Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านปากบาราร่วมกับส่วนราชการจัดแข่งขันตกปลา ชูพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ควรสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หวั่นชุมชนล่มสลาย สัตว์หายากสูญพันธุ์ เกิดภัยพิบัติ เพราะเป็นแนวเคลื่อนตัวของภูเขาไฟ เมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคม ที่ผ่านมา ชมรมประมงพื้นบ้านตะโละใส ได้จัดกิจกรรมการแข่งขันตกปลา “สตูล หัวโทง ฟิชชิ่งคัพ” ครั้งที่ 2 ณ บริเวณอ่าวปากบารา และเกาะตะรุเตา โดยมีองค์กรร่วมจัด ได้แก่ คณะกรรมการหมู่บ้านและคณะกรรมการมัสยิดบ้านตะโละใส สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.สตูล องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสตูล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลปากน้ำ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอำเภอละงู ทั้งนี้ มีนักกีฬาตกปลาเข้าร่วมจำนวน 50 ทีม ทีมละ 3 คน รวม 150 คน นายไกรวุฒิ ชูสกุล ตัวแทนชมรมชาวประมงพื้นบ้านตะโละใส กล่าวว่า จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้าน รวมทั้งจัดหางบประมาณสมทบกองทุนชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และสมทบโรงเรียนสอนศาสนาในหมู่บ้าน ตลอดจนให้ผู้เข้าร่วม และหน่วยงานภาครัฐเห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปากบารา และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจับปลาอย่างยั่งยืน โดยไม่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และวิถีชีวิตชุมชน “พื้นที่อ่าวปากบารามีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์สัตว์พันธุ์พืชใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น พะยูน เต่าทะเล ปลาฉลามวาฬ ปลาโลมา ปูทหารพระราชา นกชาฟีไหน หอยมวงช้าง และรองเท้านารีขาวสตูล จึงควรพัฒนาพื้นที่เพื่อการประกอบอาชีพประมง การเกษตร การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการศึกษาวิจัย ไม่ควรสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพราะจะทำให้ชุมชนล่มสลาย และทำลายทรัพยากรอย่างมหาศาล ทั้งการระเบิดภูเขา 8 ลูก การขุดทรายถมทะเลเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึก การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การสร้างนิคมอุตสาหกรรมน้ำมัน และนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องนับแสนไร่ หากมีการสร้างอุตสาหกรรมน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดภัยพิบัติ เพราะบริเวณนี้เป็นแนวเคลื่อนตัวของภูเขาไฟ ต่อเนื่องจากประเทศอินโดนีเซีย มีร่องรอยยุบตัวที่ทะเลบัน และมีบ่อน้ำร้อนบนบก และใต้ทะเล” นายไกรวุฒิกล่าว ด้าน นางสาวฐิตารัตน์ เสฐภิสิษฐ์ นักกีฬาตกปลาจาก จ.ชุมพร กล่าวว่า ได้มาร่วมแข่งขันตกปลาเป็นครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้น และกังวลกับสภาพอากาศ เนื่องจากต้องเผชิญกับฝน และคลื่นสูง 2 เมตร แต่ก็อุ่นใจที่ได้สัมผัสกับความมีน้ำใจ และความสามัคคีของไต๋เรือ รวมทั้งพี่น้องปากบารา การเข้าร่วมกิจกรรมตกปลาทำให้ได้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปากบารา รู้สึกเป็นห่วงที่มีโครงการสร้างท่าเรือนน้ำลึกปากบารา และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพราะทำให้ต้องสูญเสียแหล่งอาหารทะเล และทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ วิถีชีวิตที่ดีงามของคนในพื้นที่ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net