 จังหวัดมีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 20,526 แห่ง แรงงานเดือดร้อน 819,147 คน ส่วนสถานการณ์ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เริ่มคลี่คลายแล้วโดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ มีสถานประกอบการ 25 แห่งเปิดดำเนินการแล้วและได้เรียกแรงงานกลับเข้าสู่ระบบการทำงาน 33,892 คน อย่างไรก็ตาม กสร.ได้สั่งการไปยังสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกจังหวัดให้จัดทำแบบสอบถาม และส่งไปยังนายจ้างทั่วประเทศเพื่อแจ้งสถานการณ์จ้างงานและการเลิกจ้างโดย ให้ส่งข้อมูลกลับมายัง กสร.ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลในการเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก การถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ ล่าสุดสถานประกอบการใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แจ้งยืนยันว่ายังคงจ้างลูกจ้างตามเดิมกว่า 280,000 คน อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่าวันนี้คณะผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ได้เข้าหารือเพื่อร่วมหาทางช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยไอ แอลโอเสนอกรอบความช่วยเหลือ 4 แนวทางได้แก่ 1.ดูแลให้เกิดการจ้างงานโดยเร็ว 2.การช่วยเหลือแรงงานว่างงาน 3.การฝึกทักษะพัฒนาอาชีพ และ 4.การช่วยเหลือกิจการขนาดเล็ก โดยจะลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาในวันที่ 15-16 พ.ย.นี้ เพื่อหารือกับหน่วยงานต่างๆ ในการกำหนดแนวทางรูปแบบการช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ ไอแอลโอเคยมีประสบการณ์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภาวะวิกฤตในหลายประเทศเช่น เหตุการณ์สึนามิที่อินโดนีเซีย แผ่นดินถล่มที่จีน และสึนามิที่ จ.ภูเก็ตได้มีจัดฝึกอาชีพให้แก่พนักงานโรงแรมที่ได้รับผลกระทบ (สำนักข่าวไทย, 8-11-2554) อยุธยาฟื้นแรงงานกลับเข้าทำงานกว่า 3.3 หมื่นคนแล้ว วันนี้ (8 พ.ย.) นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มคลี่คลายแล้วโดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ มีสถานประกอบการ 25 แห่งเปิดดำเนินการแล้ว และได้เรียกแรงงานกลับเข้าสู่ระบบการทำงาน 33,892 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม กสร.ได้สั่งการไปยังสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกจังหวัด ให้จัดทำแบบสอบถามและส่งไปยังนายจ้างทั่วประเทศ เพื่อแจ้งสถานการณ์จ้างงานและการเลิกจ้างโดยให้ส่งข้อมูลกลับมายัง กสร.ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลในการเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก การถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ ล่าสุด สถานประกอบการใน จ.พระนครศรีอยุธยาได้แจ้งยืนยันว่ายังคงจ้างลูกจ้างตามเดิมกว่า 2.8 แสนคน อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใน กทม.ได้ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการจำนวนมาก โดยพบว่าใน 5 เขต มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 6,474 แห่ง และแรงงานเดือดร้อนเพิ่มขึ้นเป็น 109,602 คน ขณะที่ภาพรวมทั่วประเทศจาก 32 จังหวัด ขณะนี้ลดลงเหลือ 14 จังหวัด เนื่องจากบางจังหวัดเช่น ชัยนาท ลพบุรี นครสวรรค์ น้ำเริ่มลดลงแล้ว และสถานประกอบการเรียกแรงงานกลับเข้าทำงานตามปกติ ทั้งนี้ ใน 14 จังหวัดมีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 20,526 แห่ง แรงงานเดือดร้อน 819,147 คน ส่วนความคืบหน้าโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนนั้น ขณะนี้มีสถานประกอบการใน 40 จังหวัด 465 แห่งแจ้งความต้องการจ้างแรงงานตามโครงการนี้ 57,692 อัตรา วันเดียวกัน คณะผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เข้าหารือกับอธิบดี กสร.เพื่อหาทางช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยนายอาทิตย์ กล่าวหลังหารือว่า ทางไอแอลโอเสนอกรอบความช่วยเหลือ 4 แนวทาง ได้แก่ 1.ดูแลให้เกิดการจ้างงานโดยเร็ว 2.การช่วยเหลือแรงงานว่างงาน 3.การฝึกทักษะพัฒนาอาชีพ และ 4.การช่วยเหลือกิจการขนาดเล็ก และจะลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 15-16 พ.ย.นี้ เพื่อหารือกับหน่วยงานต่างๆในการกำหนดแนวทางรูปแบบการช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ ไอแอลโอเคยมีประสบการณ์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภาวะวิกฤตในหลายประเทศเช่น เหตุการณ์สึนามิที่อินโดนีเซีย แผ่นดินถล่มที่จีน และสึนามิที่ จ.ภูเก็ต ได้มีจัดฝึกอาชีพให้แก่พนักงานโรงแรมที่ได้รับผลกระทบ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-11-2554) ครม.ไฟเขียวช่วยแรงงานน้ำท่วม ชะลอเลิกจ้าง-จ่าย 2 พันบาทให้ 3 เดือน วันนี้ (8 พ.ย.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกระทรวงแรงงานตามที่ ได้เสนอ 2 มาตรการประกอบด้วย 1.มาตรการรักษาสภาพการจ้างงานของผู้ประกอบการ โดยช่วยจ่ายค่าจ้างแทนนายจ้าง 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท โดยนำร่องแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 1 แสนคน ทั้งนี้ มีเงื่อนไขให้นายจ้างจะต้องทำเอ็มโอยูที่จะไม่เลิกจ้างลูกจ้างเป็นเวลา 3 เดือน และต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างเดิม นายเผดิมชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนมาตรการที่สอง คือ การฝึกอบรมลูกจ้างที่หยุดงานชั่วคราว ซึ่งได้จัดตั้งงบประมาณไว้ที่ 61 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายอบรมแรงงาน 1.5 หมื่นคน โดยแรงงานที่เข้าอบรมจะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 120 บาท เป็นเวลา 10 วัน ซึ่งการอบรมเน้นการพัฒนาทักษะการทำงานและอุปนิสัยอุตสาหกรรม 9 พฤติกรรม เช่น ความรับผิดชอบ ความปลอดภัย การทำงานที่มีคุณภาพ ลดการสูญเสียชิ้นงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ทั้งสองมาตรการนี้จะเริ่มดำเนินการทันทีในเดือนพ.ย.นี้ และเปิดให้ผู้ประกอบการและแรงงานยื่นความประสงค์เข้าร่วมได้ตั้งแต่บัดนี้ “การดำเนินการทั้งสองมาตรการนี้เป็นการนำร่อง หากมีแรงงานได้รับผลกระทบจากน้ำเข้าร่วมทั้งสองโครงการเกินกว่าเป้าหมาย ทางกระทรวงแรงงานก็จะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลเพิ่มเติม” รมว.แรงงาน กล่าว (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-11-2554) ศูนย์พักพิงชั่วคราวชลบุรีเปิดศูนย์ให้บริการด้านแรงงานกับผู้ประสบภัย วันนี้ (9 พ.ย.54) นายภัครธรณ์ เทียนไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พักพิงจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดชลบุรีได้เปิดศูนย์พักพิงมาแล้วรวมทั้งสิ้น 16 วันโดยมีอพยพทั้งสิ้น 7,397 คน แยกเป็นศูนย์จังหวัดตั้งขึ้นจำนวน 5,859 คน และศูนย์พักพิงที่มีหน่วยงานต่างๆจัดตั้งขึ้นมีจำนวน 1,538 คน ขณะนี้ศูนย์พักพิงจังหวัดชลบุรี ระยะที่ 1 ใช้สถานที่สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี เป็นศูนย์พัก มีผู้พักพิงจำนวนทั้งสิ้น 5,859 คน แยกเป็นชาย 2,685 คน หญิง 3,174 คน เป็นเด็ก 1,229 คน ส่วนศูนย์พักพิงอื่นๆ ที่จัดตั้งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี มีผู้อพยพจำนวน 1,538 คน เป็นชาย 582 คน เป็นหญิง 956 และเด็ก 495 คน สำหรับศูนย์พักพิงชั่วคราวชลบุรี ได้มีการให้บริการด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเริ่มที่การแพทย์และสาธารณสุข ได้จัดให้มีการบริการรักษาพยาบาลภาคในศูนย์ และบางรายต้องจัดส่งต่อไปยังโรงพยาบาลชลบุรี ถ้าเป็นผู้ป่วยหนักทางโรงพยาบาลได้รับไว้รักษาที่โรงพยาบาล ส่วนโรคที่พบมากที่สุดมีดังนี้ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อปรสิต รองลงมาโรคระบบไหลเวียน โรคระบบย่อยอาหาร โรคระบบกล้ามเนื้อ โรคผิวหนัง มีการเยียวยาให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูสุขภาพจิต ประเมินด้านสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า รักษาจิตเวช ด้านการสาธารณสุขโดยการ สำรวจสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่พักอาศัย 26 จุดผ่านทุกตึก แต่ได้จัดการปรับปรุงน้ำดื่มและน้ำใช้ ปรับปรุงสุขาภิบาลในตึกต่างๆ โดยการเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำ นายภัครธรณ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ภายในศูนย์ฯได้ให้บริการด้านแรงงานโดยเปิดรับสมัครงานมีผู้มาสมัครงาน และบรรจุงานให้คำปรึกษาด้านแรงงาน ด้านการท่องเที่ยวได้จัดท่องเที่ยวทุกวัน วันละ 2 รอบ ๆ ละ 120 คนส่วนด้านการขนส่ง มีรถบัสให้การสนับสนุนศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ วันละ 3 คัน ไว้คอยให้บริการประชาชน นอกจากนี้ด้านสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มอบรถเข็นให้กับผู้สูงอายุ ไม้เท้าขาว-คนตาบอด ให้คำปรึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ และนำหน่วยงานสังกัดในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมาให้บริการ ตัดผม เสริมสวย นวดฝ่าเท้า และมีธนาคารออมสินเคลื่อนที่ ธนาคารกรุงไทยจำกัด ติดตั้งตู้ ATM ส่วนด้านสัตว์เลี้ยงนั้นทางด้านปศุสัตว์จังหวัดชลบุรีได้ออกหน่วย เคลื่อนที่เพื่อรักษาสัตว์ และปฏิบัติงานด้านสุขภาพสัตว์เลี้ยงโดยการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษ สุนัขบ้า ให้บริหารตรวจสุขภาพและรักษาพยาบาล และได้จัดทำคอกไว้พักสุนัขอีกด้วย (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9-11-2554) ปลัด ก.แรงงานเผยมาตรการช่วยจ่าย 2 พัน เริ่มรับคำร้อง 10 พ.ย. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการชะลอการเลิกจ้าง โดยช่วยจ่ายค่าจ้างแทนนายจ้าง 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท โดยนำร่องแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 1 แสนคน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า กระทรวงแรงงานได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม มายื่นคำร้องเพื่อขอใช้สิทธิดังกล่าวได้ที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ได้ตั้งแต่วันนี้ (10 พ.ย.) เป็นต้นไป ทั้งนี้ ขั้นตอนในการยื่นขอเงินชดเชย 2,000 บาท ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งข้อมูลสภาพที่ตั้งของสถานประกอบการ จำนวนและรายชื่อของลูกจ้างที่เดือดร้อน จากนั้นทางสวัสดิการฯ จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นไปตามที่ผู้ประกอบการได้แจ้งไว้หรือไม่ โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นหลัก โดยต้องอยู่ในหลักเกณฑ์คือ 1.อยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 2.มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และ 3.หยุดกิจการไม่น้อยกว่า 1 เดือน ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวต่อว่า หากตรวจสอบข้อมูลและถูกต้องแล้ว ทางผู้ประกอบการจะต้องมาทำข้อตกลงเซ็นเอ็มโอยู ที่จะไม่เลิกจ้างลูกจ้างเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งนายจ้างต้องสำรองจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างเดิม หลังจากนั้นนำหลักฐานการจ่ายเงินเดือน และรายชื่อของลูกจ้าง มายื่นขอรับเช็คเงินสดได้ที่สวัสดิการฯ โดยหากยื่นเรื่องเร็วก็จะสามารถได้รับเงินตั้งแต่สิ้นเดือน พ.ย.นี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะครอบคลุมเฉพาะลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม และลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบ เช่น ธุรกิจประมง รวมถึงลูกจ้างธุรกิจเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ทั้งนี้ ไม่ครอบคลุมไปถึงแรงงานต่างด้าว (มติชนออนไลน์, 9-11-2554) จี้นายจ้างญี่ปุ่นทำประกันสุขภาพแรงงานไทยประสบภัยก่อนส่งทำงานญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยเรื่องการเข้าถึงการรักษาของแรงงานข้ามชาติในญี่ปุ่น กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายช่วยเหลือประเทศไทยที่กำลังประสบ อุทกภัยครั้งร้ายแรง โดยจะอนุญาตให้แรงงานไทยที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นที่ถูกพักงานจากน้ำท่วม สามารถเข้าไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้ว่า เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายผ่อนปรนเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักที่นายจ้างและแรงงานไทยพึงตระหนักและต้องเตรียมตัวก่อนเดินทางไป ญี่ปุ่น คือ การเข้าถึงการรักษาสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากมาก ดังนั้น ก่อนการเดินทาง นายจ้างต้องทำประกันสุขภาพให้แรงงานไทยที่จะไปทำงานที่ญี่ปุ่น อีกทั้งแรงงานที่มีโรคประจำตัว ที่ต้องรักษาตัวเองอย่างต่อเนื่องต้องเตรียมยาที่จำเป็นไปให้พอตลอดระยะเวลา ที่ทำงานในญี่ปุ่นด้วย \จากการวิจัยพบว่า หากแรงงานที่ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น และไม่มีประกันสุขภาพ จะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุเลย แม้แต่ผู้ฝึกงาน ที่ได้รับอนุญาตเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นชั่วคราว ซึ่งเป็นผลจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ก็มีปัญหา ดังนั้น นายจ้างจึงต้องทำประกันสุขภาพให้แรงงานที่จะเดินทางไปทำงานในญี่ปุ่น รวมถึงแรงงานที่ป่วยก็ต้องมียาติดตัวอย่างพอเพียง ยกตัวอย่าง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ฯลฯ จะต้องจัดเตรียมยาไปให้พอ ซึ่งแรงงานทุกคนอยู่ในสิทธิประกันสังคม ดังนั้น ต้องติดต่อกับหน่วยบริการเพื่อรับยาไปใช้ให้เพียงพอสำหรับตลอดช่วงเวลาการทำ งานในญี่ปุ่นและถ้าอยู่ต่อจากที่กำหนดไว้ จะมีวิธีติดต่อเพื่อรับยาเพิ่มเติมได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้หน่วยราชการของไทยที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือเพื่อขอการผ่อนปรน จากรัฐบาลญี่ปุ่นในการจัดส่งยาด้วย\" น.ส.กรรณิการ์กล่าว น.ส.กรรณิการ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขในญี่ปุ่น กำลังขอหารือกับกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น เพื่อให้ผ่อนปรนการนำยารักษาโรคที่แต่ละคนจำเป็นต้องใช้เข้าประเทศ และกำลังจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้แรงงานที่จะเข้าไปทำงานญี่ปุ่น ทราบถึงหน่วยงานที่จะให้คำปรึกษาหากมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มตะวัน ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครด้านสาธารณสุขชาวไทยในญี่ปุ่นให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. โทร.070-5207-6953 และ 080-3791-3630 หรือ ta.wan@hotmail.com.co.jp และองค์การแชร์ (SHARE) 038-807-7581 คอยให้คำปรึกษาอยู่ (มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท