Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 8 แห่ง ในเอเชีย ยุโรปและแคนาดา ออกแถลงการณ์เรียกร้องรบ. ไทยให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ ย้ำ ต้องให้สิทธิในการประกันตัวและเสรีภาพในการแสดงออกแก่ประชาชน

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 54 องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ 8 แห่ง จากเอเชีย ยุโรป และแคนาดา ออกแถลงการณ์เรียก ร้องรัฐบาลไทยให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน และแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา ที่ถูกจับกุมด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยระบุว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลในการการแสดงออก พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิสากลด้วย

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า การที่สมยศถูกปฏิเสธการประกันตัวมาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยที่ไม่มีเหตุผลชัดเจนพอจากทางการว่าเป็นเพราะเหตุผลใด เป็นการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งๆ ที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ระบุไว้ในรายงานฉบับที่สองว่า การประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องหาทุกคนพึงมี

อนึ่ง องค์กรสิทธิดังกล่าว เป็นองค์กรที่รณรงค์ทางด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพสื่อที่ตั้งอยู่ในเอเชีย ยุโรป และแคนาดา ประกอบไปด้วย Front Line Defenders, Protection International, Asian Forum on Human Rights and Development (FORUM-ASIA), International Federation for Human Rights (FIDH), World Organisation against Torture (OMCT) , Lawyers' Rights Watch – Canada (LRWC) and Southeast Asia Press Alliance (SEAPA) และ Clean Clothes Campaign

องค์กรสิทธิระหว่างประเทศยังมองว่า การที่จำเลยต้องเดินทางไปรับการไต่สวนที่ศาลถึง 4 จังหวัด คือ สระแก้ว เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และสงขลาในระยะเวลา 4 เดือนระหว่างพฤศจิกายน 2554 ถึงกุมภาพันธ์ปี 2555 เป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับไต่สวนอย่างเป็นธรรมของผู้ต้องหา และเป็นอุปสรรคต่อผู้ทีต้องการสังเกตการณ์ในคดีดังกล่าว เช่น เจ้าหน้าที่ทางการทูต และผู้สื่อข่าว

องค์กรสิทธิทั้ง 8 แห่ง ยังได้แสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีการใช้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา โดยเฉพาะคดีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ที่ถูกตั้งข้อหาด้วยการละเมิดกฎหมายหมิ่นฯ และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอแนะของ แฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพ ในการแสดงออกด้วย

ทั้งนี้ สมยศถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ขณะนำลูกทัวร์เดินทางเข้าท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา โดยคำฟ้องระบุว่าเขาละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องมาจากนิตยสาร ‘วอยซ์ ออฟ ทักษิณ’ ที่เขาเป็นบรรณาธิการบริหารมีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง สมยศถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่นั้นมา และถูกปฏิเสธการให้ประกันตัวเป็นครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net