Skip to main content
sharethis

ระดับน้ำที่ท่วมในหลายพื้นที่เริ่มลดลงแล้ว แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้อาจไม่ใช่การฟื้นฟูประเทศด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน แต่จะเป็นเกมการเมืองในระดับที่จะสร้างความวิบัติฉิบหายกันไปข้างหนึ่งรออยู่ และที่ส่งสัญญาณมาแล้วอย่างหนึ่ง (ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่อง) ก็คือ พรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์จะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้ง เริ่มต้นด้วยการหย่อนประเด็นโดยรองโฆษกพรรค อดีตนักปั่นจักรยานทีมชาติ อย่างมัลลิกา บุญมีตระกูล ที่เสนอมาตรการสุดท้ายหากรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับการแสดงความเห็นที่เข้าข่ายความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ ก็ให้ปิดเฟซบุ๊กและยูทูปว์เสียตามแนวทางของประเทศจีน และหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโง่เขลาพอที่จะเชื่อว่าจะสามารถต่อสู้ทางการเมืองและพิสูจน์ตัวเองโดยการหันมาห้ำหั่น ปิดหูปิดตา และปิดปากประชาชนของพวกเขาแล้ว นี่ก็จะเป็นเรื่องน่าสมเพชที่สุดเท่าที่ระบอบประชาธิปไตยจะมอบให้กับประชาชนของประเทศใดสักประเทศหนึ่ง น่าเสียใจว่า สัญญาณจากรัฐบาลก็เป็นไปในทำนองดังว่า หากเราดูคำสัมภาษณ์ของ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ออกมาเตือนว่า เพียงคลิกไลค์ คุณก็อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายได้ เสรีภาพนั้นงดงามตราบที่มันยังอยู่กับเรา แต่ก็น่าแปลกที่มนุษย์ผู้มีเสรีภาพในประเทศนี้ กลับพยายามหันมาเรียกร้องให้ลิดรอนเสรีภาพของผู้อื่นลงเสีย ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มคนผู้ได้ประโยชน์โภชน์ผลจากระบอบประชาธิปไตยและเสรีนิยมอย่างเต็มที่ กลับลุกขึ้นมาปฏิเสธสิ่งนั้นเสียเอง เวลาที่พวกเขาเรียกร้องเช่นนั้น เขาอยู่ในสถานะที่คิดว่าตนเองจะไม่สูญเสียมันไป แต่พวกเขาจะแน่ใจได้ละหรือ ว่าจะเป็นผู้กุมสถานะที่ได้รับการยกเว้นไว้ได้ตลอดไป ภายใต้เสรีภาพที่จะพูด คนจำนวนไม่น้อยใช้เสรีภาพนั้นเพื่อกดขี่ผู้อื่นไม่ให้พูด มิไยต้องกล่าวถึงโครงสร้างทางกฎหมายอันแน่นหนาที่รัดตรึงผู้คนไว้ไม่ให้พูด และวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีผู้มีอำนาจคนไหน ยินดีฟังสิ่งที่ตนเองไม่อยากจะฟัง อำนาจเป็นสิ่งท้าทาย แม้แต่การมีอำนาจจัดการเว็บไซต์เล็กๆ ก็ยังท้าทายคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับมันอยู่มิใช่น้อย เมื่อเราพบข้อความที่เราไม่ถูกใจ ไม่เห็นด้วย เพียงขยับนิ้ว ข้อความเหล่านั้นก็สามารถหายไปในทันที แต่....สิ่งที่เราห้ามตัวเองจากการกระทำเหล่านั้นมีเพียงสิ่งเดียว คือ ความเชื่อมั่นว่ามนุษย์ต้องมีเสรีภาพที่จะพูดจะคิด และสื่อสาร และหน้าที่ของเราก็คือการอดทนต่อความแตกต่าง มนุษย์ไม่มีวันจะเป็นอย่างเดียวกันได้ในทุกเรื่องทุกอย่าง สิ่งที่จะทำให้คนอยู่ด้วยกันได้ คือการอดทนต่อกันและกัน ในทุกประเทศล้วนมีประเด็นที่แตะต้องลำบาก และกลุ่มคนที่ถูกคาดหวังให้พูดสิ่งนั้นก่อนผู้อื่นก็คือ สื่อมวลชน…หรือมิใช่ กว่า 5 ปีแห่งความวุ่นวายทางการเมืองของไทย สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ไม่มีใครควบคุมความคิดคนในสังคมนี้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวได้อีกแล้ว ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับเกมอำนาจ ล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซุบซิบนินทา ทั้งด้วยหลักวิชา และด้วยคำด่าสาดเสียเทเสีย มันคือพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงที่มือมหึมาระดับไหนก็หยุดยั้งไว้ไม่ได้ ขณะที่เสียงแห่งความแตกต่างหลากหลายดังขึ้นทุกขณะจิต กลไกที่จะควบคุมความคิดก็ถูกสร้างและใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกนำมาฟ้องร้องกันอย่างกว้างขวาง บวกเข้ากับเครื่องมืออันใหม่ล่าสุดก็คือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เท่าที่เป็นอยู่ตลอดมา บรรดาคนที่ถูกฟ้องร้องเหล่านี้ ถูกตีตรา และถูกตัดสินไปล่วงหน้าแล้ว โดยไม่ต้องมีคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม ความได้สัดส่วนระหว่างโทษกับความผิด ปัญหาแนวคิดและนิติปรัชญาของกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ มิไยต้องเอ่ยถึงพื้นที่ของพวกเขาในสื่อของไทย เงียบ...มันคือความเงียบที่กดขี่จองจำคนจำนวนหนึ่งเอาไว้ไม่ให้เปล่งเสียง แต่ภายใต้ความเงียบที่หนักอึ้งนั้น ยังมีอีกหลายเสียงที่ดิ้นรนให้ถูกได้ยิน เราอาจปิดปากคนได้ด้วยกฎหมาย แต่เราปิดกั้นความคิดของพวกเขาไม่ได้ ยิ่งในเวลานี้ ที่พรมแดนแห่งการรับรู้ข่าวสารไม่มีอยู่อีกต่อไป คดีอากง และผู้ถูกฟ้องร้องจากมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จึงยังเป็นสิ่งที่สื่อเล็กๆ แห่งนี้ต้องนำเสนออย่างต่อเนื่อง ทำต่อไปไปจนกว่าสังคมนี้จะยอมรับว่าเสียงของมนุษย์นั้นมีความหมาย ฆ่าไม่ตายและส่งต่อได้ไม่จบสิ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net