Skip to main content
sharethis

ตกงานพุ่งเกือบล้านหนี้ต่อหัวกระฉูด นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า ภาวะน้ำท่วมจะทำให้การว่างงานในไตรมาส 4/54 อยู่ที่ 1.8-2.3% หรือมีผู้ว่างงานประมาณ 7.3-9.2 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.7% หรือมีผู้ว่างงาน 2.62 แสนคน แต่การว่างงานดังกล่าวจะเป็นผลกระทบระยะสั้น ในช่วงที่สถานประกอบการถูกภาวะน้ำท่วม และอยู่ในช่วงของการปรับตัวภายหลังจากน้ำลด “ในไตรมาส 4 คาดว่าการว่างงานจะเพิ่มขึ้นถึง 1% หรือ 2% ก็อาจเป็นไปได้ แต่เป็นเรื่องชั่วคราว ไม่ใช่ระยะยาว ในช่วงที่สถานประกอบการกำลังปรับตัวจากเรื่องของอุทกภัย” ไทยยังคงเผชิญอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี โดยภาวะน้ำท่วมเริ่มขึ้นตั้งแต่ ปลายเดือน ก.ค. จากนั้นขยายวงไปหลายจังหวัดรวมถึงกรุงเทพฯ ซึ่งภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม และทำให้นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 7 แห่ง ใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว นางสุวรรณี กล่าวว่า ภาวะอุทกภัยจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานถึงสิ้นปี 54 และในบางพื้นที่อาจต่อเนื่องถึงช่วงต้นในไตรมาสแรกของปี 55 โดยการจ้างงานจะลดลงชั่วคราว ทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการ และแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระ ขณะที่การฟื้นฟูโรงงานหรือเครื่องจักรอาจต้องใช้เวลา 1-3 เดือน แต่บางส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูถึง 6 เดือน ส่วนผลกระทบต่อตลาดแรงงานในไตรมาส 1 ของปีหน้าจะขึ้นอยู่กับมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในการฟื้นฟูภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่เชื่อว่าเมื่อสถานประกอบการฟื้นตัวการว่างงานที่เกิดขึ้นชั่วคราวก็จะลด ลง อย่างไรก็ตาม ระบุว่า ยังมีประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อตลาดแรงงานในระยะต่อไป คือความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปและสหรัฐ และผลกระทบในระยะการปรับตัวของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีหน้าต่อความ ต้องการแรงงาน ซึ่งในระยะยาวมีแนวโน้มว่าภาคอุตสาหกรรมจะปรับลดความเข้มข้นของการใช้แรงงาน ลง นอกจากนี้สภาพัฒน์ยังคาดว่าหนี้สินภาคครัวเรือนในช่วงปลายปีนี้ยังมีแนวโน้ม สูงขึ้น เนื่องจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้รายได้ของแรงงานลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการครองชีพเพิ่มขึ้น ทั้งในช่วงน้ำท่วมและในระยะการฟื้นฟูหลังน้ำลด อีกทั้งเงินออมที่มีอยู่ก็จะถูกดึงมาใช้จ่ายในช่วงนี้มากขึ้น โดยหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกปี 54 อยู่ที่ 1.37 แสนบาท/ครัวเรือน (บ้านเมือง, 29-11-2554) แรงงานหนีน้ำท่วมแห่ทำโรงงานเย็บผ้าพิจิตร นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายก อบจ.พิจิตร ได้นำข้าวสารบรรจุถุงพร้อมต้นกล้าพันธุ์ผักโตเร็ว จำนวนมาก ไปมอบให้กับหนุ่มสาวผู้ใช้แรงงาน หลังจากที่ทราบข่าวความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานว่า ต้องประสบกับภัยน้ำท่วม แล้วอพยพมาจากนิคมอุตสาหกรรมจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร มาทำงานในโรงงานเย็บผ้าใน จ.พิจิตร มากกว่า 1,500 คน โดยผู้ที่อพยพหนีน้ำท่วมมามีเพียงเสื่อผืนหมอนใบ เหตุเป็นเพราะเก็บของหนี้น้ำไม่ทัน จึงทำให้เดือดร้อน อบจ.พิจิตร จึงได้เข้าไปช่วยเหลือดังกล่าว ทางด้าน นางพลอยนิศา มิตรเอี่ยม ผู้จัดการฝ่ายการผลิตของบริษัทนันยางการ์เม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อการส่งออก ได้เปิดเผยว่า ถ้าผู้ใช้แรงงาน ต้องการมาทำงานในต่างจังหวัด ขณะนี้ยังต้องการคนงานอีกมาก และให้ค่าแรงรวมถึงสวัสดิการที่พัก-รถรับส่ง ค่ารักษาพยาบาล และอื่นๆ เทียบเท่ากับโรงงานในกรุงเทพฯ ดังนั้นตอนนี้ยังต้องการคนงานอีก 500 คน ถ้าไม่เลือกงานรับรองได้ว่า ยังมีตำแหน่งงานว่างในฝ่ายผลิต ที่พร้อมจะให้ทำงานได้ สนใจสมัคร โทร 056-611615 , 081-6441646 (ไอเอ็นเอ็น, 29-11-2554) ผู้ประกอบการเตรียมส่งลูกจ้างไปทำงานที่ญี่ปุ่นชั่วคราว สกลนคร 29 พ.ย. - ตัวแทนสถานประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ลงพื้นที่ จ.สกลนคร เตรียมช่วยเหลือลูกจ้าง โดยจัดส่งไปปฏิบัติงานที่ประเทศญี่ปุ่นชั่วคราว นางพัชราวัลย์ ว่องชิงชัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทอสเท็มไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินการเกี่ยวกับการทำวงกบอะลูมิเนียม มีเนื้อที่โรงงานมากกว่า 400 ไร่ แต่เนื่องจากบริษัทฯ ประสบปัญหาอุทกภัยมาตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร ทำให้เครื่องจักรกลหนักได้รับความเสียหาย ส่งผลให้สถานประกอบการไม่สามารถเปิดทำการได้ และทำให้พนักงานส่วนใหญ่ซึ่งมีอยู่มากกว่า 5,000 คน ต้องตกอยู่ในภาวะว่างงาน ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ดังนั้น ทางบริษัทฯ จึงหามาตรการช่วยเหลือลูกจ้าง โดยจัดส่งไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราว ตามแนวทางและมาตรการการช่วยเหลือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น ทั้งนี้ ตั้งเป้าช่วยเหลือแรงงานเดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 2,000 คน โดยจะเริ่มเดินทางระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2554 ไปจนถึงวันที่ 24 มกราคม 2555 โดยแรงงานจะต้องทำงานที่ญี่ปุ่นนาน 3-6 เดือน. (สำนักข่าวไทย, 29-11-2554) แรงงานชี้น้ำท่วมตกงานไม่ถึงล้านยอดแค่แสนราย นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานว่างไว้ในรูปแบบของเลเบอร์แบงก์เพื่อรองรับแรงงาน ประสบภัยน้ำท่วมที่ถูกเลิกจ้างและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้น ขณะนี้รวบรวมตำแหน่งงานว่างได้แล้ว 147,365 อัตราแบ่งเป็นตำแหน่งในประเทศ 131,356 อัตรา ซึ่งในจำนวนนี้เป็นตำแหน่งงานที่จ้างงานได้ทันทีใน 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา จำนวนทั้งหมด 28,456 อัตรา และตำแหน่งงานในต่างประเทศ 16,000 อัตรา ส่วนการจัดทำเลเบอร์แบงก์นั้น ขณะนี้จัดทำข้อมูลตำแหน่งงานว่างได้แล้ว 56,383 อัตรา ซึ่งก็ได้มีแรงงานประสบภัยน้ำท่วมที่ถูกเลิกจ้าง 8,075 คนจากที่มีอยู่ในเวลานี้ 9,500 คน มายื่นความจำนงขอให้จัดหาตำแหน่งงานรองรับ ซึ่ง กกจ.ได้นำข้อมูลมาจับคู่กับตำแหน่งงานและสถานประกอบการไว้แล้ว คาดว่าจะเข้าทำงานได้หลังเดือน ม.ค.2555 ผมคิดว่ากรณีผลประเมินของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ (สศช.) ที่คาดการณ์ไว้ว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีอัตราว่างงานอยู่ที่ 7.8-9.2 แสนคนนั้นคงเป็นเพราะ สศช.นำเอาตัวเลขแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมมารวมกับตัวเลขผู้ว่างงานตามฤดูกาล มารวมกัน ทำให้ตัวเลขผู้ว่างงานสูงมาก กระทรวงแรงงานคาดการณ์ว่าแรงงานประสบภัยน้ำท่วมมีแนวโน้มเสี่ยงถูกเลิกจ้าง ประมาณ 1 แสนคน แต่เวลามีตำแหน่งงานว่างอยู่กว่า 1.4 แสนอัตรา จึงไม่น่าห่วงเรื่องการว่างงาน นายประวิทย์ กล่าว ด้าน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวว่า ขณะนี้สังคมกำลังเข้าใจผิดคิดว่าแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมกว่า 1 ล้านคนเป็นผู้ที่ตกงาน แต่จริงๆ แล้วแรงงานกลุ่มนี้เพียงแค่หยุดทำงานชั่วคราวเท่านั้น (กรุงเทพธุรกิจ, 30-11-2554) โฮย่าลำพูน ประกาศเลิกจ้างคนงานหลังใช้ ม.75 1 ธ.ค. 54 - สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสัมพันธ์ เปิดเผยว่า วันนี้ (1 ธ.ค. 54) บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ได้ประกาศว่าจะเลิกจ้างคนงานเกือบ 2,000 คน หลังจากที่ประกาศใช้มาตรา 75 มาตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 54 โดยได้แจ้งกับสหภาพแรงงานว่าจะเปิดเป็นโครงการเลิกจ้างโดยสมัครใจ จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายและบวกอีก 25% ส่วนเหตุผลในการเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทระบุว่าเนื่องจากการขาดทุนมาอย่างต่อ เนื่องตั้งแต่เดือน เม.ย. 54 กอปรกับปัญหาอุทกภัย โดยจะส่งจดหมายเลิกจ้างนี้ไปให้คนงานที่บ้าน แต่ทางสหภาพแรงงานฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อปี 2553 บริษัทยังมีกำไรอยู่ และเหตุการณ์น้ำท่วมนั้นก็ท่วมที่โรงงานของโฮย่าใน จ.อยุธยา ทั้งนี้ทางสหภาพแรงงานฯ จะปรึกษาหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับการเลิกจ้างครั้งนี้ เบื้องต้นในวันพรุ่งนี้ (2 ธ.ค. 54) เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่แรงงานจังหวัดลำพูนก่อน (ประชาไท, 1-12-2554) ครม.ไฟเขียวร่างแผนยุทธศาสตร์ดูแล'แรงงานนอกระบบ'จูงใจสมัครประกันสังคม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555-2559 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอโดยมีเป้าหมายเพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้ม ครองมีหลักประกันทางสังคมนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งประกอบด้วย3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ขยายขอบเขตการคุ้มครองและสร้างหลักประกันทางสังคม เช่น ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 การเข้าถึงระบบการจัดบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน 2.เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะแรงงานนอกระบบเพื่อขยายโอกาสการ มีงาน เช่น การส่งเสริมการมีงาน มีมาตรฐานสมรรถนะสูงขึ้น และ3.เพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ เช่น มีองค์กรหลักในการบริหารจัดการด้านแรงงานนอกระบบ มีระบบข้อมูลและสารสนเทศด้านแรงงานนอกระบบสนับสนุนการทำงาน ทั้งนี้ จะตั้งคณะกรรมการแรงงานนอกระบบแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่นายก รัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน รมว.กระทรวงแรงงานเป็นเลขานุการและมีอนุกรรมการด้านต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ \ปัจจุบันมีแรงงานทั้งหมดกว่า 38 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ เช่น ผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง แม่ค้ามีอยู่กว่า 24 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62 จากแรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มาตรการดูแลแรงงานนอกระบบโดยสนับสนุนให้เข้าสู่ประกันสังคม มาตรา 40 ยังไม่จูงใจแรงงานนอกระบบเท่าที่ควร ดังนั้น ผมจะหารือกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40 รวมทั้งปรับสัดส่วนการจ่ายเงินสมทบซึ่งปัจจุบันมี2 รูปแบบ คือ จ่ายเดือนละ 100 บาท และเดือนละ 150 บาท โดยเฉลี่ยรัฐจ่ายร้อยละ 30 และแรงงานจ่ายร้อยละ 70 ก็จะหาแนวทางปรับสัดส่วนเป็นร้อยละ 50 ต่อ 50\" รมว.กระทรวงแรงงาน กล่าว นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ครม.ยังได้มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งเป็นร่างแผนที่จัดขึ้นตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ได้แก่ 1.การเสริมสร้างการคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน 2.การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพ แวดล้อมในการทำงาน 3.การจัดการองค์ความรู้ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน 4.การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม ในการทำงาน และ 5.การพัฒนากลไกการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ (แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net