Skip to main content
sharethis

ประวิตร โรจนพฤกษ์ สัมภาษณ์ "ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์" ถึงที่มาและวัตถุประสงค์แคมเปญ "อากง" บนเฟซบุ๊ก เจ้าตัวชี้ระบบยุติธรรมไทยมาถึงปลายทางแล้ว หวังกระตุกรอยัลลิสต์สุดโต่งที่ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือ แต่อาจทำให้สถาบันเสื่อมถอย

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักรัฐศาสตร์ สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ เริ่มต้นรณรงค์ออนไลน์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "อากง" ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ส่งเอสเอ็มเอส 4 ข้อความ ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขาฯ ส่วนตัวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น ประวิตร โรจนพฤกษ์ สัมภาษณ์ ปวิน ทางอินเทอร์เน็ตถึงเหตุผลของการรณรงค์และความคาดหวัง


1) ทำไมจึงมีการรณรงค์นี้

เรามาจนถึงปลายทางแล้วเมื่อพูดถึงความยุติธรรมในประเทศไทย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฝั่ง ตรงข้ามมากขึ้น น่าเศร้าที่ตุลาการไม่อยู่ข้างประชาชน แคมเปญนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ "ความไม่กลัว" ของพม่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนางอองซาน ซูจี เพื่อสนับสนุนความกล้าหาญให้แก่นักโทษทางการเมืองจำนวนมากในพม่า นี่เป็นการรณรงค์อย่างสงบสันติ เราต้องการส่งสาร โดยการเขียนชื่อ "อากง" บนฝ่ามือ เพื่อสนับสนุนและรณรงค์เพื่ออิสรภาพของเขา

2) ทำไมจึงเป็นอำพล ไม่ใช่นักโทษทางมโนสำนึกรายอื่นๆ
อำพลได้ตกเป็นเหยื่ออย่างแท้จริงในเกมการเมืองนี้ เขาเป็นเหยื่ออย่างสมบูรณ์แบบ ในแง่ที่ว่า นี่คือชายชราเชื้อไทย-จีน ผู้ซึ่งอาจไม่เคยรู้จักกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย ผู้ซึ่งอาจจะไม่ได้พูดภาษาไทยได้อย่างดี ผู้ซึ่งอาจจะไม่ได้ชำนาญทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือและการส่งข้อความทางมือถือ ดีนัก ผู้ซึ่งไม่ได้แอคทีฟทางการเมือง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ป้องกันเขาจากการถูกกล่าวหาและจับกุม สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือระยะเวลาของการตัดสินโทษ 4 เอสเอ็มเอส เท่ากับ 20 ปี นี่คือประเทศไทยหรือ นี่คือประเทศที่คนส่วนใหญ่อ้างว่ากษัตริย์เป็นที่รักและเคารพของคนไทยทุกคน และนี่ก็เป็นประเทศที่มีโทษรุนแรงที่สุดด้วย

3) คุณคาดหวังอะไรจากแคมเปญนี้

หวังว่านี่จะเป็นการส่งสัญญาณที่เข้มข้นไปยังรอยัลลิสต์ เพื่อให้เห็นเหตุผลเบื้องหลังคำตัดสินอากง ได้เห็นว่าพวกเขาหาประโยชน์จากกฎหมายหมิ่นฯ และที่สำคัญกว่าคือ พวกเขาอาจทำให้สถาบันอันเป็นที่รักเสื่อมถอยลงได้จริงๆ ข้อโต้แย้งของผมคือ ยิ่งกฎหมายนี้ถูกใช้มากเท่าไหร่ กลับจะยิ่งทำให้สถาบันฯ อยู่ในสถานะที่ลำบากขึ้น

4) ใครเป็นคนเริ่มความคิดนี้
ผมเป็นคนเริ่มความคิดนี้ อย่างที่บอก ผมได้แรงบันดาลใจจากแคมเปญ "ความไม่กลัว" ของพม่า ชาวพม่ามีความกล้าหาญในการต่อสู้กับความอยุติธรรมและสนับสนุนนักโทษทางการ เมือง ทำไมคนไทยจึงไม่สามารถทำคล้ายๆ กันได้

5) ตอนนี้มีผู้ร่วมรณรงค์แล้วเท่าไหร่ (เช้าวันพฤหัส 1 ธ.ค.)
มี 150 คนบนเฟซบุ๊กที่แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมแคมเปญ ก็ไม่เลว คิดดูว่ามันเพิ่งเริ่มเมื่อวาน ... หลายสิบคนส่งรูปของพวกเขาที่มีคำว่า "อากง" บนฝ่ามือมาร่วมแคมเปญ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net