Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นศ. ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ประท้วง ม.นอกระบบที่หน้ารัฐสภา 31 ส.ค.54 แฟ้มภาพ: ประชาไท ม.นอกระบบ หนังที่ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ประเด็นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอยู่ในกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาไทย วาทกรรม ม.นอกระบบหรือการเปลี่ยนสภาพจากการที่มหาวิทยาลัยอยู่ในสังกัดของรัฐ ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ เป็นประเด็นแห่งการวิวาทะทั้งของผู้เห็นด้วย และผู้คัดค้านในหลายๆ เวที และผู้เขียนเชื่อว่าสังคมอาจได้ประจักษ์รับทราบข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายมาพอสมควร ผู้เขียนขอออกตัวเลยว่าตนเองมีความเห็นในการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาตั้งแต่การทำความเข้าใจในคราวเริ่มต้น เป็นความเห็นคัดค้านทั้งในเชิงกระบวนการในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะไม่มีการเปิดโอกาสให้ประชาคมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมหรือแสดงความคิดเห็นต่อการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ นับเป็นการฝืนความรู้สึกความเข้าใจที่ว่า “มหาวิทยาลัยเป็นของประชาชน”และทั้งในเชิงหลักการในการผลักภาระค่าใช้จ่าย ภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 รัฐบาลในขณะนั้นได้ลงนามในสัญญาการกู้เงินจากต่างชาติหลายฉบับ โดยมีเงื่อนไขสำคัญที่รัฐบาลต้องผลักภาระค่าใช้จ่ายที่แบกรับอยู่ในกิจการของรัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจต่างๆ มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่สวนสัตว์ ไปให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับ ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่ากิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการศึกษานั้น ควรเป็นรัฐสวัสดิการ เป็นสิ่งที่รัฐควรจัดสรรให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม โดยเฉพาะการศึกษาที่ควรจัดให้เรียนฟรีอย่างน้อยก็ถึงระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเช่นประเทศไทยด้วยแล้ว การพัฒนาคุณภาพของประชาชนโดยการมีระบบการศึกษาที่ฟรีและมีคุณภาพจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่พึงกระทำ เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าเรียนใมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วนั้น ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสศึกษาข้อดี-ข้อเสียที่เป็นรูปธรรม ของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยเฉพาะในส่วนของผลกระทบด้านค่าเล่าเรียนที่มีการออกระเบียบมหาวิทยาลัยในการเก็บค่าเทอมแบบเหมาจ่ายในคณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งปรากฏว่าเป็นอัตราค่าเทอมที่แพงกว่ามหาวิทยาลัยรัฐอื่นๆ ถึงสองเท่า การขึ้นค่าเทอมนับเป็นผลกระทบที่มักตามมาภายหลังจากการออกนอกระบบ คำถามคือ ค่าเทอม 4 หมื่นบาทต่อเทอม ในคณะเภสัชศาสตร์ ม.บูรพา นั้นเป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ผู้เรียน (อันที่จริงเป็นพ่อแม่ของผู้เรียนมากกว่า) ใช่หรือไม่ สำหรับลูกหลานพี่น้องแรงงานที่มีค่าจ้างรายวันไม่ถึง 300 บาทและลูกหรือชนชั้นกลางอื่นๆ ที่มีความใฝ่ฝันอยากเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ม.บูรพา พวกเขาจะมีปัญญาจ่ายค่าเทอมได้อย่างไร ผู้เขียนเชื่อว่าเพื่อนนิสิตนักศึกษาทุกคนมีความคาดหวังที่จะเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพการศึกษาที่ดี มีความเป็นอิสะทางวิชาการ ซึ่งอาจจะเป็นข้อดีของ ม.นอกระบบ (พอออกไปแล้วดีจริงหรือไม่ อันนี้ยังไม่มีการสรุป) แต่ถ้าสิ่งเหล่านั้นต้องแลกมากับค่าเทอมที่แพงบรรลัย มันก็คงไม่คุ้มค่ากันสักเท่าไร และอันที่จริงมันไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่จ่ายเงินเพื่อให้มีการศึกษาที่มีคุณภาพเหมือนใช้เงินซื้อสินค้าอื่นๆ ในระบบทุนนิยม (ยิ่งอยากได้ของดี ยิ่งต้องจ่ายแพง) มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต่างหากที่ต้องจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพและประชาชนถึงได้อย่างเท่าเทียม ทำให้เมื่อมีความพยายามในการนำมหาวิทยาลัยอื่นๆ ออกนอกระบบภายหลังนั้น ผู้เขียนจึงมีความยินดีที่จะเข้าร่วมการคัดค้านในแทบทุกครั้ง ในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนมีทั้งสิทธิตามกฎหมายและหน้าที่ตามความเป็นพลเมืองในการเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์ การกระทำของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการประท้วงต่อการกระทำดังกล่าว นศ. ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ประท้วง ม.นอกระบบที่หน้ารัฐสภา 31 ส.ค.54 แฟ้มภาพ: ประชาไท เมื่อผี ม.นอกรระบบ ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลังจากการเคลื่อนไหวคัดค้านของเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อความพยายามของสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในการร่าง พ.ร.บ. เพื่อนำ มรภ.สวนสุนันทาออกนอกระบบและมีการเดินขบวนของนักศึกษาเกือบ 2 พันคน ไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนสิงหาคมนั้น ก็ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวอันเดือดเนื้อร้อนใจของบรรดาหน่วยงานต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นความเคลื่อนไหวที่มีจุดยืนในการพยายามที่กระตุ้นไปยังมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่มีการร่าง พ.ร.บ. เพื่อเตรียมพร้อมในการออกนอกระบบไว้แล้ว ให้ยืนยันว่าพร้อมที่จะออกนอกระบบ แม้ว่านายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศชัดต่อหน้านักศึกษา มรภ.สวนสุนันทานับพันคนที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554 ว่า “ตราบใดที่ผมยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ จะไม่มีการนำมหาวิทยาลัยใดๆ ออกนอกระบบเป็นอันขาด” ไม่รู้ว่าระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับ สกอ. หน่วยงานของรัฐองค์กรใดใหญ่กว่าใคร แต่ภายหลังการลั่นวาจาของรัฐมนตรีวรวัจน์ได้ไม่กี่วัน นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้ทำหนังสือไปยัง 9 แห่ง ได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (มจ.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง(มร.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) เพื่อขอคำยืนยันว่า จะให้ สกอ.เสนอเรื่องให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาเห็นชอบในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ขอเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือออกนอกระบบหรือไม่ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ สกอ.ยังจะทำหนังสือถึงนายวรวัจน์ เพื่อขอทราบนโยบายการออกนอกระบบเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไปและถ้ามหาวิทยาลัยยืนยันที่จะออกนอกระบบ สกอ.ต้องช่วยดูร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะดูประเด็นสำคัญๆ เช่น องค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย การได้มาของเงินรายได้บทเฉพาะกาล เป็นต้น จากนั้นจึงรายงานต่อคณะกรรมการ กกอ. เพื่อรับทราบ และดูว่า กกอ.จะมีข้อเสนอแนะอย่างไร แล้วจึงเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาเห็นชอบ เข้าทำนอง ถ้าเขาพร้อมจะออกจะไม่ให้ออกได้อย่างไร ล่าสุด รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ได้ออกมา แถลงว่า “ม.ขอนแก่น ม.เกษตร ม.ศิลปากร และมรภ.สวนดุสิตยังยืนยันว่ามีความพร้อม ที่จะออกนอกระบบ” ประท้วงแน่แต่มีข้อเสนอด้วย ผู้เขียนยืนอยู่บนหลักการที่ว่า ตนเองเป็นประชาชนคนหนึ่งในรัฐไทย ถึงแม้จะอยากใช้สิทธิในการคัดค้านหรือประท้วงเสียเต็มประดา แต่เพื่อป้องกันไม่ให้พี่น้องประชาชนร่วมชาติท่านอื่นๆ เกิดความรู้สึกว่า“เอะอะ อะไรพวกมึงก็ประท้วง” ผู้เขียนจึงขอยืนยันว่าจะประท้วงการนำมาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่เป็นการประท้วงแบบมีข้อเสนอ ดังต่อไปนี้ เสนอให้รัฐบาลยุติความพยายามในการนำมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการการออกนอกระบบ จนกว่าจะมีการสรุปบทเรียนข้อดี-ข้อเสีย ในประเด็นคุณภาพการศึกษา ความเป็นอิสระทางวิชาการ ความคล่องตัวในการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.บูรพา เป็นต้น โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่ต้องประกอบตัวด้วยผู้แทนจากทุกฝ่ายขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อทำการประเมิน สรุปบทเรียนดังกล่าว และเปิดเผยผลการประเมินให้เป็นที่รับรู้ต่อสังคม หลังจากนั้นให้มีการทำประชามติโดยเปิดให้มีการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างทั่วถึง เสนอให้ยกเลิกการผลักภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาไปที่ผู้เรียน ยกเลิกค่าเทอมเหมาจ่าย ทั้งในมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วและมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ออกนอกระบบ และให้มีการเพิ่มเติมหลักการในประเด็นที่ “ให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการ รัฐต้องจัดการศึกที่มีคุณภาพในทุกระดับ และให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย” ในรัฐธรรมนูญมาตรา 80 วงเล็บ 3 ในหมวดแนวโยบบายพื้นฐานแห่งรัฐ จะทำให้ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต้องปฏิบัติตาม เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการศึกษาทางเลือก และมีฐานะวุฒิบัตรทางการศึกษา แก่ผู้ที่ไม่ประสงค์จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงการศึกษา และเพื่อสร้างทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ประชาชน บทสรุป หลักการสำคัญของความเห็นในการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบของผู้เขียนนั่นคือ การคัดค้านแนวคิดการผลักภาระค่าใช้จ่าย หรือการให้ประชาชน(ผู้เรียน)เป็นผู้ออกงบประมาณในการเรียน เท่ากับว่ารัฐไม่ได้มีแนวคิดที่จะสร้างระบบการศึกษาที่ให้ประชานทุกชนชั้นเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ระบบการศึกษาไทยกำลังก้าวเดินมาถึงทางแยกที่สำคัญระหว่างการปล่อยให้ระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในกลไกทุนนิยมเสรีโดยให้อัตราการค่าเทอมเป็นไปตามกลไกตลาด กับการเร่งปฏิรูประบบการศึกษาทั้งระบบให้เป็นสวัสดิการที่รัฐควรจัดให้แก่ประชาชน หากสังคมไทยยังคงตระหนักว่าเยาวชนคืออนาคตของชาติ สังคมไทยก็ควรตระหนักถึงการมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและฟรี ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบเพื่อนำไปสู่การจัดการศึกษาที่เป็นรัฐสวัสดิการ จึงเป็นประเด็นที่สังคมไทยควรกดดันให้ผู้มีอำนาจดำเนินการโดยเร็วที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net