IMEI และอากงอำพล: หลักฐานที่ยืนยันความบริสุทธิ์ กลับถูกใช้ปรักปรำว่ามีความผิด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เห็นหลายคนเอาไปแชร์ต่อ [กรณีอำพล หรือ 'อากง' ต้องโทษ 20 ปี - ประชาไท] แล้วมีบางคนต่อว่าทนายฝ่ายจำเลย เลยขอมาแก้ต่างแทนทนายฝ่ายจำเลยหน่อย 

1. เรื่อง Check Digit ทนายฝ่ายจำเลยมีการแจ้งต่อศาลแล้ว และศาลก็ยังลองไปคำนวน IMEI ของมือถือตัวเองด้วย (27 กันยายน 2554)

1.1 ทาง DTAC อ้างว่าตนใช้มาตรฐานการเก็บหมายเลข IMEI แบบก่อนปี 2003 คือ ส่ง Check digit เป็นค่า 0 แทนที่จะเป็นค่าจริง

1.2 ทาง TRUE พบว่า Check Digit ในระบบมีทั้งเลข 0 และ เลข 2 ซึ่งค่า Check Digit ควรจะเป็น 0 เท่านั้น ซึ่งก็ทำให้ไม่ทราบว่า TRUE ใช้มาตรฐานในการเก็บหมายเลข IMEI แบบไหนกันแน่

2. ประเด็นเรื่องที่ว่าการแก้ไข ปลอมแปลง IMEI ได้มีการแจ้งต่อศาลแล้ว ให้การโดย คุณ พูนสุข [ทนายจำเลย] วันที่ 30 กันยายน 2554 เวลา 10.10 น. อย่างไรก็ตาม เรื่องการแก้ไขเลขอีมี่นี้ ศาลไม่ได้ทำการบันทึก เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

2.1 IMEI ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ เนื่องจากหมายเลข IMEI นั้น ไม่ใช่ Unique Number มีมือถือหลายเครื่องที่มี IMEI ซ้ำกันได้ ทั้งซ้ำกันมาตั้งแต่โรงงาน และซ้ำกันเพราะมาแก้ไข IMEI เองในภายหลัง (http://www.techcular.com/checking-mobile-phone-imei-number-is-original-and-valid/) 

 

========

 

พอดีได้อ่านใน prachathai (http://prachatai.com/journal/2011/11/37991)

มีตอนนึงพูดถึงเรื่อง IMEI ครับ เมื่อผมไปตรวจสอบแล้วพบว่า คดีนี้หลักฐานชี้ชัดว่าอากงถูกใส่ร้ายชัดๆ แต่ศาลก็ตัดสินว่า อากงเป็นคนผิด

 

"สำหรับประเด็น สำคัญในคดีที่จำเลยตั้งประเด็นว่า หมายเลขอีมี่ หรือรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์อาจถูกปลอมแปลงได้นั้น จำเลยไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ ส่วนประเด็นที่ว่า เอกสาร ในสำนวนฟ้องที่หมายเลขอีมี่หลักที่ 15 ไม่ตรงกับหมายเลขอีมี่ในเครื่องโทรศัพท์ คือในเอกสารบางจุดแสดงว่าเป็นเลข 0 บางจุดแสดงว่าเป็นเลข 2 ขณะที่ในเครื่องโทรศัพท์จริงๆ เป็นเลข 6 ศาลวิเคราะห์ว่า หมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญ ตาม ที่พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา จากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เบิกความและได้พิสูจน์ด้วยการใช้เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบเลขอีมี่แสดงให้เห็น ในศาลแล้วว่า เมื่อพิมพ์รหัส 14 หลักแรกตามด้วยรหัสสุดท้ายหมายเลข 6 จะปรากฏข้อมูลว่าเป็นเครื่องโทรศัพท์ยี่ห้อโมโตโรล่า ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับโทรศัพท์ของกลาง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเลข 0-5 และ 7-9 ทั้งที่ควรปรากฏว่าเป็นเครื่องรุ่นอื่น แต่จากการทดสอบในเว็บดังกล่าวกลับไม่ปรากฏว่าเป็นรุ่นใดเลย จึงยิ่งชี้ให้เห็นชัดว่าหมายเลข 14 หลักแรกเท่านั้นที่ใช้ในการระบุตัว ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง"

 

เพราะเรื่องที่ พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา อ้างว่า หมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญนั้น ไม่เป็นความจริง เรื่องนี้ทำให้รู้สึกว่า ถ้าไม่เป็นเพราะระบบตุลาการไทยตามเทคโนโลยีไม่ทัน ก็ใช้ช่องว่างเรื่องความไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีของจำเลยเพื่อปรักปรำผู้ บริสุทธิ์ แต่จะเป็นกรณีใดก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่าน

 

ทำไมนะเหรอครับ?

หมายเลข IMEI มี 2 แบบ นั่นก็คือ IMEI (14 หลัก) และ IMEI/SV (16 หลัก)

ใน เลข IMEI แบบ 14 หลัก จะมีหลักที่ 15 เป็น optional ซึ่งทำหน้าที่เป็น Checksum โดยใช้ Luhn algorithm กลไกมันก็ง่ายๆ คือ เอา 14 หลักแรกมาบวกกัน โดยหลักคู่จะนำไปคูณ 2 ก่อน บวกได้เท่าไร ให้หาจำนวนที่ไปรวมกับเลขนั้น แล้วทำให้ผลรวมหารด้วย 10 ลงตัว เช่น 

ถ้า 14 หลักแรก รวมกันได้ 81 หลักที่ 15 ก็จะเป็นเลข 9

ถ้า 14 หลักแรก รวมกันได้ 45 หลักที่ 15 ก็จะเป็นเลข 5

เพราะ ฉะนั้น มันเป็นไปไม่ได้ที่เลข 14 หลักแรกจะตรงกัน แต่หลักที่ 15 จะไม่ตรง ยกเว้นแต่ว่ามีการปลอม IMEI แล้วคนปลอมลืมแก้หลักที่ 15 ซึ่งเป็น Checksum ให้ตรงกับที่ควรจะเป็นด้วย

ว่าง่ายๆ คือ หลักฐานที่ทนายฝ่ายโจทย์อ้างขึ้นมาในชั้นศาล เรื่อง IMEI ตรงกันแค่ 14 หลักแรก ก็คือ หลักฐานที่บอกว่าอากงบริสุทธิ์นั่นเอง 

การที่โทรศัพท์ของกลางมีเลขหลักสุดท้ายเป็น 6 นั่นก็แสดงว่าตัวเลข 14 หลักแรกรวมกันได้ x4 หรือ xx4 เมื่อเป็นอย่างนี้ การกรอกข้อมูลลงในเวปที่ตรวจสอบ IMEI เมื่อใส่เลขหลักสุดท้ายเป็น เลขใดๆ ที่ไม่ใช่เลข 6 นั้น ระบบย่อมต้องไม่สามารถระบุโทรศัพท์ได้ เนื่องจากเมื่อระบบตรวจ Checksum โดยใช้ Luhn algorithm แล้วพบว่าหมายเลข IMEI ผิด นั่นหมายความว่า อาจจะมีข้อมูลผิดพลาดที่จุดใดจุดนึง หรือมากกว่า 1 จุด หรือ อาจจะเป็นหมายเลข IMEI ที่ถูกปลอมขึ้นก็ได้ โดยคนปลอมลืมคำนวน Checksum ใหม่ ซึ่งตามหลักแล้ว คงไม่มีโจรคนไหนปลอม IMEI ให้ชี้มาที่มือถือที่ตัวเองใช้หรอกครับ หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า คนที่ส่งข้อความจริงๆ แล้วเป็นคนอื่น แต่ว่าค่า IMEI ที่ระบบบันทึกนั้นผิดพลาด (Data Corrupt) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงการติดต่อสื่อสาร หรือ การบันทึกก็ได้

 

ตัวอย่างของ Luhn Algorithm นะครับ เช่น ถ้า IMEI เป็น

 59115420323751

 

Luhn Algorithm จะ คูณ 2 เลขที่เป็นหลักคู่

5(18)1(2)5(8)2(0)3(4)3(14)5(2)

 

แล้วค่อยนำมารวมกันเป็น

5+1+8+1+2+5+8+2+0+3+4+3+1+4+5+2 = 54

 

เพื่อทำให้ 54 หารด้วย 10 ลงตัว ต้องเพิ่มไปอีก 6 เพื่อให้เป็น 54+6 = 60

เพราะฉะนั้น เลข IMEI 15 หลัก คือ 591154203237516

 

หากเลขหลักสุดท้ายเป็นเลขใดๆ ที่ไม่ใช่หมายเลข 6 นั่น เป็นเลข IMEI ที่ไม่ถูกต้อง เพราะค่า Checksum ผิดซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะเรื่อง Checksum เนี่ย ถือเป็นความรู้พื้นฐานในวงการ IT เลยครับ แทบจะสอนกันในวิชา Introduction to Information Technology ด้วยซ้ำ

 


อ้างอิงจาก

 

http://en.wikipedia.org/wiki/International_Mobile_Equipment_Identity

http://en.wikipedia.org/wiki/Luhn_algorithm 

http://en.wikipedia.org/wiki/Checksum 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท